หนึ่ง
แน่นอน หนังสนุก มันส์ ดีงาม เวอร์วังอลังการ ตามท้องเรื่อง เอาเป็นว่านี่คือการใช้เวลาประมาณสามชั่วโมงในโรงภาพยนตร์ที่เพลิดเพลินและคุ้มค่ามากๆ
สอง
แต่มันก็มี “จุดต่าง” บางประการ ระหว่างหนังภาคแรกกับภาคสอง ที่ทำให้ผมชอบภาคแรกมากกว่าอยู่นิดๆ
ประเด็นหลักสำคัญในหนังภาคสอง คือ การอธิบายถึงความสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง “ผู้ปกครอง>>อำนาจ<<ประชาราษฎร” และชี้ว่าความพลั้งผิดของผู้ปกครอง อาจนำไปสู่ “การปฏิวัติ” ลุกฮือโดยประชาราษฎรได้ง่ายๆ
(ตัวอย่างความผิดพลาดที่หนังนำเสนอได้อย่างน่าประทับใจ คือ การตัดสินใจผิดของ “สิวะกามี” มหารานีผู้เปรื่องปราด ขุนนางสอพลอคนหนึ่งถึงกับเคยกล่าวสรรเสริญว่าพระศิวะอาจ “พลาด” ได้ แต่พระนางสิวะกามีนั้นไม่เคย “ผิด” ทว่า สุดท้าย พระนางก็ตัดสินใจอะไรอย่างผิด จนนำไปสู่การสูญเสียว่าที่ผู้นำที่ดี, ระบอบอำนาจต้องปั่นป่วน, ประชาราษฎร์ต่อต้านผู้ปกครอง แถมตัวเองยังต้องมาตกตายกลางสายน้ำ)
น่าสนใจว่าประชาราษฎร/คนเล็กคนน้อยใน Baahubali 2 มีสถานะเป็นเพียง “มวลชน” ที่คอยเปล่งเสียงตะโกนโห่ร้อง พวกเขาเป็นแค่ pixels เล็กๆ หรือส่วนย่อยๆ ของภาพใหญ่อันวิจิตรตระการตา ซึ่งเป็นดังฐานรากคอยรองรับอำนาจและความชอบธรรมของชนชั้นนำ (ตลอดจนทำหน้าที่ต่อต้านการไร้ความชอบธรรมของผู้ปกครองเป็นครั้งคราว)
สวนทางกับหนังภาค 1 ที่ตัวละครคนเล็กคนน้อยแลดูมีชีวิตชีวามากกว่า อาทิ ชาวบ้านในชุมชนใต้ผาสูง ซึ่ง “ศิวะ” (ขณะที่ยังไม่ได้สวมวิญญาณเป็น “มเหนทรา พหุพาลี”) เติบโตขึ้นมา ตลอดจนสมาชิกกองโจรจากคันธาระ โดยเฉพาะ “อวันธิกา” นางเอกจากภาคแรก ที่พลิกผันมาเป็นตัวประกอบในภาคสอง
ด้วยเหตุนี้ “การปฏิวัติ” ใน Baahubali จึงมิใช่การโค่นล้มเปลี่ยนแปลงอะไรโดยประชาราษฎร ทว่า เป็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจของชนชั้นนำ ที่มีประชาราษฎรเป็นมวลคลื่น/พลังสนับสนุน เพื่อค้ำชูมหาบุรุษคนใหม่ผู้มาแทนที่มหาบุรุษคนเดิมและผู้ปกครองเผด็จการคนปัจจุบัน
แม้มหาบุรุษรายใหม่จะเติบโตมาในแบบสามัญชน แต่สุดท้าย มหาบุรุษก็คือมหาบุรุษ และเมื่อเขากลายเป็นมหาบุรุษ ความเป็นมนุษย์ ความรัก ความหลง อารมณ์ขัน ความเยาว์วัย ฯลฯ ที่เขาเคยมีในครอบครอง ก็ค่อยๆ ระเหยหายไป
(ส่วนเขาจะเป็นผู้ปกครองได้ดีแค่ไหน? ก็คงมีแต่เพียงพระศิวะเท่านั้นที่จะรับรู้ถึงอนาคตดังกล่าว -ตามที่เสียง voice over ตอนหนังจบพูดเอาไว้- ก่อนที่พระองค์จะส่งอาณัติสัญญาณบางอย่างมายังอาณาประชาราษฎรต่อไป)
