15 เพลงเด่นของ “ปิติ ลิ้มเจริญ” (พี่ตู๋ วงนั่งเล่น)

คลิกอ่านเนื้อหาเกี่ยวกับสมาชิก “วงนั่งเล่น” คนอื่นๆ

รวมผลงานเพลงคัดสรรของ “พี่เป๋า กมลศักดิ์” แห่ง “วงนั่งเล่น”

10+1 เพลงเพราะ-เพลงฮิต-เพลงร็อก ฝีมือ “เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์” (พี่แตน วงนั่งเล่น)

ปิติ ลิ้มเจริญ 2

นักฟังเพลงหลายคนในยุคปัจจุบันอาจไม่ค่อยคุ้นชินหรือรู้จักชื่อของ “ปิติ ลิ้มเจริญ” เพราะการสูญหายไปของ (ปก) เทปและซีดี

แต่ถ้าใครเคยติดตามรับชมรับฟังคลิปการแสดงดนตรีสดๆ ของกลุ่มผู้อาวุโสในนาม “วงนั่งเล่น” มาบ้าง

“ปิติ ลิ้มเจริญ” หรือ “พี่ตู๋” ก็คือมือกีต้าร์-นักร้องนำเสียงนุ่มหล่อ ผู้มีเรียวหนวดโดดเด่นเหนืออยู่เหนือริมฝีปาก

“ปิติ” เป็นสมาชิกของ “วงนั่งเล่น” ในซีกที่มีวัยยังไม่ถึงวาระเกษียณอายุจากงานประจำ ปัจจุบัน เขามีอายุ 50 กว่าๆ และยังคงมีภาระหน้าที่การงานอยู่ในบริษัทแกรมมี่ฯ

แต่ชีวิตการเป็นนักแต่งเพลงของ “พี่ตู๋ ปิติ” ก็มีความแตกต่างจาก “นักแต่งเพลงแกรมมี่” ในยุค 90 อีกหลายราย

ปิติ ลิ้มเจริญ

ประการแรก เขาเริ่มต้นทำงานกับค่ายคีตาฯ และติดตาม “พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์” ไปค่ายมูเซอร์ ซึ่งจะแปรสภาพเป็นวอร์นเนอร์ มิวสิก ในเวลาต่อมา ก่อนจะย้ายมาทำงานกับเครือแกรมมี่ในช่วงรอยต่อระหว่างทศวรรษ 2530 และ 2540

ประการต่อมา จุดเริ่มต้นที่แตกต่างดังกล่าวส่งผลให้ “ปิติ” มีลักษณะการทำงานที่ไม่เหมือน “นักแต่งเพลงแกรมมี่” หรือ “นักแต่งเพลงประจำค่ายใหญ่” ทั่วไป นั่นคือเรามิอาจนิยามได้ว่าเขาเป็น “คนเขียนเนื้อร้อง” หรือ “คนแต่งทำนอง/เรียบเรียงดนตรี” ตามหลักการแบ่งงานกันทำของแกรมมี่-อาร์เอสเมื่อยุคโน้น

หากเรามักพบชื่อของ “ปิติ ลิ้มเจริญ” ควบตำแหน่ง “คนเขียนเนื้อร้อง-แต่งทำนองเพลง” อยู่เสมอๆ

“ปิติ ลิ้มเจริญ” จึงถือเป็น “นักแต่งเพลง” ที่น่าจดจำมากๆ คนหนึ่งจากยุค 90 หรือยุคที่อุตสาหกรรมเพลงไทยยังเฟื่องฟู

และต่อไปนี้ คือ ผลงานเพลงเด่นๆ ที่อาจบ่งบอกตัวตน-ลายเซ็นของเขาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

อกหักให้มันเท่ๆ หน่อย

นี่เป็นเพลงร่วมสมัยที่ “ปิติ” สร้างสรรค์ร่วมกับ “กมลศักดิ์ สุนทานนท์” และ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” สองเพื่อนรุ่นพี่ใน “วงนั่งเล่น”

