เทศกาลภาพยนตร์คัดสรร Cinema Diverse: Director’s Choice 2015
วันที่ : 06 กุมภาพันธ์ 2559
สถานที่: ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เวลา 16.30 – 21.00 น.
ที่นั่งมีจำนวนจำกัด (220 ที่นั่ง) ขอสงวนสิทธิ์ให้แก่ผู้ที่มาเข้าคิวลงทะเบียนตามลำดับก่อน 1 ท่านต่อ 1 ที่นั่ง ภายหลังภาพยนตร์ฉายจบแล้วจะเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการพูดคุยได้ทุกท่าน
เทศกาลภาพยนตร์คัดสรรกลับมาอีกครั้งกับ 5 ภาพยนตร์นานาชาติที่คัดเลือกโดย 5 ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยชื่อดัง ร่วมรับชมภาพยนตร์จากหลากหลายประเทศพร้อมพูดคุยภาษาภาพยนตร์กับผู้กำกับทั้ง 5 ภายหลังการฉาย
กิจกรรมนี้จะจัดขึ้นทุกสองเดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 – กุมภาพันธ์ 2559 สำหรับการจัดฉายครั้งที่ห้าซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ในวันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2559 พบกับภาพยนตร์จากประเทศชิลี No (2012) กำกับภาพยนตร์โดย พาโบล ลาร์เรน และคัดสรรโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยเจ้าของผลงาน รักที่ขอนแก่น, ลุงบุญมีระลึกชาติ, แสงศตวรรษ และ สัตว์ประหลาด
No เล่าเรื่องราวเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของประเทศชิลี เมื่อแผนการโฆษณาได้ถูกนำมาใช้ในการหาเสียงทางการเมืองเป็นครั้งแรก แคมเปญการเมืองที่หนังพูดถึงคือการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ในปี 1988 ของประเทศชิลี ซึ่งเป็นการลงมติ “ยอม” หรือ “ไม่ยอม” ให้ผู้นำเผด็จการทหาร นายพล เอากุสโต้ ปีโนเช่ต์ อยู่ในอำนาจต่อไปอีก 8 ปี โดยด้านผู้นำพรรคฝ่ายค้านได้ชักชวนให้นักโฆษณาหนุ่มไฟแรง เรเน่ ซาเวดร้า (กาเอล การ์เซีย เบอร์นัล) มาช่วยวางแผนแคมเปญต่อต้าน แม้ว่าจะเสียเปรียบในทุกด้านและโดนแทรกแซงจากฝ่ายรัฐบาล แต่ทีมงานของเขาก็ไม่ย่อท้อ มุ่งหน้าคิดแผนการเพื่อเอาชนะการเลือกตั้งและปลดปล่อยชิลีจากการปกครองแบบเผด็จการ No ได้รับคำชื่นชมมากมาย รวมทั้งได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 85 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย
“ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วได้ย้อนดูตัว ว่าตั้งแต่เกิดมา เราเป็นหุ่นเชิดของกลุ่มอำนาจไม่กี่กลุ่ม แม้แต่คำว่าประชาธิปไตยก็มีนัยยะ เมื่อโตขึ้น ถึงจะมองเห็นสายที่ผูกไว้ ก็ไม่สามารถตัดมันออกได้ จึงได้เพียงแต่ยิ้มอย่างที่บทบอกมา จนบางครั้งเผลอไป นึกว่าเสรีและความสุข มีอยู่จริง” อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
ร่วมชม No พร้อมพูดคุยภายหลังการชมภาพยนตร์กับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ ก้อง ฤทธิ์ดี นักเขียนและนักวิจารณ์ภาพยนตร์
ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม
ไม่ต้องสำรองที่นั่งล่วงหน้า
*มีบทบรรยายภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
*ภาพยนตร์เริ่มฉายเวลา 17.30 น.
