ตอนนี้ หลายคนกำลังถกเถียงกันเรื่องผลงานเพลงของศิลปินหนุ่มดาวรุ่งผู้โด่งดังรายหนึ่งของวงการดนตรีสากลไทยร่วมสมัย ที่ว่ากันว่ามีความคล้ายคลึงกับเพลงของศิลปินต่างประเทศกลุ่มหนึ่ง (บางคนพยายามชี้แจงว่าศิลปินไทยได้รับแรงบันดาลใจเท่านั้น)
บล็อกเราจะไม่ขอลงรายละเอียดเกี่ยวกับดราม่าดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้ติดตามผลงานของศิลปินไทย-เทศคู่นี้อย่างละเอียดมากนัก
ประเด็นที่อยากนำเสนอ ก็คือ การรวบรวมเพลงไทยจำนวนหนึ่ง ซึ่งเรายังชอบเปิดฟังอยู่บ่อยๆ แม้จะพอรับรู้ว่าผลงานเหล่านั้นนำท่วงทำนอง (หรือหลายกรณี ก็รวมถึงเนื้อหา) มาจากต่างประเทศ
หลายเพลงถูกผลิตขึ้นในยุคที่การแปลเนื้อหาและการใช้ทำนองเพลงต่างประเทศ ยังมิใช่ความผิดบาปของวงการดนตรี
ส่วนบางเพลงก็อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างยุคสมัยข้างต้น กับยุคลงหลักปักฐานของอุตสาหกรรมดนตรี ที่ประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์เริ่มถูกให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น
ขออนุญาตเริ่มต้นด้วยเพลงรุ่นคุณปู่คุณย่าอย่าง “เจ็ดวันที่ฉันเหงา” หนึ่งในเวอร์ชั่นแรกๆ ของเพลงนี้ คือ ฉบับที่ขับร้องโดย “เพ็ญแข กัลย์จาฤกษ์”
น่าสนใจว่าเพลงเพลงนี้ถูกนำมาใช้ประกอบภาพยนตร์ไทยร่วมสมัยหลายเรื่อง ตั้งแต่ “2499 อันธพาลครองเมือง” จนถึง “20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น”
ส่วนนี่คือเพลงภาษาอังกฤษชื่อ “Seven Lonely Days” ซึ่งเป็น “แม่แบบ” ของ “เจ็ดวันที่ฉันเหงา” แบบไทยๆ
จะเห็นได้ว่า นี่เป็นการนำเอาคำร้องและทำนองของต่างประเทศมาใช้งานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ถัดมาขอนำเสนอเพลง “บาป” ของ “ศรีไศล สุชาตวุฒิ”
ผลงานที่ไพเราะชิ้นนี้ก็แทบจะเป็นการ “แปล” มาจากเพลงฝรั่งชื่อ “It’s a Sin to Tell a Lie” (หลายปีก่อน ในยูทูบเคยเผยแพร่คลิปเพลงเวอร์ชั่นที่เพราะมากๆ ซึ่งขับร้องโดย “Bobby Breen” ขณะยังเป็นเด็กน้อย แต่ปัจจุบัน คลิปนั้นหายสาบสูญไปแล้ว)
“บาป” เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ถือกำเนิดขึ้นในยุคที่การแปลเนื้อหาและนำทำนองมาจากเพลงต่างประเทศมิใช่เรื่อง “ผิดบาป” แต่เป็นวัฒนธรรมสมัยนิยมที่ยอมรับกัน
ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อไม่กี่ปีก่อน คุณศรีไศลก็เคยขึ้นเวทีไปขับร้องเพลง “It’s a Sin to Tell a Lie” สลับกับ “บาป” เลยด้วยซ้ำ
อีกเพลงที่ผมชอบมากๆ ก็คือ “ลำดวน ทองดี” ผลงานการเขียนเนื้ออันเยี่ยมยอดของ “ครูพยงค์ มุกดา” ขับร้องโดย “วิรัช เทวฤทธิ์”
แน่นอน เพลงนี้นำทำนองมาจากเพลงฝรั่งชื่อ “Tell Laura I Love Her” ทว่าในส่วนเนื้อร้องที่ “แปล/แปร” มานั้น กลับถูกปรุงแต่งด้วยกลิ่นอายแบบไทยๆ (แต่ไม่ใช่ “ไทยแท้” เสียทีเดียว) ได้อย่างน่าทึ่ง
อีกหนึ่งเพลงที่คงถูกใจคอกำลังภายใน คือ “ฤทธิ์มีดสั้น” ขับร้องโดย “ดอน สอนระเบียบ” ซึ่งใช้ทำนองของเพลงประกอบซีรีส์ “ฤทธิ์มีดสั้น” เมื่อปี 1978
