ฉากหนึ่งในซีรีส์ “ศรีอโยธยา ภาคแรก” ที่ผมประทับใจมากๆ ก็คือ ฉากที่ “เจ้าฟ้าสุทัศ” ล่องเรือแบบกึ่งตื่นกึ่งฝันไปพร้อมกับดวงวิญญาณของพระเจ้าเสือ และได้พานพบพระมหากษัตริย์รัชกาลต่างๆ ของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งทรงปรากฏพระองค์ตามรายทางของลำน้ำสายหนึ่ง
ผมตีความความว่า ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล (หม่อมน้อย) คงอยากนำเสนอว่า “ประวัติศาสตร์” คือความเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวที่ไม่มีทางตัดได้ขาดประดุจสายน้ำ
อย่างไรก็ดี ความเชื่อเช่นนั้นกลับต้องดำรงอยู่ในห้วงภวังค์กึ่งจริงกึ่งฝันหรืออุปลักษณ์นิทานเปรียบเทียบต่างๆ เพราะ “ประวัติศาสตร์” ใดๆ ก็ตามในโลกความจริง ย่อมไม่สามารถดำเนินไปอย่างเรียบเรื่อยต่อเนื่องสมบูรณ์แบบบนช่วงเวลาอันยาวไกล โดยปราศจากจุดเปลี่ยนแปลง ความผกผัน ร่องรอยปริแตก ช่องว่างรูโหว่ ที่ผุดขึ้นมาขัดขวางภาวะของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวดังกล่าว
ดูเหมือนมโนทัศน์ที่เห็นว่า “ประวัติศาสตร์” คือความเชื่อมโยงไม่ขาดสาย จะสืบทอดมาถึงซีรีส์ “ศรีอโยธยา ภาค 2” ด้วย
ดังปรากฏว่าตัวละคร “สมเด็จพระพันวัสสาน้อย” (และ “เจ้าจอมราตรี”) ที่เลือกจะยอมดับสูญไปพร้อมกับความมอดไหม้ของกรุงศรีอยุธยานั้น คือผู้ที่มองเห็นอนาคตอันยาวไกล ไกลไปถึงการก่อตั้งกรุงธนบุรี ไกลไปถึงการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ไกลไปถึงเรื่องราวในอีก 250 ปีข้างหน้า
ขณะเดียวกัน ตัวละครเช่น “บุษบาบรรณ” และ “คุณทองหยิบ” ก็มีลักษณะเป็น “อภิมนุษย์” ผู้อยู่เหนือภพชาติกาลเวลา กระทั่งสามารถตระหนักรู้-เข้าใจความเป็นไปของเหตุการณ์ตลอดสองศตวรรษ และเป็นผู้ทำหน้าที่เชื่อมโยงร้อยเรียงประวัติศาสตร์ 250 ปี ให้แนบแน่นต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกัน
เช่นเดียวกับบรรดาตัวละครที่กลับชาติมาเกิดในภพปัจจุบัน ซึ่งค่อยๆ ได้รับการรื้อฟื้นความทรงจำในอดีตเมื่อครั้งเสียกรุง โดยอำนาจศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ในเรือนเจ้าพระยาพิชัยฯ และเรื่องเล่าของบุษบาบรรณ
เมื่อผนวกกับการที่ซีรีส์หลีกเลี่ยงจะพูดถึง “ความขัดแย้ง” หรือ “ความขาดตอน” จำนวนมากในช่วงปลาย-เสียกรุงศรีอยุธยา อาทิ การไม่ยอมอธิบายว่าทำไมพระเจ้าเอกทัศน์จึงขึ้นครองราชย์แทนพระเจ้าอุทุมพร, การไม่กล่าวถึงกระบวนการกำจัดเจ้าสามกรม, การไม่ปรากฏตัวของกรมหมื่นเทพพิพิธ, การนำเสนอเรื่องราวของเจ้าฟ้ากุ้งอย่างโรแมนติก ประนีประนอม และตัดมิติทางการเมืองหลายอย่างออกไป รวมทั้งการอธิบายความว่าพระยาตาก (พร้อมหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีและนายบุนนาค) ต่างเดินทางลี้ภัยออกจากกรุงศรีฯ เพราะต้องปฏิบัติตามคำพยากรณ์ของสมเด็จพระพันวัสสาน้อย
“ประวัติศาสตร์” จากกรุงศรีอยุธยาสู่กรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ใน “ศรีอโยธยา 2” จึงยิ่งกลายเป็นเหตุการณ์ยาวนานที่ต่อเนื่อง เชื่อมโยง มีความชัดเจนกระจ่างแจ้งในทุกสถานการณ์ และปราศจากปริศนา คำถาม หรือภาวะติดขัดแตกร้าวที่สำคัญใดๆ (ถ้าเป็นเช่นนั้น เราควรจะเรียกสิ่งนี้ว่า “ประวัติศาสตร์” อยู่หรือไม่?)