*การพูดคุยหลังภาพยนตร์จะมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย
*ภาพยนตร์เรื่องนี้เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 02 214 6630-8 ต่อ 528 Email: activity@bacc.or.th
http://www.facebook.com/baccpage
—–
อ่านบทวิจารณ์ No สองเวอรฺ์ชั่น โดย คนมองหนัง
บทวิจารณ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก (21 มีนาคม 2556)
หนึ่ง เพิ่งไปดูหนังชิลีเรื่อง “No” มา ถ้าเข้าฉายที่เมืองไทย หรือมีดีวีดีออกมา (หรือโหลดดูทางเน็ตได้) คอหนังการเมืองไม่ควรพลาดนะครับ
หนังเล่าเรื่องช่วงปลายสมัยปิโนเชต์ ซึ่งผู้นำเผด็จการถูกนานาชาติบีบให้จัดการลงประชามติ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจจะให้เขาอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่
ตัวเลือกของประชามติจึงมีอยู่สองชอยส์ คือ Yes (ให้ปิโนเชต์อยู่ในตำแหน่งต่อไป) และ No (ให้ลงจากตำแหน่ง)
โดยกม.ประชามติระบุให้ทางฝ่ายที่รณรงค์ “โหวตเยส” และ “โหวตโน” ต้องทำรายการประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์เป็นเวลา 27 วัน ฝ่ายละ 15 นาทีต่อวัน (คือไม่ให้มีการผูกขาดประชาสัมพันธ์ด้านเดียว)
ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็โฟกัสไปที่ทีมทำแคมเปญ “โหวตโน” โดยมีตัวละครหลักเป็น “ผู้กำกับ/ครีเอทีฟ?” โฆษณาดาวรุ่ง ลูกชายของนักการเมืองฝ่ายอดีตประธานาธิบดีอัลเยนเด้ที่โดนปิโนเชต์ทำรัฐประหาร ซึ่งมีหน้าที่การงานและวิถีชีวิตที่ดีภายใต้ระบอบอำนาจปัจจุบัน แต่แล้วเขากลับเลือกมาเป็น “มันสมอง” ให้กับทีม “โหวตโน”
สอง หนังมันก็เป็นการฉายภาพให้เห็นการต่อสู้กันระหว่างทีมรณรงค์สองฝ่าย ฝ่าย “โหวตโน” เอง พอพระเอกซึ่งเป็นคนทำโฆษณาเข้าไป ก็เสนอให้ปรับ “ภาพแทน” และ “เนื้อหา” ของแคมเปญ จากการมุ่งเน้นไปที่ “เหยื่อทางการเมือง” แบบหดหู่โกรธแค้น ไปสู่การวาดภาพถึงอนาคตของประเทศที่ดีกว่า พร้อมกับการแฝงอารมณ์ขันลงไป (คือถ้าเทียบกับเมืองไทย ผมว่าพระเอกคงออกแนว “บ.ก.ลายจุด”)
ด้านฝ่าย “โหวต เยส” จากที่ตอนแรกเริ่มต้นด้วยการทำสารคดีพร็อพพาแกนดาแบบปกติ และมุ่งเน้นไปที่ผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลปิโนเชต์ ก็ต้องปรับกลยุทธ์ตาม เป็นการเลียนแบบ/ตอบโต้แคมเปญของอีกฝ่าย นอกจากนี้ ยังมีการเล่นเกมใต้ดินประกอบ เมื่อฝ่ายรัฐบาล ส่งคนไปข่มขู่คุกคามพวกคนทำแคมเปญของฝ่าย “โหวตโน”
(แต่ขณะเดียวกัน เมื่อหนังเน้นไปเฉพาะที่ “กลุ่มผู้ผลิตสื่อ” จนไม่ได้สนใจ “คนดูแคมเปญ” สักเท่าไหร่ ตอนช่วงไคลแม็กซ์สุดท้าย ที่แสดงผลประชามติ หนังเลยไม่ค่อยมีพลังมากนัก เพราะผลแพ้ชนะจากการลงประชามติมันยึดโยงกับประชาชนที่มาลงคะแนนและเป็นคนดูแคมเปญทางโทรทัศน์น่ะ มันไม่ได้ยึดโยงอยู่กับแค่คนสร้างหรือผลิตแคมเปญเท่านั้น)
สาม แต่ขณะเดียวกัน ท่ามกลาง “สงครามภาพแทน” ของทีมรณรงค์สองฝ่าย มันก็มีความซับซ้อนอยู่หลายอย่าง
