หนึ่ง
ด้านหนึ่ง รู้สึกว่า “Reply 1988” นั้นแชร์ประเด็นทางสังคมหนักๆ ร่วมกับหนังเกาหลีร่วมสมัยบางเรื่อง (อาจจะโดยไม่ได้ตั้งใจ) เช่น การอาศัยอยู่ใน “บ้านชั้นใต้ดิน” ของหนึ่งในครอบครัวตัวละครหลัก ก็คล้ายคลึงกับชะตากรรมของตัวละครกลุ่มหนึ่งใน “Parasite”
หรือจะมีตัวละครสมทบรายหนึ่ง ซึ่งตลอดทั้งเรื่อง คนดูน่าจะประเมินว่าเธอทำหน้าที่ “แม่-เมีย” ได้ไม่สมบูรณ์นัก ก่อนที่เธอจะเริ่มมีตัวตนมากขึ้นในช่วงท้ายๆ และบทพูดหนึ่งที่น่าประทับใจ ก็คือ เธออยากเป็นตัวของเธอเอง (ให้คนอื่นๆ เรียกชื่อของเธอ) มากกว่าจะถูกเพื่อนบ้านเรียกขานว่าเป็น “แม่ของ…”
ประเด็นนี้ชวนให้นึกถึง “Kim Ji-young, Born 1982” อยู่ไม่น้อย
แต่น่าสนใจว่า “Reply 1988” พยายามนำเอาประเด็นขัดแย้งเคร่งเครียดจริงจังเหล่านั้นมาปรุงแต่งเป็น “ละครดราม่า” รสชาติกลมกล่อม ซึ่งชูรสด้วยอารมณ์โรแมนติก ความอบอุ่น และอารมณ์ขันเบาๆ
สอง
เท่าที่ตามอ่านความเห็นอื่นๆ ดูเหมือนหลายคนจะรู้สึกอินกับ “วัตถุความทรงจำ” หรือ “วัฒนธรรมป๊อปในความทรงจำ” เช่น แฟชั่นเครื่องแต่งกาย เทปเพลง วิดีโอ หนัง/ละครเก่า เพลงเก่า โปสเตอร์เก่า ตู้เกม ของเล่น คอมพิวเตอร์รุ่นโน้น ฯลฯ ที่ปรากฏในซีรี่ส์เรื่องนี้
โดยส่วนตัว ประจักษ์พยานของอดีตประเภทนั้นที่ผมอินด้วย อาจมีแค่เพลง “Hand in Hand” และมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 1988
เนื่องจากผมเริ่มจำความ (จำเหตุการณ์เดี่ยวๆ บางเรื่อง) ได้ราว 4-5 ขวบ และมารู้ความ (เข้าใจว่าเหตุการณ์หนึ่งมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์อื่นๆ อย่างไร) เอาตอน 6-7 ขวบ ซึ่งมีการแข่งขันโอลิมปิกที่เกาหลีใต้พอดี มหกรรมกีฬาคราวนั้นจึงเป็นสถานการณ์ใหญ่ระดับโลกครั้งแรกๆ ที่ผมสามารถจดจำรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ
อย่างไรก็ตาม ผมกลับไม่ค่อยอินวัตถุ/วัฒนธรรมอื่นๆ สักเท่าไหร่ (เพราะหลายอย่างเป็น “วัฒนธรรมเฉพาะ” แถมยังถูกเน็ตฟลิกซ์เบลอร์ภาพซะเยอะอีกต่างหาก)
แต่ที่ผมชอบและอินพอสมควร คือ ภาวะเปลี่ยนผ่านของ “อารมณ์ความรู้สึก” หรือ “องค์ความรู้ของยุคสมัย” บางอย่าง ที่ปรากฏในซีรี่ส์
ตอนหนึ่งที่ผมรู้สึกมีอารมณ์ร่วมมากๆ ก็คือ ตอนแม่ของด็อกซอนต้องตัดชิ้นเนื้อจากเต้านมไปพิสูจน์ว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ ผมเคยเจอประสบการณ์คล้ายๆ กันนี้ช่วงปลายทศวรรษ 1990 ซึ่งมันถือเป็นเรื่องใหญ่และน่ากังวลมากสำหรับผู้ตรวจสุขภาพและคนในครอบครัวสมัยนั้น แต่พออีกไม่กี่ปีต่อมา การมีถุงน้ำในทรวงอกก็เริ่มจะไม่ใช่สิ่งร้ายแรงที่น่าหวาดวิตกถึงขีดสุดอีกต่อไป
