หนัง-เพลงที่ชอบ ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่ทึ่ง ในปี 2019

หนังต่างประเทศที่ชอบ

Parasite

parasite park

นี่คือหนังที่ครบรสดี มีทั้งรสชาติความเป็นละครหลังข่าว มีสารหลักคือประเด็นเรื่องความแตกต่าง-ขัดแย้งทางชนชั้น ซึ่งถูกนำเสนอผ่านมิติทางด้านสัญลักษณ์, พื้นที่ และสถาปัตยกรรม อย่างเข้มข้น แพรวพราว และสนุก

คลิกอ่าน สัพเพเหระคดีว่าด้วย “Parasite: ชนชั้นปรสิต”

Midsommar

midsommar 5

นี่คือหนังที่มีฉากหน้าเป็นภาพยนตร์สยองขวัญ แต่พอตัวละครนำของเรื่องเป็นนักเรียนมานุษยวิทยา ซึ่งเข้าไปท่องเที่ยว/ศึกษาเทศกาล/พิธีกรรมของชุมชนแห่งหนึ่งในสแกนดิเนเวีย สถานภาพอีกด้านของหนังเรื่องนี้จึงเป็น “ภาพยนตร์ทางมานุษยวิทยา” (ซึ่งชวนถกเถียงในประเด็นเกี่ยวกับแนวคิดเทศกาล-พิธีกรรม-ตำนานปรัมปรา) อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ น่าแปลกใจว่าทำไมนักมานุษยวิทยา/นักเรียนมานุษยวิทยาที่เมืองไทยถึงไม่ค่อยพูดถึงหนังเรื่องนี้กัน?

คลิกอ่าน Midsommar: “เทศกาล” ในอุดมคติ? ของนัก (เรียน) มานุษยวิทยา

John Wick: Chapter 3 – Parabellum

johnwickchapter3parabellum2019

เข้าไปดูในฐานะของคนที่ไม่เคยดูหนังสองภาคแรกมาก่อน ประทับใจ “จักรวาลนักฆ่า” ที่มีอะไรหลายอย่างคล้าย “ยุทธจักรกำลังภายใน” นอกจากนี้ ยังรู้สึกว่าแทบทุก “ความรุนแรง” ในหนัง มี “ความหมาย/ความสัมพันธ์ทางสังคม” ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลัง ไล่ตั้งแต่สัญญาประชาคม, การแลกเปลี่ยนของขวัญ, ลำดับชั้นภายในองค์กร/สถาบัน รวมถึงความทรงจำของปัจเจกบุคคล

Joker

joker mob

โดยส่วนตัวมองว่านี่คือหนังที่พยายามวิพากษ์รูปแบบการชุมนุมทางการเมืองที่มีลักษณะเป็น “เฟสติวัล/คาร์นิวัล” ซึ่งทรงอิทธิพลอย่างสูงในหมู่นักกิจกรรม/นักเคลื่อนไหวทางสังคมตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

คลิกอ่าน “Joker”: หมดเวลาของ “งานรื่นเริง”

The Favorite

favorite 2

ด้านหนึ่ง นี่คือหนังแนวตบตีชิงดีชิงเด่นที่สนุกเข้มข้น อีกด้านหนึ่ง หนังก็ซ่อนประเด็นชวนขบคิดมากมาย เช่น การมีชีวิต 2 มิติของประมุขแห่งรัฐ มิติแรก คือ การมีชีวิตส่วนตัวอันป่วยไข้ มิติที่สอง คือ การดำรงตนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและดุลอำนาจอันหลากหลาย

คลิกอ่าน “โลกเฉพาะ?” ใน The Favorite

Glass

GlassPoster

นี่เป็นหนังที่กล่าวถึงอำนาจของเรื่องเล่า และปฏิสัมพันธ์ระหว่างอำนาจดังกล่าวกับเงื่อนไข/บริบททางประวัติศาสตร์ได้อย่างสนุกสนานคมคาย

