คำถามสำคัญที่ “นางสิบสอง-พระรถเมรี” (2562-63) ทิ้งค้างเอาไว้ ก็คือ ปริศนาที่ว่ามนุษย์จะสามารถต่อสู้/ดิ้นรน/ขัดขืนได้มากน้อยเพียงใด? ถ้าหากชะตากรรมของพวกเราได้ถูกกำหนดเอาไว้เรียบร้อยแล้ว
ถึงแม้เส้นเรื่อง “นางสิบสอง” จะอวสานลงอย่างมีความสุข เมื่อลูกสาวทั้ง 12 นาง ได้รับดวงตาคืน และได้กลับมาพบกับพ่อแม่ที่พลัดพรากกันมานานหลายสิบปี
ผิดกับเส้นเรื่อง “พระรถเมรี” ที่ความรักอันไม่สมหวังระหว่าง “รถเสน” กับ “เมรี” ต้องพบจุดจบในลักษณะโศกนาฏกรรม
อย่างไรก็ดี บทสรุปที่ตรงกันข้ามกันดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่หลายๆ ฝ่ายรู้กันดีอยู่แล้ว ว่ามันจะต้องเกิดขึ้น
เพื่อนบ้านของเศรษฐีนนท์และแม่จัน ผู้มีความสามารถด้านการดูหมอ-นั่งทางใน ก็เคยบอกตั้งแต่ตอนต้นๆ เรื่อง ว่าสองผัวเมียจะได้หวนมาเจอลูกๆ ซึ่งกลายเป็นผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์ในเวียงวัง
เช่นเดียวกับที่พระอินทร์ แม่ย่า พระฤาษี กระทั่งพวกพาลเทพและน้าผี ก็พอจะรู้กันอยู่แล้วว่ารักของหนุ่มสาวอย่าง “รถเสน” และ “เมรี” จะต้องลงเอยด้วยภาวะทุกข์ตรมใจสลาย ณ เบื้องท้าย
ในแง่นี้ ชีวิตของตัวละครหลักใน “นางสิบสอง-พระรถเมรี” จึงคลี่คลายไปในแบบ “ชะตาฟ้ากำหนด”
ในกรณีของ “รถเสน” กับ “เมรี” น่าตั้งคำถามไม่น้อยว่าบรรดาผู้หยั่งรู้ชะตาชีวิตของทั้งคู่นั้นสามารถทำอะไรได้บ้าง? เพื่อขัดขวางมิให้โศกนาฏกรรมบังเกิดขึ้น
แม้รู้ว่า “เมรี” จะตรอมใจตาย ส่วน “รถเสน” ก็จะขาดใจตายตาม แต่พระอินทร์และพระฤาษีก็ยังดลบันดาลให้ทั้งคู่มีโอกาสเจอ/รักกัน ให้เขาและเธอพลัดพรากกัน ก่อนจะปล่อยให้หนุ่มสาวทั้งสองปิดฉากชีวิตลง ณ สถานที่-เวลาเดียวกัน โดยอ้างเรื่องของ “กรรม” หรือ “โชคชะตา” ซึ่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรไม่ได้ (แต่ใช้อำนาจวิเศษเร่งรัด/ผลักดันให้ดำเนินไปตามนั้นได้?)
ไม่ต่างอะไรกับ “เพื่อน/มิตรสหาย” อย่างพาลเทพหรือม้าพาชีและน้าผี ที่แม้จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาเนิ่นนาน แต่ครั้น “รถเสน” กำลังมุ่งหน้าไปเผชิญความตาย “มิตร” เหล่านี้ก็ค่อยๆ หายหน้าหายตาไปอย่างแนบเนียน โดยไม่พยายามบอกใบ้ ไม่ขัดขวาง และไม่ไปดูใจ
สวนทางกับแม่ย่า ซึ่งมองเห็นภาพความสูญเสีย ณ เบื้องหน้าเช่นกัน จึงพยายามลงมือกีดขวาง-ป้องกันปัญหา ผ่านการกีดกันความรักระหว่างยักษ์กับมนุษย์ (ซึ่งในแง่หนึ่ง ก็ทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น และอาจก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมอีกประเภท) แต่แผนการทั้งหมดก็ล้มเหลว แม่ย่า (กับนางยักษ์กากนา) จึงทำได้แค่เพียงยืนดูใจ “รถเสน-เมรี” จวบจนวาระสุดท้าย
“รถเสน” กับ “เมรี” จึงกลายเป็นตัวแทนของหนุ่มสาวผู้มีความรักความปรารถนาแรงกล้า ทว่ามิอาจต้านทานอำนาจล่องหน ที่ปรากฏขึ้นในนามของ “ชะตากรรม” หรือ “กรรม” ทั้งยังมิได้รับความช่วยเหลือ-การสนับสนุนจากบุคคลรายรอบ (บางคนจงใจไม่ช่วย บางคนจนใจจะช่วย)
เมื่อคู่รักที่เคยผิดหวังในชาติก่อน กลับมาเกิดเป็น “พระสุธน” และ “มโนราห์” ในอีกภพชาติ ก็น่าตั้งคำถามว่า ความรักในลักษณะ “ชาตินี้น้องตามพี่ ชาติหน้าพี่ตามน้อง” หรือ “แต่เราก็หากันจนเจอ” นั้นเป็นเรื่อง “พรหมลิขิต” ซึ่งหมายถึงความรักที่ถูกกำหนดผูกโยงไว้เรียบร้อยแล้วโดยอำนาจเหนือธรรมชาติ-เหนือมนุษย์บางอย่าง
หรือว่านี่คือความรักที่เกิดจากเจตจำนงอันแน่วแน่ ไม่ขาดตอน ไม่ยอมจำนน-พ่ายแพ้ ของปัจเจกบุคคลสองราย?
1 Comment