ปราบมารโดย “ไม่ฆ่า”: ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในตอนจบ “เทพสามฤดู” ฉบับล่าสุด

ขอเขียนถึง “เทพสามฤดู” เวอร์ชั่นล่าสุดเป็นการส่งท้าย โดยเน้นน้ำหนักไปที่ตอนอวสานเมื่อวันเสาร์ที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา

ชะตากรรมอันน่าผิดหวังของ “มาตุลีเทพบุตร”

มาตุลี

ดังที่ผมเคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้ว่าใน “เทพสามฤดู 2546” บทบาทของตัวละครสมทบรายสำคัญอย่าง “มาตุลีเทพบุตร” ที่แสดงโดย “ท้าวดักแด้” นั้นค่อยๆ เฝดหายไป (อย่างไร้เหตุผล) ในช่วงท้าย

ก่อนจะโผล่มานิดหน่อยตรงช่วงปลายของตอนอวสาน โดย “มาตุลีเทพบุตร” ได้ร่วมฉากตลกๆ เป็นกิมมิกเล็กๆ กับเจ้างั่ง กระหังป่า (“มาตุลี” บอกว่าตนเองมัวแต่หลงป่าอยู่ เลยหายตัวไปนาน ดังนั้น เมื่อพระอิศวรได้เสด็จกลับขึ้นสวรรค์ไปแล้ว เทพบริวารองค์นี้จึงยังวนเวียนบนโลกมนุษย์อยู่กับเจ้างั่ง)

ว่ากันว่าสาเหตุที่ทำให้บทบาทของ “มาตุลีเทพบุตร” ขาดหายไปร่วมสิบตอน เมื่อคราวปี 2546 ก็เพราะ “ท้าวดักแด้” มีภารกิจอื่น จนไม่สามารถปลีกเวลามาร่วมแสดงในละครที่ถูกยืดขยายให้ยาวออกไปได้

เข้าสู่ปี 2560 (ถึงต้นปี 2561) “เทพสามฤดู” เวอร์ชั่นใหม่ นำบทละครดั้งเดิมของปี 2546 มาใช้ถ่ายทำเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ดี เมื่อทีมงานพบปัญหาเฉพาะหน้าตอนกลางๆ เรื่อง นั่นคือ การขาดหายไปของตัวละครอำมาตย์อาจอง (เพราะอาการเจ็บป่วยและปัญหาชีวิตของ “กิตติ ดัสกร” นักแสดงผู้รับบทดังกล่าว)

ผู้สร้างก็สามารถแก้ไขปัญหาที่อยู่นอกเหนือจากบทละครเก่าได้ดีมากๆ ด้วยการใส่บทสนทนาเพิ่มเติม โดยอ้างว่าอำมาตย์อาจองไปเก็บตัวฝึกพระเวทย์อยู่ (เก็บตัวกระทั่งละครจบ 555)

ผมจึงคาดหวังว่าผู้สร้าง “เทพสามฤดู” เวอร์ชั่นใหม่ จะแก้ปัญหาของตัวละคร “มาตุลีเทพบุตร” ที่เป็น “แผล” ของละครฉบับก่อน ได้ดีพอสมควร

แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะสาเหตุใดบ้าง? (เช่น อาจต้องรีบถ่ายทำในช่วงท้ายเรื่อง ฯลฯ) “มาตุลี” ปี 2560 จึงต้องหายตัวไปในช่วงปลายของละครเช่นเดียวกับ “มาตุลี” เมื่อ 14 ปีก่อนแบบเป๊ะๆ

ทั้งๆ ที่ “ธรรมศักดิ์ สุริยน” นักแสดงอาวุโสผู้รับบท “มาตุลีเทพบุตร” รุ่นปัจจุบัน ไม่น่าจะมีคิวงานแทรกเข้ามาเหมือนกรณี “ท้าวดักแด้” จะว่าแกเจ็บป่วยกะทันหันก็ไม่น่าใช่ เพราะยังมีชื่อคุณธรรมศักดิ์ร่วมเป็นนักแสดงใน “สังข์ทอง 2561” ที่ลงจอต่อจาก “เทพสามฤดู”

“มาตุลีเทพบุตร” ปี 2560-61 จึงน่าจะถูกลดทอนบทบาทลงในตอนท้าย เพราะบทบาทดังกล่าวถูกตัดออกไป (เนื่องจากปัญหาเรื่องคิวนักแสดง) มาตั้งแต่ในบทละครปี 2546 นั่นแหละ

เช่นเดียวกับละครเวอร์ชั่นก่อน “มาตุลี” กลับมาปรากฏกายหน้าจออีกนิดๆ หน่อยๆ ในตอนอวสาน ผิดแต่เพียงว่า “มาตุลีเทพบุตร” ที่รับบทโดยธรรมศักดิ์ ไปปรากฏตัวเป็นเทวดาบนสรวงสรรค์ข้างกายพระอิศวร มิใช่เทวดาตกสวรรค์ ซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่กับไอ้งั่ง (แถมโดนควบคุมด้วยคาถาเด็กจู้จี้อีกต่างหาก)

