“มาร-ดา”: “กระบวนการ/วิธีวิทยา” ที่ปริแตก

รอยปริแตกของ “กระบวนการ/วิธีวิทยา”

หากพิจารณาผลงานของ “ชาติชาย เกษนัส” ตั้งแต่ “ถึงคน.. ไม่คิดถึง” สารคดีโทรทัศน์ชุด “โยเดีย ที่คิด (ไม่) ถึง” ไล่มาถึง “มาร-ดา”

“จุดร่วมหนึ่ง” ที่ตั้งมั่นดำรงอยู่ในภาพยนตร์ทุกเรื่องของเขา ก็คือ “กระบวนการ/วิธีวิทยา” อันหมายถึง การออกเดินทางไปพบปะผู้คน ณ ต่างสถานที่ ต่างบริบท ต่างช่วงเวลา หรือต่างมิติ เพื่อปะติดปะต่อข้อมูลที่ฉีกขาดกระจัดกระจาย แล้วเรียบเรียงลำดับความทรงจำเสียใหม่ให้เป็นระบบระเบียบยิ่งขึ้น

ก่อนจะค้นพบคำตอบบางอย่างในเบื้องท้าย

ผมเชื่อว่าชาติชายนั้นเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่หลงใหลกับการเชื่อมต่อร้อยเรียง “กระบวนการ/วิธีวิทยา” ในเรื่องเล่าของตนเอง

ประจักษ์พยานสำคัญที่ปรากฏชัดใน “มาร-ดา” ก็คือ การค่อยๆ ไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ผีหลอกภายในบ้านโบราณ ก่อนจะย้อนมาทบทวนขั้นตอนเหล่านั้นอีกครั้ง จากอีกแง่มุมหนึ่ง

กระทั่งการเน้นย้ำถึง “กระบวนการ/วิธีวิทยา” กลายเป็นองค์ประกอบอันโดดเด่น จนกลบทับปัจจัยเรื่องการแสดง หรือการจัดวางไคลแม็กซ์/บทสรุปในหนังเสียด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ตาม ถ้า “กระบวนการ” ว่าด้วยการดั้นด้นค้นหาปูมหลังของบรรพบุรุษ/สานก่อความรักของหนุ่มสาวต่างสัญชาติยุคปัจจุบันใน “ถึงคน.. ไม่คิดถึง” นั้นนำไปสู่คำตอบอันหมดจดงดงาม ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า “วิธีวิทยา” ที่ตัวละครหลักในหนังเลือกใช้มัน “เวิร์ก”

มาร-ดา รูปเก่า เด็ก

การเดินทางเสาะแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับความลี้ลับในอดีต/บ้านโบราณหลังหนึ่ง, กระบวนการถ่าย-อัดรูปบนฟิล์มกระจกเพื่อบันทึกความทรงจำปรุงแต่ง-ภาพครอบครัวในอุดมคติ, วิธีการกอบกู้ (สมาชิก) ครอบครัว และ (จิต) วิญญาณของเหล่าตัวละคร (ตลอดจนการปฏิรูปกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของตัวละครนำบางราย) ใน “มาร-ดา” กลับลงเอยด้วย “ความไม่สมบูรณ์แบบ”

ด้วยเหตุนี้ “มาร-ดา” จึงเป็นหนังผีที่พูดถึง “กระบวนการ/วิธีวิทยา” บางอย่างที่ล้มเหลว ติดขัด ไม่ราบรื่น

หรือหากจะลองตีความให้ไกลกว่านั้น (แต่ไม่เกินขอบเขตที่ชาติชายเคยเผยนัยยะเอาไว้กับสำนักข่าวบางแห่ง) เราก็อาจวิเคราะห์ได้ว่า “มาร-ดา” คงกำลังสื่อถึงกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการทหาร (ปิตาธิปไตย/พ่อ) มาสู่ระบอบการเมืองใหม่นำโดยอองซานซูจี (มาตาธิปไตย/แม่) ที่ไม่ลงตัวนัก