เช่นเดียวกับประเด็น “วัยทอง” ที่บรรดาแม่ๆ ใน “Reply 1988” มีอาการกันตอนกลางทศวรรษ 1990 ซึ่งทำให้ระลึกได้ว่าอาการดังกล่าวแทบจะถูกมองเป็นเหมือน “โรค” ตามหน้าสื่อและตามความเข้าใจของคนในสังคมยุคหนึ่ง แต่มาถึงปัจจุบัน ก็ไม่มีใครตระหนกตกใจกับมันในฐานะปัญหาสุขภาพใหญ่โตอีกแล้ว
นอกจากนั้น ผมยังเพิ่งมาเรียนรู้ผ่านการดูซีรี่ส์เรื่องนี้ว่า ประเด็นเรื่องการแต่งงานระหว่างคนนามสกุลเดียวกันนั้นเคยเป็นปัญหาถกเถียงทางสังคมและกฎหมายในเกาหลีใต้ มาจนถึงช่วงทศวรรษ 1990
สาม
ไม่ใช่แค่ตัว “ความรู้สึก-ความรู้” จากอดีต ในข้อสองเท่านั้นที่น่าสนใจ แต่ตัวซีรี่ส์ “Reply 1988” เอง ก็ยังมีลักษณะคล้ายคลึงกับละครซิตคอมจบในตอนยุคโน้น เป็นซิตคอมที่พูดเรื่องครอบครัว ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ปมปัญหา อุปสรรคยากลำบาก แต่อย่างไรเสีย ทุกอย่างก็จะลุล่วงผ่านพ้นไปได้ด้วยอารมณ์ขัน การแสวงหาความสุข และการมีความหวัง
ผมคิดว่านี่เป็นวัฒนธรรมบันเทิงหรือวัฒนธรรมละครทีวีแบบยุค 90 มากๆ (ระหว่างดูจะแอบคิดถึง “สามหนุ่มสามมุม” หรือ “คู่ชื่นชุลมุน” อะไรทำนองนั้น)
พูดอีกอย่างได้ว่า “Reply 1988” ดูจะเป็นความบันเทิงที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อการบริโภคในประเทศ/วัฒนธรรมเฉพาะ เป็นการมองย้อนกลับไปรำลึกตรวจสอบอดีตของตัวเอง มากกว่าจะหวังเป็น “เค-ดราม่า” ที่เวิร์กกับอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลกหรือรสนิยมสากลร่วมสมัย
เอาเข้าจริงตัวซีรี่ส์ไม่ได้ถูกสร้างมาสำหรับแพล็ตฟอร์มอย่างเน็ตฟลิกซ์ด้วยซ้ำ หากพิจารณาจากความยาวต่อตอนหรือจังหวะการลำดับภาพ-เล่าเรื่อง
สี่
ประเด็น “ชนชั้น” ใน “Reply 1988” ก็น่าสนใจและซับซ้อนพอสมควร
ในแง่หนึ่ง ตัวละครรุ่นพ่อแม่ส่วนใหญ่ในซีรี่ส์เรื่องนี้ คือ “คนจนเมือง” หรือ “คนชั้นกลางระดับล่าง” ซึ่งมีความรู้ระดับประถมศึกษา (บางครอบครัวอาจมีพ่อจบ ม.ปลาย และคงมีแค่ครอบครัวเดียวเท่านั้น ที่เหมือนพ่อแม่จะจบปริญญา) พวกเขาส่วนใหญ่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ (คืออ่านไม่ออกและไม่รู้จักตัวอักษร) อาศัยอยู่บริเวณโซนนอกๆ ของกรุงโซล และพยายามจะส่งคนรุ่นลูกให้ได้ศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย
ประเด็นนี้ทำให้นึกถึง “Itaewon Class” ที่ตัวละครวัยรุ่นเกาหลียุค 2000 เป็นต้นมา ดูจะไม่ใส่ใจกับความรู้และปริญญาบัตรในมหาวิทยาลัย พวกเขาไม่ได้มองสถาบันอุดมศึกษาเป็นก้าวย่าง/บันไดขั้นสำคัญในการไต่เต้าทางสังคมอีกต่อไป ส่วนมหาวิทยาลัยใน “Parasite” ก็กลายเป็นเพียงความฝันอันไกลเกินเอื้อมสำหรับลูกหลานคนยากจนในสังคมเกาหลียุคปัจจุบัน
