เขียนถึง “Die Tomorrow” (แบบไม่ค่อยเกี่ยวกับหนัง)

ว่าด้วยงานศพ

Die Tomorrow ไม่มีฉากงานศพ แต่จำได้รางๆ ว่า ในช่วง 1-2 วันแรกที่หนังเข้าฉาย เหมือนจะมีใครเคยเปรียบเทียบเอาไว้ทำนองว่าหนังเรื่องนี้มีลักษะที่คล้าย “หนังสืองานศพ”

หลังดู Die Tomorrow จบ ผมก็คิดถึง “งานศพ” เหมือนกัน แต่เมื่อหนังไม่มีภาพงานศพใดๆ ปรากฏอยู่ สิ่งที่จะเขียนในหัวข้อนี้จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวหนังโดยตรงเสียทีเดียว

ปกติ ผมเป็นคนที่หลีกเลี่ยงการไปร่วมงานศพ, งานแต่งงาน แล้วก็การไปเยี่ยมคนป่วย

พูดถึงเฉพาะกรณีงานศพ งานศพที่ผมไปจริงๆ จึงมักเป็นงานของญาติสนิท, เพื่อนร่วมงาน, พ่อแม่เพื่อนร่วมงาน, และคนที่เคยมีอดีตผูกพันกันในบางด้าน (จนผมรู้สึกว่าควรต้องไปอำลาเขาเสียหน่อย)

ความรู้สึกเวลาไปงานศพของผมจึงอาจแบ่งออกได้เป็นสองแบบ

แบบแรก คือ การไปนั่งฟังพระสวดหรือช่วยงานนิดหน่อยอย่างเงียบๆ เบามือ วางระยะห่างให้พอดี เมื่อหมดภาระก็ปลีกตัวจากมา (ความรู้สึกแบบนี้จะเกิดขณะไปร่วมงานของญาติ, คนรู้จัก, เพื่อนร่วมงาน)

ผมคิดต่อว่าความรู้สึกแบบแรกนี้นี่แหละที่ดูเหมือนจะเป็นอารมณ์หรือบรรยากาศหลักๆ ในหนัง Die Tomorrow

มันเป็นอารมณ์และบรรยากาศที่ความแปลกแยกขณะดำรงชีวิตอยู่กับการจากลาเพราะความตาย มาซ้อนทับหรือพร่าเลือนระหว่างกัน ณ ห้วงเวลาและพื้นที่หนึ่งๆ

ผมไม่แน่ใจว่าตัวเองชอบอารมณ์ความรู้สึกทำนองนี้หรือไม่ แต่คิดว่าพอเข้าใจเหตุผลในการดำรงอยู่ของมัน

อย่างไรก็ตาม เราจะพบว่า Die Tomorrow นั้นนำเสนอประเด็นความตายของคนหนุ่มสาวล้วนๆ (อาจมีตอนน้าค่อม ที่เป็นเรื่องของชายวัยกลางคนแทรกเข้ามา แต่นั่นก็คือชีวิตพ่อลูกที่เหมือนจะอยู่กันโดยลำพังเพียงสองคน) และกลายเป็นว่าคุณปู่ผู้มีประสบการณ์ชีวิตสูงสุด กลับเป็นคนที่ไม่มีประสบการณ์ตรงในประเด็นดังกล่าว

ฉะนั้น พอความตายถูกผูกอยู่กับวัยหนุ่มสาวหรือครอบครัวขนาดเล็กๆ พันธะ-ภาระที่ยุ่งเหยิงตามมาเลยมีไม่มากนัก เราจึงได้สัมผัสกับบรรยากาศเจือจาง เคว้งคว้าง เวิ้งว้าง เหมือนที่หนังนำเสนอ แต่หากความตายผูกติดกับผู้ใหญ่หรือวัยชรา ในครอบครัวขยาย ผมคิดว่าสถานการณ์อาจเป็นตรงกันข้าม

