October Sonata รักที่รอคอย: การเมืองของลูกกำพร้าและปัจเจกบุคคล

(ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารไบโอสโคป เมื่อช่วงปี 2552)

october sonata
การเมืองของลูกกำพร้า

“เมื่อสายใยในชาติขาดสะบั้น / สิ้นสายครรภ์มาตุคามไร้ความหมาย / ก่อนกำหนดกฎกำเนิดเกิดเพื่อตาย / เพียงลิ่มเลือดเละร้ายคล้ายเศษคน / ร่างทารกอัปลักษณ์ทะลักหลุด / ซากมนุษย์ที่ชีวิตถูกปลิดปล้น / ประจานเหตุประเทศนี้เกิดวิกล /เกลื่อนถนนก่นสังหาร…ลูกหลานใคร?”

“หากทารกหกตุลายังเหลือรอด / เด็กที่คลอดกลางลานประหารหมู่ / กระสุนกราดสาดสั่งเสียงพรั่งพรู / สอนให้รู้หลังตระหนกหกตุลา / เป็นวันเกิดที่มากับการดับสิ้น / ต้องขาดวิ่นสูญวัยไร้เดียงสา /น้ำตาหยาดหมาดแล้วในแก้วตา / เมื่อแผ่นดินมารดากระด้างเกิน / เติบโตและแตกต่างอย่างแกร่งกร้าว / ปวดร้าวคราวปะทะระหกระเหิน / ดาวศรัทธาที่ส่องสร้างเส้นทางเดิน / ร่วงลับเนิน…ฝังสหายอีกหลายคน”

นี่คือบทกวีชื่อ “เกิดวันที่ 6 ตุลาคม 2519” ของ จิระนันท์ พิตรปรีชา ที่เขียนขึ้นในวาระครบรอบ 27 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เมื่อปี พ.ศ.2546 ซึ่งเปรียบเทียบคนรุ่น 6 ตุลาฯ ว่าเป็นดัง “ลูก” ที่ถูก “แม่” (มาตุคาม-แผ่นดินไทย) ตัดขาดและปฏิเสธผ่านความโหดร้ายรุนแรงในการสังหารหมู่ครั้งนั้นได้อย่างคมคาย

หลังจากได้ดู “October Sonata รักที่รอคอย” ของ สมเกียรติ์ วิทุรานิช แล้ว ผมนึกถึงบทกวีของจิระนันท์ เนื่องจากทั้ง “รวี” และ “แสงจันทร์” ตัวละครนำของหนังเรื่องนี้ล้วนแล้วแต่เป็นลูกกำพร้าทั้งคู่

รวีเป็นลูกชายของครอบครัวชาวนา ซึ่งพ่อนำเขาไปทิ้งไว้ที่วัด ขณะที่เรื่องราวของแม่ก็ไม่ถูกเขากล่าวอ้างถึง

แสงจันทร์น่าจะเป็นลูกสาวของครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่มีฐานะค่อนข้างยากจน เธอไม่เคยเห็นหน้าพ่อ ส่วนแม่ก็นำเธอไปทิ้งไว้กับป้า ซึ่งมักกระทำทารุณต่อเธอเสมอ

รวีกับแสงจันทร์ต่างพยายามขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคมของตนเอง ด้วยความเชื่อและความใฝ่ฝันที่ว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมามีความเท่าเทียมกัน

รวีมีโอกาสเรียนหนังสือ ต่อมาเขาได้รับทุนไปศึกษาต่อในต่างประเทศ แล้วกลับมาเป็นอาจารย์และนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้ประสบชะตากรรมแห่งความพ่ายแพ้ร่วมกันกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

