เมื่อ “เศก ดุสิต” และ “ตรี อภิรุม” ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ

ศิลปินแห่งชาติ 2562

นอกจาก “ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง” และ “อารีย์ นักดนตรี” ซึ่งได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ (สาขาศิลปะการแสดง ประเภทภาพยนตร์และละคร) ประจำปี 2562 แล้ว

ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2562 อีกสองรายที่มีความข้องเกี่ยวกับ/ทรงอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมบันเทิงไทย โดยเฉพาะละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ เป็นอย่างสูง ก็คือ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ อันได้แก่ “เริงชัย ประภาษานนท์” และ “เทพ ชุมสาย ณ อยุธยา”

ชื่อจริงของศิลปินแห่งชาติสองท่านนี้อาจไม่ค่อยคุ้นหูคุ้นตาคนส่วนใหญ่ แต่ถ้าบอกว่า “เริงชัย” คือเจ้าของนามปากกา “เศก ดุสิต” ส่วน “เทพ” เป็นเจ้าของนามปากกา “ตรี อภิรุม” แฟนหนังแฟนละครหลายรายย่อมรู้สึกหรือหวนระลึกได้ว่าพวกตนเคยผ่านหูผ่านตานามปากกาเหล่านี้มาบ้างพอสมควร

อินทรีแดง

ผลงานแนวนิยายบู๊และอาชญนิยายของ “เศก ดุสิต” นั้นถูกนำมาผลิตเป็นภาพยนตร์ไทยหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น “สี่คิงส์” “ครุฑดำ” (หรือ “เหยี่ยวดำ”) “พยัคฆ์ร้ายไทยถีบ” “จ้าวนักเลง” รวมถึงหนังในชุด “อินทรีแดง” เรื่องอื่นๆ (“ทับสมิงคลา” “อวสานอินทรีแดง” “ปีศาจดำ” “จ้าวอินทรี” และ “อินทรีทอง”)

ทายาทอสูร

เช่นเดียวกับนิยายแนวลึกลับสยองขวัญของ “ตรี อภิรุม” ที่ถูกนำมาสร้างเป็นหนังและละครอย่างแพร่หลายข้ามกาลเวลา อาทิ “แก้วขนเหล็ก” “จอมเมฆินทร์” “เทพบุตรสุดเวหา” “อนิลทิตา” “ทายาทอสูร” “นาคี” และ “นาคี 2” เป็นต้น

อินทรีทอง

ชื่อของ “เศก ดุสิต” อาจคล้ายจะผูกติดอยู่กับยุคทองของหนังไทยสมัย “มิตร-สมบัติ” ขณะที่นามของ “ตรี อภิรุม” ยังโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงร่วมสมัย กระทั่งละครโทรทัศน์ยอดฮิตเช่น “นาคี” (2559) และหนังไทยรายได้หลายร้อยล้านบาทอย่าง “นาคี 2” (2561) ก็ดัดแปลงมาจากผลงานปลายปากกาของเขา

นาคี

ไม่เพียงเท่านั้น วรรณกรรมของ “เศก ดุสิต” กับ “ตรี อภิรุม” ยังอาจถือเป็น “pulp fiction” แบบไทยๆ ในความหมายที่สื่อถึงนิยายบู๊-สยองขวัญที่มีกลุ่มเป้าหมายคนอ่าน (และคนดูหนัง-ละครที่ดัดแปลงจากนิยายประเภทนี้) เป็นมวลชน/ชาวบ้านวงกว้าง (บางคนอาจเรียกขานว่านี่เป็นหนังสือหรือสื่อบันเทิงแบบ “ตลาดล่าง”)

ตัวอย่างเด่นชัดประการหนึ่ง คือ เวทีเผยแพร่งานเขียนของ “ตรี อภิรุม” ซึ่งไล่มาตั้งแต่บางกอกรายสัปดาห์ จนถึง ชีวิตจริง, อัลบั้มชีวิตดารา, คู่รักคู่ชีวิต และดาราภาพยนตร์ ฯลฯ

ด้านหนึ่ง การได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติของ “เศก ดุสิต” และ “ตรี อภิรุม” ในวัย 91 และ 90 ปีตามลำดับ จึงถือเป็นการขยับขยายขอบเขตของ “ศิลปะวรรณกรรม” แห่งชาติไทย ให้มีความหมายกว้างขวางและแนบแน่นกับสามัญชนยิ่งขึ้น

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.