คลิกอ่าน บทวิเคราะห์หนังเรื่องนี้ 

The Woman Who Left

the woman who left

หนังของลาฟ ดิแอซ ที่พลิกกลับบทบาทของ “ตัวละครหญิง” ในหนังวิพากษ์สังคม-การเมือง ให้แอคทีฟและออกท่องโลกภายนอก ได้อย่างน่าสนใจและน่าดูชม

Once Upon a Time in Hollywood

OUATIH-24X36-V2-1500x2250

เควนติน แทแรนติโน ยังคงทำหนังประวัติศาสตร์หรือพูดถึงประวัติศาสตร์ ผ่านกระบวนการ “ปลอมประวัติศาสตร์” ได้อย่างอยู่มือ แม้หนังเรื่องนี้จะไม่ได้มีความโหด มัน ฮา ในดีกรีเดียวกับหนังเรื่องอื่นๆ ในแนวทางเดียวกันของเขา แต่ก็เพิ่มอารมณ์โหยหา/ระลึกถึงอดีตอันงดงาม เข้ามาแทนที่

An Elephant Sitting Still

an elephant

นี่เป็นหนังวิพากษ์สังคมจีน ในยุคที่ชนชั้นนำไทยพากันเห่อเมืองจีน จุดแรกที่ประทับใจ คือ หนังอาร์ตเฮาส์เรื่องนี้มีวิธีการเล่าเรื่องที่สนุก น่าติดตาม และดูง่าย (แม้โครงเรื่องจะสลับซับซ้อน) จุดต่อมาที่ชอบ ก็คือ แม้หนังจะหนักอึ้งด้วยอารมณ์สิ้นหวัง ท้อแท้ หดหู่ ทว่าฉากสุดท้ายของมันก็มีความผ่อนคลายและซ่อนความหวังเอาไว้บ้าง แม้เพียงเล็กน้อย

Svaha: The Sixth Finger

Svaha-The-Sixth-Finger-2019-Web-DL-1080p-Latino

หนังเน็ตฟลิกซ์จากเกาหลีที่อาจไม่ได้มีคุณภาพเป็นเลิศหรือเต็มไปด้วยความแปลกใหม่ แต่นานๆ ที จะได้ชมหนังเอเชียที่เล่นสนุกกับระบบสัญลักษณ์, ตำนานปรัมปรา, ความเชื่อทางศาสนา และภาวะกำกวมระหว่างความศักดิ์สิทธิ์กับความสามานย์ อย่างลงตัวกำลังดี เช่นหนังเรื่องนี้

หนังไทยที่ชอบ

หน่าฮ่าน

หน่าฮ่าน ปก

จุดแรกที่น่าสนใจ คือ นี่เป็น “หนังอีสาน” ที่มุ่งพินิจพิจารณารวมทั้งวิพากษ์ “โลกภายใน” ของตนเอง มากกว่าจะแสดงตนเป็นตัวแทนชาวบ้านผู้รอบรู้โลกกว้าง อีกจุดหนึ่งที่ควรพูดถึง ก็คือ ท่ามกลางคุณภาพของหนังไทยชั้นครีมที่มีความสูสีกันมากๆ ในรอบปีที่ผ่านมา แม้ “หน่าฮ่าน” อาจไม่ใช่หนังที่สมบูรณ์แบบลงตัวที่สุด แต่ผลงานเรื่องนี้ก็ถือเป็นหนังไทยระดับท็อปที่น่าจะดูสนุกที่สุดของ พ.ศ.2562

คลิกอ่าน “หน่าฮ่าน”: ความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวของ “วัฒนธรรมอีสานร่วมสมัย”

Heartbound-Hope Frozen

heartbound poster

hope frozen

ขออนุญาตกล่าวถึงหนังสารคดีสองเรื่องนี้ควบคู่กันไปในคราวเดียว

นี่คือหนังสารคดีสองเรื่อง ที่ฉายภาพให้เห็นถึงข้อจำกัดของ “ประเทศ/สังคมไทย” (ประเทศไทยไม่ได้ดีที่สุดหรือไม่ได้เพียบพร้อมไปหมดทุกอย่าง)

