หมายเหตุ เมื่อคืนนอนดูหนัง “องค์บาก 3” ที่ช่อง 7 นำมาฉายตอนประมาณตีสาม แล้วก็ยังรู้สึกสนุกสนานอยู่มากๆ จึงไปรื้อค้นบทวิจารณ์ “องค์บาก 2-3” ที่ผมเคยเขียนลงในนิตยสารไบโอสโคป มาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง ณ บล็อกนี้ครับ
—–
องค์บาก 2: พหุลักษณ์แห่งอำนาจ
‘องค์บาก 2’ เริ่มต้นด้วยเรื่องราวการบุกยึดครองกัมพูชาของกองทัพอโยธยาเมื่อหลายร้อยปีก่อน
เมื่ออโยธยา/อยุธยากับกรุงเทพมหานครมีความเชื่อมโยงในฐานะที่เป็นราชธานีหรือศูนย์กลางอำนาจของชาติไทยในอดีตตามประวัติศาสตร์นิพนธ์กระแสหลักเช่นเดียวกัน เรื่องราวของหนังบู๊ไทยร่วมสมัยซึ่งนำแสดงและกำกับโดยลูกอีสานอย่าง พนม ยีรัมย์ (มี พันนา ฤทธิไกร เป็นผู้กำกับร่วม) ที่นำเสนอภาพความเป็นผู้รุกรานของอโยธยาเรื่องนี้ จึงอาจมีสถานะเป็นเรื่องเล่าที่ยั่วล้ออำนาจของความรู้กระแสหลักที่ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางซึมลึกผ่านบทเรียนและสื่อต่างๆ หรือเสียดเย้ยความสัมพันธ์ทางอำนาจอันเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพฯ กับอีสานอยู่ในที
อย่างไรก็ตาม เมื่อพระเอกของ ‘องค์บาก 2’ เป็นทายาทของออกญาสีหเดโช ขุนนางอโยธยาที่กรีฑาทัพเข้ายึดครองกัมพูชา ซึ่งต่อมาถูกสังหารโดยเพื่อนขุนนางอย่างออกญาราชเสนาที่ตัดสินใจก่อกบฏต่ออโยธยาและตั้งตนเป็นกษัตริย์ปกครองดินแดนประเทศราชเสียเอง ประเด็นการปะทะกันระหว่างศูนย์กลางกับชายขอบที่หนังนำเสนอจึงไม่ใช่เรื่องราวการลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐจากส่วนกลางของชาวบ้านพื้นเมืองในดินแดนชายขอบ หากเป็นเรื่องราวว่าด้วยการล้างแค้นแย่งชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำจากอโยธยาที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินกัมพูชา
ศูนย์อำนาจซึ่งเป็นใจกลางความขัดแย้งของหนังเรื่องนี้ได้ผุดขึ้นมาในดินแดนประเทศราชที่ห่างไกลจากราชธานีอันเป็นศูนย์กลางอำนาจอย่างอโยธยา จนคล้ายเป็นการโต้แย้งแนวคิดที่ว่า อำนาจที่เมืองหลวงนั้นเปรียบเสมือนแสงเทียน ยิ่งดินแดนต่างๆ อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงมากเท่าไร อำนาจแห่งแสงเทียนก็ยิ่งยากที่จะส่องสว่างไปถึงได้ กระทั่งดินแดนเหล่านั้นสามารถดำรงตนอยู่อย่างอิสระปราศจากการถูกควบคุมโดยอำนาจใดๆ เพราะแท้จริงแล้ว ในดินแดนชายขอบต่างๆ (จากมุมมองที่ยึดอโยธยาเป็นศูนย์กลาง) ก็ใช่จะปราศจากศูนย์อำนาจและชนชั้นปกครองเสียทีเดียว ดังเช่นศูนย์อำนาจที่ก่อตัวในกัมพูชา อันเปรียบเสมือนแสงเทียนอีกจุดหนึ่งที่ส่องสว่างขึ้นมาเพื่อต่อต้าน/แทนที่อำนาจจากอโยธยาที่อ่อนกำลังลงตามระยะทาง ผ่านการยึดอำนาจและสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ของออกญาราชเสนา
นอกจากนี้ การไล่ล่าล้างแค้นศัตรูที่สังหารพ่อแม่บังเกิดเกล้าของ “เทียน” พระเอกในเรื่อง ก็คล้ายเป็นแสงเทียนจุดที่สามซึ่งกำลังจะลุกโชนขึ้นมาเพื่อต่อต้านอำนาจของออกญาราชเสนาอีกต่อหนึ่ง แต่ก่อนที่เทียนจะส่องแสงแห่งอำนาจให้สว่างออกมาได้ เขาก็ต้องเรียนรู้ที่จะใช้อำนาจเสียก่อน
เทียนในวัยเด็กที่หนีรอดจากการถูกฆ่าล้างครอบครัวได้รับการช่วยเหลือและถูกนำไปเลี้ยงดูโดยเชอนัง หัวหน้าชุมโจรแห่งผาปีกครุฑ ตามคำสอนของเชอนังตลอดจนบรรดาครูผู้สอนวิชาว่าด้วยอาวุธและการต่อสู้จากนานาชาติพันธุ์ในชุมโจร การใช้อาวุธและการต่อสู้ด้วยพละกำลังคือการใช้อำนาจ ด้วยเหตุนี้เทียนจึงเรียนรู้ที่จะใช้อำนาจผ่านอาวุธจากชุมโจรดังกล่าว
หลายปีต่อมาเทียนเรียนรู้ที่จะใช้อำนาจผ่านอาวุธจนเชี่ยวชาญ แต่หนังก็พาเราย้อนกลับไปสู่อดีตเพื่อแสดงให้เห็นว่า เขาเคยได้รับการศึกษาในอีกแนวทางหนึ่งมาก่อน
ก่อนจะประสบกับหายนะ พ่อแม่ได้นำเทียนไปฝากฝังให้เรียนวิชานาฏศิลป์และอาศัยอยู่กับครูบัว ครูสอนนาฏศิลป์ซึ่งออกญาสีหเดโชไว้ใจมากที่สุด นอกจากความปลอดภัยท่ามกลางความขัดแย้งที่คุกรุ่นด้วยคาวเลือดอันเกิดจากการบุกยึดกัมพูชาของอโยธยาและการยึดอำนาจของออกญาราชเสนาแล้ว เทียนยังได้รับการสั่งสอนจากครูบัวว่า อำนาจไม่จำเป็นต้องดำรงอยู่เคียงคู่อาวุธหรือการต่อสู้ด้วยพละกำลังเสมอไป เพราะอำนาจในรูปแบบดังกล่าวอาจไม่สามารถทำให้บ้านเมืองสงบสุขได้จริง
อย่างไรก็ตาม นาฏวิถีมิใช่หนทางที่ปฏิเสธการใช้อำนาจอย่างสิ้นเชิง เพราะวิชานาฏศิลป์อาจถือเป็นตัวแทนของการใช้อำนาจแบบอ่อนผ่านการร่ายรำอันนุ่มนวล (ตรงข้ามกับการใช้อำนาจแบบแข็งผ่านอาวุธและการต่อสู้ด้วยพละกำลังตามคำสอนของเชอนัง) เนื่องจากตามแนวคิดแบบหนึ่ง อำนาจของรัฐโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากการปกครองที่ใช้กำลังกดขี่ข่มเหงผู้คน หากถือกำเนิดขึ้นมา (และดำรงอยู่อย่างยืนหยัดคงทน) จากพิธีกรรมและการแสดงที่บ่งชี้ให้เห็นถึงสถานะความเป็นศูนย์กลางแห่งอนุจักรวาลหรือความเป็นตัวแบบอันดีเลิศของกษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักร ดังนั้นรัฐชนิดนี้จึงถูกขนานนามว่า “นาฏรัฐ”