อย่างแรกเลยคือ ในฝ่าย “โหวตโน” เอง ทีแรกก็มีคนที่แอนตี้พระเอก ที่ไปปรับเปลี่ยนจุดโฟกัสของแคมเปญ เช่น คนที่สูญเสียญาติพี่น้องไปเพราะระบอบปิโนเชต์ ก็ไม่รู้สึกขำหรืออารมณ์ดีไปกับแคมเปญที่พระเอกเสนอ นอกจากนี้ มันยังมีการตั้งธงที่ต่างกัน เช่น นักการเมืองฝ่ายซ้าย/ประชาธิปไตยบางคนก็เห็นว่า การลงประชามติครั้งนี้มันเป็นแค่พิธีกรรมสร้างความชอบธรรมให้ระบอบปิโนเชต์ได้ดำเนินต่อไป ยังไงปิโนเชต์ก็ชนะ ฝ่ายประชาธิปไตยสู้ไม่ไหวหรอก ดังนั้น สิ่งที่ฝ่ายตัวเองต้องทำ ก็คือ การใช้โอกาสนี้ตอกย้ำถึงความสูญเสียของ “เหยื่อทางการเมือง” ขณะที่ฝ่ายพระเอก ดันหวังถึงชัยชนะ มันจึงคิดว่า ทำยังไง แคมเปญ “โหวตโน” ถึงจะจูงใจพวกคนสูงอายุและเด็กวัยรุ่นได้
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกกับเจ้านายที่บริษัทโฆษณา คือ พระเอกมาอยู่ฝ่าย “โหวตโน” ขณะที่เจ้านายซึ่งใกล้ชิดกับทางรัฐบาล ดันเข้าไปเป็นหัวหน้าทีมผลิตรายการโทรทัศน์ของฝ่าย “โหวตเยส” แล้วมันก็มีการพูดจากัดกัน (กึ่งข่มขู่นิดๆ) ระหว่างทำงาน หรือกระทั่งเจ้านายพระเอกถึงขั้นนำข้อมูลของฝ่ายพระเอกไปบอกให้รมต.ที่ดูแลสื่อรู้ด้วยซ้ำ จนนำไปสู่การส่งเจ้าหน้าที่ไปข่มขู่คุกคาม แต่พอเมียเก่าพระเอก ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกจับ ตาหัวหน้านี่แหละที่เป็นฝ่ายไปวิ่งเต้นช่วยเธอออกมา และสุดท้าย พอผลประชามติออกมา มีฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะ พระเอกกับหัวหน้าก็มาทำงานร่วมกันเหมือนเดิม
ถ้านำมาเทียบกับบริบทความขัดแย้งของการเมืองไทยร่วมสมัย มันอาจต่างกันอยู่พอสมควร คือของเรามันไม่ใช่เรื่องของคนที่โปรนักการเมืองคนละฝ่ายกันน่ะ แต่มันเป็นเรื่องของคนที่มีความคิดทางการเมืองในระดับฐานรากหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันเลย การจะให้ต่อสู้ทางการเมืองก็สู้ไป แต่มาคืนดีกันในวิถีชีวิตประจำวันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย (โอเค แต่มันก็มีเรื่องน่าโยงกับประเทศไทยเหมือนกัน เพราะผลการลงประชามติในหนังนี่ ออกมาในสัดส่วน 50 กว่าๆ ต่อ 40 กว่าๆ เปอร์เซ็นต์ ปัญหาที่น่าสนใจ สำหรับผมที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์การเมืองชิลีก็คือ เออ หลังจากนั้น คนสองฝ่ายที่จำนวนไม่ได้ต่างกันมากนักเค้าอยู่กันยังไงวะ?)
อีกประเด็นที่น่านำมาเทียบกับเมืองไทยคือ แคมเปญ “โหวตโน” ของฝ่ายพระเอกนี่ มันสามารถดึงนักร้องศิลปินมาร่วมได้มาก พอฝ่ายรัฐบาลหรือ “โหวตเยส” จะเลียนแบบทำแคมเปญเชิงมองโลกในแง่ดีมีอารมณ์ขันบ้าง มันก็ประสบปัญหาว่าศิลปินเก่งๆ ไปอยู่กับอีกฝ่ายหมดแล้ว ข้อนี้ ดูเหมือนจะตรงข้ามกับของไทย ที่ดาราศิลปินส่วนใหญ่ยังอยู่ข้าง “ระบอบอำนาจปัจจุบัน”
สี่ ด้านเทคนิคของหนัง ผมชอบอยู่สองอย่าง
อย่างแรก คือ (ถ้าไม่ใช่ปัญหาของโรงหนังที่ผมไปดู หรือไม่ใช่เพราะโรงหนังเอาดีวีดีมาฉายขึ้นจอ) ผมเข้าใจว่าผู้กำกับเลือกทำให้สัดส่วนจอภาพของหนังเรื่องนี้เป็น 4:3 ไม่ใช่ 16:9 ซึ่งมันล้อกับธีมหลักของหนัง ซึ่งว่าด้วยเรื่อง “สงครามภาพแทน” ทางโทรทัศน์พอดี (โทรทัศน์ยุคนั้นยังเป็นจอ 4:3)
อย่างที่สอง ในช่วงครึ่งแรกของหนัง มันมีซีนที่ตัวละครสองคน หรือตัวละครกลุ่มหนึ่ง สนทนาถกเถียงกัน อยู่หลายซีน เช่น ซีนที่หัวหน้าแคมเปญ “โหวตโน” มาทาบทามพระเอกไปร่วมงานด้วย, ซีนที่เจ้านายพระเอกคุยกับพระเอกเพื่อโน้มน้าวใจไม่ให้ไปร่วมงานกับทีม “โหวตโน” และซีนที่พระเอกและเพื่อนๆ ที่ร่วมทำแคมเปญ ไปปรึกษาหารือกัน