และเป็นเพลงที่ขับเน้นคุณสมบัติความเป็นนักร้อง-นักแต่งเพลงของเขาออกมาได้ดีมากๆ

อย่ายอมแพ้

ผลงานแจ้งเกิดในฐานะนักแต่งเพลงมืออาชีพของ “ปิติ ลิ้มเจริญ” ซึ่งลงมือแต่งเนื้อ-ทำนองเพลงนี้ตั้งแต่สมัยยังเรียนมหาวิทยาลัย (คณะวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์)

มือ

สมัยเริ่มต้นออกเทปใหม่ๆ วงเร็กเก้-สกาในตำนานอย่าง “ทีโบน” เคยต้องพึ่งพาทีมนักแต่งเพลงมืออาชีพ

หนึ่งในเพลงดังที่สุดของพวกเขา คือ “เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม” (เนื้อร้อง-ทำนองโดย “วรรธนา วีรยวรรธน”) ก็มีจุดกำเนิดจากกระบวนการเช่นนั้น

เช่นเดียวกับ “มือ” เพลงยอดเยี่ยมบนเวทีสีสัน อะวอร์ดส์ ครั้งที่ 6 ประจำปี 2536 ซึ่ง “ปิติ” เป็นผู้เขียนคำร้อง มี “สุรชัย บุญแต่ง” อดีตสมาชิกวง “แฟลช” (ร่วมกับ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” และนักดนตรีฝีมือดีอีกหลายราย) เป็นผู้แต่งทำนอง

คนพิเศษ

ถ้าถามว่ามีใครใน “วงนั่งเล่น” เคยร่วมงานกับยอดนักร้องหญิงอย่าง “วิยะดา โกมารกุล ณ นคร” บ้าง?

คอเพลงรุ่นเก่าหลายรายอาจตอบได้ทันทีโดยปราศจากอาการลังเลว่า “พี่ตุ่น พนเทพ สุวรรณะบุณย์” จากประจักษ์พยานที่เด่นชัด เช่น ผลงานการโปรดิวซ์สตูดิโออัลบั้มสองชุดแรกของ “วิยะดา” รวมถึงการแต่งทำนองเพลงอมตะอย่าง “เพียงแค่ใจเรารักกัน”

แต่หลายคนอาจลืมไปว่า “ปิติ ลิ้มเจริญ” ก็เคยแต่งเพลงดังให้ “วิยะดา” เหมือนกัน ในสมัยที่เธอย้ายสังกัดจากแกรมมี่ มาสู่มูเซอร์/วอร์นเนอร์ฯ เพลงดังเพลงนั้นก็คือ “คนพิเศษ” ซึ่ง “ปิติ” เขียนทั้งเนื้อร้องและทำนอง

รักเธอจริงๆ

เป็นอีกครั้งที่ “ปิติ” ได้เขียนเนื้อร้อง-ทำนองให้แก่นักร้องหญิงผู้มีน้ำเสียงเป็นเอกลักษณ์ คราวนี้คืองานเพลงเพราะๆ เท่ๆ ที่เจือกลิ่นบลูส์ของ “สุกัญญา มิเกล”

วันหนึ่ง

น่าจะเป็นผลงานติดหูชิ้นแรกๆ หลัง “ปิติ” โยกมาทำงานร่วมกับแกรมมี่ สำหรับเพลงนี้ เขาปรากฏชื่อในฐานะ “ผู้แต่งทำนอง” แต่น่าสังเกตว่าตรงเครดิตผู้เขียนเนื้อร้องนั้นใช้นามแฝงว่า “แจกัน” ซึ่งต่อมานี่คือชื่อเพลงดังที่ “พี่ตู๋” แต่งให้ “สุเมธ แอนด์ เดอะปั๋ง”

แจกัน และ ไม่เสียใจที่รักเธอ

สองเพลงเพราะ/เพลงแจ้งเกิดจากอัลบั้มเปิดตัวของคู่ดูโอ “สุเมธ แอนด์ เดอะปั๋ง” คือผลงานการเขียนเนื้อร้อง-แต่งทำนองของ “ปิติ ลิ้มเจริญ” เช่นเดียวกับอีกหลายๆ บทเพลงในอัลบั้มชุดนั้น

