ก่อนวันเสาร์ที่ 16 มีนาคม บล็อกคนมองหนังได้ตั้ง 3 ประเด็นน่าจับตาของละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่อง “สังข์ทอง 2561” ตอนอวสานเอาไว้
มาดูกันว่าหลัง “สังข์ทอง” ปิดฉากลง ประเด็น/คำถามเหล่านั้นได้คลี่คลายตัวลงอย่างไรบ้าง? หรือนำไปสู่คำตอบแบบไหน?
ประเด็นแรก
เรตติ้ง “สังข์ทองตอนจบ” จะอยู่ที่เท่าไหร่?
www.tvdigitalwatch.com รายงานว่า “สังข์ทอง” ตอนที่ 110 อันเป็นตอนอวสานนั้นได้เรตติ้งไป 6.705
ตัวเลข 6.705 ถือว่าเกินค่าความนิยมเฉลี่ยของละครซึ่งอยู่ที่ 6.310
แม้จะน้อยกว่าเรตติ้งสูงสุด 8.472 ที่ “สังข์ทอง” เคยทำได้ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ปีก่อน และน้อยกว่าเรตติ้ง 7.213 ของละครตอนที่ 109
www.tvdigitalwatch.com ยังได้เปรียบเทียบเรตติ้งตอนจบของละครจักรๆ วงศ์ๆ ช่อง 7 ในช่วง 3 ปีหลัง พบว่า เรตติ้งตอนจบของ “สังข์ทอง 2561” นั้นสูงกว่าเรตติ้งตอนจบของ “สี่ยอดกุมาร 2559” (4.765) และ “เทพสามฤดู 2560” (6.077)
ทว่าน้อยกว่าเรตติ้งตอนอวสานของ “แก้วหน้าม้า 2558” (8.816) และ “อุทัยเทวี 2560” (7.223)
ประเด็นที่สอง
ชะตาชีวิตของ “เจ้าชายไชยันต์” จะลงเอยเช่นไร?
“สังข์ทอง 2561” ปูพื้นให้ “เจ้าชายไชยันต์” หรือ “เขยไทย” สามีของ “พระธิดาปัทมา” หนึ่งในพระพี่นางของ “รจนา” มีบุคลิกและรสนิยมเป็นชายรักชายมาตั้งแต่ต้น โดยเขาต้องเข้าร่วมพิธีเสี่ยงมาลัยเลือกคู่ที่นครท้าวสามนต์ตามกรอบจารีตดั้งเดิม ซึ่งสวนทางกับความปรารถนาในหัวใจของตนเอง
แรกๆ การปูพื้นเช่นนั้น ดูจะผลักดันให้ “เจ้าชายไชยันต์” (ผู้ชอบเรียกตนเองว่า “ไช”) กลายเป็นตัวตลกที่ “ไม่ถูกต้องทางการเมือง” มากนัก
อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ “เจ้าชายไชยันต์” กลับเป็นตัวละครเพียงไม่กี่ราย ที่มีจุดยืนหนักแน่นมั่นคงและ “ถูกต้องทางการเมือง” อย่างน่าทึ่ง
“เจ้าชายไชยันต์” เป็นคนเดียวในนครท้าวสามนต์ ที่ไม่ประเมิน “เจ้าเงาะ” จากรูปกายภายนอก (กระทั่ง “รจนา” ก็ยังอยากให้พระสวามีปรากฏตนด้วยรูปกาย “สีทองอร่าม” มากกว่า “สีดำ”) และเห็นว่าเขยเงาะป่ามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทัดเทียมกับตัวเอง
“เจ้าชายไชยันต์” เอ่ยเรียก “เจ้าเงาะ” ว่า “พี่เงาะ” ได้อย่างสนิทปากสนิทใจ ดังนั้น แม้จะพลอยติดร่างแหถูกเฉือนจมูก-หูไปด้วย เมื่อคราวออกล่าปลา-ล่าเนื้อ ทว่าหลังจากนั้น “พี่เงาะ/พระสังข์” ก็ไม่เคยเอาคืน “น้องไช” แบบแรงๆ อีกเลย เพราะเห็นว่าอีกฝ่ายมิได้มีจิตใจคิดร้ายต่อตน
วรรคทองของ “เจ้าชายไชยันต์” ใน “สังข์ทอง 2561” อุบัติขึ้นตอนที่เขาโต้เถียงกับ “พระธิดาปัทมา” เมื่อภรรยาของตนว่าร้าย “เจ้าเงาะ” เป็น “ไอ้คนป่าบ้าใบ้” ผู้เป็นสามี (เพียงในนาม) จึงตักเตือนภรรยาตรงๆ ว่า “อย่าไปว่าเค้า” เพราะ “เค้าเป็นคนเหมือนกับเรา”
แฟนละครหลายคนจับตามองว่า “สังข์ทอง 2561” จะคลี่คลายความสัมพันธ์ระหว่าง “เจ้าชายไชยันต์-พระธิดาปัทมา” ไปในทิศทางใด?