แม้แสงจันทร์จะเติบโตมาโดยไม่ได้เรียนหนังสือ แต่การได้พบปะพูดคุยกับรวีเพียงคืนเดียว (หรือ 3 คืนในรอบ 14 ปี) ก็ส่งผลให้ชีวิตของเธอเดินหน้าไปอย่างมิอาจหยุดยั้ง เธอหนีจากการทารุณของป้า ไปเป็นสาวโรงงานเย็บผ้าที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือภาคค่ำ จากนั้นเธอยังได้เรียนรู้วิชาตัดเสื้อจากคุณนายผู้ดีเก่า แล้วถูกไล่ออกเพราะหาญกล้าเรียกร้องค่าแรง แสงจันทร์กลายเป็นเมียเถ้าแก่ลิ้ม ก่อนจะเป็นนักเขียน (ปัญญาชน) ที่เขียนวรรณกรรมเพื่อชนชั้นกรรมาชีพในที่สุด

ในค่ำคืนแรกที่เขาและเธอได้พบกัน รวีนำพาแสงจันทร์ไปรู้จักกับวรรณกรรมเรื่อง “สงครามชีวิต” ผลงานของนักเขียนปัญญาชนฝ่ายซ้ายรุ่นเก่าคนสำคัญอย่างศรีบูรพา ซึ่งเป็นดังแสงหิ่งห้อยที่ค่อยๆ ผลักดันให้ผู้หญิงไม่รู้หนังสือตอนต้นเรื่องกลายเป็นนักอ่าน (ต่อมาหนังแสดงให้เห็นอีกว่า อย่างน้อยที่สุดเธอยังได้อ่านวรรณกรรมฝ่ายซ้ายชิ้นสำคัญอีกเล่มหนึ่ง ได้แก่ “ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์) และเขียนหนังสือด้วยแนวทางดังกล่าวในท้ายที่สุด

แต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และการเข้าป่าของนักศึกษาปัญญาชนหลังจากนั้น กลับส่งผลให้รวีและแสงจันทร์ต้องพลัดพรากจากกันอย่างปวดร้าว อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์เช่นนี้ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้หญิงชื่อแสงจันทร์ไปอย่างมหาศาล จากผู้หญิงคนหนึ่งที่หลงใหลแค่เพียงพระเอกหนังอย่างมิตร ชัยบัญชา มาสู่การเป็นนักเขียนในแนวทางเพื่อชีวิต

นี่คือความทรงจำ ความเชื่อ อารมณ์ความรู้สึก และวิถีชีวิตรูปแบบหนึ่ง ของคนกลุ่มหนึ่งในรุ่นอายุหนึ่ง ที่นอกจากจะถูกทอดทิ้งโดยพ่อแม่บังเกิดเกล้าแล้ว พวกเขาและเธอก็ยังเลือกเดินบนหนทางซึ่งต้องตัดขาดตนเองออกจากปิตุภูมิ/มาตุภูมิ/พ่อแม่แห่งชาติไทยด้วย

ชีวิตของรวีและแสงจันทร์แตกต่างจาก “ลิ้ม/สมชาย” ซึ่งเป็นคนจีนที่ติดตามพ่อมาตั้งรกรากในเมืองไทย เพราะไม่ได้เกิดในประเทศไทยลิ้มจึงพูดภาษาไทยไม่ชัด แต่เขากลับสามารถกลืนกลายเข้ากับ “ความเป็นไทย” (รัฐพ่อๆ แบบรัฐไทย หรือ มาตุภูมิไทย) ได้มากกว่ารวีกับแสงจันทร์อย่างมีนัยยะสำคัญ

ลิ้มเติบโตมากับพ่อและแม่ (แม้ว่าภายหลังพ่อจะทิ้งแม่ของเขาเอาไว้ที่เมืองจีน และมาได้เมียใหม่ที่เมืองไทยก็ตาม) ขณะที่รวีและแสงจันทร์เป็นลูกกำพร้า ซึ่งเติบโตขึ้นมาโดยไร้พ่อแม่คอยเลี้ยงดู

