ช่วงประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา (หรือจริงๆ คือ ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา) “วงนั่งเล่น” และ “ดึกดำบรรพ์ Boy Band” ต่างทยอยปล่อยเพลงใหม่/คลิปการแสดงดนตรีใหม่ๆ ออกมาพร้อมๆ กัน
แต่เชื่อว่าจนกระทั่งถึงบัดนี้ แฟนเพลงหลายคนก็ยังคงแยกความแตกต่างของ “วงนั่งเล่น” และ “ดึกดำบรรพ์ Boy Band” ไม่ออก
ส่วนหนึ่ง คงเป็นเพราะภาพติดตาที่ “พี่ตุ่น พนเทพ สุวรรณะบุณย์” โปรดิวเซอร์-นักแต่งเพลงรุ่นเก๋า นั้นนั่งเล่นดนตรี (หรือเป็นแกนหลักในทางดนตรี) ให้แก่คณะดนตรีทั้งสองวง
ยิ่งกว่านั้น สมาชิก “วงนั่งเล่น” ถึงสี่ราย ได้แก่ “เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์” (คีย์บอร์ด) “เกริกศักดิ์ ยุวะหงษ์” (เพอร์คัสชั่น-ประสานเสียง) “พรเทพ สุวรรณะบุณย์” (กลอง) และ “ศราวุธ ฤทธิ์นันท์” (เบส) ก็ยังมาเล่นดนตรีสนับสนุนให้แก่ “ดึกดำบรรพ์ Boy Band”
ภาพที่เหลื่อมซ้อนระหว่าง “นั่งเล่น” กับ “ดึกดำบรรพ์” จึงยิ่งปรากฏชัดเจนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลาง “จุดร่วม” หลายอย่าง “วงนั่งเล่น” กับ “ดึกดำบรรพ์ Boy Band” นั้นมีโจทย์การทำงานที่แตกต่างและแบ่งแยกออกจากกันค่อนข้างชัดเจน
คนที่อธิบายเรื่องนี้ไว้ได้ดีที่สุด เห็นจะเป็น “พี่ตุ่น พนเทพ” เมื่อครั้งที่แกให้สัมภาษณ์กับ FEED และมติชนสุดสัปดาห์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
พนเทพทำงานที่แกรมมี่จนเกษียณ แต่ก่อนจะเปิดหมวกอำลาอุตสาหกรรมดนตรี เขาก็ได้พบกับความสนุกครั้งใหม่โดยบังเอิญ
เมื่อโปรดิวเซอร์อาวุโสไปเจอกีตาร์สายไนล่อนไม่ทราบเจ้าของถูกวางทิ้งไว้ในห้องอัดเสียง เขาจึงลองหยิบมันขึ้นมาบรรเลง ด้วยความรู้สึกว่า
“มันจับได้เต็มมือดี เพราะว่ามันไม่ใช่สายเหล็ก แล้วมันไม่ต้องกลัวสายขาด แล้วสายเอ็นมันจะไม่ค่อยเพี้ยน”
ความบังเอิญครั้งนั้นทำให้พนเทพหันกลับมาฟื้นฟูทักษะการเล่นกีตาร์ของตนเอง หลังร้างลาจากเครื่องดนตรีชนิดนี้นานนับทศวรรษ ตั้งแต่เขาต้องเปลี่ยนตำแหน่งไปเป็นมือคีย์บอร์ดของวง “แฟลช” และต่อมา พอได้ทำงานเป็นคนเบื้องหลังเต็มตัว คีย์บอร์ดก็ยิ่งกลายเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่เหมาะสมกับการผลิตผลงานเพลงในสตูดิโอมากกว่า
พนเทพฝึกปรือฝีมือกับกีตาร์สายไนล่อนจนคล่องแคล่วอยู่คนเดียวที่บ้าน ก่อนจะคิดได้ว่าควรมีเพื่อนฝูงที่กิน-เที่ยวด้วยกันมาร่วมสนุกในกิจกรรมนี้
นั่นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “วงนั่งเล่น” ซึ่งประกอบด้วยมิตรสหายคนดนตรีมากมายหลายหลากชีวิต-ประสบการณ์-ความถนัดเชี่ยวชาญ ได้แก่ “กมลศักดิ์ สุนทานนท์” (ร้องนำ) อดีตนักเขียนคำร้องมือวางอันดับต้นๆ ของแกรมมี่ “ปิติ ลิ้มเจริญ” (ร้องนำ-กีตาร์อะคูสติก) อีกหนึ่งนักแต่งคำร้องและทำนองฝีมือดี “เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์” (คีย์บอร์ด) มือแต่งทำนอง-เรียบเรียงที่ทำงานใน “ทีมพนเทพ” มายาวนาน
“อิศรพงศ์ ชุมสาย ณ อยุธยา” (คีย์บอร์ด-เมโลดิก้า) อดีตหัวหน้าวงพลอยและคนเบื้องหลังค่ายแกรมมี่ “ณัฏฐ์ (เทิดไทย) ทองนาค” (กีตาร์ไฟฟ้า) อดีตสมาชิกวงพรรณนาและนักแต่งเพลงที่เคยทำงานกับทั้งแกรมมี่-อาร์เอส “เกริกศักดิ์ ยุวะหงษ์” (เพอร์คัสชั่น) อดีตศิลปินค่าย “โอ! มาย ก็อด” และนักร้องนำวงแฟลช