น่าเสียดายที่เราไม่ได้เห็นการใช้อำนาจอันอ่อนช้อยในหนังเรื่องนี้มากนัก เพราะการร่ายรำที่มีอยู่น้อยนิดของเทียนก็มิได้ดำเนินไปเพื่อมุ่งใช้อำนาจแบบอ่อนโดยตรง ทว่าเป็นเพียงเครื่องมือที่จะนำไปสู่การใช้อำนาจแบบแข็งเข้าโค่นล้มศัตรูมากกว่า
กลับเป็นออกญาราชเสนาที่สวมบทบาทผู้ปกครองแห่งนาฏรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการสถาปนาสัญลักษณ์ทางอำนาจขึ้นมาใหม่ ได้แก่ สัญลักษณ์ครุฑที่มีสถานะเป็นเทพเจ้าของราชวงศ์ครุฑาเทพ ไม่ใช่เป็นเพียงพาหนะของพระนารายณ์ (ซึ่งเป็นการเล่นกับสัญลักษณ์ทางอำนาจที่น่าสนใจ เนื่องจากครุฑคือพาหนะของพระนารายณ์ และตามความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของดินแดนในสุวรรณภูมิ กษัตริย์ก็คือองค์อวตารของพระนารายณ์ ดังนั้นการสถาปนาราชวงศ์ครุฑาเทพจึงเป็นการประกาศว่า พาหนะของพระนารายณ์อย่างครุฑ/ขุนนางของกษัตริย์อโยธยาอย่างออกญาราชเสนา จะขึ้นดำรงตำแหน่งสมมุติเทพ/กษัตริย์เสียเองและไม่ขอยอมรับอำนาจขององค์นารายณ์อวตารอีกต่อไป) และการใช้นางอัปสรสมมุติมาร่ายรำประกอบพิธีกรรมที่ช่วยส่งเสริมสถานะอันสูงส่งยิ่งใหญ่ของกษัตริย์แห่งราชวงศ์ใหม่ จึงกล่าวได้ว่าออกญาราชเสนากำลังใช้อำนาจแบบอ่อนอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่ใช้อำนาจแบบอ่อนเพื่ออำพรางอำนาจแบบแข็งดังที่เทียนทำ
แต่ไม่มีชนชั้นปกครองคนไหนที่จะผดุงอำนาจของตนเองผ่านการใช้อำนาจแบบอ่อนเพียงอย่างเดียว และออกญาราชเสนาก็สามารถใช้อำนาจแบบแข็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเมื่อคราวที่เขาก่อกบฏและสังหารพ่อแม่ของเทียน หรือเมื่อเทียนกลับมาล้างแค้นไม่สำเร็จ ออกญาผู้นี้ก็ยังย้อนใช้ชุมโจรผาปีกครุฑเข้าจัดการกับเทียน เพราะแท้จริงแล้วชุมโจรแห่งนี้คือกองกำลังที่เป็นดังอาวุธของราชวงศ์ครุฑาเทพ และเชอนังก็คือผู้ที่สังหารออกญาสีหเดโชนั่นเอง
เทียนจึงต้องใช้อำนาจแบบแข็งเข้าปะทะกับเชอนัง “พ่อบุญธรรม” ที่ช่วยชีวิตและเลี้ยงดูสั่งสอนตนเองมา แต่ขณะเดียวกันก็เป็นฆาตกรผู้ปลิดชีวิต “พ่อบังเกิดเกล้า” ของเขา เชอนังยินยอมสละชีวิตเพื่อชดใช้หนี้แค้นให้แก่เทียนผู้เป็นดังลูกรัก นี่เป็นจุดจบของชีวิตที่คลี่คลายจากความรักระหว่าง “พ่อ” กับ “ลูก” ต่างสายเลือด ซึ่งมีความลึกซึ้งยิ่งกว่าการใช้อาวุธ/อำนาจแบบแข็งชนิดใดๆ