มันน่าสนใจตรงที่ว่า ผู้กำกับเลือกนำเสนอซีนเหล่านั้นออกมาอย่างโดดเด่นมากๆ คือ ไม่ได้ให้ตัวละครคุยกันในที่ใดที่หนึ่งเพียงที่เดียว แต่ให้พวกเขาสนทนากันในบริบทหรือฉากที่หลากหลายภายในซีนเดียวกัน เช่น ประโยคหนึ่งถูกสนทนาในออฟฟิศ อีกประโยคเปลี่ยนไปคุยกันบนรถ จากนั้น ตัดไปคุยกันในร้านอาหาร ฯลฯ
ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าวิธีการแบบนี้มันสื่อถึงอะไร แต่จากการตีความส่วนตัว มันแสดงให้เห็น movement ความเคลื่อนไหว พลวัต หรือ dialectic ของการทำแคมเปญ หรือการต่อสู้ทางความคิด ซึ่งมันไม่ได้หยุดนิ่งตายตัวไม่เปลี่ยนแปลง
ห้า ในแง่คาแร็คเตอร์ของพระเอก ทำให้ผมคิดต่อไปได้สองประเด็น
ประเด็นแรก มีนักวิชาการฝรั่งที่เป็นนักเคลื่อนไหวสายอนาคิสต์คนหนึ่ง เค้าแบ่งหยาบๆ ไว้น่ะนะ ถึงความแตกต่างกันระหว่าง “ภววิทยาทางการเมือง” ของฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย คือ ในขณะที่ภววิทยาทางการเมืองของฝ่ายขวาที่ถือครองอำนาจรัฐวางอยู่บน “ความรุนแรง” ภววิทยาทางการเมืองของฝ่ายซ้าย (ที่มักเคลื่อนไหวทำกิจกรรมอยู่บนท้องถนน) กลับวางอยู่บน “จินตนาการ/ความคิดสร้างสรรค์”
ผมมองว่าตัวคาแร็คเตอร์ของพระเอก และความสัมพันธ์ที่เขามีกับรัฐ ก็วางอยู่บนพื้นฐานเรื่องความแตกต่างตรงจุดนี้ คือ ด้านหนึ่ง หนังมันก็ฉายภาพให้เห็นว่าพระเอกนี่มันจะมีนิสัยเด็กๆ น่ะ ประเภทชอบเล่นรถไฟของเล่น (อันนี้ เหมือนอดีตนายกฯ และองคมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ 555) หรือชอบเล่นสเก็ตบอร์ด แล้วไอ้ความขี้เล่นตรงนี้ ก็เหมือนถูกนำไปเทียบเคียงกับจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ทางการเมืองในท้ายที่สุด เมื่อพระเอกถูกดึงให้ไปร่วมเล่น “สงครามภาพแทน” ทางการเมือง
ขณะที่อีกด้าน รัฐก็เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงเล่นงานผู้ชุมนุมสนับสนุนแคมเปญ “โหวตโน” หรือส่งคนไปข่มขู่คุกคามพระเอกและเพื่อนๆ และถ้าสู้กันด้วยความรุนแรง พระเอกไม่มีปัญญาสู้กับรัฐได้หรอก เวลาเมียเก่าโดนตำรวจตีและจับ พระเอกมันก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย บางครั้งก็ได้แค่ยืนมองเฉยๆ หรือพอจะพยายามช่วย มันโดนตุ๊ยท้องครั้งเดียวก็ร่วงลงไปกองแล้ว ดังนั้น วิธีการเดียวที่มันจะตั๊นกับรัฐได้ ก็คือ มาสู้กันในสนามของ “จินตนาการ” หรือ “ความคิดสร้างสรรค์”
ต่อเนื่องมาประเด็นที่สอง นักวิชาการฝรั่งคนเดิมแกอ้างงานของพวกสตรีนิยมแล้วระบุว่าคุณูปการหนึ่งที่งานของนักคิดสายสตรีนิยมมีต่อความคิดทางการเมือง ก็คือ ถ้าเปรียบการต่อสู้ทางการเมืองตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เป็นละครเวทีเรื่องแล้วเรื่องเล่า กลุ่มคนที่เรามักหลงลืมไป แต่งานของพวกสตรีนิยมกลับเน้นย้ำให้เราจดจำพวกเขาก็คือ กลุ่มคนที่เป็นฝ่ายลงมือลงแรงลงความคิดเตรียมการก่อสร้างและคอยค้ำจุนเวทีทางการเมืองเหล่านั้นเอาไว้ (ไม่ใช่เหล่าตัวแสดงทางการเมืองบนเวที) ซึ่งกระบวนการทางการเมืองโดยปกติ (หรือแม้กระทั่งตัวกลุ่มคนเหล่านี้เอง) ก็จะมีหน้าที่ทำให้ตัวตนของผู้คนเหล่านี้จางหายไปจากเวทีทางการเมือง