ขณะที่มหาวิทยาลัยใน “Reply 1988” ยังคงเป็น “สิ่งจำเป็น” สำหรับวัยรุ่นยุค 90 ที่ต้องการจะถีบตัวเองออกมาจากฐานรากของพีระมิด
ขณะเดียวกัน ชีวิตของตัวละครคนจนเมือง/คนชั้นกลางระดับล่างในซีรี่ส์เรื่องนี้ ยังสามารถเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ง่ายๆ จากดวงที่เฮงจนถูกหวยรางวัลใหญ่ (บ้านที่รวยที่สุดในซอย คือ บ้านที่ถูกหวยโอลิมปิก ซึ่งพ่อแม่จบประถม ลูกคนโตต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยถึง 7 ครั้ง ส่วนอีกครอบครัวที่อาศัยอยู่ตรงชั้นใต้ดินด้านล่างของบ้านหลังเดียวกัน กลับมีหัวหน้าครอบครัวเป็นพนักงานธนาคาร ซึ่งต้องรับภาระหนี้สิ้นจากการไปค้ำประกันให้คนอื่น และมีลูกสาวคนโตเล่าเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยระดับท็อปของประเทศ)
หรืออย่างน้อยพวกเขาก็สามารถประคับประคองตัวเองให้อยู่รอดด้วยความประหยัดมัธยัสถ์ (และการแบ่งปันระหว่างคนในชุมชน) ไปจนถึงการมีพรสวรรค์/ความสามารถพิเศษ (แท็กไม่ต้องเรียนหนังสือ เพราะมีความสามารถพิเศษเรื่องโกะ เขาต่างจากตัวละครหลายคนใน “Itaewon Class” ที่ต้องหาเช้ากินค่ำ เพราะไม่ได้เรียนหนังสือ คนที่ใกล้เคียงกับแท็กมากที่สุด ก็คงมีแค่สาวน้อยมหัศจรรย์ เช่น อีซอ)
อาจสรุปรวมได้ว่าการมีดวงที่ดี, ความประหยัดอดออม ตลอดจนการมีที่ทางของผู้มีคุณสมบัติพิเศษ คือภาพแทนของ “ความหวัง” ที่พอจะเป็นไปได้สำหรับคนจนเมือง/คนชั้นกลางระดับล่างยุค 80-90 (ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997) ตรงกันข้ามกับอาการสิ้นหวังไร้ทางออกแบบทศวรรษ 2010 ดังที่ปรากฏใน “Parasite”
ห้า
“Reply 1988” เป็นซีรี่ส์เกาหลีอีกเรื่อง ที่พูดถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว พูดถึงพ่อแม่ที่รักห่วงใยลูกอยู่เสมอ พูดถึงการก่อร่างสร้างครอบครัวใหม่/ขยายของคนรุ่นลูกๆ แต่ท้ายสุด ดูเหมือนครอบครัวเหล่านี้อาจยังไม่มีคนเจนเนอเรชั่นหลาน หรือไม่มีลูกของลูกเพื่อสืบสกุลต่อ
(ช่วงปี 1988 บรรดาตัวละครพ่อแม่ที่อายุ 40 กลางๆ ต่างมีลูกที่จวนจะเข้ามหาวิทยาลัยกันแล้ว แต่พอตัดมาสู่ปี 2016 ตัวละครลูกๆ ที่อายุ 45 ปี เหมือนกัน –อย่างน้อยคือพระเอกนางเอก- กลับยังไม่มีหลานให้พ่อแม่/ปู่ย่าตายายเชยชม)
นี่คล้ายเป็นการฉายภาพกระบวนการสืบพันธุ์ (reproduction) ที่หดหายไปในหมู่ประชากรรุ่นอายุ 40 กว่าๆ ลงมา ของโลกยุคปัจจุบัน