ลิ้มใฝ่ฝันถึงการมีครอบครัวซึ่งประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูก ขณะที่รวีกับแสงจันทร์ไม่เคยแสดงเจตจำนงอย่างเด่นชัดนักว่าพวกตนกำลังใฝ่ฝันถึงการมีครอบครัวในอุดมคติแบบดังกล่าว

มิหนำซ้ำลิ้มยังขยันทำมาหากินจนตั้งตัวเป็นเถ้าแก่ได้สำเร็จ สอดคล้องกับป้ายข้อความ “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ตรงข้ามร้านค้าของเขา ซึ่งเป็นคำขวัญของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้มีส่วนสำคัญต่อการก่อร่างสร้างให้สังคมการเมืองไทยมีลักษณะเป็น “สังคมแบบพ่อปกครองลูก” มาจนถึงปัจจุบันนี้

ลิ้มจึงเป็นคนจีนต่างด้าวที่สามารถปรับตัวให้กลายเป็นลูกที่ดีของรัฐไทย ทั้งยังอาจช่วยผลิตซ้ำครอบครัวแบบพ่อ แม่ ลูก ในฐานะส่วนขยาย (ทางอุดมการณ์) ต่อเนื่องไปจากครอบครัวใหญ่อย่างรัฐอีกด้วย เขาไม่เหมือนรวีกับแสงจันทร์ที่เลือกทำตัวเป็นลูกอกตัญญู/ขบถของรัฐไทย

ในช่วงปลายทศวรรษ 2520 อันเป็นจุดจบของ October Sonata ดูเหมือนว่าลิ้มจะเป็นตัวละครเพียงคนเดียวที่สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมไทยได้อย่างมั่นคงมีหลักมีฐาน

กลับเป็นผู้พ่ายแพ้ออกมาจากป่าอย่างรวีเสียอีกที่ต้องตกอยู่ภายใต้ความอนุเคราะห์ของลิ้ม ลิ้มหรือคุณสมชายกลายเป็นคนส่งศพรวีไปสู่สุคติ (ทั้งที่รวีคือศัตรูความรักของเขา) เขาเป็นผู้นำงานเขียนของแสงจันทร์ที่รวีตรวจแก้ไขเรียบร้อยแล้วก่อนจะเสียชีวิตไปส่งให้สำนักพิมพ์พิจารณา

นอกจากนี้ ลิ้มยังซื้อและพยายามคงสภาพของโรงแรมบังกะโลริมชายหาดที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่แห่งความทรงจำ/อุดมคติของรวีและแสงจันทร์เอาไว้

ในตอนท้าย คนดี/ลูกที่ดีของรัฐอย่างลิ้มจึงมีสถานะเป็นดัง (คุณพ่อน้อยๆ) ผู้คอยอุปถัมภ์ค้ำจุนลูกอกตัญญูสองคนของรัฐไทยคือรวีและแสงจันทร์ ที่ชีวิตของเขาและเธอคล้ายจะแตกสลายไปตามความรักอันพลัดพราก รวมทั้งความตายแห่งชีวิตซึ่งไม่อาจหวนคืน

แต่เรื่องราวในหนังเรื่องนี้ก็คงจะไม่แตกต่างกันกับสภาพสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย ที่อะไรต่อมิอะไรไม่ได้ดำเนินไปอย่างง่ายดายตายตัวเท่าใดนัก และผู้ชนะก็ใช่จะมีชัยอยู่ตลอดเวลา เพราะแม้ร่างกายของรวีจะตายไปในทศวรรษ 2520 แต่ไฟฝันแห่งอุดมการณ์ (ฝ่ายซ้าย?) ก็ถูกจุดให้ติดอยู่ในใจของแสงจันทร์ไปเรียบร้อยแล้ว

แสงจันทร์เปลี่ยนไปตลอดกาล ด้วยอิทธิพลทางความคิดของรวีและวรรณกรรมเพื่อชีวิตยุคบุกเบิก/คลาสสิก กระทั่งเธอกลายเป็นผู้ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของมนุษย์ผ่านการเขียนหนังสือ