มันโยงมาถึงคาแร็คเตอร์ของพระเอกได้สองกรณี
กรณีแรก เวลาพวกสตรีนิยมพูดถึงกลุ่มคนที่หายไปในทางการเมือง โดยหลักแล้ว คนเหล่านั้นมักเป็นผู้หญิง แต่ในหนังเรื่องนี้มันกลับกันหน่อยนึง เพราะเมียเก่าของพระเอกนี่เป็นนักเคลื่อนไหวหรือเป็นตัวแสดงทางการเมือง ขณะที่ฝ่ายพระเอกกลับเป็นฝ่ายลงมือลงแรงก่อสร้างและค้ำจุนเวทีทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง
กรณีต่อมา สุดท้ายพอผลประชามติออกมา คนสร้างเวทีอย่างพระเอกมันก็หายไปจริงๆ น่ะ ในด้านหนึ่ง เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ที่มีบุคลิกลักษณะเป็นตัวแสดงทางการเมือง ก็ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น และสป็อตไลท์ของสื่อมวลชนที่เริ่มเปลี่ยนทิศทางมายังพวกตน จนไม่มีเวลามาสนใจพระเอก แต่อีกด้าน ตัวพระเอกมันก็ค่อยๆ เฝดตัวเองออกมา ปนเปไปกับฝูงชนที่ออกมาโห่ร้องแสดงความยินดี แล้วกลับไปใช้ชีวิตทำงานและเล่นสนุกกับจินตนาการของตัวเองตามเดิม
บทวิจารณ์ในมติชนสุดสัปดาห์ (4-10 เมษายน 2557)
ดูหนังการเมืองชิลี ในบรรยากาศเลือกตั้งแบบไทยๆ
สถานการณ์การเมืองไทยทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ทำให้นึกถึงภาพยนตร์ชิลีเรื่อง “No” (2012) กำกับโดย “ปาโบล ลาร์เรน”
“No” เล่าเรื่องราวของประเทศชิลียุคปลายสมัย “ปิโนเชต์” เมื่อปี 1988
ในช่วงเวลาดังกล่าว ออกุสโต ปิโนเชต์ ผู้นำเผด็จการที่กำลังร่วงโรย ถูกบีบจากนานาชาติ (โดยเฉพาะสหรัฐฯ) ให้จัดการลงประชามติ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวชิลีได้ร่วมตัดสินใจว่า เขาควรจะอยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศต่อไปหรือไม่ หลังจากครองอำนาจมายาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ
ตัวเลือกในการลงประชามติมีอยู่ 2 ข้อ
ระหว่าง “Yes” คือให้ปิโนเชต์ครองอำนาจต่อไป กับ “No” ซึ่งหมายถึงการส่งสารไปยังผู้นำเผด็จการว่า จงลงจากตำแหน่งได้แล้ว
เรื่องน่าสนุกมีอยู่ว่ากฎหมายประชามติของชิลีระบุให้ฝ่ายที่รณรงค์ “โหวตเยส” และ “โหวตโน” ต้องทำรายการประชาสัมพันธ์แคมเปญของตนเองผ่านทางโทรทัศน์เป็นเวลา 27 วัน ฝ่ายละ 15 นาทีต่อวัน
โดยไม่ให้มีการผูกขาดการประชาสัมพันธ์อยู่ด้านเดียว (เหมือนบางประเทศ)
ลาร์เรนเลือกโฟกัสหนังของเขาไปที่ทีมทำแคมเปญ “โหวตโน”
พระเอกของหนังเรื่องนี้ (รับบทโดย ดาราเม็กซิกัน “กาเอล การ์เซีย เบอร์นัล”) คือ ครีเอทีฟโฆษณาดาวรุ่ง ลูกชายของนักการเมืองฝ่ายซ้ายผู้อยู่ข้างอดีตประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อัลเยนเด้ (ที่โดนปิโนเชต์ทำรัฐประหาร)
ต่างจากพ่อของเขา นักทำโฆษณารายนี้มีหน้าที่การงานและวิถีชีวิตที่สุขสบายภายใต้ระบอบ “ปิโนเชต์” แต่ด้วยความท้าทายบางอย่าง เขากลับเลือกมาเป็น “มันสมอง” ให้กับฝ่าย “โหวตโน”
หนังค่อยๆ ฉายภาพกระบวนการต่อสู้ระหว่างทีมรณรงค์ฝ่าย “โหวตโน” กับ “โหวตเยส”
ในฝ่าย “โหวตโน” คนทำโฆษณาอย่างพระเอกได้เสนอให้ฝ่ายรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ปรับ “ภาพแทน” และ “เนื้อหา” ของแคมเปญ