ก่อนหน้านี้ ในละคร “สี่ยอดกุมาร 2559” บริษัทสามเศียรเคยสร้างสีสันด้วยการวางบทบาทให้สองตัวละครหญิง “เพชรราชกุมาร/กุมารี” และ “มัลลิกานารี” เป็น “คู่จิ้น” กัน
แต่ความพยายามหนนั้น กลับลงเอยด้วยการฟื้นฟูค่านิยมเก่าและแบ่งแยกกีดกันให้ตัวละครทั้งคู่หวนไปเป็น “หญิงรักชาย” ตามธรรมเนียม แถมต้องยังมี “สามีร่วมกัน” อีกต่างหาก
“สังข์ทอง 2561” ตอนอวสาน ดูจะเดินทางไปไกลกว่า “สี่ยอดกุมาร 2559” พอสมควร
เมื่อผู้กำกับฯ และผู้เขียนบทกำหนดให้ “เจ้าชายไชยันต์” ยืนกรานในประเด็นเพศสภาพว่าตนเองไม่ (เคย) ชอบผู้หญิง และไม่สามารถใช้ชีวิตคู่ร่วมกับ “พระธิดาปัทมา” ได้อีกต่อไป
“ไช” จึงเป็นได้แค่เพียง “พี่สาว” ของ “ปัทมา” เท่านั้น
หากเข้าใจไม่ผิด “เจ้าชายไชยันต์” คือตัวละครนำที่เป็นเกย์หรือ LGBT รายแรกสุดของละครจักรๆ วงศ์ๆ ค่ายสามเศียร (หรือละครจักรๆ วงศ์ๆ ไทย)
ประเด็นที่สาม
ความรุนแรงที่หายไป ใครกันที่ไม่ถูกฆ่า?

“เทพสามฤดู 2560” คือ ละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่มีบทสรุปจบ “ซอฟต์” อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะแทบจะไม่มีตัวละครทั้งฝ่ายธรรมะ (พระเอกนางเอก) และอธรรม (ผู้ร้าย) ที่ต้องสังเวยชีวิตเลย (ผิดกับจารีตของละครประเภทนี้ยุคก่อนๆ)
ดู ปราบมารโดย “ไม่ฆ่า”: ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในตอนจบ “เทพสามฤดู” ฉบับล่าสุด
“สังข์ทอง 2561” กับ “เทพสามฤดู” เวอร์ชั่นล่าสุด ล้วนเขียนบทโดย “รัมภา ภิรมย์ภักดี” เหมือนกัน แต่จุดแตกต่างสำคัญ ก็คือ ตอนอวสานของ “สังข์ทอง” นั้นมีตัวละครต้องตาย!
อย่างไรก็ดี ตัวละครที่ถูกชำระล้าง ล้วนเป็นฝ่ายอธรรมทั้งสิ้น ไล่ตั้งแต่ปีศาจพยนตรา, แม่เฒ่าสุเมธา และสองสมุนเอกของจอมปีศาจ
ขณะที่ฝ่ายธรรมะ/พระเอกกลับไม่มีใครต้องสละชีพ ผิดกับในช่วงท้ายๆ ของ “สังข์ทอง 2550” ซึ่งพี่หอยทาก ตลอดจนพระพี่เลี้ยงของหกเขย ล้วนถูกสังหารตามรายทาง
สำหรับ “สังข์ทอง” ฉบับล่าสุด ผู้ช่วยพระเอกเหล่านั้นต่างพากันอยู่รอดปลอดภัยและมีชีวิตที่แฮปปี้ในตอนจบ
แนะนำรายงานข่าวและบทความน่าสนใจว่าด้วย “สังข์ทองตอนอวสาน”
เจาะเรตติ้งละครพื้นบ้าน ช่อง 7 ปี 2559 – มี.ค. 2562
อวสานของสังข์ทอง และนิมิตหมายอันดีของ LGBTQ ในละครจักรๆ วงศ์ๆ โดย ชานันท์ ยอดหงษ์
สังข์ทอง เงาะที่ไม่ใช่เงาะ และเจ้าเงาะที่ไม่มีวันตายในละครจักรๆ วงศ์ๆ โดย อิทธิเดช พระเพ็ชร
โปรดติดตาม
บทความ อวสาน ‘สังข์ทอง’ และ ‘ตัวละครนำ LGBT’ รายแรกของสามเศียร โดย คนมองหนัง ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวางแผงวันที่ 21 มีนาคม ก่อนจะนำลงเว็บไซต์ matichonweekly วันที่ 25 มีนาคม
(เพิ่งมาพบว่าตัวเองเขียนประเด็น “เจ้าชายไชยันต์” คล้ายๆ กับงานของคุณชานันท์ ยอดหงส์ ใน the matter พอดี แต่อาจไม่ละเอียดลึกซึ้งเท่าในเชิงแนวคิด ขณะเดียวกัน ช่วงต้นบทความในมติชนสุดสัปดาห์จะมีสถิติเรตติ้งแทรกเข้าไป พร้อมด้วยการพยายามตีความว่าทำไมเรตติ้งช่วงกลางๆ ของละครจักรๆ วงศ์ๆ จึงมักสูงกว่าตอนใกล้จะจบ)
บทความ “สังข์ทอง: โลกของเจ้าเงาะ, พี่หอยทาก, เจ้าชายไชยันต์ และท้าวสามนต์” ในบล็อกคนมองหนัง
(น่าจะเริ่มเขียนหลังวันที่ 24 มีนาคม)