การต่อสู้ทางการเมืองไทยจึงไม่ได้จบลงหลังจากเหตุการณ์14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 หรือการออกนโยบาย 66/2523 เพราะเมื่อหลักการแห่งความเท่าเทียมกันของมนุษย์ยังมิได้ลงหลักปักฐานหรือมีที่ทางในสังคม อุดมคติและความใฝ่ฝันของคนกลุ่มหนึ่งก็ยังคงต้องถูกผลักดัน/สืบทอดไปสู่คนอื่นๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังกรณีความรัก/ความสัมพันธ์/การถ่ายทอดอุดมการณ์ระหว่างรวีกับแสงจันทร์นั่นเอง

ทว่าคำถามน่าสนใจก็คือ อะไรกันล่ะที่ทำให้ผู้เหมือนจะตกเป็นฝ่ายแพ้พ่าย เช่น แสงจันทร์ ยังคงเลือกจะต่อสู้และยืนหยัดกับหลักการความคิดซึ่งตนเองเชื่อถืออย่างต่อเนื่องสืบไปโดยไม่ยอมแพ้

การเมืองของปัจเจกบุคคล

ความย้อนแย้งบางประการที่ดำรงอยู่อย่างมีนัยยะสำคัญน่าสนใจใน “October Sonata รักที่รอคอย” ก็คือ ลักษณะกำกวมคลุมเครือของตัวละครบางคนในหนัง

เริ่มตั้งแต่ “คุณนายราตรี” ผู้ดีเก่าจากตระกูลสูงส่ง ที่ลิ้มพาแสงจันทร์ไปฝากฝังเพื่อจะได้ฝึกฝนวิชาออกแบบ-ตัดเสื้อกับเธอ แต่สุดท้ายเมื่อแสงจันทร์ในฐานะลูกจ้างตัดสินใจเรียกร้องหาความยุติธรรมในนามของค่าแรงจากคุณนาย คุณนายราตรีก็พูดจาดูถูกเหยียดหยามชาติกำเนิดของแสงจันทร์และตะเพิดหญิงสาวออกจากบ้านในที่สุด

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในตู้หนังสือประจำบ้านของคุณนายผู้ไม่ยอมจ่ายค่าแรงแถมยังดูถูกชาติตระกูลของลูกจ้างคนนี้ กลับมีวรรณกรรมฝ่ายซ้ายเล่มสำคัญ เช่น “แม่” ของ แม็กซิม กอร์กี และ “ปีศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ดำรงอยู่

นอกจากการหาโอกาสไปอ่านหนังสือในห้องสมุดสาธารณะแล้ว แสงจันทร์ก็ฝึกฝนเคี่ยวกรำความคิดอ่านของตนเองให้เชื่อมั่นในเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์มากยิ่งขึ้น กระทั่งไปเรียกร้องขอความยุติธรรมจากคุณนายราตรี ด้วยการอ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิตในตู้หนังสือของบ้านคุณนายนี่เอง

สมเกียรติ์ วิทุรานิช ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ชี้แจงภายหลังว่า แท้จริงแล้วใน October Sonata จะมีตัวละครอีกคนหนึ่งที่ถูกตัดออกไป นั่นคือ ลูกชายของคุณนายราตรี ผู้เป็นนักศึกษาหัวก้าวหน้าในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และตัวละครคนนี้นี่แหละที่เป็นเจ้าของ/ผู้อ่านวรรณกรรมฝ่ายซ้ายตัวจริงในตู้หนังสือประจำบ้านคุณนาย