จากการมุ่งเน้นเรื่องราวของ “เหยื่อทางการเมือง” ภายใต้อำนาจเผด็จการ ด้วยอารมณ์หดหู่โกรธแค้น ไปสู่การวาดภาพถึงอนาคตของประเทศที่จะต้องดีขึ้นกว่าเดิม โดยเจืออารมณ์ขันลงไป (เทียบกับบ้านเรา พระเอกคงมีแนวทางการทำงานคล้ายๆ “บ.ก.ลายจุด”)
ด้านฝ่าย “โหวตเยส” จากที่ตอนแรก ได้เริ่มต้นรณรงค์ด้วยการทำสารคดีพร็อพพาแกนดาตามปกติ ทว่า เมื่อเห็นอีกฝ่ายใช้กลยุทธแหวกแนว ทีมทำแคมเปญฝ่ายหนุนปิโนเชต์จึงจำต้องปรับเปลี่ยนแท็กติก
พวกเขาพยายามตอบโต้แคมเปญของฝ่าย “โหวตโน” ด้วยการสร้างแคมเปญแฝงอารมณ์ขันที่พูดถึงอนาคตของประเทศบ้าง
กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ฝ่าย “โหวตเยส” กำลังตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม ผ่านการเลียนแบบกลยุทธของฝ่ายนั้น
ขณะเดียวกัน “สงครามภาพแทน” ระหว่างสองฝ่าย ก็มีความซับซ้อนแฝงอยู่
ที่น่าสนใจในประเด็นแรกก็คือ ความขัดแย้งภายในฝ่าย “โหวตโน” เอง
เพราะเบื้องต้นก็มีคนในฝ่ายนี้ที่ต่อต้านพระเอก ซึ่งไปเสนอให้ทีมปรับเปลี่ยนจุดโฟกัสของแคมเปญ
เช่น คนจำนวนไม่น้อย ซึ่งสูญเสียญาติพี่น้องไปเพราะระบอบปิโนเชต์ ก็ไม่รู้สึกขำหรืออารมณ์ดีไปกับแคมเปญเชิงบวกที่พระเอกภูมิใจเสนอ
ขณะเดียวกัน นักการเมืองฝ่ายซ้าย/ประชาธิปไตยบางคน ก็ตั้งธงไว้ล่วงหน้าว่าการลงประชามติครั้งนี้ เป็นเพียงแค่พิธีกรรมสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบปิโนเชต์ พวกเขาเชื่อว่า อย่างไรเสีย ผู้นำเผด็จการก็จะเป็นฝ่ายชนะ
ดังนั้น สิ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งเตรียมตัวแพ้ไว้ล่วงหน้า ต้องพยายามทำ จึงได้แก่การรักษาฐานเสียงเดิมเอาไว้ ผ่านการสร้างโฆษณาที่ตอกย้ำให้ผู้คนบางส่วนได้ตระหนักถึงความสูญเสียของ “เหยื่อทางการเมือง”
ผิดกับนักทำโฆษณาอย่างพระเอก ที่เข้าร่วมกับฝ่าย “โหวตโน” เพราะฝันใฝ่ (ในฝันอันเหลือเชื่อ) ถึงชัยชนะ
เขาจึงเฝ้าครุ่นคิดว่า ต้องทำอย่างไร แคมเปญ “โหวตโน” จึงจะจูงใจบรรดาผู้สูงอายุและเด็กวัยรุ่น ซึ่งเดิมที สารของฝ่ายประชาธิปไตยมักเดินทางไปไม่ถึงคนสองกลุ่มนี้
อีกประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ ความสัมพันธ์ “กึ่งมิตรกึ่งศัตรู” ระหว่างพระเอกกับเจ้านายที่บริษัทโฆษณา
เพราะแม้พระเอก ในฐานะมันสมองดาวรุ่งของบริษัท จะมาอยู่ฝ่าย “โหวตโน” แต่เจ้านาย ซึ่งใกล้ชิดกับทางรัฐบาล กลับเข้าไปเป็นหัวหน้าทีมผลิตรายการโทรทัศน์ของฝ่าย “โหวตเยส”
ในระหว่างการทำงานที่บริษัท ทั้งสองจึงพูดจากัดกัน (และมีการแสดงท่าทีกึ่งข่มขู่นิดๆ จากฝ่ายเจ้านาย)
เรื่องราวเลยเถิดไปถึงขั้นที่เจ้านายแอบนำข้อมูลของทีมทำแคมเปญ “โหวตโน” ซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนๆ ของพระเอก ไปแจ้งให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแลสื่อได้รับทราบ
กระทั่งนำไปสู่การส่งเจ้าหน้าที่ไปคุกคามคนทำรายการโทรทัศน์ฝ่าย “โหวตโน”
อย่างไรก็ดี พอภรรยาเก่าของพระเอก ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกจับกุมตัว กลับเป็นหัวหน้าของพระเอก ที่เป็นฝ่ายไปวิ่งเต้นช่วยเหลือเธอออกมาจากสถานีตำรวจ