(แม้แต่ตอนหนึ่งที่ดีมากๆ ในหนัง คือ ตอนของพลอยกับซันนี่มันก็เข้าข่ายนี้ คือ พอเป็นคู่ชีวิตที่ไม่ได้รัก เกลียด ร่วมสุข แบกทุกข์กันมายาวนานหลายทศวรรษ เมื่อถึงเวลาพรากจากกัน มันเลยเกิดอาการว่างๆ โหวงๆ เหว่ว้า แทนที่จะเป็นการต้องจัดการกับปัญหาต่างๆ นานาในครอบครัว จนชุลมุนวุ่นวาย)

พลอย ซันนี่

แต่อารมณ์อีกแบบที่เกิดขึ้นเวลาผมไปงานศพ (ซึ่งเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง ระดับหลายปีจะมีสักหน) คือ การไปงานของคนที่เคยมีอดีตผูกพันกัน

สมัย ป.2 ผมเคยมี conflict กับพระอาจารย์รูปหนึ่งซึ่งมาสอนวิชาจริยธรรมที่โรงเรียน ในประเด็นเกี่ยวกับวิธีการลงโทษของแก ก่อนจะมีการเคลียร์กันระหว่างพระอาจารย์กับผู้ปกครองของผม

หลังจากนั้นไม่นาน พระอาจารย์รูปนั้นก็บินไปเรียนต่อปริญญาเอกที่อินเดีย (แกน่าจะมีแผนการอยู่เดิมแล้ว คงไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งจากกรณีของผมหรอก)

เราไม่ได้พบกัน 2-3 ปี จำได้ว่าพอผมขึ้น ป.6 เหมือนพระอาจารย์จะกลับเมืองไทย แล้วก็มาสวดมนต์ในงานบุญของโรงเรียน พร้อมทั้งถามหาผมว่ายังเรียนอยู่ที่นี่ไหม? ตอนนี้อยู่ที่ไหนแล้ว?

ข่าวคราวสุดท้ายเกี่ยวกับพระอาจารย์ที่ผมทราบก่อนจะขึ้นชั้นมัธยมฯ คือ แกจบปริญญาเอกมาแล้ว และก็มีสถานะเป็น “พระดาวรุ่ง” ในมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งหนึ่ง

แล้วผมก็ไม่ได้ข่าวของแก (หรือไม่สนใจจะสืบหาข่าวของแก) เป็นเวลาอีกกว่า 20 ปี ผมอาจนึกถึงแกแว้บๆ 2-3 หน พร้อมทั้งจินตนาการว่า “โห! ป่านนี้ พระอาจารย์คงได้เป็นเจ้าคุณชั้นเทพ ชั้นธรรม เป็นอย่างต่ำ ไปแล้วมั้ง?”

[สำหรับคนไม่คุ้น ระดับสมณศักดิ์ของพระสงฆ์จะไล่จากชั้นสามัญ, ราช, เทพ, ธรรม, พรหม และสมเด็จ]

ต้นปี 2560 จู่ๆ ผมก็เห็นเพื่อนในเฟซบุ๊กคนหนึ่ง (ซึ่งไม่ใช่เพื่อนสมัยประถมด้วย แต่เป็นนักวิชาการที่เคยบวชเรียนมาก่อน) แชร์โพสต์ที่แจ้งข่าวการเสียชีวิตของพระอาจารย์รูปนั้น

ผมใจหายพอสมควรที่คนรู้จัก (แม้จะเคยขัดแย้งกันด้วยเรื่องนิดๆ หน่อยๆ) ต้องเสียชีวิตลง จากนั้น สิ่งที่ผมค่อนข้างตกใจ ก็คือ ผมพบว่าพระอาจารย์ที่มรณภาพในวัย 70 ปี มีสมณศักดิ์อยู่ที่ชั้นราช ไม่ใช่ชั้นสูงกว่านั้นอย่างที่ผมเคยจินตนาการไว้

ที่สำคัญ พอเช็คข้อมูลเพิ่มเติม ผมพบว่าแกเพิ่งมาได้รับสมณศักดิ์ชั้นราชเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ก่อนจะเสียชีวิตต้นเดือนมกราคม 2560 จากอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง

ผมตัดสินใจไปงานสวดของแกหนึ่งคืน เพื่อจะขอขมาลาโทษ/ขออโหสิกรรม/ชำระล้างความขุ่นข้องหมองใจที่เคยมีต่อกัน

สถานการณ์บนศาลาก็ดำเนินไปอย่างเรียบๆ ที่น่าตื่นเต้นหน่อย คือมีพระพิธีธรรมจากวัดราชสิทธารามมาสวดพระอภิธรรมทำนองหลวงด้วยลูกคอระดับสุดยอด (ราวๆ ทศพล หิมพานต์) จนพวกญาติโยมต่างตกตะลึง อมยิ้ม และชื่นชมไปตามๆ กัน

เสร็จพิธี ผมไปนั่งสงบนิ่งหน้าโลงศพพระอาจารย์ประมาณหนึ่งนาที แล้วก็กำลังจะเดินลงศาลา โดยคิดว่าภารกิจของตัวเองคงเสร็จสิ้นเรียบร้อยดี “เราไม่น่ามีอะไรค้างคากันแล้วนะครับ พระอาจารย์”

ปรากฏว่าระหว่างก้าวเท้าเดินลงบันไดศาลานั่นเอง เสียงหลวงพี่ที่เป็นโฆษกประจำงานก็ประกาศนู่นนี่ไปเรื่อยๆ แล้วแกก็อ้างถึงคำพูดประโยคท้ายๆ ของพระอาจารย์ที่โรงพยาบาล (เป็นประโยคแนว “อำ” ที่น่าสนใจมากๆ) ก่อนจะเปล่งหัวเราะ “ฮ่า ฮ่า ฮ่า” ออกมาดังๆ

พอฟังเสร็จ ผมคิดทันทีว่า “เฮ้ย! สงสัย วันเผาพระอาจารย์เราคงต้องมาอีกวันว่ะ อย่างน้อยพวกหนังสือที่แจกคงมีอะไรดีๆ แน่ๆ”

ถึงวันเผาศพในอีกหลายเดือนต่อมา ผมก็แอบไปยืนซุ่มอยู่แถวหน้าเมรุด้วย ท่ามกลางแขกเหรื่อที่ส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ แล้วก็มีญาติโยมรวมทั้งผมยืนอออยู่นอกศาลา

พอได้อ่านหนังสือที่แจกในงาน ผมก็พบว่าชีวิตของพระอาจารย์รูปนี้น่าสนใจจริงๆ และบางทีถ้าผมมาพบแกตอนโต เราอาจจะคุยกันถูกคอก็ได้ (ไม่ใช่ตอนที่ผมยังเป็นเด็กน้อย ส่วนแกเป็นพระหนุ่มไฟแรง)

เช่น ผมพบว่าพระอาจารย์มีปมชีวิตเรื่องหนึ่ง คือ การสอบบาลีไปติดที่ระดับ “เปรียญ 8” โดยแกพยายามเข้าสอบให้ได้เปรียญ 9 หลายครั้งมากๆ กระทั่งตอนอายุเยอะๆ หรือหลังจบปริญญาเอกเป็น ดร. มาจากเมืองนอกแล้ว แต่สุดท้าย แกก็ยังตกประโยค 9 อยู่ร่ำไป จนเลิกสอบและบ่นท้อเรื่องนี้กับเพื่อนสนิท

อีกเรื่องที่สนุก คือ ผมไม่แน่ใจว่าพระอาจารย์คิดอย่างไรกับสมณศักดิ์ของตนเอง แต่มีเพื่อนของแกที่เป็นฆราวาสเขียนแซวเรื่องนี้เอาไว้ในหนังสืองานศพ