นอกจากจุดจบของเชอนัง ‘องค์บาก 2’ ยังทิ้งปมที่น่าสนใจไว้อีกมากมาย ซึ่งอาจถูกนำไปสานต่อให้เรื่องราวของเทียนก้าวไปไกลกว่าการใช้อำนาจแบบหนักและการล้างแค้น เช่น เทียนคงตระหนักแล้วว่าอำนาจแบบหนักเพียงอย่างเดียวย่อมไม่สามารถทำให้เขาเอาชนะออกญาราชเสนาได้และตนเองเสียอีกที่กลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ย่อยยับ ขณะเดียวกันฉากสุดท้ายของหนังก็ยังทิ้งปมสำคัญเอาไว้ เมื่อมีเสียงกล่าวของครูบัวดังขึ้นว่าเทียนชะตาถึงฆาต ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างพระพุทธรูปเพื่อช่วยชีวิตเขา ก่อนที่จะมีภาพเทียนและพระพุทธรูปองค์บากปรากฏขึ้นมา
ภาพดังกล่าวย้อนแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับบรรยากาศของหนังภาคนี้ที่เต็มไปด้วยการบูชาเทพในราชสำนักและการนับถือผีในชุมโจร นี่อาจเป็นร่องรอยที่บ่งบอกว่า การต่อสู้ด้วยอำนาจแบบแข็งของเทียนใน ‘องค์บาก 3’ จะถูกนำไปเชื่อมร้อยกับการต่อสู้ผ่านอำนาจแบบอ่อนที่แบ่งปันความสนใจไปยังเรื่องสัญลักษณ์ทางอำนาจ ความเชื่อทางศาสนา ตลอดจนวิชานาฏศิลป์
ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาผ่านมุมมองเรื่องอำนาจ เนื้อเรื่องที่สลับซับซ้อนซึ่งถูกซุกซ่อนอยู่ภายใต้โครงสร้างของบทหนังอันเป็นระบบระเบียบและฉากการต่อสู้นานาชนิดใน ‘องค์บาก 2’ (ทั้งยังอาจรวมถึง ‘องค์บาก 3’) จึงแฝงแง่มุมว่าด้วยลักษณะอันหลากหลายของอำนาจเอาไว้อย่างคมคายน่าสนใจ
—–
องค์บาก 3: นาฏยุทธที่ไร้รัฐ
ในตอนจบของ ‘องค์บาก 2’ หนังทิ้งปมสำคัญไว้ว่าตัวละครเอกอย่าง เทียน มีแนวโน้มจะหันเหตนเองออกจากการเป็นนักต่อสู้ ผู้ช่ำชองเชิงยุทธอันเข้มแข็งห้าวหาญ ไปสู่ ‘นาฏยุทธ’ อันอ่อนช้อยงดงามที่เชื่อมโยงกับ หลักคำสอนทางพุทธศาสนา
ขณะเดียวกัน ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งในตอนท้ายของหนังภาค 2 ก็คือ การที่เทียนไม่สามารถจะต่อกรกับอำนาจรัฐที่มีศูนย์กลางคือออกญาราชเสนา ซึ่งผสมกลมกลืนอำนาจอ่อนอย่างนาฏรัฐแบบพิธีกรรมเข้ากับอำนาจแข็งอย่างชุมโจรผาปีกครุฑและนักสู้จอมขมังเวทย์บุคลิกลึกลับอย่าง ภูติสางกา ได้อย่างลงตัว