และสุดท้าย พอการลงประชามติได้ผลลัพธ์ออกมา พระเอกกับหัวหน้าก็หวนกลับมาทำงานร่วมกันดังเดิม ทั้งๆ ที่ฝ่ายหนึ่งอยู่ข้างผู้ชนะ แต่ฝ่ายหนึ่งอยู่ข้างผู้แพ้
“No” ชวนให้ผมขบคิดต่อไปได้หลายประเด็น
ข้อแรก ถ้าการต่อสู้ทางการเมืองมักวางอยู่บนฐานสำคัญ 2 ประการ ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือ “การใช้ความรุนแรง” และ “การใช้จินตนาการหรือความคิดสร้างสรรค์”
โดย “รัฐ” มักถูกมองว่าเป็นฝ่าย “ผูกขาดการใช้ความรุนแรง” ขณะที่ “กลุ่มการเมืองที่ต่อต้านรัฐ” มักถูกเชื่อว่าเป็นฝ่ายต่อสู้กับความรุนแรง ผ่านการใช้ “จินตนาการ/ความคิดสร้างสรรค์”
(ทว่า “ความเป็นจริง” กับสมมุติฐานดังกล่าว ก็ไม่ลงรอยกันเสมอไป เช่น รัฐที่ล้มเหลวคงมิอาจใช้ความรุนแรงใดๆ ได้ ขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐบางกลุ่ม ก็อาจใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือทางการเมืองของตนได้เช่นกัน)
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระเอกของ “No” กับระบอบปิโนเชต์ ก็วางอยู่บนพื้นฐานความแตกต่างตรงจุดนี้
ด้านหนึ่ง หนังฉายภาพให้เห็นลักษณะนิสัยแบบเด็กๆ ของพระเอก (ซึ่งมีลูกแล้ว) อาทิ พฤติกรรมการชอบเล่นรถไฟจำลอง (คล้ายกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) หรือการชอบเล่นสเก็ตบอร์ด
ลักษณะนิสัยขี้เล่นเช่นนี้ถูกนำไปเทียบเคียงกับการใช้จินตนาการความคิดสร้างสรรค์ทางการเมือง เมื่อพระเอกโดนดึงตัวให้เข้าไปร่วมเล่น “สงครามภาพแทน” ในการเมืองระดับชาติ
ในอีกด้าน รัฐก็เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงเล่นงานกลุ่มผู้ชุมนุมสนับสนุนแคมเปญ “โหวตโน” หรือส่งเจ้าหน้าที่ไปคุกคามพระเอกและเพื่อนๆ
ถ้าสู้กันบนฐานของ “การใช้ความรุนแรง” ฝ่ายพระเอกย่อมไม่มีทางจะต่อสู้กับอำนาจรัฐได้ เช่น เมื่อภรรยาเก่าของพระเอก ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองโดนตำรวจทำร้ายร่างกาย เขาก็ช่วยเหลือเธอไม่ได้
เพราะเพียงแค่โดนตำรวจตัวโตตุ๊ยท้องเข้าครั้งเดียว พระเอกของเราก็ร่วงลงไปกองกับพื้นอย่างหมดสภาพแล้ว
ดังนั้น วิธีการเดียวที่พระเอกและฝ่ายประชาธิปไตยจะตั๊นกับรัฐได้อย่างสูสี ก็คือ การพยายามพลิกเกมให้การต่อสู้ทางทางการเมืองย้ายมาสู้กันบนฐานของการใช้ “จินตนาการ/ความคิดสร้างสรรค์” ซึ่งนำไปสู่การลงคะแนนเสียงในคูหาเลือกตั้ง
ข้อต่อมา ถ้าเปรียบการต่อสู้ทางการเมืองของมนุษยชาติ เป็นละครเวทีเรื่องแล้วเรื่องเล่า กลุ่มคนที่เรามักจดจำได้ ก็คือ เหล่าตัวแสดงทางการเมืองซึ่งถูกสปอตไลท์ฉายส่องบนเวที
แต่กลุ่มคนที่เรามักหลงลืมไป ก็ได้แก่ กลุ่มคนที่เป็นฝ่ายลงมือ ลงแรง ลงความคิด เพื่อเตรียมการก่อสร้างและคอยค้ำจุนเวทีทางการเมืองต่างๆ เอาไว้
เนื่องจากกระบวนการทางการเมืองโดยปกติ (หรือแม้กระทั่งตัวกลุ่มคนเบื้องหลังเหล่านั้นเอง) มักจะทำหน้าที่กลืนกลายย่อยสลายตัวตนของบรรดาผู้คนตรงด้านล่าง/ด้านหลังเวที ให้จางหายไปจากละครการเมือง
พระเอกของ “No” ก็เป็นหนึ่งในคนที่ลงมือ ลงแรง ลงความคิด เพื่อก่อสร้างและค้ำจุนเวทีทางการเมืองอยู่ ณ เบื้องหลัง และเมื่อผลการลงประชามติถูกประกาศออกมา คนสร้างเวทีอย่างเขาก็เป็นฝ่ายหายตัวไปจริงๆ
