หลายวันก่อน เห็น The Matter ทำสกู๊ป “ก่อนเลือกตั้งดูอะไร หนังเรื่องไหนที่คนในแวดวงหนังไทยชวนดู”
เลยลองมานั่งทำลิสต์เล่นๆ ดูบ้างว่า ถ้าให้คิดอย่างไวๆ มีหนังเรื่องไหนที่ตัวเองนึกถึงก่อนหน้าการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ
October Sonata รักที่รอคอย
เหตุผลที่นึกถึงหนังไทยอันยอดเยี่ยมเรื่องนี้ ก็เพราะผลงานของ “สมเกียรติ์ วิทุรานิช” ได้เน้นย้ำให้เราตระหนักว่าการต่อสู้ทางอุดมการณ์การเมืองนั้นเป็นการต่อสู้ในทางยาว ไม่จบสิ้นลงง่ายๆ
และเราอาจไม่ได้มองเห็นหรือลิ้มรสความสำเร็จของมันในชั่วชีวิตของตนเอง
แม้จะน่าท้อถอยเหนื่อยหน่าย แต่ในทางกลับกัน การท่องไปบนเส้นทางการต่อสู้อันยาวไกลดังกล่าวก็ต้องอาศัยความอดทน (ที่จะรอคอย) ความหวัง ความฝัน และความรัก อันมิเคยเหือดแห้งหายไปไหน เป็นแรงบันดาลใจ/แรงขับเคลื่อนสำคัญ
อ่านบทความที่เขียนถึงหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่
Bodyguards and Assassins
เวลาหงุดหงิดงุนงงกับกฎกติกาในการได้มาซึ่ง ส.ส. ของการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ผมมักถึงหนังฮ่องกงเรื่องนี้
ประการแรก คือ พอพูดเรื่องการนำคะแนน “ไม่ตกน้ำ” ของผู้สมัครทั้งหลายที่พ่ายแพ้ในการชิงตำแหน่ง ส.ส.เขต ไปใช้คำนวณหาจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองต้นสังกัดของผู้สมัคร ส.ส.เขต รายนั้นๆ พึงได้รับแล้ว
ผมมักรู้สึกว่าบรรดาผู้สมัคร ส.ส. เขต ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่บนหมากกระดานเลือกตั้งรอบนี้ ช่างมีชะตากรรมคล้ายคลึงกับเหล่า “พยัคฆ์พิทักษ์ซุนยัดเซ็น” เสียจริงๆ
เพราะพวกเขาต้องยอมเสียสละตนเอง เพื่อสัมฤทธิผลทางการเมืองของบุคคลอื่น (ต้องตายเพื่อผู้นำการปฏิวัติ ต้องแพ้ในสนามเลือกตั้งเพื่อทำให้พรรคมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์)
ประการต่อมา แม้กระทั่งเมื่อพูดถึงการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ ผมก็มักนึกย้อนไปยังวิธีคิดแบบ “พยัคฆ์พิทักษ์ซุนยัดเซ็น” เช่นกัน
เพราะกลยุทธการต่อสู้เหล่านี้ คือ การพยายามจำกัดกรอบความคิดจินตนาการให้คนเล็กคนน้อยต้องยอมเสียสละหรือไม่เป็นตัวของตัวเองแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่กว่าชีวิต โลกทัศน์ และความรู้สึกในฐานะปัจเจกบุคคล ของพวกเขา
ซึ่งก็ยังไม่มีใครสามารถฟันธงได้แน่ชัดว่าสิ่งยิ่งใหญ่นั้น มันเป็นรูปธรรมจับต้องได้หรือเป็นเพียงแค่นามธรรมอันเลื่อนลอย
No
ภาพยนตร์ชิลีที่เล่าเรื่องการโค่นล้ม “เผด็จการปิโนเชต์” ด้วยการลงคะแนนโหวตโนของประชาชน
แต่เหนือกว่านั้น ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการเอาชนะระบอบการเมืองเก่า ด้วยวิธีคิด/จินตนาการ/กระบวนการสร้างสรรค์และสื่อสารภาพแทนแบบใหม่ๆ
ซึ่งสามารถปลุกเร้าผู้คนส่วนใหญ่ให้ฟื้นคืนความหวัง และมีพลังใจจะต่อสู้กับ “อำนาจดิบ/อำนาจเผด็จการ” (โดยปราศจากกำลังอาวุธ)
อ่านบทความที่เขียนถึงหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่
ไทบ้าน เดอะซีรีส์
ถ้าอยากเข้าใจโหวตเตอร์จำนวนมากของประเทศ ซึ่งเป็นคนอีสานร่วมสมัย ผู้ดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางพลวัตความเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในและภายนอกภูมิภาค/ชุมชนของพวกเขา ผมว่าเราก็ควรจะหาภาพยนตร์ไทยชุดนี้มาดู
แต่แน่นอนแหละว่า ผู้มีอำนาจหลายส่วนนั้นแทบจะไม่เข้าใจประชาชนกลุ่มดังกล่าวเลย และไม่เคยคิดอยากดูหนังอินดี้อีสานเซ็ตนี้ด้วย
นอกจากนั้น โดยตัวของมันเอง ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า “ไทบ้าน เดอซีรีส์” มีสถานภาพของการเป็น “โปรเจ็คท์ทางการเมือง” ซ่อนแฝงอยู่
และก็เป็น “การเมือง” ในแบบที่คนร่างรัฐธรรมนูญ กองทัพ และพรรคการเมืองบางพรรค ไม่มีทางเข้าใจอีกเช่นกัน