อย่างไรก็ตาม ลูกเล่น/จุดหักมุมที่หม่อมน้อยใส่ลงไปในอีพีสุดท้ายของซีรีส์นี้นั้นมีความน่าสนใจชวนขบคิดอย่างยิ่ง
กล่าวคือหม่อมน้อยได้ท้าทายความคาดหวัง-ความเข้าใจของผู้ชม ด้วยการสับเปลี่ยนให้ “พระพิมานสถานมงคล” ในชาติก่อน กลับมาเกิดในรูปลักษณ์ของ “เจ้าฟ้าสุทัศ” ในชาตินี้ แล้วให้ดวงวิญญาณของ “เจ้าฟ้าสุทัศ” เมื่ออดีตชาติ ย้ายมาอยู่ในเรือนร่างของ “พระพิมานฯ” ในห้วงเวลาปัจจุบันแทน
(สรุปง่ายๆ คือ ให้ “อนันดา” กลับชาติมาเกิดเป็น “ฮัท เดอะสตาร์” แล้วให้ “ฮัท เดอะสตาร์” กลับชาติมาเกิดเป็น “อนันดา”)
นี่เป็นการบ่งบอกหรือยอมรับว่าอย่างไรเสีย “ประวัติศาสตร์” ย่อมต้องมีความเปลี่ยนแปลง-จุดพลิกผัน (แม้เพียงจุดเล็กๆ ในระดับปัจเจกบุคคล)
ไม่นับว่าเหล่าตัวละครที่สามารถระลึกชาติครั้งเสียกรุงได้อย่างทะลุปรุโปร่ง จะยังต้องกลับออกไปใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันที่ผันแปรไปเรียบร้อยแล้วของพวกตน (ขืนอาจารย์พิเศษ-นักขายของเก่าเช่น “พิมาน” เที่ยวป่าวประกาศว่าแท้จริงแล้ว ตนเองคือ “กรมพระราชวังบวรฯ องค์สุดท้าย” ของกรุงศรีอยุธยา ทุกอย่างใน พ.ศ. 2563 ก็คงจะยุ่งเหยิงวุ่นวายไปหมด)
ดังนั้น สำหรับคนที่ยังมีชีวิตเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลก/สังสารวัฏ พวกเขาจึงต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงในกระแสธาร “ประวัติศาสตร์” อยู่เสมอ
ส่วน “ประวัติศาสตร์” ที่สืบทอดเป็นสายเดียวจนหมดจดบริสุทธิ์และคล้ายจะแน่นิ่งนั้น อาจเป็น “ประวัติศาสตร์” สำหรับผู้ซึ่งหลุดพ้นจากโลกียวิสัยไปแล้ว หรือ “อภิมนุษย์” ที่ค่อยๆ จางหายไปอีกครั้งพร้อมเรือนเจ้าพระยาพิชัยฯ