เพราะในขณะที่นักการเมือง/นักกิจกรรมในฝ่ายประชาธิปไตย เริ่มจะต้องหันไปหาสปอตไลท์ของสื่อมวลชน ซึ่งเปลี่ยนทิศทางมายังพวกตน
พระเอกกลับค่อยๆ ถอยตัวเองออกมาจากแสงไฟวูบวาบเหล่านั้น แล้วเดินปนเปไปกับฝูงชนที่ออกมาโห่ร้องแสดงความยินดีกับชัยชนะทางการเมืองอันน่าทึ่ง ก่อนจะกลับไปใช้ชีวิตทำงานและเล่นสนุกกับจินตนาการของตัวเองตามเดิม
บริบทของการเมืองชิลีในภาพยนตร์เรื่อง “No” อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยในยุคปัจจุบันอย่างหมดจด
แต่เมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ผมกลับนึกถึงบางเรื่องราวในสังคมการเมืองไทย
ในหนังชิลีเรื่องนี้ คนรู้จักกันแต่ยืนอยู่คนละฟากทางการเมือง อย่างพระเอกและเจ้านาย ยังสามารถกลับมาเป็น “เพื่อน” ร่วมงานกันได้
อย่างไรก็ดี ในกรณีของสังคมไทยร่วมสมัย เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ความขัดแย้งระหว่างคนไทย ไม่ใช่เรื่องของกลุ่มคนที่สนับสนุนนักการเมืองคนละฝ่าย/พรรค
หากเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนสองฝ่าย ที่มีความคิดทางการเมืองในระดับฐานรากหรืออุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
การแยกขาดระหว่างบทบาทและจุดยืนทางการเมือง กับการดำเนินวิถีชีวิตประจำวัน จึงทำได้ไม่ง่ายนัก
แต่ประเด็นซึ่งอาจเป็นบทเรียนของสังคมไทย ก็คือ ผลการลงประชามติที่ชิลีครั้งนั้น ออกมาในสัดส่วนที่ฝ่ายชนะได้คะแนนเสียง 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ฝ่ายแพ้ได้คะแนน 40 กว่าเปอร์เซ็นต์
สำหรับคนที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์การเมืองชิลีอย่างผม จึงรู้สึกสนใจว่า หลังจากนั้น กลุ่มคนซึ่งมีความเชื่อทางการเมืองผิดแผกจากกันสองฝ่าย ที่ไม่ได้มีจำนวนแตกต่างกันมากนัก เขาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไร?
ที่น่านำมาเทียบเคียงกับเมืองไทยอีกประเด็นหนึ่ง ก็ได้แก่ แคมเปญ “โหวตโน” ของฝ่ายพระเอกในหนังเรื่อง “No” สามารถดึงนักร้องศิลปินมาร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศได้เป็นจำนวนมาก
พอฝ่ายรัฐบาล ซึ่งทำแคมเปญ “โหวตเยส” จะเลียนแบบสร้างโฆษณาที่มองโลกในแง่ดีมีอารมณ์ขันบ้าง จึงประสบปัญหาว่าไม่สามารถควานหาศิลปินเก่งๆ มาร่วมงานด้วยได้
นี่ดูเหมือนจะตรงข้ามกับกรณีของไทย ที่ดาราศิลปินส่วนใหญ่ยังเลือกข้าง “อำนาจเก่า” ซึ่งพยายามตรึงประเทศเอาไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลง (แม้ภาพลักษณ์ที่ปรากฏออกมาจะเป็นการต่อต้าน “รัฐบาล” ก็ตาม)
ท้ายสุด ภาพยนตร์ชิลีเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ในโลกยุคปัจจุบัน วิถีทางที่จะเปลี่ยนแปลง “ระบอบการเมือง” ใดๆ ได้อย่างมีสัมฤทธิผลและสันติมากที่สุด ก็คือ วิถีทางแห่งการลงคะแนนเสียงผ่านคูหาเลือกตั้งตามกติกาของระบอบประชาธิปไตย และการต่อสู้กันผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์/จินตนาการ
มิใช่การขัดขวางความเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้กำลังและความรุนแรง รวมถึงการเล่นการเมืองนอกกติกาประชาธิปไตย
1 Comment