แสงกระสือ: “หมู่บ้าน” และ “ตำนานปรัมปรา” ในหนังไทยยุคใหม่

หนึ่ง

แสงกระสือ ๅ

ในบางแง่ “แสงกระสือ” ไม่ได้ถูกนำเสนอผ่านภาพลักษณ์ “ใหม่หมดจด” แม้จะมีบางองค์ประกอบของงานโปรดักชั่นที่แลดู “ใหม่”

ตรงกันข้าม ท้องเรื่องของหนังนั้นย้อนไปถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ก่อนที่รูปลักษณ์ของ “ผีกระสือ” ซึ่งพวกเราคุ้นเคยจะก่อกำเนิดเสียอีก)

ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ก็แสดงความเคารพต่อหนัง/ละคร “ผีกระสือ” รุ่นเก่าๆ อย่างไม่ปิดบัง ตั้งแต่การอ้างอิงถึงลักษณะเฉพาะบางอย่างของผีประเภทนี้ ไปจนถึงการปรากฏตัวของนักแสดงอาวุโส “น้ำเงิน บุญหนัก” ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเคียงคู่กับเรื่องราวของ “กระสือ” ในประวัติศาสตร์โทรทัศน์ไทย

สอง

KrasueValentine_400

ถ้าถามว่ามีอะไร “ใหม่” บ้างหรือไม่ในเนื้อหาของ “แสงกระสือ”?

ก็คงต้องย้อนไปอ่านงานเขียนในหนังสือ Thai Cinema: The Complete Guide ของ “เบนจามิน เบามันน์” นักวิชาการชาวเยอรมัน

เบามันน์ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าทั้ง “กระสือสาว” (2516) ของ “ส. เนาวราช” หรือ “สนิท โกศะรถ” อันเป็นต้นธารของ “ผีกระสือ” ในวงการภาพเคลื่อนไหวไทย และ “กระสือวาเลนไทน์” (2549) โดย “ยุทธเลิศ สิปปภาค” ซึ่งเป็น “หนังกระสือ” เรื่องท้ายๆ ก่อนการมาถึงของ “แสงกระสือ” และ “กระสือสยาม” ในปี 2562 นั้น ล้วนดำเนินเรื่องราวไปภายใต้ “กฎแห่งกรรม”

น่าสนใจว่า “แสงกระสือ” พยายามก้าวข้ามจากกรอบโครงของ “อภิมหาบรรยาย” ว่าด้วย “กรรม” แม้ท้ายสุดจะยังคงต้องพึ่งพิง “อภิมหาบรรยาย” ชนิดอื่นๆ

ดังจะกล่าวถึงโดยละเอียดต่อไป

สาม

นาคี 1

โดยส่วนตัวมีความเห็นพ้องกับ ฟิล์มซิก (แม้จะด้วยชุดเหตุผล-คำอธิบายที่ต่างกันพอสมควร) ว่า “แสงกระสือ” (มีนาคม 2562) โดย “สิทธิศิริ มงคลศิริ” (เขียนบทโดย “ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” และสร้างสรรค์โดย “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง”) ดูจะมีสถานะเป็น “คู่สนทนา” กับ “นาคี 2” (ตุลาคม 2561) โดย “พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง”

สำหรับผม จุดร่วมแรกของภาพยนตร์ไทยคู่นี้ คือ การมีแนวโน้มที่จะเปรียบเทียบ “ความขัดแย้งแตกแยก” ของสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย เข้ากับ “หมู่บ้านชนบท” แห่งหนึ่ง

ทว่าใน “ความเหมือน” ก็มี “ความต่าง” ปรากฏอยู่

เพราะขณะที่ “หมู่บ้าน” ใน “นาคี 2” นำเสนอภาพ “ชาวบ้าน (อีสาน) ส่วนใหญ่” ที่หลงผิดคิดร้ายต่อ “สัตว์ศักดิ์สิทธิ์” ในเทพปกรณัม

“ชาวบ้านส่วนมาก” ใน “หมู่บ้าน” แถบภาคกลางอันไม่ห่างไกลจาก “พระนคร” ของ “แสงกระสือ” ก็มีอารมณ์บ้าคลั่งจ้องจองล้างจองผลาญ “สัตว์ประหลาด” หรือ “ภูตผีปีศาจ” ชั้นต่ำ เช่น “กระสือ”

ด้วยเหตุนี้ “ชาวบ้าน” ในหนังสองเรื่อง จึงอาจเป็น “ภาพแทน” ของ “มวลชนการเมือง” คนละกลุ่ม ที่ถูกวาดเขียนแต่งแต้มโดย “ผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์” ซึ่งมีมุมมองคนละฟาก

สี่

แสงกระสือ 2

จุดร่วมต่อมา คือ ทั้ง “นาค” ใน “นาคี 2” และ “กระสือ” ใน “แสงกระสือ” ล้วนมีอีกร่างเป็นมนุษย์ธรรมดา พวกเธอต่างมีหัวจิตหัวใจ มีรัก โลภ โกรธ หลง มีความเจ็บปวด มีอดีต และมีความใฝ่ฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า

ดุจเดียวกันกับพวกมนุษย์ หรือ “อมนุษย์” อื่นๆ ซึ่งเกลียดชัง/หลงรักพวกเธอ

ห้า

แสงกระสือ 6

ที่สำคัญสุด “แสงกระสือ” และ “นาคี 2” ต่างเลือกเดินไปบนเส้นทางหรือโครงเรื่องอันคล้ายคลึงกันจนน่าประหลาดใจ