ข้อจำกัดแรก คือ การไม่สามารถจัดสรรชีวิตที่ดีให้แก่คนชนบท เพราะขาดแคลนระบบรัฐสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ ข้อจำกัดหลัง คือ การไม่สามารถตอบสนองความปรารถนาอันไร้ขีดจำกัดของชนชั้นกลางระดับสูง/ชนชั้นนำ เนื่องมาจากพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีที่ยังไม่ก้าวหน้าถึงขีดสุด

คนทำหนังทั้งสองเรื่องสามารถสร้างความใกล้ชิดกับ “ซับเจ็คท์หลัก” ของตนเอง ขณะเดียวกัน หนังก็เว้นระยะห่างในบางประเด็นบางช่วงเอาไว้ กระทั่งภาพลักษณ์ของ “ซับเจ็คท์” เหล่านั้น ไม่ได้ถูกยกย่อง-เชิดชู-มองมุมบวกเพียงด้านเดียว แต่ยังมีช่องว่างที่สามารถตีความในแง่มุมอื่นๆ ได้

ขณะที่ Heartbound พูดถึงการสู้ชีวิตของลูกผู้หญิงชาวอีสาน และการไม่สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำครอบครัวที่ดีของบรรดาผู้ชายชนชั้นล่าง Hope Frozen กลับฉายภาพของหัวหน้าครอบครัวชนชั้นกลาง/นำ ที่มีบุคลิกหรือความเชื่อแบบ “พ่อปกครองลูก” อยู่ชัดเจนพอสมควร

ประการสุดท้าย หนังสองเรื่องนี้สามารถถ่ายทอด “ความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์สารคดี” ออกมาได้ดีเยี่ยม ผ่านการตามติดชีวิตซับเจ็คท์เป็นเวลายาวนาน (หนึ่งทศวรรษในกรณีของ Heartbound) กระทั่งผู้ชมสามารถรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง (ทั้งดีขึ้นและย่ำแย่ลง) รวมทั้งภาวะเกิดแก่เจ็บตายของพวกเขาและเธอ

ฮักบี้บ้านบาก

ฮักบี้ 3

“หนังอีสาน” ที่ไม่ได้ปฏิเสธศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯ แต่ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “อีสาน” กับ “ศูนย์กลางอำนาจ” ในหนัง ก็มีทั้งการอยากมีส่วนร่วม/เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลาง กับการแข่งขันและพยายามเอาชนะพวกเมืองหลวง นี่เป็นหนังไทยอีกเรื่องในปีที่ผ่านมา ที่มีคุณภาพค่อนข้างน่าพอใจและดูสนุก

คลิกอ่าน “ฮักบี้ บ้านบาก”: สายสัมพันธ์ระหว่าง “บ้านบาก” กับ “พระนคร-สยาม” และ “เอ็มเคสุกี้”

มาร-ดา

มาร-ดา โปสเตอร์

ประทับใจกับความใส่ใจเรื่อง “กระบวนการ-วิธีวิทยา” ของหนัง ขณะเดียวกัน ก็ชอบปริศนาในฉากจบของเรื่อง

คลิกอ่าน “มาร-ดา”: “กระบวนการ/วิธีวิทยา” ที่ปริแตก

Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า

ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง

นี่เป็น “นิทานเปรียบเทียบ” ที่สื่อถึงความวิตกกังวลต่ออดีต/ปัจจุบัน/อนาคต (ของสังคมไทย) ได้อย่างกลมกล่อมและรวดร้าว อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวแอบรู้สึกว่า “นิทานเปรียบเทียบ” เรื่องนี้ ดูจะบรรจุไว้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์วัยกลางคน มากกว่าจะเป็นประสบการณ์ของเด็กสาวอายุไม่ถึง 20 ปี เช่นตัวละครนำในเรื่อง

คลิกอ่าน ครุ่นคิดถึง “Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า”

ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ

ฮาวทูทิ้ง (1)

นี่คือหนังที่ปอกเปลือกโลกทัศน์-ชีวทัศน์ของคนชั้นกลาง (บางส่วน) ออกมาได้อย่างถึงแก่นและสุดทาง อย่างไรก็ดี ไม่แน่ใจว่าตัวละครเช่น “จีน” จะเป็นภาพแทนของคนเจนเนอเรชั่นไหนได้บ้าง? และการปะทะกันระหว่าง “จีน” กับแม่ หรือการปะทะกันระหว่างความปรารถนาที่จะรื้อสร้างบ้านเสียใหม่กับโครงสร้างบ้านแบบเก่า พร้อมด้วยเงื่อนไขรายละเอียดภายในหนังนั้น จะสามารถสะท้อนถึงสภาพการเมืองไทยร่วมสมัยได้คมชัดเพียงใด?