สาม
แนะนำให้คนที่สนุกกับหนังทั้งสองภาคนี้อ่านความเห็นว่าด้วยอำนาจของ “เรื่องเล่า” ใน Baahubali โดยคุณชาญชนะ หอมทรัพย์ (คลิกอ่านที่นี่)
เพราะสิ่งที่ยิ่งใหญ่ทรงอิทธิพลที่สุดในหนังสองภาค นั้นคือเรื่องเล่าว่าด้วย “พหุพาลี” (ที่ควบรวมและกลืนกลายทั้ง “อมเรนทรา” ผู้พ่อ และ “มเหนทรา” ผู้ลูก เข้าไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน)
มเหนทราไม่ได้คิดหรือทำอะไรในนามปัจเจกบุคคล เช่นเดียวกับตัวละครหลักรายอื่นๆ แม้แต่พวกประชาราษฎรก็มิได้มีสถานะเป็นปัจเจก แต่ทุกๆ คน ล้วนเป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของอภิมหาเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “พหุพาลี” ต่างหาก
สี่
ตัวละครที่ผมชอบสุดในหนังภาคสอง ดันกลายเป็น “พิจจาละเทวะ” ตาแก่แขนพิการ ที่ดูเหมือนจะไม่เอาไหน ผู้เป็นบิดาของ “ภัลลาละเทวะ” ตัวร้ายของเรื่อง
นี่คือตัวร้ายที่พิการกาย จิตใจโหดเหี้ยมอำมหิต เป็นกุนซือคอยวางแผนชั่วช้าเลวทราม แถมยังอยู่รอดมาได้ทุกยุคสมัย ทุกระบอบอำนาจ
ผมชอบฉากที่ตาแก่นี่หลอกลวงแล้วตลบหลัง “กุมารา วาร์มา” ผู้หาญกล้า (ก่อนหน้านี้ เราในฐานะคนดูจะรู้สึกว่าพิจจาละเทวะนั้นช่างคิดช่างแค้น แต่เราแทบไม่รู้ว่าเขามีศักยภาพในด้านการ “ลงมือปฏิบัติการ” ขนาดไหน กระทั่งมาถึงฉากดังกล่าว)
ผมชอบตอนที่ตาแก่จอมวางแผนดันรอดตายอย่างไม่น่ารอด ท่ามกลางการรบพุ่งประจัญบานยึดอำนาจในมหิชมาติ
ผมชอบที่ตาแก่คนเดียวกันเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างสำคัญ (แม้อาจไม่เต็มใจ) ในพิธีสวมมงกุฎให้แก่ “มเหนทรา พหุพาลี” มหาบุรุษคนใหม่ ผู้เพิ่งยึดอำนาจและลงมือสังหารภัลลาละเทวะ ลูกชายแท้ๆ ของเขาเอง
ห้า
แน่นอนว่าการเชือดเฉือนปะทะคารมและคมคิดระหว่างสองหญิงเก่ง/แกร่งอย่าง “สิวะกามี” กับ “เทวเสนา” นั้น เข้มข้น สนุก และดราม่าแบบสุดๆ
ผ่านปมขัดแย้งระหว่างสตรีสองคนนี้ หนังได้ฉายภาพให้เราเห็นบทบาทของผู้หญิงชนชั้นนำกับการเมือง/การต่อสู้แย่งชิงอำนาจในอาณาจักรหรือนครรัฐยุคโบราณ
หนังภาคสองสานต่อปมที่ผูกเอาไว้ในภาคแรก โดยแสดงให้เห็นว่า “ผู้หญิง” คือผู้ทำหน้าที่เก็บงำบันทึกความทรงจำว่าด้วยความขัดแย้งทางการเมือง แล้วสืบสาน/ส่งมอบ/ปลูกฝังมันแก่อนุชนรุ่นหลัง
มหารานีผู้ทูนกองเพลิงไว้บนศีรษะ จึงสามารถ “จุดไฟ” ให้เกิดมหาสงครามได้ โดยมิต้องออกรบด้วยตนเอง
น่าเสียดายที่พอหนังตัดกลับมาสู่เรื่องราวการทวงแค้น/คืนบัลลังก์ของ “มเหนทรา” ตัวละครนำหญิงที่หลงเหลืออยู่อย่าง “เทวเสนา” ก็ค่อยๆ ถูกทำให้แบน ไร้มิติไปซะเฉยๆ