น่าเสียดายที่ทีมผู้สร้าง “เทพสามฤดู” ฉบับล่าสุด แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าเรื่อง “มาตุลีเทพบุตร” ได้ไม่ดีและไม่ละเอียดเท่าที่ควร

มิฉะนั้น เราอาจได้เห็น “ลุงมาตุ” มีบทบาทสำคัญ (และสมเหตุสมผล) มากกว่านี้ในละครหลายตอนสุดท้าย

ตัวละครที่ถูกปล่อยทิ้ง

“เทพสามฤดู” เวอร์ชั่นใหม่ กับเวอร์ชั่นปี 2546 ยังมีลักษณะร่วมสำคัญอีกหนึ่งประการ นั่นคือ การตัดสินใจปล่อยทิ้ง/ไม่กล่าวถึงตัวละครบางกลุ่มในตอนจบ

ได้แก่ นางยักษ์โชตนา และบริวาร รวมถึงพระมเหสีทัศนีย์ อำมาตย์อาจอง (คนนี้ต้องหายไปอยู่แล้วในเวอร์ชั่น 60-61) และบริวารที่เมืองโคธรรพ์

ผมยังรู้สึกว่านี่คือจุดอ่อนเล็กๆ ในบทละครจักรๆ วงศ์ๆ ของ “รัมภา ภิรมย์ภักดี” ซึ่งมักทิ้งค้างชะตากรรมของตัวละครบางกลุ่มเอาไว้ โดยไม่มีบทลงเอยใดๆ (แถมไม่ใช่การสรุปแบบปลายเปิดด้วย แต่เป็นการละทิ้งข้ามผ่านไปเฉยๆ ราวกับตัวละครพวกนี้ไม่เคยมีบทบาทสำคัญใดๆ)

ถ้าเทียบกับ “นันทนา วีระชน” นัทนาจะจัดแจงเคลียร์คัทหรือสรุปรวบรัดชะตากรรม ณ เบื้องท้ายของบรรดาตัวละครได้หมดจดชัดเจนกว่า (ถ้าคิดอะไรไม่ออก แกก็ฆ่ามันให้หมด 555)

อย่างไรก็ตาม ปัญหาตรงนี้อาจไม่ใช่ “ปัญหา” ซะทีเดียว ถ้านำไปครุ่นคิดพิจารณาร่วมกับ “ข้อแตกต่าง” สำคัญ ที่เพิ่งบังเกิดขึ้นใน “เทพสามฤดู” ฉบับล่าสุด

ปราบมารโดย “ไม่ฆ่า”

“ลักษณะสำคัญ” อันโดดเด่น ที่ส่งผลให้ “เทพสามฤดู 2560-61” แตกต่างจากละครเมื่อปี 2546 ชัดเจน ก็คือ ชะตากรรมของเหล่าร้ายระดับนำๆ ในเรื่อง

ใน “เทพสามฤดู 2546” บรรดาตัวละครฝ่ายร้ายรายสำคัญล้วนถูกพระอิศวร เทพสามฤดู พระพาย และพันธมิตร สังหารจนหมดสิ้น

ตั้งแต่สามศรี (เวอร์ชั่นที่แล้ว ถูกจัดการโดยเจ้างั่ง คราวนี้ ถูกเผาโดยไฟจากปากจระเข้กุมภีล์) ภูตดำ ปราบไตรจักร ท้าวจักรวรรดิ โคธรรพ์ และขันธมาร (รายนี้ ในเวอร์ชั่น 2546 ไม่แน่ใจว่าตายหรือไม่ แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะสิ้นชีพ เพราะหลังจากถูกพระอิศวรปล่อยแสงจัดการ ละครก็ไม่พูดถึงพญามารอีกเลย)

ในสงครามปราบมารของ “เทพสามฤดู 46” มีตัวละครสมทบรายสำคัญในฝ่ายพระเอกที่ต้องพลีชีพเหมือนกัน นั่นคือ นันทเสน ซึ่งถูกขันธมารสังหาร

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนชะตากรรมของตัวละครเหล่านี้ (เกือบทั้งหมด) จะผันแปรไปในทางที่ดีขึ้น ใน “เทพสามฤดู 60-61”

มีแค่สามศรี และ (อาจจะ) ภูตดำ เท่านั้น ที่ถูกจัดการจนสิ้นชีวิต

ทว่า ปราบไตรจักร ท้าวจักรวรรดิ โคธรรพ์ ขันธมาร รวมทั้งนันทเสน ล้วน “ไม่ตาย”

ฝ่ายนันทเสน (และเพื่อนซี้ สุระผัด) ไม่ได้ออกรบในศึกสุดท้ายกับพวกมาร เขาจึงรอดชีวิตสบายๆ (ขณะที่ในละครเวอร์ชั่นก่อน พอพระพิรุณรับมือขันธมารไม่ไหว ก็สั่นระฆังเรียกลิง-ยักษ์คู่นี้มาช่วย ก่อนที่ลิงจะถูกฆ่า)