แต่ด้วยความที่ผมไม่รู้ภาษาจีน จึงไม่แน่ใจว่าตัวเนื้อหาพากย์ไทยนั้น มีความสอดคล้องกับต้นฉบับเพียงใด
เพลงกลุ่มแรกที่นำเสนอไป คือ ผลงานซึ่งถูกผลิตเผยแพร่ในช่วงที่คนทำเพลง-คนฟังเพลงไทย ยังไม่ได้ใส่ใจเรื่องลิขสิทธิ์มากนัก การดำรงอยู่ของเพลงเหล่านี้จึงเป็นที่ “ยอมรับได้” ตามมาตรฐานในสมัยนั้น
ทีนี้ จะมาถึงเพลงอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอยู่ในยุคสมัยที่แตกต่างไป
ขอเริ่มด้วย “คืนก่อน” เพลงจากอัลบั้ม “ครั้งนี้… ของพี่กับน้อง” ของวง “ดิ อินโนเซนต์” เมื่อ พ.ศ.2529
จริงๆ เพลงนี้นับเป็นผลงานเด่นและได้รับความนิยมมากๆ เพลงหนึ่งของ “ดิ อินโนเซนต์” และเอาเข้าจริง ช่วงที่มันถือกำเนิดขึ้นมาก็คงเป็นยุคเปลี่ยนผ่านแบบไม่สุด ที่ค่านิยมเรื่องการนำเนื้อหา-ท่วงทำนองจากต่างประเทศมาใช้ยังพอยอมรับได้อยู่บ้าง
จึงไม่แปลกอะไร ที่ต่อมาจะมีผู้ค้นพบว่า “คืนก่อน” นั้นมีเนื้อหา-ทำนองคล้ายคลึงกันเหลือเกินกับเพลง “(Last Night) I Didn’t Get To Sleep At All” ของคณะ “5th Dimension”
อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยผันเปลี่ยน เพลงเพลงนี้กลับกลายเป็น “แผลที่ต้องถูกลบ” ของ “ดิ อินโนเซนต์”
ในคอนเสิร์ตใหญ่เมื่อปี 2552 “คืนก่อน” ก็ถูกนำไปเล่นบนเวทีท่ามกลางความประทับใจของแฟนๆ แต่เพลงนี้กลับถูกตัดออกจากดีวีดีบันทึกการแสดงสด เช่นเดียวกับเมื่อมีการผลิตซีดีและแผ่นไวนิลรีมาสเตอร์อัลบั้มชุด “ครั้งนี้… ของพี่กับน้อง” ซึ่ง “คืนก่อน” กลายเป็นผลงานที่ถูกตัดหายไปเฉยๆ
อีกเพลงที่มีชะตากรรมคล้ายกัน คือ “ไดอารี่สีแดง” ของ “แหวน ฐิติมา สุตสุนทร” ผู้ล่วงลับ
เพลงที่มีคำร้อง-ท่วงทำนองหวานซึ้งเศร้าเพลงนี้ มีที่มาจากเพลง “Why I’ve a Dream of Him” ของ “Chiu Chiu” ศิลปินจากเกาะไต้หวัน
แต่ไม่แน่ใจว่าในส่วนของเนื้อหา เพลงไทย-เพลงไต้หวันคู่นี้จะมีความสอดคล้องกันแค่ไหน
“ไดอารี่สีแดง” ก็มีชะตาชีวิตเหมือน “คืนก่อน” หลายคนคงสังเกตได้ว่าช่วงไม่กี่ปีให้หลัง เวลามีการผลิตแผ่นซีดีรวมฮิตผลงานของพี่แหวน เพลงเพลงนี้มักจะถูกคัดออกอย่างน่าแปลกใจ (สวนทางกับความฮิตของมัน)
ขอปิดท้ายด้วยกรณีศึกษาที่น่าสนใจและผิดแผกแหวกแนว
อาจกล่าวได้ว่า โดยส่วนใหญ่ วิธีการนำเอาเพลงต่างประเทศมาแปลงกายเป็นเพลงไทยนั้น มักมีอยู่สองรูปแบบ
แบบแรก คือ การแปลเนื้อหรือแต่งเนื้อให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับดั้งเดิม พร้อมทั้งนำทำนองมาใช้
แบบต่อมา ซึ่งเกิดขึ้นหลังอุตสาหกรรมดนตรีเริ่มแข็งแรงในช่วงทศวรรษ 2530 คือ การนำทำนองมาใช้ (ไม่ได้ลอกเลียนมาเป๊ะๆ แต่มีการบิดหรือนำงานต้นฉบับมาบรรเลงเพียงบางส่วน) ทว่าเขียนเนื้อขึ้นใหม่หมด
อย่างไรก็ดี มีเพลงไทยอีกประเภท ที่ตัวเนื้อหาได้รับอิทธิพลมาจากเพลงต่างประเทศชัดเจน แต่คำร้องดังกล่าวกลับถูกบรรจุลงไปในทำนองใหม่ที่แต่งขึ้นเอง
หนึ่งในตัวอย่างคลาสสิกของกรณีนี้คือเพลง “กล้วยไข่” โดย “เฉลียง” ที่มีความผูกพันฉันญาติมิตรทางด้านเนื้อร้องกับเพลง “I Like Bananas (Because They Have No Bones)” อย่างยากจะปฏิเสธ