ไปดูหนังมหากาพย์อินเดีย เรื่อง “บาฮูบาลี”

อ่านบทวิจารณ์หนังภาคสอง คลิกที่นี่ จ้า

ปรับปรุงจากบทความในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 9-15 กันยายน 2559

เพิ่งมีโอกาสได้ชมหนังมหากาพย์จากอินเดียเรื่อง “บาฮูบาลี” ภาคแรก (Bahubali : The Beginning) ที่โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ในเทศกาล Indian Film Festival of Thailand 2016

หลังจากได้ยินชื่อเสียงของหนังเรื่องนี้มานาน ทั้งในแง่การเป็นภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างมากที่สุดของประวัติศาสตร์บอลลีวู้ด (1,755 ล้านบาท)

แถมหนังยังทำรายได้ทั่วโลกไปมากถึง 2,900 ล้านบาท

นอกจากนั้น “บาฮูบาลี” ยังได้รับเสียงชื่นชม ในด้านการมีเนื้อหาอันเข้มข้น ตลอดจนการมีงานสร้างที่ยิ่งใหญ่ตระการตา

อันที่จริง คอหนังชาวไทยบางท่านคงมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ผ่านช่องทางสะดวกสบายใกล้ตัวอื่นๆ (เช่น ช่องทางในโลกออนไลน์) กันมาบ้างแล้ว (เพราะหนังเริ่มออกฉายตั้งแต่ ค.ศ.2015)

ทว่า คงมีไม่เยอะนักที่จะได้ดูหนัง (และซึมซับบรรยากาศบางอย่าง) ในโรงภาพยนตร์

ส่วนใหญ่ของผู้ชมภาพยนตร์เรื่อง “บาฮูบาลี” ในเทศกาลหนนี้ คือชาวอินเดียและคนไทยเชื้อสายอินเดีย นี่อาจเป็นบรรยากาศที่คนดูหนังทั่วไปไม่คุ้นชิน

แต่ผู้ที่มีประสบการณ์ตีตั๋วเข้าไปชมหนังอินเดียเรื่องอื่นๆ ซึ่งเข้าฉายแบบจำกัดโรงหรือเข้าฉายในบางเทศกาลมาก่อน คงพอจะคุ้นเคยกับบรรยากาศเช่นนี้อยู่บ้าง

และด้วยความที่หนังมีความยาวถึง 2 ชั่วโมง 39 นาที จึงต้องมีการพักเบรกกลางเรื่อง ซึ่งนี่ก็เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักกับพฤติกรรมการชมภาพยนตร์ในยุคหลังๆ

ก่อนหน้าจะได้ดูหนัง เคยมีมิตรสหายในโซเชียลมีเดียท่านหนึ่งเขียนสเตตัสชื่นชมถึง “บาฮูบาลี” เอาไว้ทำนองว่า นี่คือระดับพัฒนาการที่ “ละครจักรๆ วงศ์ๆ ไทย” ยังก้าวไปไม่ถึง

อย่างไรก็ดี เมื่อดูหนังจบ ผมกลับอยากเปรียบเทียบ “บาฮูบาลี” กับหนัง “องค์บาก” ภาค 2 และ 3 มากกว่า

เนื่องจาก “บาฮูบาลี” ไม่ได้เล่าเรื่องราวผ่านการแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ หรือการปรากฏขึ้นของอำนาจเทวสิทธิ์เหมือน “ละครจักรๆ วงศ์ๆ ไทย”

หากเล่าเรื่องราวกึ่งตำนานปรัมปรากึ่งประวัติศาสตร์ ที่พูดถึงการต่อสู้แย่งชิงอำนาจในหมู่มนุษย์ผู้มีสองมือสองเท้าปกติธรรมดา (หรืออย่างมากที่สุด ก็คือมนุษย์ผู้มีสถานะประดุจสมมุติเทพ) ซึ่งชี้ชวนให้นึกถึง “องค์บาก” สองภาคหลัง

หนังเปิดเรื่องด้วยชะตากรรมระหกระเหินของทารกเพศชายผู้หนึ่ง ซึ่งถูกไล่ล่าโดยกองกำลังของอาณาจักรอะไรสักอย่าง สตรีวัยกลางคนผู้พาทารกหลบหนีตัดสินใจพลีชีพกลางสายน้ำ ส่วนทารกน้อยผู้รอดชีวิตก็ได้รับการช่วยเหลือจากผู้คนในชุมชนเชิงเขา

เด็กน้อยค่อยๆ เติบใหญ่เป็นชายหนุ่ม เขาประกอบวีรกรรมบางอย่างที่หาญกล้าผิดแผกไปจากบรรดาบุรุษร่วมชุมชน ยิ่งกว่านั้น ตั้งแต่เล็กจนโต เขายังมีความปรารถนาที่จะปีนขึ้นไปบนยอดเขาสูง ซึ่งสำหรับผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนเชิงเขา นั่นคือความเพ้อฝัน อันไม่มีทางเป็นไปได้

ผิดกับความเชื่อในจิตใจส่วนลึกของชายหนุ่ม ที่คล้ายจะตระหนักว่ามีอะไรบางอย่างรอคอยเขาอยู่เบื้องบน

ในที่สุด ชายหนุ่มก็ปีนขึ้นสู่ยอดเขาได้สำเร็จ (โดยเหตุการณ์ถูกเล่าออกมาในเชิง “สัจนิยมมหัศจรรย์” นิดๆ) จากนั้น เขาจึงเข้าไปพัวพันกับ “กองโจร” ที่ซ่องสุมกำลังเพื่อแย่งชิงอำนาจในอาณาจักรใหญ่ ก่อนจะพบว่าตนเองเป็นทายาทของ “ราชาบาฮูบาลี” อดีตกษัตริย์ผู้มีปรีชาสามารถ ซึ่งถูกลอบปลงพระชนม์และโค่นล้มลงจากราชบัลลังก์