“พรเทพ สุวรรณะบุณย์” (กลอง) มือกลอง-ซาวด์เอ็นจิเนียร์ ผู้เป็นน้องชายของพนเทพ และ “ศราวุธ ฤทธิ์นันท์” (เบส) ซาวด์เอ็นจิเนียร์คู่ใจของพนเทพในตลอดหลายปีหลัง
น่าเหลือเชื่อว่าเพลงแต่งใหม่ (ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา) ของ “วงนั่งเล่น” อาทิ สายลม, ขอคนใจ๋ดีเป็นเพื่อนปี้สักคน, ดอกไม้ในที่ลับตา, อกหักให้มันเท่ๆ หน่อย และ Something Good ฯลฯ ล้วนได้รับการตอบรับที่ดีจากแฟนเพลงหลายรุ่น พิสูจน์จากยอดชมคลิปการแสดงสดเพลงเหล่านั้นในโซเชียลมีเดีย ที่ทะลุหลักล้านวิวอย่างสบายๆ
สำหรับพนเทพ จุดประสงค์หลักของ “วงนั่งเล่น” (ที่สมาชิกหลายรายอายุเกิน 60 ปี) ไม่ใช่ความสำเร็จทางธุรกิจ แต่คือการได้มีความสุขกับคนที่อยากจะมีความสุขด้วย การสื่อสารบทเพลงที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับวัยของตัวเอง เป็นเนื้อหาที่มีประโยชน์ ให้กำลังใจ และกระตุ้นให้คนฟังสังเกตเห็นสิ่งที่พวกเขาอาจมองข้ามไปในชีวิตประจำวัน
หรือที่กมลศักดิ์นิยามว่าเป็น “เพลงเพ่งชีวิต”
ขณะเดียวกัน พนเทพยังก่อตั้งวง “ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์” ร่วมกับเพื่อนเก่าแก่อย่าง “แต๋ม-ชรัส เฟื่องอารมย์” และ “ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว”
ในแง่การรวมกลุ่มเล่นดนตรี โปรเจ็กต์ดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อทั้งหมดไปร่วมร้อง-เล่นเพลง “รักนิรันดร์” ที่เขาใหญ่ ช่วงเทศกาลปีใหม่ 255
ในแง่ชื่อเสียงเรียงนาม การเรียกขาน “แต๋ม-ปั่น” ว่าพวก “ดึกดำบรรพ์” นั้นหลุดออกมาจากปากพนเทพเมื่อครั้งคอนเสิร์ต “รักนิรันดร์” ปลายปี 2558 ก่อนจะได้รับเสียงเชียร์จาก “ธีร์ ไชยเดช” ศิลปินรุ่นน้อง และความเห็นชอบของชรัสกับไพบูลย์เกียรติ
ถึงปัจจุบัน “ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์” มีคอนเสิร์ตใหญ่และโชว์ย่อยๆ มาแล้วมากมายหลายครั้ง รวมทั้งมีคลิปการแสดงสด (ที่พวกเขามักเรียกว่า “การซ้อม”) ซึ่งเรียกยอดวิวจากผู้ชมคนฟังในโลกออนไลน์ได้ไม่น้อย
อย่างไรก็ดี พนเทพยอมรับว่ายังมีคนจำนวนมากที่อาจสับสนสงสัยว่า “วงนั่งเล่น” และ “ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์” นั้นแตกต่างกันอย่างไร?
“จริงๆ แล้วเนื้อในมันต่างกันโดยชัดเจน คือ นั่งเล่น (ร้อง-เล่น) เพลงใหม่ เป็นเพลงใหม่ที่เราแต่ง ส่วนดึกดำบรรพ์ฯ ถ้าไปเล่นที่ไหน ยังไงคนเห็นหน้าปั่น ก็ต้องขอรักนิรันดร์ รักล้นใจ อะไรพวกนี้ แต่แทนที่ว่าเราจะเล่นเพลงเก่าในรูปแบบเดิม มันเหมือนกับเราไม่ได้ทำการบ้านอะไรมาเลย (ก็) ทำให้มันดีหน่อย ก็เอาเพลงเก่าๆ ของพวกเรานี่แหละ มา (เรียบเรียง) ให้มันดูรู้สึกว่ามีอะไรที่คนดูเขาร่วมได้”
“… โดยตัวชรัสกับปั่น ปกติก็เป็นนักร้องที่รับงานทั่วไปอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคืออาชีพเขาเลย เวลามาทำดึกดำบรรพ์ฯ ไปไหนก็เหมือนกับปกติ ก็คือว่าเป็นงานจ้างศิลปิน ด้วยตัวศิลปินเอง ด้วยตัวเพลง ไปเล่นที่ไหนคนเขาก็รู้จักอยู่แล้วแหละ เขาโอเค แฮปปี้ แต่อย่างนั่งเล่นเป็นเพลงที่สื่อสารเรื่องคอนเทนต์ เพราะฉะนั้น ก็เลยคิดว่านั่งเล่นเนี่ยขอเถอะ ถ้าจะเล่นงานไหน ขอให้เป็นที่ที่เราอยากไป แล้วเรารู้ว่ามีคนอยากฟัง ได้เงินไม่ได้เงินอีกเรื่องหนึ่ง”
คลิกอ่าน บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ชีวิตดนตรีหลายทศวรรษของ “พี่ตุ่น พนเทพ” จากยุคก่อนค่ายเพลง ถึง “วงนั่งเล่น-ดึกดำบรรพ์ฯ” ได้ที่นี่