“พระพาย” คือ เทพเจ้าแห่งสายลม ตำนานเกี่ยวกับกำเนิดความเป็นมาของพระองค์นั้นมีหลากหลายมากๆ
ในเวอร์ชั่นหนึ่งเล่าว่า พระพายมีอีกนามว่า “มารุต” เป็นบุตรพระกัศยป เทพบิดร กับพระนางทิติ มเหสีฝ่ายซ้าย
โดยหลังจากเหตุการณ์คราวกวนเกษียรสมุทรที่พวกแทตย์และอสูร อันเป็นโอรสของพระนางทิติ ต้องพ่ายแพ้ให้ฝ่ายเทวดา ซึ่งเป็นโอรสของพระนางอทิติ มเหสีฝ่ายขวาของพระกัศยป
พระนางทิติจึงไปเข้าเฝ้าพระสวามี และทูลขอโอรสองค์ใหม่ที่เก่งกล้าสามารถกว่าพวกเทวดา พระกัศยปจึงแนะนำให้มเหสีฝ่ายซ้ายไปบำเพ็ญตบะร้อยปี แล้วก็จะได้โอรสผู้เก่งกล้าสมความปรารถนา
เรื่องนี้ไปเข้าหูพระอินทร์ หัวหน้าเทวดาบนสรวงสวรรค์ ผู้เป็นโอรสของพระนางอทิติ มเหสีฝ่ายขวา พระองค์เกิดความไม่ไว้ใจ จึงไปเฝ้าปฏิบัติรับใช้พระนางทิติ ราวกับเป็นพระมารดาแท้ๆ
กระทั่งพระนางทิติ ซึ่งแรกๆ ไม่ค่อยชอบพวกเทวดานัก นึกรักพระอินทร์เหมือนลูกของตัวเอง และทำให้นางเปลี่ยนความตั้งใจ จากที่เคยหวังจะให้ลูกคนใหม่เป็นศัตรูของเทวดา ก็ตั้งปณิธานให้เขาเกิดมาเป็นมิตรกับพระอินทร์แทน
แต่พระอินทร์ยังไม่หยุดแค่นั้น เพราะเมื่อพระนางทิติเผลอนอนหลับผิดทิศ พระองค์ก็ได้โอกาสสำแดงฤทธิ์สอดแทรกร่างเข้าไปในช่องคลอดของนาง แล้วเอาวัชระตัดทารกในครรภ์ออกเป็น 7 ภาค
เมื่อพระนางทิติตื่นขึ้นมารับรู้เรื่องราว จึงรู้ว่าตนพลาดท่าเสียที และได้แต่ยอมมอบลูกทั้งเจ็ดให้เป็นบริวารของพระอินทร์
โอรสทั้งหมดได้นามว่า “มารุต” และได้รับมอบหมายจากพระอินทร์ให้ทำหน้าที่กำกับลมทั้งเจ็ด ได้แก่ ลมตะวันออก, ลมตะวันตก, ลมเหนือ, ลมใต้, ลมพัดในเทวโลก, ลมพัดในพรหมโลก และทิพยวายุ (ลมในอากาศ)
เท่ากับว่า “พระพาย” กับ “เทพมารุตทั้งเจ็ด” เป็นเทพองค์เดียวกัน
แต่บางตำนานอธิบายว่าเทพมารุตนั้นก็เป็นโอรสของพระพายนั่นแหละ โดยทำหน้าที่คอยบันดาลให้เกิดเสียงฟ้าคำราม ฟ้าผ่า พัดพาฝนไปสู่มนุษย์ และช่วยพระอินทร์ต่อสู้ศัตรู
นอกจากนี้ สถานะของ “พระพาย” ยังถูกบอกเล่าแตกต่างกันไป เช่น บางแหล่งบอกว่าพระองค์เป็นเพื่อนสนิทของพระอินทร์ ถึงขนาดประทับบนรถคันเดียวกัน โดยมีพระอินทร์ทำหน้าที่เป็นสารถีเสียด้วย
แต่บางแหล่งก็ยืนยันว่าพระพายเป็นบริวารของพระอินทร์ พ่วงด้วยการเป็นกษัตริย์ปกครองเหล่าคนธรรพ์
คราวนี้ มาถึงตำนานเกี่ยวกับ “พระพาย” ที่หลายคนคุ้นเคยกันบ้าง
ใน “รามเกียรติ์” ของไทย บอกว่าพระพายเป็นพระบิดาของหนุมาน ซึ่งหากพิจารณาตามเนื้อเรื่อง พระองค์ก็เป็นพ่อแต่เพียงในนามเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว เป็นพระอิศวรต่างหากที่ทรงมอบหมายให้พระพายนำ (พัด) กำลังและอาวุธของพระองค์ไปซัดเข้าปากนางสวาหะ จนก่อกำเนิดเป็นพญาลิง
ประเด็นนี้ มหากาพย์ “รามายณะ” ของอินเดีย ก็เล่าต่างไปอีกว่า หนุมานเป็นบุตรของนางอัญชนา มเหสีท้าวเกศรีกปิราช แต่นางอัญชนามีบุตรกับพระพาย จึงต้องแอบไปคลอดลูกชายทิ้งไว้ในป่า
ส่วนในมหากาพย์ “มหาภารตะ” ก็บอกว่าพระพายเป็นบิดาของภีมะ โอรสของพระนางกุนตี มเหสีฝ่ายซ้ายของท้าวปาณฑุ
ยิ่งกว่านั้น ยังมีเรื่องเล่าในแง่มุม “ร้ายๆ” เกี่ยวกับ “พระพาย” ปรากฏอยู่เหมือนกัน เช่น เรื่องที่เล่าว่าพระพายได้พบเห็นธิดา 100 นางของพระกุศนาภ แล้วเกิดหลงใหล จึงชักชวนพวกนางมาร่วมเสพเมถุน แต่นางทั้งร้อยกลับไม่ยินยอม พระพายจึงสาปให้นางทั้งหมดกลายเป็นหญิงหลังค่อม!
สำหรับรูปลักษณ์ของ “พระพาย” นั้น ว่ากันว่าทรงมีผิวกายสีขาว มี 4 กร ถือลูกศรและธง (บางแห่งว่าถือเขนงหรือแตรเขาสัตว์สำหรับใช้เป่า) มีกวางเป็นพาหนะ (บ้างก็บอกว่าทรงรถที่ประดิษฐ์จากแก้ว แล้วเทียมด้วยม้าสีแดงหรือม่วง)
ส่วนเนื้อหาที่กำลังดำเนินไปในเทพสามฤดู ก็อาจถือเป็นเรื่องเล่าว่าด้วย “พระพาย” อีกหนึ่งเวอร์ชั่นได้เหมือนกัน
(ข้อมูลจากหนังสือ “กำเนิดเทวดา” โดย “มาลัย”)