แสงกระสือ

แสงกระสือ 3

คิดว่ากระบวนการที่ค่อยๆ เปลี่ยนผ่านความขัดแย้งในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งไปสู่ความขัดแย้งตามตำนานปรัมปราของหนังเรื่องนี้ (คล้ายๆ นาคี 2) นั้นมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

คลิกอ่าน แสงกระสือ: “หมู่บ้าน” และ “ตำนานปรัมปรา” ในหนังไทยยุคใหม่

ดิว ไปด้วยกันนะ

ดิว รวม

แนวคิดกลับชาติมาเกิดในหนังเรื่องนี้ดำเนินไปควบคู่กับภารกิจส่งมอบ-สืบทอดคุณค่าบางประการ จุดที่น่าคิด ก็คือ คุณค่าดังกล่าว นั้นเป็น “หลักการสากล” ที่ทุกคน (ในทุกยุคสมัย) สามารถยึดถือร่วมกัน หรือว่าเป็น “จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย (หนึ่ง)” ที่ยังทำงานกับคนบางกลุ่ม แม้กาลเวลาจะผันผ่านไป

คลิกอ่าน 3 ประเด็นเกี่ยวกับ “ดิว ไปด้วยกันนะ”

นคร-สวรรค์

นคร สวรรค์ 3

ชอบ “ความเป็นหนังทดลอง” อันเกิดจากการผสมผสานระหว่าง “ความเป็นหนังสารคดี-หนังบ้าน” กับ “ความเป็นหนังฟิคชั่น” ของหนังเรื่องนี้ และแน่นอน ยังชื่นชมฝีมือการแสดง รวมถึงบุคลิกลักษณะของ “เอิงเอย ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์” เช่นเคย

คลิกอ่าน “รอยแหว่งวิ่น” ใน “นคร-สวรรค์”

เพลงที่ชอบ

รสนิยมทางดนตรีของผมนั้นค่อนข้างหยุดนิ่งมานานหลายปีแล้ว เพลงใหม่ที่ชอบในปีที่ผ่านมา จึงเป็นเพลงใหม่ของศิลปินรุ่นเก๋า-เก่าทั้งหมด

เพลงไทย

ฉันไม่เดียงสา

เพลงแต่งใหม่ของ “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” ที่ไม่ค่อยดังเท่าไหร่ และโดดเด่นสู้การคัฟเวอร์เพลงเก่าๆ ของ “ปั่น-ชรัส-พนเทพ” ไม่ได้ อย่างไรก็ดี “ฉันไม่เดียงสา” นั้นมีท่วงทำนองที่ทันสมัยและไม่แก่ (แอบคิดว่าถ้าน้าๆ เล่นสดเพลงนี้แล้วบันทึกเป็นคลิปเผยแพร่ในโลกออนไลน์ ตัวเพลงน่าจะโด่งดังกว่าที่เป็นอยู่)

Something Good

จริงๆ นี่เป็นเพลงที่เผยแพร่ครั้งแรกตอนปี 2561 แต่หลายคนน่าจะรู้จักจากคลิปเวอร์ชั่น “นั่งเล่น ในบ้าน” ตอนต้นปี 2562 เนื้อหาของเพลงออกแนว “คิดบวก” (ซึ่งไม่ใช่ของแสลงสำหรับคนวัยใกล้ 40) ขณะที่งานภาคดนตรีของวงนั่งเล่นก็ยังเชื่อมือได้เหมือนเดิม

อย่าสัญญา (เวอร์ชั่นทีโบน)