ในตอนเริ่มต้นของ ‘องค์บาก 3’ สุดยอดนักสู้ผู้แข็งแกร่งเชี่ยวชาญเพลงอาวุธและการต่อสู้นานาชนิดเช่นเทียน ต้องถูกทำลายอย่างย่อยยับจวนเจียนสิ้นชีวิต ด้วยอำนาจรัฐโบราณของออกญาราชเสนา
อย่างไรก็ตาม ออกญาราชเสนาผู้สถาปนาตนเองเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ครุฑาเทพ และดูเหมือนจะสามารถยึดครองกัมพูชาไว้ได้โดยสมบูรณ์ ผ่านการใช้อำนาจอ่อนเชิงสัญลักษณ์และอำนาจแข็งในรูปกองกำลังรวมทั้งไสยเวทได้อย่างมีสมดุล กลับเกิดอาการหวั่นไหวหวาดระแวงกลัวว่าตนเองจะสูญเสียอำนาจขึ้นมา และออกญาผู้นี้ก็ค่อยๆ ทำลายล้างตัวของเขาเองลงไปในท้ายที่สุด ความอ่อนแอที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของออกญาราชเสนานำพาเขาเข้าสู่ด้านมืดซึ่งถูกครอบงำโดย ‘ภูติสางกา’ ก่อนที่ภูติสางกาจะบั่นหัวออกญาราชเสนาแล้วแย่งชิงอำนาจมาครอบครองได้อย่างง่ายดาย
นาฏรัฐที่หรูหราซึ่งผสมผสานการใช้อำนาจแข็งอย่างเข้มข้นดุดันจึงพังทลายลงด้วยจิตใจอันหวั่นไหวของศูนย์กลางอำนาจ และถูกแทนที่ด้วยอำนาจเชิงไสยศาสตร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นพิธีกรรมของชาวบ้านพื้นถิ่น
ชัยชนะเหนือออกญาราชเสนาของภูติสางกาจึงอาจแสดงให้เห็นว่าพิธีกรรมไสยเวทแบบชาวบ้านสามัญชนที่แลดูต้อยต่ำนี่แหละ มีพลานุภาพจริงแท้เสียยิ่งกว่ารัฐพิธีกรรมซึ่งสวยงามแต่รูป ทว่าเนื้อในกลับกลวงเปล่า
แม้ ‘กา’ จะสามารถพิชิต ‘ครุฑ’ ลงได้ แต่สุดท้ายแล้ว ภูติสางกาก็พลัดหลงก้าวถลำเข้าไปสู่ศูนย์กลางแห่งอำนาจรัฐอยู่ดี
(ดูเหมือนรอยต่อเรื่องการยึดอำนาจขึ้นครองบัลลังก์กัมพูชาของตัวละครออกญาราชเสนาใน ‘องค์บาก’ 2 และ 3 จะไม่ค่อยมีความราบรื่นลงตัวมากนัก เพราะขณะที่หนังภาค 2 ระบุว่าออกญาราชเสนาและออกญาสีหเดโช -พ่อของเทียน- คือสองขุนนางอโยธยาซึ่งถูกส่งตัวมาทำสงครามยึดครองกัมพูชา ก่อนที่ออกญาราชเสนาจะสังหารออกญาสีหเดโช และสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์ครุฑาเทพ ที่คล้ายจะเป็นอิสระจากอโยธยา
แต่ในหนังภาค 3 กลับมีฉากเล่าเรื่องย้อนอดีตที่เหมือนจะระบุว่าออกญาราชเสนาคือขุนนางกัมพูชาผู้โค่นล้มกษัตริย์กัมพูชาองค์เดิม แล้วสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นมา โดยยังต้องกริ่งเกรงอำนาจของอโยธยาอยู่บ้าง เห็นได้จากการที่ทหารอโยธยาสามารถถือราชสาสน์เพื่อมาขอนำร่างอันบอบช้ำของเทียนออกไปจากลานประหารกัมพูชา ก่อนที่มือสังหารของกัมพูชาจะกระทำการตลบหลังทหารอโยธยาอีกทีหนึ่ง