เนื่องจากหนังสองเรื่องนี้ได้ค่อยๆ ยกระดับความขัดแย้งระหว่างสามัญชนใน “หมู่บ้าน” ให้ข้ามผ่านไปสู่ปฐมบทความขัดแย้งที่ยิ่งใหญ่ยั่งยืนใน “ตำนานปรัมปรา”

ดังนั้น แทนที่จะดึง “นิทานเปรียบเทียบ” ซึ่งเกิดขึ้น ณ “หมู่บ้านในจินตนาการ” ให้กลับคืนสู่ “โลกความจริง” ในบริบทของสังคมไทยยุคปัจจุบัน

สิทธิศิริและพงษ์พัฒน์กลับเลือกจะชักจูงหนังของพวกตนให้เลี้ยวลดคดเคี้ยวไปสู่ “นิทานเปรียบเทียบ” อีกเรื่องหนึ่ง

วิวาทะ อารมณ์โกรธเกลียด และความขัดแย้งใน “หมู่บ้าน” จากภาพยนตร์สองเรื่อง ได้ถูกคลี่คลาย/ขมวดปมด้วย “อภิมหาบรรยาย” เก่าแก่ เกี่ยวกับ “ครุฑ-นาค” และ “กระหัง-กระสือ”

(วิธีการหันเหเรื่องราวเช่นนี้ อาจส่งผลให้ “ครุฑ” “นาค” “กระหัง” “กระสือ” มีอีกเรือนร่างเป็นมนุษย์ พอๆ กับที่มนุษย์ก็ค่อยๆ แปรเปลี่ยนร่างกายของตนเองให้กลับกลายเป็นอื่น หรือ “อมนุษย์”)

ความสัมพันธ์ระหว่าง “ครุฑ-นาค” ใน “นาคี 2” เป็นเรื่องของการคลี่คลายความขัดแย้งแต่เก่าก่อนให้เจือจงลง จาก “ศัตรู” กลายเป็น “มิตร” หรือเป็นการคืนดีระหว่าง “ผู้อุปถัมภ์-ผู้รับการอุปถัมภ์” สวนทางกับสายสัมพันธ์ระหว่าง “กระหัง-กระสือ” ใน “แสงกระสือ” ที่ฝ่ายแรกยังคงไล่ล่าฝ่ายหลังอย่างไม่ลดละ แถมแพร่กระจายอารมณ์คลั่งแค้นไปสู่มนุษย์ทั้งหลายด้วย

พิจารณาในแง่มุมนี้ ตำนาน “กระหัง-กระสือ” จึงยังอิงกับตรรกะแบบหมาป่าไล่ล่าลูกแกะคล้าย “กฎแห่งกรรม” อยู่ไม่น้อย

หก

แสงกระสือ 3

ด้านหนึ่ง อุปลักษณ์ “หมู่บ้าน” ใน “นาคี 2” และ “แสงกระสือ” ก็เป็นภาพจำลองของภาวะอลหม่านในสังคมไทยร่วมสมัย

อีกด้าน “อภิมหาบรรยาย” หรือ “ตำนานปรัมปรา” ในหนัง ก็อาจทำหน้าที่ประหนึ่งแว่นขยาย/แว่นสามมิติ ซึ่งช่วยให้คนดูสามารถเพ่งพินิจสังคมของตนเองได้ชัดเจน-สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น

น่าตั้งคำถามว่า “ตำนานปรัมปรา” ได้กลายเป็น “ทางเลี่ยง/ทางออกหลัก” ของภาพยนตร์ที่ต้องการจะนำเสนอหรือวิพากษ์เรื่องราวความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยยุคปัจจุบันไปแล้วหรือไม่?

หรือ “อภิมหาบรรยาย” ดังกล่าวกำลังนำพาผู้ชมไปสัมผัสกับรายละเอียดบางประการที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าและแว่นตา “สัจนิยม”?

เจ็ด

นางเอกแสงกระสือ

เห็นด้วยกับหลายคนที่รู้สึกว่ารายละเอียดบางส่วนในเรื่องราวของ “แสงกระสือ” นั้นมีอาการตกๆ หล่นๆ จนคนดูอาจงุนงงสงสัยต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของตัวละคร

โดยส่วนตัว ผมยังงงๆ กับเหตุผลที่ “น้อย” จำเป็นต้องพากลุ่มล่ากระสือเดินทางเข้ามายังหมู่บ้าน (เขาอยากกลับบ้าน แต่ทำไมต้องพาคนเหล่านี้มาพร้อมกันด้วย?)

เช่นเดียวกับบทสนทนาและการลาจากในซีนสุดท้ายระหว่าง “น้อย” กับ “สาย” ที่ดูเบลอร์ๆ ห้วนๆ ชอบกล

อย่างไรก็ตาม ขอยอมรับว่าผมชื่นชอบ “ภัณฑิรา พิพิธยากร” นางเอกของหนังเรื่องนี้มากๆ ทั้งในแง่ฝีมือการแสดงและใบหน้าที่คมสวยขึ้นจอแบบสุดๆ

เธอถือเป็นหนึ่งในนักแสดงดาวรุ่งหญิงรุ่นใหม่ ซึ่งเทียบเคียงได้กับ “ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์” (โรงแรมต่างดาว) “วริศรา ยู” (App War: แอปชนแอป) “ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช” (มา ณ ที่นี้) และ “พลอย ศรนรินทร์” (อาปัติ, สยามสแควร์ และ สิงสู่ ฯลฯ)

1 Comment

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.