รักเธอสุดหัวใจ

เพลงประกอบละครที่ขับร้องโดย “พี่ก้อง นูโว” เพลงนี้ อาจมีท่วงทำนองคล้ายๆ กับ “ลึกสุดใจ” ของ “โจ-ก้อง” อยู่บ้าง อย่างไรเสีย นี่คือเพลงเพราะอีกเพลงหนึ่ง ซึ่งแต่งเนื้อ-ทำนองโดย “พี่ตู๋ ปิติ”

ดาวประดับฟ้า และ รับได้ไหม

สองเพลงฮิตในยุครุ่งเรืองของ “แมว จิรศักดิ์ ปานพุ่ม” ภายใต้แบรนด์ CATAROCK ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์คำร้อง-ทำนองโดย “ปิติ ลิ้มเจริญ”

กอดฉันไว้

หลายคนคงจดจำ “บรรจบ พลอินทร์” ในฐานะศิลปินอินดี้แนวเร็กเก้ แต่อาจไม่ทราบว่า อัลบั้ม “job 2 do” ผลงานชุดแรกสุดของ “น้าจ๊อบ” ซึ่งทำให้แกคว้ารางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมบนเวทีสีสัน อะวอร์ดส์ ครั้งที่ 13 (พ.ศ.2543) ไปครองนั้น ออกกับสังกัด “แกรมมี่โกลด์”

มีสองเพลงในอัลบั้มชุดดังกล่าว ที่ “น้าจ๊อบ” ไม่ได้ลงมือแต่งเอง เพลงแรกคือเพลงหนึ่งหน้าเอชื่อ “แบมือ” เพลงที่สองคือเพลงสุดท้ายหน้าเอชื่อ “กอดฉันไว้”

ทั้งสองเพลงข้างต้นเขียนเนื้อร้อง-แต่งทำนองโดย “พี่ตู๋ ปิติ” เรียบเรียงโดย “ธนิต เชิญพิพัฒธนสกุล” อดีตคนดนตรีรายสำคัญของฝั่งอาร์เอส ซึ่งเวลานั้นข้ามฟากมาร่วมงานกับแกรมมี่ (และถือเป็นหนึ่งในสมาชิกรุ่นก่อตั้งของ “วงนั่งเล่น”)

ต่อมา “กอดฉันไว้” กลายเป็นเพลงฮิตในระดับสัญลักษณ์ประจำตัวของ “น้าจ๊อบ” และมีเวอร์ชั่นคัฟเวอร์โดยวง “พาราดอกซ์”

นกกระเต็นเห็นพระจันทร์, ใจเอย และเราคงต้องเป็นแฟนกัน

ผลงานโดดเด่นอีกกลุ่มหนึ่งของ “พี่ตู๋ ปิติ” นั้นจะเป็นเพลงป๊อปที่มีกลิ่น “ลูกกรุง” เจืออยู่มากบ้าง น้อยบ้าง

จุดเริ่มต้นของงานแนวนี้ อาจเป็นเพลง “นกกระเต็นเห็นพระจันทร์” ซึ่ง “พี่ตู๋” แต่งเนื้อร้อง-ทำนองไว้ในอัลบั้มชุดแรกของ “สุเมธ แอนด์ เดอะปั๋ง”

ก่อนจะตามมาด้วย “ใจเอย” ที่ “มาช่า” ไป featuring กับ “สุเมธ แอนด์ เดอะปั๋ง” โดยมี “ปิติ” เขียนเนื้อ-ทำนอง ส่วน “เดอะปั๋ง ประกาศิต โบสุวรรณ” รับหน้าที่เรียบเรียง

หรือเพลง “เราคงต้องเป็นแฟนกัน” ของ “พั้นช์ วรกาญจน์” (ซึ่ง “ปิติ” ไปเขียนเนื้อ-ทำนองให้กับศิลปินหน้าใหม่ในทีม “C&D” ที่ดูแลโดย “พี่ตุ่น พนเทพ”) ก็มีจังหวะจะโคนที่น่าจะถูกจัดรวมอยู่ในผลงานหมวดหมู่นี้ได้เช่นกัน

ขอบคุณภาพประกอบจาก FEED

1 Comment

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.