หนังภาคแรกปิดฉากตรงการเฉลยว่า ขุนศึกผู้เก่งกล้าและจงรักภักดีต่อ “ราชาบาฮูบาลี” นั่นแหละ ที่เป็นผู้ลงมือสังหารพระองค์ (โดยยังมิได้เปิดเผยว่าอะไรคือเหตุผลของการกระทำดังกล่าว)

บทสรุปเบื้องต้นแบบนี้มีสอดคล้องต้องตรงกันอย่างบังเอิญกับตอนจบของ “องค์บาก 2” ที่ “เชอนัง” (สรพงศ์ ชาตรี) หัวหน้าชุมโจร ซึ่งเลี้ยงดู “เทียน” พระเอกของเรื่องมาตั้งแต่เล็ก เปิดเผยว่าตนเองคือผู้ลงมือฆ่าบิดาแท้ๆ ของเทียน

ระหว่างดูหนัง ผมไม่คิดว่า “บาฮูบาลี” มีงานสร้างหรืองานเทคนิคพิเศษทางด้านภาพที่น่าตื่นตะลึงมากมายนัก

องค์ประกอบเหล่านี้ในหนังมีมาตรฐานที่ดี อาจจะเป็นลำดับต้นๆ ของเอเชีย แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นดีเลิศจนล้ำหน้าภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวู้ด

(ทว่า ฉากรบพุ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีความดุเดือดและน่าจดจำมากๆ ทีเดียว)

ที่สนุกสนานน่าติดตามจริงๆ กลับเป็นเนื้อเรื่องอันเข้มข้นนั่นแหละ

ประเด็นหนึ่งที่โดดเด่นมากๆ ทั้งในโครงเรื่อง พล็อตหลัก และพล็อตรองของ “บาฮูบาลี” ก็คือ บทบาทของผู้หญิง

ตลอดทั้งเรื่อง เราจะได้พบเห็นตัวละครสตรีหลายรายที่ดำรงตนเป็น “ศูนย์กลาง” ของอำนาจ หรือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในเกมการแย่งชิงอำนาจไม่แพ้เหล่าบุรุษ

เริ่มจากตัวละครราชินีผู้ปกครองอาณาจักร ซึ่งส่งมอบอำนาจให้แก่ “ราชาบาฮูบาลี” ที่เป็นหลาน

หนังให้ภาพว่าพระนางเป็นทั้งชนชั้นนำผู้มีกลเม็ดเด็ดพรายลึกล้ำในทางการเมือง และเป็นผู้ยึดถือหลักการปกครองบ้านเมืองอันเที่ยงธรรม

ถ้าเข้าใจไม่ผิด พระนางน่าจะเป็นสตรีที่ยอมพลีชีพกลางสายน้ำ เพื่อช่วยเหลือเด็กทารกตอนต้นเรื่องให้รอดชีวิต แล้วกลับมาล้างแค้นแทนบิดามารดา

ตัวละครน่าสนใจอีกราย ก็คือ ตัวละครมเหสีของ “อดีตกษัตริย์บาฮูบาลี” ผู้เป็นแม่ของพระเอก

เริ่มแรก เธอมีสถานะเป็นเหยื่อผู้ถูกกระทำอย่างโหดร้ายทารุณ แต่แล้วหนังก็ค่อยๆ เผยให้เห็นถึง “เพลิงแค้น” และ “ศักยภาพทางการเมือง” บางประการ ที่ถูกถ่ายทอดออกมาทางสีหน้า-แววตาของสตรีผู้นี้

เป็นไปได้ว่า ตัวละครคนนี้จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างปมความขัดแย้งหลักของหนังภาคสอง

ตัวละครอีกรายที่น่าสนใจไม่น้อย ก็คือ แม่บุญธรรมผู้ชุบเลี้ยงพระเอกขึ้นมา ซึ่งมีสถานะเป็นคล้ายๆ ผู้นำชุมชนของหมู่บ้านเชิงเขา จนชายจำนวนมากต้องอยู่ภายใต้อำนาจ/คำสั่งการของเธอ

ขณะที่นางเอกของหนังเรื่องนี้ก็เป็นมือสังหารฝีมือดีประจำชุมโจรบนยอดเขา ซึ่งมีความสามารถเหนือผู้ชายคนอื่นๆ ยกเว้นพระเอก ซึ่งได้คืนความเป็น “มนุษย์” และ “ความเป็นผู้หญิง (ในแบบหนึ่ง)” ให้แก่เธอ

อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตเช่นกันว่า ส่วนใหญ่ของตัวละครสตรีผู้ทรงบทบาทเหล่านี้ ล้วนต้องแบกรับภาระบางอย่างแทนที่/เพื่อรอคอยมหาบุรุษผู้ทรงความสามารถ

ราวกับว่าพวกเธอจะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ (หรือยอมสละชีวิตตนเองได้) ก็ด้วยการต้องรับหน้าที่ในการคิดถึง/คิดแทน หรือประกอบภารกิจบางประการทดแทนมหาบุรุษผู้นั้น

เหล่าตัวละครสตรีที่มีอำนาจใน “บาฮูบาลี” จึงยังดำรงอยู่ภายใต้อำนาจของบุรุษอีกต่อหนึ่งอยู่ดี

อนึ่ง ภาพยนตร์ “บาฮูบาลี” ภาคจบ จะออกฉายในปีหน้า (ค.ศ.2017) น่าติดตามว่าปมปัญหาต่างๆ ของหนังมหากาพย์จากอินเดียเรื่องนี้ จะคลี่คลายไปสู่บทสรุปแบบใด?

1 Comment

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.