รำลึกถึง “ป๋อม บอยไทย” (2509-2562)

หนึ่ง

ในฐานะของคนที่เริ่มฟังเพลงอย่างจริงจัง ณ ช่วงปลายทศวรรษ 2530 ถึงต้นทศวรรษ 2540 ผมมักเห็นแย้งเสมอเวลาใครพยายามผูกโยงว่า “วงการเพลงอินดี้ไทย” ยุค 90 นั้น “เท่ากับ” ดนตรีแนว “อัลเทอร์เนทีฟร็อก”

แน่นอน วงการเพลงอินดี้ยุคนั้นก่อตัวขึ้นจากกระแสอัลเตอร์ฯ และศิลปินอินดี้จำนวนมากก็เป็นที่รู้จักจากการผลิตผลงานแนว “อัลเทอร์เนทีฟร็อก”

แต่ก็ยังมีศิลปินแนวอื่นๆ ที่เข้ามาบุกเบิกแผ้วถางที่ทางเฉพาะของตน และสร้างสีสันอันแตกต่างให้แก่วงการเพลงอินดี้หรืออุตสาหกรรมดนตรีไทยยุค 90

“บอยไทย ยุคแรก” ที่นำโดย “ชัยยุทธ โตสง่า” หรือ “ป๋อม บอยไทย” คือหนึ่งในนั้น

boy thai

สอง

“บอยไทย” คล้ายจะมีสถานะเป็นผู้สานต่อแนวทางที่วางรากฐานเอาไว้โดย “ฟองน้ำ”

แต่พวกเขาหรือป๋อมเอง ก็เหมือนจะมีปณิธานในการทำงานที่ผิดแผกออกไป

การผสมผสานดนตรีไทยเดิมเข้ากับดนตรีสากลของ “บอยไทย ยุคแรก” ไม่ได้วางน้ำหนักอยู่ที่การโชว์เท่านั้น ทว่ายังให้ความสำคัญกับการผลิตสตูดิโออัลบั้มที่มีมาตรฐานสูงและมีแนวโน้มจะเข้าถึงผู้ฟังในวงกว้าง (กว่าเดิม)

ผ่านการตีความเพลงไทยเดิมในมุมมองใหม่ การคัฟเวอร์เพลงฝรั่งให้มีกลิ่นอายไทยเดิม และการแต่งเพลงใหม่อันเป็นผลมาจากการสังเคราะห์แลกเปลี่ยนกันระหว่างสอง (หรือหลาย) วัฒนธรรม

กระทั่งผลงานเพลงแต่งใหม่ของ “บอยไทย” ที่นำโดยป๋อม สามารถคว้ารางวัลเพลงบรรเลงยอดเยี่ยมบนเวทีสีสัน อวอร์ดส์ มาได้ถึงสองหน คือ “A Day on Sado Island” จากอัลบั้มชุดแรก “Siamese Samba” ที่ออกจำหน่ายในปี 2538 และ “Tataku” จากอัลบั้มชุดที่สาม “Spicy Brazil” ที่ออกจำหน่ายในปี 2543

ยิ่งกว่านั้น งานของ “วงบอยไทยยุคป๋อม” ยังสร้างภาพจำผ่านกลยุทธการสอดแทรกเพลงร้องซึ่งไพเราะติดหู บ้างก็คัฟเวอร์เพลงไทยเดิม บ้างก็คัฟเวอร์เพลงลูกกรุง ลงในอัลบั้ม โดยมี “ป๋อม บอยไทย” เป็นผู้ร้องนำ ด้วยลีลาน้ำเสียงที่ละม้ายคล้ายคลึงกับ “พี่แจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์”

สถานะ “มือระนาดเอก-นักร้องนำ” ของป๋อม ที่ปรากฏบนเครดิตอัลบั้มในปกเทป-ซีดี นั้นไม่ใช่สถานภาพปกติทั่วไปที่เคยเกิดขึ้นกับวงปี่พาทย์หรือวงดนตรีไทยเดิมประยุกต์ยุคก่อนหน้าแน่ๆ