ใน “เทพสามฤดู 46” มีแค่ขันธมารตนเดียวที่ถูกพระอิศวรจัดการ ส่วนตัวร้ายระดับนำรายอื่นๆ ถูกเทพสามฤดูแยกย้ายไปจัดการและสังหารเรียบวุธ

ใน “เทพสามฤดู 60-61” กลายเป็นว่าเมื่อพระอิศวรฟื้นคืนอิทธิฤทธิ์ หลังได้ดมกลิ่นดอกปาริชาติที่ก้นเหวลึก พระองค์ก็ปรากฏกายขึ้น และจัดการเหล่าร้ายทั้งหมดด้วยพระองค์เอง

ดูเหมือนจะมีแค่ภูตดำและมารบริวารของขันธมารเท่านั้น ที่ตายจากฤทธานุภาพของจอมเทพ

สำหรับขันธมาร ละครฉบับล่าสุดอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมว่าพระอิศวรมิได้สังหารพญามารตนนี้ แต่ได้นำตัวไปมอบให้จอมอสูรกักกันไว้ท่ามกลางไฟนรก

(จอมอสูรนี่ก็ร้าย เพราะเวลาพระอิศวรฟื้นคืนอิทธิฤทธิ์ เจ้านี่ก็ยอมเชื่อฟังโดยดี แต่ตอนขันธมารเรืองอำนาจ จอมอสูรก็มอบไฟประลัยกัลป์ให้ขันธมารไปใช้เผาต้นปาริชาติ เพื่อทำลายโอกาสฟื้นคืนอำนาจของพระอิศวร)

เช่นเดียวกัน โคธรรพ์ ท้าวจักรวรรดิ และปราบไตรจักร ที่โดนพระอิศวรปล่อยแสงใส่จนระเบิดตูมตาม ล้วนยังมีชีวิตเหลือรอด

แต่ทั้งสามกลับถูกควบคุมตัวโดยคาถาเด็กจู้จี้ ภายใต้การดูแลของเจ้างั่ง กระหังป่า (พูดง่ายๆ คือ ละครเวอร์ชั่นล่าสุด นำสามตัวร้ายมาสวมบทตลกปิดท้ายเรื่องแทน “มาตุลีเทพบุตร” ในเวอร์ชั่นที่แล้ว)

หลายปีที่ผ่านมา บทละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่เขียนโดย “นันทนา วีระชน” มักจะสรุปเรื่องราวด้วยการฆ่าเหล่าร้าย (หรือคนนอกลู่นอกทาง ที่ไม่ถึงกับร้ายกาจเสียทีเดียว) ไม่ให้เหลือซาก (เอาเข้าจริง กระทั่ง “เทพสามฤดู” เวอร์ชั่นก่อนที่เขียนโดย “รัมภา ภิรมย์ภักดี” ก็มีลักษณะเดียวกัน)

อย่างไรก็ตาม บทสรุปของ “เทพสามฤดู 2560-61” นั้นผิดแผกออกไป กล่าวคือ การฟื้นคืนอำนาจของมหาเทพ หรือการรื้อฟื้นระบบระเบียบที่เหมาะสมและถูกต้องทำนองคลองธรรม อาจมิได้หมายถึงการฆ่าล้างฝ่ายตรงข้าม

แต่การฟื้นคืนระบอบอำนาจเดิม อาจหมายถึงการพยายามจะควบคุมฝ่ายตรงข้ามเอาไว้ให้อยู่ภายใต้กฎกติกาบางอย่าง (และอาจหมายถึงการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้กลับตัวกลับใจด้วย)

ที่น่าคิดต่อ คือ การเลือกจบแบบ “ไม่ฆ่า” ของ “เทพสามฤดู” ฉบับล่าสุด ดูจะสอดคล้องกันดีกับการละทิ้งไม่กล่าวถึงตัวละครฝ่ายร้ายบางกลุ่มบางราย เช่น นางยักษ์โชตนาและมเหสีทัศนีย์

เป็นไปได้ว่าบุคคลเหล่านั้นก็คงต้องตกอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมเช่นเดียวกับเหล่าร้ายรายอื่นๆ

ขณะเดียวกัน การที่เหล่าร้ายตัวสำคัญๆ ล้วนยังมีชีวิตอยู่ ก็บ่งชี้ถึงโอกาส/ความเป็นไปได้ที่พวกเขาและเธอจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อท้าทายอำนาจนำอีกหน

เมื่อดุลยภาพทางการเมืองระหว่างเทพกับมารผันแปรพลิกเปลี่ยนไปอีกครา

คลิกชมตอนจบของ “เทพสามฤดู” สองเวอร์ชั่นได้ในคลิปวิดีโอด้านล่าง

2 Comments

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.