“วิคกี้ ครีปส์” ว่าด้วย “The Young Karl Marx” และ “Phantom Thread”

หมายเหตุ – เมื่อสัปดาห์ก่อนไปชมภาพยนตร์เรื่อง “The Young Karl Marx” กลายเป็นว่าค่อนข้างประทับใจกับผลงานการแสดงของ “วิคกี้ ครีปส์” นักแสดงหญิงชาวลักเซมเบิร์ก ซึ่งในฐานะ “เจนนี่ มาร์กซ์” เธอมีบทบาทไม่เยอะนัก แต่กลับแฝงเร้นพลังบางอย่างเอาไว้มหาศาล

สถานภาพดังกล่าวดูจะสอดคล้องลงรอยกับอีกหนึ่งบทบาทที่สร้างชื่อให้แก่ครีปส์ในวงกว้าง นั่นก็คือ บท “อัลม่า” ใน “Phantom Thread”

เมื่อลองค้นข้อมูลดูจึงพบว่าเคยมีสื่อต่างประเทศบางสำนักชวนครีปส์คุยในประเด็นข้างต้นจริงๆ ด้วย

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับปู่ของนักแสดงหญิงรายนี้ ซึ่งเคยถูกลงโทษโดยระบอบนาซี ด้วยข้อหาครอบครองหนังสือที่เขียนโดย “คาร์ล มาร์กซ์” ไว้ในบ้าน

krieps the young karl marx

ปู่ของฉันกับ “คาร์ล มาร์กซ์”

“…คุณปู่ของฉันถูกจับเข้าค่ายกักกันตั้งแต่ยังอายุน้อยมากๆ ฉันคิดว่าน่าจะตอนเขาอายุ 21 หรือ 20 หรือน้อยกว่านั้น นั่นหมายความว่าเขายังเป็นเด็กอยู่มากๆ สาเหตุที่ทำให้เขาต้องเข้าค่ายกักกันก็เพราะ ‘คาร์ล มาร์กซ์’ เนื่องจากพวกนาซีพบหนังสือหลายเล่มที่เขียนโดยมาร์กซ์ในบ้านของปู่

“จริงๆ หนังสือทั้งหมดเป็นของคุณปู่ทวด ดังนั้นปู่ทวดของฉันจึงถูกตัดสินลงโทษในทันที แล้วต่อมา คุณปู่ก็ถูกนำตัวไปขึ้นศาลนาซีบ้าง พวกนั้นเห็นว่าปู่ฉันยังเด็กอยู่มากๆ พวกเขาจึงเริ่มต้นพูดด้วยข้อความทำนองว่า ‘คุณครีปส์ หนังสือที่คุณครอบครองอยู่น่ะ มันคืองานของคาร์ล มาร์กซ์ นั่นคงเป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากพ่อของคุณใช่ไหม? มันคงเป็นหนังสือของพ่อคุณที่เหลือค้างอยู่ในตู้ของคุณเท่านั้นใช่ไหม?’

“มันเหมือนกับว่าพวกนาซีพยายามยื่นมือช่วยเหลือเพื่อให้คุณปู่ของฉันพ้นโทษ และไม่ต้องถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกัน แต่ปู่กลับแจ้งต่อศาลว่า ‘ไม่ ไม่ หนังสือพวกนั้นมันเป็นของผมเอง’

“แน่นอน สิ่งที่พวกนาซีเกลียดที่สุด ก็คือ คนที่ปฏิเสธความช่วยเหลือหรือความเห็นของพวกเขา หลังจากนั้น ปู่ของฉันจึงถูกส่งตัวเข้าค่ายกักกันในทันที

“เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเหตุผลและจุดยึดโยงอันเข้มแข็งสำหรับฉัน แบบว่าเธอต้องไปเล่นเป็นภรรยาคาร์ล มาร์กซ์ เพื่อคุณปู่ของเธอนะ…

“นี่คือชะตากรรม และเป็นเหมือนการมอบความยุติธรรมกลับคืนแก่ใครบางคน ซึ่งเคยได้รับความไม่เป็นธรรมมาก่อน”

ที่มา https://www.pastemagazine.com/articles/2018/02/vicky-krieps-talks-about-what-we-dont-really-talk.html?

phantom thread

“อัลม่า” กับ “เจนนี่”

(คำถาม – ในหนังเรื่อง “The Young Karl Marx” และ “Phantom Thread” คุณได้รับบทเป็นผู้หญิงที่พยายามยืนหยัดทัดทานผู้ชายซึ่งทรงอำนาจและเป็นที่เคารพเลื่อมใส ทั้งยังเป็นสามีของพวกเธอเอง คุณคิดว่าอัลม่าและเจนนี่มีความสำคัญอย่างไรในเรื่องราวว่าด้วยบุรุษผู้ยิ่งใหญ่สองคนนั้น?)

ผู้หญิงทั้งสองรายนี้เป็นคนพิเศษ เพราะพวกเธอต่างซ่อนความเข้มแข็งของตัวเองเอาไว้ภายใต้ความนิ่งเงียบ พวกเธอพร้อมที่จะยืนอยู่ตรงเบื้องหลัง แม้ว่าจะแข็งแกร่งกว่าผู้คนตรงเบื้องหน้า ซึ่งได้รับความสนใจจากสาธารณชนก็ตาม พวกเธอไม่ได้แสวงหาการเป็นที่รู้จักหรือความยอมรับนับถือใดๆ

“บางทีนี่อาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในยุคปัจจุบัน แต่ฉันไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีผู้หญิงแบบนั้นอยู่เลยในยุคนี้ ปัจจุบัน นอกจากจะมีความเข้มแข็งแล้ว ผู้หญิงอย่างพวกเรายังถูกคาดหวังให้เป็นภรรยาที่ดี แม่ที่ดี เป็นสตรีผู้มีการศึกษาสูงส่ง เป็นคนมีอารมณ์ขัน อ่อนไหว และเปี่ยมไหวพริบ

“เราเป็นทุกอย่างในคนคนเดียว การเป็นผู้หญิงคนหนึ่งนั้นต้องแบกรับอะไรไว้มากมายเหลือเกิน แต่จริงๆ แล้ว ผู้หญิงทั้งหลายไม่ได้ต้องการคำบรรยายสรรพคุณเกี่ยวกับตัวตนของพวกเธอจากบุคคลภายนอกเลย พวกเธอไม่ได้มีความคิดทำนองว่า ‘ฉันรู้ว่าฉันเป็นผู้หญิงที่ดี เพราะฉันได้รับใบปริญญาจากมหาวิทยาลัย เพราะฉันเป็นคนสวย และเพราะฉันเป็นแม่ที่ดี’ หรอก

“ท้ายสุด สิ่งที่จะทำให้พวกเธอแข็งแกร่งมากๆ ไม่ใช่เรื่องพวกนั้น แต่เป็นอย่างอื่น นั่นคือ มันเคยมีบริบทช่วงเวลาที่ผู้หญิงสามารถให้การสนับสนุนผู้ชายบางคนอย่างมุ่งมั่นสงบเงียบอยู่ตรงเบื้องหลัง

“แต่นี่มันอาจเป็นการเปรียบเทียบที่แลดูโง่เง่าผิดฝาผิดตัวพอสมควร เพราะถ้า ‘เจนนี่ มาร์กซ์’ มีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน เธอก็คงมีไอโฟนติดตัว และจิตใจของเธอก็คงต้องไขว้เขวไปตามสิ่งเร้าต่างๆ เช่นเดียวกัน”

ที่มา http://floodmagazine.com/48914/in-conversation-vicky-krieps-phantom-thread/

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.