เป็นที่ทราบกันในหมู่คนรู้จักสนิทสนมว่าสมณศักดิ์ของพระอาจารย์นั้น “ติด” อยู่ตรงชั้นสามัญ (เจ้าคุณขั้นแรก) นานมากๆ จนแกคิดว่าตัวเองคงอยู่ชั้นนี้ไปตลอดชีวิต แต่เพื่อนฆราวาสคนหนึ่งกลับเรียกขานแกขำๆ ว่า “สมเด็จ… (ต่อด้วยชื่อสมณศักดิ์ชั้นสามัญของพระอาจารย์)” (หรือเป็นการนำเอาสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นต่ำสุดและสูงสุดมาประกบกันเสียอย่างงั้น) แล้วการเรียกแกแบบติดตลกว่าสมเด็จฯ นี่ก็ลามไปถึงคนระดับ “ราษฎรอาวุโส” เลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังมีเกร็ดน่าสนใจอีกมากมาย (ทั้งจากหนังสืองานศพ และคำกล่าวไว้อาลัยหน้าเมรุโดยพระผู้ใหญ่ซึ่งเป็นรุ่นน้องและเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาของแกในมหาวิทยาลัย) เช่น ผมเพิ่งทราบว่าช่วงปลาย 2520-ต้น 2530 พระอาจารย์และพระราชรัตนโมลี (นคร เขมปาลี) ศิษย์เอก “พระพิมลธรรม” จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ในการไปติดต่อ/ประชุมกับประเทศทางค่ายสังคมนิยม ขณะที่พระรุ่นใหม่อีกส่วนจะถูกมอบหมายให้ไปติดต่อกับฝั่งโลกเสรีประชาธิปไตย

หรือผมเพิ่งได้รู้ว่าพระอาจารย์ในวัยหนุ่มเคยเป็นผู้ช่วยรายสำคัญสมัยที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ) มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์ และพระหนุ่มกลุ่มนั้นทั้งหมดก็พยายามเข้าไปเคลื่อนไหวผลักดันให้สภาผู้แทนฯ ในช่วงครึ่งหลังทศวรรษ 2510 ออก พ.ร.บ. รับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ให้มีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย แต่ทุกอย่างก็ถูกพับเก็บหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

ที่น่าสนใจ คือ สมณศักดิ์ชั้นราชที่พระอาจารย์ได้รับก่อนจะเสียชีวิตไม่นานนั้น ไม่ได้เป็นชื่อสมณศักดิ์ที่มีอยู่ในระบบปกติทั่วไป แต่เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นใหม่ให้แกโดยเฉพาะ โดยอ้างอิงกับตำแหน่งทางวิชาการของบุคลากรมหาวิทยาลัยสงฆ์ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับเก่าที่แกเคยพยายามผลักดัน ซึ่งไม่ได้แบ่งเป็นอาจารย์, รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ เหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป แต่จำแนกเป็นอาจารย์, วราจารย์ และปวราจารย์แทน

ที่เขียนมายืดยาวนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ “หนังเต๋อ” เลย

เพียงแต่ผมรู้สึกว่านี่เป็นอารมณ์ ความรู้สึก ความสนใจใคร่รู้ ความยุ่งเหยิงวุ่นวาย อีกประเภทหนึ่ง ที่สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อเราสัมผัสกับความตายของคนบางคน

และนี่เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่มีปรากฏอยู่ใน Die Tomorrow (ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะหนังเลือกแล้วที่จะเดินไปอีกทาง)

24058752_1592941440744524_2925565101496703338_n

ตามความเห็นส่วนตัว ตอนหนึ่งของหนังที่น่าจะขยับขยายออกเป็นหนังยาว แล้วเพิ่มเติมแตกแขนงรายละเอียดภูมิหลัง ความขัดแย้ง การตบตีแย่งชิงเข้าไปได้อย่างน่าสนุกและเมามัน ก็คือ ตอนของเต้ย

หรือเอาเข้าจริง ผมแอบคิดเล่นๆ ว่า คนที่น่าจะพูดคุยเรื่องราวจิปาถะอื่นๆ ได้สนุกสนานซับซ้อนหลากหลาย (นอกจากประเด็นความตาย) ก็คือ “คุณปู่เปรม”

ว่าด้วยโซเชียล มีเดีย และอัตราส่วนภาพ

 

จุดเด่นอีกข้อใน Die Tomorrow คือ ลูกเล่นเรื่องอัตราส่วนภาพ ที่สลับกันระหว่างภาพที่เกือบจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสกับภาพจอกว้างตามมาตรฐานภาพยนตร์ปกติ

การเลือกใช้ภาพแบบเกือบจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสคงได้รับอิทธิพลมาจากโซเชียล มีเดีย โดยเฉพาะพวกคลิปวิดีโอในเฟซบุ๊ก (อย่างที่รู้กันว่าคนไทยบ้าเฟซบุ๊ก!)