แต่ถึงแม้จะไร้ซึ่งตัวละครลูกชายคุณนาย เราก็อาจวิเคราะห์ได้ว่าคุณนายราตรีนั้นเป็นมนุษย์หรือปัจเจกบุคคลผู้มีความซับซ้อนในตัวเอง ด้านหนึ่ง เธออาจมีความคิดแบบศักดินาขวาจัดจนดูถูกเหยียดหยามคนอื่นว่ามีความต้อยต่ำกว่าทางชาติตระกูล แต่ในอีกด้าน ก็เป็นไปได้ว่าเธอเป็นผู้บริโภค/ซื้อหาหนังสือวรรณกรรมฝ่ายซ้ายชื่อดังในฐานะสิ่งของมีค่าร่วมสมัยบางอย่าง โดยมิต้องซึมซับรับเอาความคิดจากวรรณกรรมเหล่านั้นเข้าสู่โลกทัศน์และชีวทัศน์ของตนเองแต่อย่างใด

หรือหากมีตัวละครลูกชายคุณนายราตรีเพิ่มเติมเข้ามาในหนังจริงๆ เราก็อาจได้เห็นถึงศักยภาพของปัจเจกบุคคลที่พยายามขับเคลื่อนชีวิตตนเองให้หลุดพ้นออกจากโครงสร้างทางความคิดความเชื่อที่ครอบงำเขาไว้ในนามของ “สถาบันครอบครัว” อย่างน่าสนใจ (กระทั่งเขาอาจมีชะตากรรมเป็น “ลูกกำพร้า” เฉกเช่นรวีและแสงจันทร์)

ทั้งหมดนี้คือพลังและพลวัตที่ไม่เคยหยุดนิ่งตายตัวของปัจเจกบุคคล

เช่นเดียวกันกับคุณนายราตรีหรือลูกชายคุณนาย ตัวละครนำของ October Sonata อย่างแสงจันทร์ก็เป็นปัจเจกบุคคล

และปัจเจกบุคคลอย่างแสงจันทร์ก็มีท่าทีบางอย่างซับซ้อนไม่ต่างจากคุณนายราตรี เพราะครั้งหนึ่งหญิงสาวผู้ซึมซับรับเอาประเด็นเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์มาจากรวีและวรรณกรรมเพื่อชีวิต ก็เคยด่าพ่อของลิ้มว่า “เป็นเจ๊กหอบเสื่อผืนหมอนใบ ผิดกับนักเรียนนอกที่มีการศึกษาอย่างรวี”

หากพิจารณาให้ดี นอกจากการพบกับรวีแล้ว การเขียนหนังสือ/เคลื่อนไหวทางการเมืองของแสงจันทร์ก็ล้วนแล้วแต่ดำเนินไปในลักษณะของปัจเจกบุคคลตลอดทั้งเรื่อง เธอเขียนหนังสือคนเดียว ใฝ่ฝันถึงชายคนรักผู้เป็นแรงบันดาลใจอยู่คนเดียว ทว่าเธอกลับไม่เคยออกไปเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการนักศึกษา หรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (ที่ด้านหนึ่งก็เชื่อมโยงกับความเป็นลูกจีนซึ่งแสงจันทร์ –เคยพลั้งเผลอหรือเจตนา?- ดูถูก)

ความคิดทางสังคมการเมืองของแสงจันทร์จึงค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในระดับของ “ปัจเจกบุคคล” ผ่านความรักความสัมพันธ์ที่เธอมีต่อปัจเจกบุคคลอีกคนหนึ่ง คือ รวี ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงในแง่ของการเข้าไปมีอัตลักษณ์ร่วมกับกลุ่มฝูงชนขนาดใหญ่ (ไม่ว่าจะเป็นขบวนการนักศึกษา การประท้วงบนท้องถนน หรือพรรคคอมมิวนิสต์) ซึ่งอาจมีส่วนกดทับให้สถานะปัจเจกบุคคลของผู้ร่วมขบวนการค่อยๆ เลือนรางหายไปแต่อย่างใด