(ทั้งนี้ คงต้องหมายเหตุไว้ว่าการเอาใจใส่กับ “กระบวนการ/วิธีวิทยา” ชนิดเข้มข้นของตัวผู้กำกับเอง ได้ส่งผลให้จังหวะการอธิบายความบางส่วนในหนังดำเนินไปอย่างค่อนข้างรุ่มร่ามเยิ่นเย้อ)

เพศสภาพที่ (ไม่) ลื่นไหล

“แก่นแกนหลัก” ของภาพยนตร์เรื่อง “มาร-ดา” คือ ข้อถกเถียงในประเด็นว่าด้วยเพศสภาพ

มาร-ดา รูปแนวนอน

ในแง่หนึ่ง นี่คือหนังที่ขับเน้นให้เห็นถึงความสัมพันธ์ตึงเครียดของสตรีเพศ ผ่านแนวคิดเกี่ยวกับ “ความเป็นแม่” และดุลยภาพทางอำนาจที่บิดเบี้ยวไม่ลงรอยระหว่าง “แม่” กับ “ลูกสาว”

อีกแง่หนึ่ง หนังก็พูดถึงความลื่นไหลทางเพศสภาพ เมื่อสถานะความเป็น “พ่อ” และ “แม่” ในบางครอบครัว พลันซ้อนทับกัน จนการจัดจำแนกแบ่งแยกหน้าที่ตามจารีตปกติเริ่มรางเลือน

มาร-ดา ภาพเก่า

เช่นเดียวกับการเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกวิญญาณที่ต้องพึ่งพาอาศัย “คนกลาง” ผู้มีความคลุมเครือทางเพศสถานะ

ทว่า “มาร-ดา” กลับค่อยๆ เคลื่อนตัวไปสู่จุดที่ปฏิเสธภาวะลื่นไหลทางเพศสภาพดังกล่าว (ผมคิดว่าท่าทีเช่นนั้นคือการวิพากษ์สังคมอันไร้พลวัตอย่างแยบคายโดยใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือ มากกว่าจะเกิดจากเจตนาหรือจุดยืนแท้จริงของผู้สร้าง)

เมื่อ “ลูก” ต้องมี “แม่” เพียงคนเดียว, “แม่” ต้องเป็น “ผู้หญิง” และ “พ่อ” ก็ควรทำหน้าที่ “พ่อ” เท่านั้น

เปลี่ยนผ่านอย่างค้างคา

(อาจเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ!)

มาร-ดา โปสเตอร์

ฉากปิดเรื่องใน “มาร-ดา” นำเสนอออกมาได้น่าสนใจชวนขบคิดตีความต่อ

หากมองเผินๆ คล้ายว่าความค้างคาทั้งหลายและปมปัญหาต่างๆ ในอดีต-ปัจจุบัน จะยุติสิ้นสุดลงตรงฉากนั้น โดยที่ต่างคน (หรือดวงวิญญาณ) ต่างเปลี่ยนผ่าน/เดินทางไปสู่จุดใหม่ๆ ในอนาคต

แต่ถ้าเพ่งพินิจให้ดี หนังก็เหมือนจะทิ้งปริศนาเอาไว้ว่าอาจมีการสลับสับเปลี่ยนสถานภาพและลักษณะผิดฝาผิดตัวบางประการบังเกิดขึ้นกับโครงสร้างความสัมพันธ์ของเหล่าตัวละครหลัก

ภาวะกำกวมดังกล่าวส่งผลให้อะไรต่อมิอะไรที่น่าจะลงตัว กลับกลายเป็นไม่ลงตัว

มาร-ดา ธิดา

ขณะที่การอำลากันด้วยดี ก็ถูกถ่วงดุลด้วยข้อสงสัยว่า หรือจะมีตัวละครบางฝ่ายที่สามารถ “ขโมยของ/คน” ซึ่งไม่ใช่ของตนเอง ไปครอบครองไว้ได้สำเร็จ (อย่างเนียนๆ หน้าตาเฉย)?

1 Comment

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.