ราวกับว่าเมื่อส่งมอบ “เรื่องเล่า” “ความทรงจำ” “ความคั่งแค้น” ให้แก่คนรุ่นหลังเรียบร้อยแล้ว ความเป็นมนุษย์มนาและชีวิตชีวาของเธอจะต้องสูญสลายหายไปด้วย
หก
อีกหนึ่งตัวละครที่น่าสนใจดี คือ ยอดขุนพล “กัตทัปปะ”
ทีแรกผมเดาเอาเองว่ากัตทัปปะน่าจะมีจุดจบคล้ายกันกับตัวละคร “เชอนัง” ใน “องค์บาก 2”
แต่ Baahubali 2 กลับต่อชีวิตให้เขา แถมเป็นชีวิตที่เปี่ยมสีสันซะด้วย
จากยอดขุนพลผู้เก็บงำความลับด้วยบุคลิกเข้มเครียดจริงจังในภาคแรก พอมาถึงภาคหลัง กัตทัปปะ กลายสภาพเป็นตัวละคร “ผู้ช่วยพระเอกแบบครบรส” ที่เป็นทั้งตัวตลก พ่อสื่อ (จดหมายผิดซอง) เป็นทาสกล้าวิจารณ์นาย เป็นบ่าวผู้จำใจต้องแทงข้างหลังนาย
เขาเป็นอีกตัวละครเอกผู้ไม่ตาย แต่สามารถรับใช้ได้ทุกระบอบ (ทั้งแบบเต็มใจและไม่เต็มใจ)
กัตทัปปะเป็นเหมือน “เหรียญอีกด้าน” ของ “พิจจาละเทวะ” ตัวละครเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เมื่ออีลิท “ชน” กัน พวกเขาไม่จำเป็นจะต้องกลั่นแกล้ง รังแก ตัดตอน หรือกำจัดบรรดา “บริกร” ด้านต่างๆ ซึ่งสามารถทำงานได้ดีกับทุกฝ่าย
เจ็ด
อยากเชียร์ให้มีการผลิตงานวิชาการแนว audience studies ในไทยออกมาอย่างจริงจัง
จากประสบการณ์ของคนที่ออกนอกมหาวิทยาลัยมาเนิ่นนานหลายปี ไม่รู้ว่าถัดจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท สาขามานุษยวิทยา หัวข้อ “นางนาก : การต่อรองทางความหมายในภาพยนตร์ยอดนิยม” ของอาจารย์พรรณราย โอสถาภิรัตน์ แล้ว ยังมีงานวิชาการเด่นๆ ชิ้นไหนหลังจากนั้น ที่แตะประเด็นเกี่ยวกับคน/ชุมชนคนดูหนังบ้างหรือไม่?
แต่ดูเหมือนงานศึกษาประเภทนี้จะไม่คึกคักมากนัก ทั้งที่ในเมืองไทยเอง มีอะไรแนวนี้ให้ทำ/ศึกษาต่อได้อีกเยอะแยะ
ชุมชนคนดูหนังอินเดียในประเทศไทย ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าสนใจมาก
เอาง่ายๆ ในฐานะ “คนนอก” ผู้เพิ่งไปดูหนังอินเดียที่เมเจอร์ สุขุมวิท เป็นหนแรก (ก่อนหน้านี้ เคยดูหนังอินเดียในเทศกาลภาพยนตร์ใจกลางเมือง ท่ามกลางคนดูอินเดียส่วนใหญ่ในโรงอยู่สองครั้ง) ผมเกิดคำถามขึ้นทันทีว่า คนดูหนังกลุ่มนี้คือใครกันบ้าง? ทีแรก เดาว่าพวกเขาคงเป็นคนไทยเชื้อสายอินเดีย แต่เมื่อแอบฟังพวกเขาคุยกัน หลายคนหลายกลุ่มก็ไม่ได้สนทนาสื่อสารกันด้วยภาษาไทย
นี่เป็นแค่คำถามตั้งต้น (ที่ยังไม่มีคำตอบ) และยังมีคำถามน่าสนใจอีกมากมายเกี่ยวกับชุมชนคนดูหนังกลุ่มดังกล่าว
2 Comments