อย่างไรก็ดี นี่ล้วนแสดงให้เห็นถึงอำนาจอันมีขีดจำกัดของศูนย์กลางอำนาจอย่างอโยธยา เพราะเมื่ออำนาจเปรียบเสมือนแสงเทียน สถานที่ใดก็ตามที่แสงเทียนแห่งอำนาจดังกล่าวมิอาจส่องสว่างไปถึง ก็ย่อมจะเกิดแสงเทียนแห่งอำนาจหรือศูนย์กลางอำนาจใหม่ขึ้นมา เช่น ราชวงศ์ครุฑาเทพผู้ยึดครองกัมพูชา เป็นต้น)
ในขณะที่มีการผลัดเปลี่ยนศูนย์กลางอำนาจ เทียนก็ถูกนำตัวไปรักษาร่างกายและฟื้นฟูสภาพจิตใจ ณ หมู่บ้านชนบท เขาได้รับการเยียวยาจากคำสอนทางพุทธศาสนาของ ‘ครูบัว’ ครูนาฏศิลป์ผู้ตัดสินใจเดินเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ และนาฏลีลาการร่ายรำของ ‘พิม’ หญิงสาวคนรัก ผู้ทำให้เทียนได้ตระหนักว่าตนเองต้องการ ‘คู่รำ’ มิใช่ ‘คู่ต่อสู้’
เทียนคนใหม่ค่อยๆ เรียนรู้กับ ‘ด้านสว่าง’ มิใช่ ‘ด้านมืด’ ‘วิชชา’ มิใช่ ‘อวิชชา’ ‘พุทธ’ มิใช่ ‘ไสย’
แต่ก็คงไม่มีองค์ความรู้ใดที่มีสถานะเป็น ‘สิ่งบริสุทธิ์ผุดผ่อง’ และดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองเพียงเท่านั้น เพราะในขณะที่ครูบัวสอนเทียนด้วยหลักพุทธศาสนา เขาก็ค่อยๆ ฟื้นฟูร่างกายของตนเองด้วยท่วงท่าร่ายรำที่อ้างอิงอยู่กับหลักความเชื่อแบบพราหมณ์
เช่นเดียวกันกับ ‘ศาสตร์นาฏยุทธ’ ที่เทียนค้นพบ ซึ่งไม่ได้มีแต่เพียงแง่มุมแห่งความอ่อนช้อยงดงามของนาฏศิลป์/นาฏลีลาดำรงอยู่เพียงด้านเดียว แต่ยังมีแง่มุมของวิทยายุทธอันแข็งแกร่งสามารถปลิดชีวิตคนดำรงอยู่ด้วย
และภูติสางกาก็คือศัตรูที่เทียนต้องพิชิตด้วยนาฏยุทธ มิใช่ออกญาราชเสนาผู้ฆ่าพ่อบังเกิดเกล้า ซึ่งล่วงลับตามบิดาของเขาไปแล้ว
แล้วความว่าง รวมทั้งการสามารถเอาชนะจิตใจด้านมืดที่ปกคลุมด้วยกิเลสตัณหาของตนเอง ก็ทำให้เทียนสามารถปลิดชีพภูติสางกาลงได้อย่างไม่ยากนัก นี่จึงอาจเป็นรูปธรรมซึ่งแสดงให้เห็นว่า ‘ธรรมะ’ อันสว่างไสวย่อมชนะ ‘อธรรม’ ด้านมืดเสมอ
นอกจากนั้น ชัยชนะของเทียนที่มีต่อภูติสางกายังช่วยตอกย้ำให้เห็นชัดยิ่งขึ้นว่า นาฏยุทธที่แท้จริงนั้นอยู่เคียงคู่กับสามัญชน มิได้ดำรงอยู่คู่กับนาฏรัฐอันสูงส่งงามสง่าที่ผสานตนเองเข้ากับความโหดเหี้ยมบ้าคลั่งของอำนาจทางการทหารและอำนาจไสยเวท ณ ศูนย์กลางของรัฐ