ขณะเดียวกัน ผมยังรู้สึกอยู่ลึกๆ ว่า พร้อมๆ กับที่เลือกหยิบมันมาใช้สอย เต๋อก็วิพากษ์และแสดงให้เห็นข้อจำกัดของอัตราส่วนภาพแบบดังกล่าวไปพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ดี ผมอยากตั้งข้อสังเกตหรือชวนคุยเพิ่มเติมอีกเรื่อง ที่ไม่เกี่ยวกับหนังโดยตรง (อีกเช่นเคย)

คือ ถ้าเราประเมินผ่านมุมมองที่มี “ภาพยนตร์” หรือ “โรงภาพยนตร์” เป็นศูนย์กลาง ไอ้อัตราส่วนภาพแบบ (หรือเกือบจะเป็น) สี่เหลี่ยมจัตุรัสเช่นนี้ ย่อมถือเป็นสิ่งแปลกปลอม แปลกตา ผิดมาตรฐาน ซึ่งบ่งชี้ถึงนัยยะความหมายที่คนทำ/คนดูไม่คุ้นเคย ตลอดจนขีดจำกัดบางอย่าง

แต่หากประเมินจากมุมมองที่ใช้ “โซเชียลมีเดีย” (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฟซบุ๊ก) และ “สมาร์ทโฟน” เป็นศูนย์กลาง อัตราส่วนภาพที่ว่าก็คือสิ่งปกติ สิ่งที่เป็นมาตรฐาน สิ่งที่รับประกันยอดรีชและยอดผู้เข้าชม

ปัจจุบัน คนทำงานสื่อไทยที่ต้องเกี่ยวข้องกับแพล็ตฟอร์มเฟซบุ๊ก แทบจะเห็นตรงกันหมดแล้วว่า คลิปภาพแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสนั้นมีแนวโน้มจะ “คลิก” หรือ “เวิร์ก” กับผู้ใช้สมาร์ทโฟน (ซึ่งเป็นเครืองมือหลักที่ใช้เสพโซเชียลมีเดียประเภทนี้) มากที่สุด และกลายเป็นว่าภาพอัตราส่วน 16:9 หรือใกล้เคียงต่างหาก ที่กลายเป็น “ภาพเรียวๆ ยาวๆ ไม่เต็มจอ” ภาพที่ผิดปกติ ไม่ได้มาตรฐาน ในสื่อ/เครื่องมือชนิดใหม่

แต่ความซับซ้อนมันยังมีตามมา เพราะพอย้ายจากเฟซบุ๊กไปยูทูบหรือกระทั่งพวกไลน์ทีวี ก็ดูเหมือนว่าอัตราส่วนภาพแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสจะกลายเป็นความผิดปกติ หรือขนาดที่ยัง “ไม่ลงตัว” กับแพล็ตฟอร์มดังกล่าวอีกหน (ทั้งในแง่การตอบรับจากผู้บริโภค ตลอดจนเจ้าของแพล็ตฟอร์ม)

ผมเลยรู้สึกว่านอกจากการเล่นกับอัตราส่วนภาพของเต๋อจะทำให้เราเห็นข้อแตกต่างหรือข้อจำกัดของมุมมอง/ประสบการณ์เปรียบเทียบสองแบบ ดังที่นำเสนอในหนังแล้ว มันยังอาจฉายภาพให้เราเห็นถึงปรากฏการณ์การปะทะกันบางประการในวัฒนธรรมสื่อร่วมสมัย ซึ่งเคลื่อนตัวและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.