สาม

ผมรู้สึก/ตีความเอาเองว่า “ป๋อม บอยไทย” พยายามจะพิสูจน์ว่านักดนตรีไทยเดิมที่เติบโตจากยุทธจักรวงการปี่พาทย์ ก็สามารถอยู่ได้ อยู่ดี และมีที่ทาง ในตลาด/อุตสาหกรรมเพลง (ป๊อป) ไทย

ดังจะเห็นว่าสตูดิโออัลบั้มที่เป็นผลงานเพลงไทยเดิมประยุกต์-ร่วมสมัยชุดสุดท้ายของเขา ซึ่งออกในนาม “แบงค็อก ไซโลโฟน” นั้น ได้โยกย้ายไปอยู่กับสังกัด “จีนี่ เรคคอร์ดส์” (ซึ่งไม่ได้มีแค่เพลงร็อกน่าเบื่อ!) ในเครือแกรมมี่

ในยุคสมัย “ก่อนโหมโรง” เหมือนป๋อมจะทดลองท้าทายหรือบอกกับสังคมว่า นักดนตรีไทยเดิม/ปี่พาทย์ ก็เป็นนักดนตรีอาชีพได้ ไม่จำเป็นจะต้องดำรงตนประหนึ่ง “จอมยุทธเร้นร่าง” ตามหน่วยงานราชการต่างๆ ในฐานะข้าราชการระดับล่าง-กลาง

เห็นได้จากนักดนตรีไทยเดิมจำนวนไม่น้อยที่ยังต้องเลี้ยงชีพ-แสวงหาหลักประกันในชีวิต ภายใต้การอุปถัมภ์ขององค์กรรัฐหลายแห่ง ซึ่งมิได้มีภาระหน้าที่หลักทางด้านศิลปวัฒนธรรมโดยตรงแต่อย่างใด

(ส่วนภารกิจข้อนี้ของป๋อมจะสำเร็จหรือล้มเหลวในเบื้องท้ายนั้น ถือเป็นอีกประเด็นหนึ่ง)

pom boythai
ภาพจากเฟซบุ๊ก ป๋อมบอยไทย ชัยยุทธ โตสง่า

สี่

โดยส่วนตัว ผมยอมรับว่าค่อนข้างผิดหวัง ที่หลังจากกระแสฮิตชั่วครั้งคราวของหนังเรื่อง “โหมโรง” ในปี 2547 แล้ว ผลงานแนวดนตรีไทยเดิมประยุกต์-ร่วมสมัย ก็แทบไม่มีที่ทางมั่นคงในอุตสาหกรรมเพลงไทย (ซึ่งกำลังเริ่มเข้าสู่ภาวะขาลง/ชะลอตัวเช่นกันพอดี)

หลังกระแส “โหมโรง” ป๋อมและเพื่อนๆ ร่วมวงหลายราย เลือกเดินออกมาจาก “บอยไทย” และก่อตั้งวง “แบงค็อก ไซโลโฟน” ทว่าวงดนตรีดังกล่าวก็มีผลงานอัลบั้มเพียงแค่ชุดเดียว ขณะที่โปรเจ็คท์อื่นๆ ในแนวทางใกล้เคียงกันของป๋อม ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จในวงกว้างเท่ายุค “บอยไทยสามชุดแรก” อีกเลย

สอดคล้องกับบรรยากาศการประยุกต์ดัดแปลงดนตรีไทยเดิมให้มีความร่วมสมัยในหลายปีหลัง ซึ่งกลายเป็นเรื่องของสีสันการโชว์และการกลับไปผลิตซ้ำ/บรรเลงซ้ำ “เพลงไทยเดิม” มากกว่าจะเป็นการแต่งเพลงใหม่เพื่อออกสตูดิโออัลบั้ม

(กระทั่งป๋อมเองก็ติดอยู่ในวังวนนี้)

ห้า

ขออนุญาตส่งท้าย ด้วยผลงานบางส่วนของ “บอยไทย” และ “แบงค็อก ไซโลโฟน” ที่ผมคิดว่ามีเสน่ห์น่าสนใจ (และที่สำคัญ คือ พอจะเสิร์ชหาได้ในยูทูบ)

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.