สุดท้าย ท่าทีเอียงซ้ายทางการเมืองหรือการเรียกร้องหาความเท่าเทียมกันของมนุษย์โดยแสงจันทร์ จึงเกิดขึ้นมาจากความรักที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งมีให้ผู้ชายอีกคนหนึ่งเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ มันไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรเลย หากแสงจันทร์จะพยายามต่อสู้ในทางการเมืองเพื่อคนที่เธอรัก ไม่ใช่เพื่อชาติ เพื่อประเทศ หรือเพื่อการเปลี่ยนแปลงอภิวัฒน์สังคม ตราบใดที่ความรักของปัจเจกบุคคลดังกล่าวยังมีพลังผลักดันให้คนเล็กคนน้อยอย่างแสงจันทร์ต่อสู้และเชื่อมั่นในหลักการเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์ต่อไป

มีเพื่อนนักดูหนังคนหนึ่งของผมเคยตั้งคำถามถึงฉากตัวละครชาวบ้านริมชายหาดที่ จ.ชลบุรี ใน October Sonata พากันเผาหนังสือเด็กของรวีและเพื่อนนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่า ทำไมหนังจึงไม่ยอมพูดถึงบทบาทของรัฐไทยในการสร้างภาพ “ปีศาจร้ายคอมมิวนิสต์” ซึ่งกล่อมเกลาอุดมการณ์/จิตสำนึกอันผิดพลาดลงไปในหัวของประชาชน แต่กลับวาดภาพให้ตัวละครชาวบ้านกลายเป็นคนร้ายเผาหนังสือเพียงเท่านั้น

หลังจากเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง คำตอบที่ผมพอจะนึกออกสำหรับคำถามดังกล่าวก็คือ เป็นไปได้ไหมว่าเพราะหนังเรื่องนี้พยายามให้น้ำหนักแก่ปัจเจกบุคคล (ที่เป็นสามัญชนคนเดินดินทั่วไป) ในฐานะผู้กระทำการในทางการเมือง ดังนั้น หนังจึงนำเสนอให้ปัจเจกบุคคลที่เป็นชาวบ้านหลายคนมารวมตัวกันก่อปฏิบัติการเผาหนังสือ มากกว่าจะนำเสนอถึงอำนาจอันยิ่งใหญ่ไพศาลของโครงสร้างรัฐไทย เนื่องจากในความเป็นจริง มนุษย์ทุกคนก็ล้วนแล้วแต่กระทำการทางการเมืองโดยใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลของตนเองด้วยส่วนหนึ่ง มิใช่เป็นเพราะพวกเขาตกอยู่ภายใต้อำนาจหรืออิทธิพลของโครงสร้างรัฐโดยสิ้นเชิงแต่เพียงอย่างเดียว

ในฐานะปัจเจกบุคคล ชาวบ้านเหล่านั้นก็คงมีเหตุผลสลับซับซ้อนบางอย่างภายในใจ (ที่ดำเนินไปเพื่อความอยู่รอด) ของตนเองซึ่งทำให้พวกเขาตัดสินใจเผาหนังสือของรวีและเพื่อน ไม่ต่างอะไรกับความเป็นปัจเจกบุคคลอันซับซ้อนของแสงจันทร์หรือคุณนายราตรี ซึ่งส่งผลให้พวกเธอก่อพฤติกรรมด้านลบบางประการออกมาในบางวาระ

แต่ก็ด้วยฐานะของปัจเจกบุคคลผู้มีความรักมอบให้แก่ชายหนุ่มชื่อรวีเช่นกัน ที่เป็นพลังผลักหนุนให้แสงจันทร์ยังเลือกต่อสู้ในทางการเมืองเพื่อความเท่าเทียมของเพื่อนมนุษย์ต่อไป

ความรักของปัจเจกบุคคล (ผู้มีทั้งความถูก ผิด ดี เลว) นี่เอง ที่ทำให้แสงจันทร์ยังคงเลือกจะต่อสู้และยืนหยัดกับหลักการความคิดซึ่งตนเองยึดมั่นเชื่อถือในฐานะพลังกระแสรองของสังคมอย่างต่อเนื่องสืบไปโดยไม่เคยคิดหยุดยั้งยอมแพ้