หนึ่งในเพลงไทยสากลที่ผมรักที่สุด ซึ่งถูกนำมาทำใหม่โดยวงทีโบน และยังคงความไพเราะไว้ได้โดยไม่เปลี่ยนแปลง

ในความเป็นจริง

เพลงใหม่จาก “สตรีท ฟังก์ โรลเลอร์ส” นอกจากฝีมือกีต้าร์ที่ไพเราะเฉียบคมของพี่โอ๊ต อรรถพงศ์ บุญเสริมทรัพย์ แล้ว เนื้อหาของเพลงนี้ก็น่าสนใจ เพราะภายใต้ฉากหน้าที่เป็นเพลงรักนั้นดูจะซ่อนแฝงไว้ด้วยความใฝ่ฝันและความรักในวิชาชีพของคนดนตรี/วงดนตรี คนหนึ่ง/กลุ่มหนึ่ง

แด่ศาลที่เคารพ

เพลงเปิดตัวจากอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของน้อย พรู แล้วก็กลายเป็นเพลงเดียวในอัลบั้มที่ผมชอบ เพราะรู้สึกว่าเนื้อหาของเพลงมีมุมมองเชิงวิพากษ์ที่เข้มข้นจริงจังดี และแลดูสวนทางกับ “ความเป็นสังคมนิยมศาลเตี้ยแบบไทยๆ”

เพลงฝรั่ง

เอาจริงๆ คือมี 5 เพลง จากอัลบั้มแค่ 2 ชุด ประกอบด้วย From Out of Nowhere, Down Came the Rain และ Songbird จากผลงานชุดใหม่ของเจฟฟ์ ลินน์ แห่ง ELO และ Strengthen What Remains กับ The Ending ของ Tadeschi Trucks Band

เหล่านี้คือเพลงฝรั่งที่ผมเปิดฟังบ่อยๆ ในโทรศัพท์มือถือ

ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ

พรรคอนาคตใหม่

จะไม่ขอเขียนถึงความสำเร็จ/ความล้มเหลวทางการเมืองของ “พรรคอนาคตใหม่” แต่อยากจะกล่าวถึงปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่ก่อตัวขึ้นจากพรรคการเมืองพรรคนี้

จุดที่ผมสนใจพรรคอนาคตใหม่ ก็คือ การสามารถรวบรวมแรงสนับสนุนและความกระตือรือร้นของเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มากมายอย่างน่าทึ่ง

หลายคนอาจวิเคราะห์ว่าอนาคตใหม่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้เพราะใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสารกับผู้สนับสนุน (แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่มีใครศึกษาต่ออย่างละเอียดว่าอนาคตใหม่ใช้สื่อออนไลน์อย่างไรบ้าง?)

น่าแปลกใจที่ว่าแม้คนอย่างธนาธร ปิยบุตร ช่อ เรื่อยไปถึงศิริกัญญา วิโรจน์ ฯลฯ จะไม่ต้องทำตัวเป็น “วัยรุ่น” หรือ “คนรุ่นใหม่” ชนิดที่เกินขอบเขตประสบการณ์ รสนิยม และวัยของตนเอง แต่บ่อยครั้ง การสื่อสารเรื่องหนักๆ อย่างจริงจังของพวกเขา กลับได้ปฏิกิริยาตอบรับ/การแห่แหนชื่นชมในรูปแบบของแฟนคลับสไตล์เกาหลี

นี่จึงเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ (ซึ่งผมเองก็ยังไม่เข้าใจกระจ่าง) และสิ่งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์นี้ ก็คือ สังคมมีเครื่องมือใหม่ๆ ชนิดอื่นๆ ในการทำความเข้าใจ “คนรุ่นใหม่”

ณ ห้วงเวลานี้ แค่ “หนังเต๋อ” BNK48 หรือวัฒนธรรมป๊อป/อินดี้วัยรุ่นนู่นนี่ อาจไม่ได้ทำให้เราเข้าใจ “คนรุ่นใหม่” อย่างถ่องแท้รอบด้าน หากเราลืมวิเคราะห์ถึงบทบาท ความเคลื่อนไหว การดำรงอยู่ของพรรคอนาคตใหม่

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.