ถ้าหากเทียนจะยึดครองอำนาจรัฐสืบทอดต่อจากภูติสางกาหรือออกญาราชเสนา เขาก็อาจเป็นอีกผู้หนึ่งที่ต้องพลัดหลงเข้าไปสู่ด้านมืดของวังวนแห่งอำนาจ จนกระทั่งถูกมายาการดังกล่าวครอบงำเอาไว้ในท้ายที่สุด
ทว่าเขาเลือกที่จะเดินทางกลับไปหาหญิงสาวคนรักที่หมู่บ้านชนบท โดยมีพระพุทธรูปองค์บาก (ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อยึดเหนี่ยวชีวิตอันบอบช้ำของเทียนเมื่อคราวบาดเจ็บเจียนตาย) เป็นศูนย์รวมจิตใจสำคัญ และทอดทิ้งศูนย์กลางอำนาจรัฐ ซึ่งกลับกลายเป็นเพียง ‘ศูนย์กลางแห่งความว่างเปล่า’ ที่ร้างไร้ผู้สืบทอดอำนาจ เอาไว้ ณ เบื้องหลัง
จุดจบของหนังไตรภาค ‘องค์บาก’ จึงถือเป็นตอนจบที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะ พนม ยีรัมย์ และ พันนา ฤทธิไกร ผู้กำกับร่วมในหนังภาค 2 และ 3 ตัดสินใจปิดฉากหนังชุดนี้ลงท่ามกลางศูนย์กลางอำนาจรัฐโบราณที่พังทลาย
หนังก้าวข้ามพ้นผ่านจากเรื่องอาณาจักรกัมพูชา หรือ อาณาจักรอโยธยา (ตามเนื้อเรื่องของหนังภาค 2 เราจะพบว่าเทียนมีสายเลือดของขุนนางอโยธยา แต่ในหนังภาค 3 นี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับชีวิตของเขาอีกแล้ว) หนังก้าวข้ามแม้กระทั่งประเด็นการแก้แค้นให้พ่อแม่บังเกิดเกล้าผู้ถูกสังหาร เพราะ ‘สิ่งยิ่งใหญ่’ เหล่านั้นไม่มีความหมายสำคัญใดๆ เลยกับชีวิตของคนอย่างเทียน และตัวละครสามัญชนจำนวนมากภายในหนังที่ยังต้องดำเนินชีวิตของตนเองต่อไป
(มีเพียงแค่พุทธศาสนา –รวมถึงผลิตผลของศาสนาอื่นๆ- เท่านั้น ที่เป็น ‘อภิมหาบรรยาย’ หนึ่งเดียว ซึ่ง ‘องค์บาก’ 2 และ 3 ไม่สามารถจะสลัดหลุดพ้นไปได้)
หลายคนอาจรู้สึกว่าถ้าพิจารณาเปรียบเทียบกับ ‘องค์บาก 1’ หนังในภาค 2 และ 3 ดูเหมือนจะมีฉากการต่อสู้อันน่าประทับใจหรือเร้าใจลดน้อยลงเรื่อยๆ กระทั่งผู้ชมจำนวนมากถึงกับออกอาการเหนื่อยหน่ายในโรงภาพยนตร์
อย่างไรก็ตาม สำหรับผมแล้ว แม้ ‘องค์บาก’ 2 และ 3 ที่ จา-พนม มีส่วนเข้ามาควบคุมภาพรวมของหนังมากยิ่งขึ้น จะมีความบกพร่องผิดพลาดอยู่บ้าง แต่เนื้อหาของหนังสองภาคหลังกลับเต็มไปด้วยแง่มุมทางความคิดอันซับซ้อนน่าสนใจมากมาย ซึ่งเดินทางมาไกลเหลือเกินจากหนังแอ็กชั่นชาตินิยมง่ายๆ ดังที่แสดงออกมาในหนังภาคแรก
นับจากนี้ พนม ยีรัมย์ คงไม่ได้มีสถานะเป็น ‘ดารานักบู๊’ แต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ยกเว้นคนไทยจำนวนมากและนายทุนผู้ผลิตภาพยนตร์ จะต้องการบอนไซเขาให้หยุดเติบโตอยู่ ณ ตรงจุดนั้น