“รอยแหว่งวิ่น” ใน “นคร-สวรรค์”

หนึ่ง

 

ในแง่กระบวนการ-วิธีการ ความเป็นภาพยนตร์ “สารคดีผสมเรื่องแต่ง” ของ “นคร-สวรรค์” มิได้แปลกใหม่กว่าหนังอินดี้ไทยร่วมสมัยจำนวนหนึ่งแน่ๆ

เช่น เมื่อ 5 ปีก่อน ภาพยนตร์เรื่อง “Mother” ของ “วรกร ฤทัยวาณิชกุล” (ปัจจุบัน เป็นสมาชิกและผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่) ก็บอกเล่าปัญหาชีวิตครอบครัวของผู้กำกับด้วยกระบวนท่า “กึ่งสารคดีกึ่งเรื่องแต่ง” คล้ายคลึงกัน

ทว่า “นคร-สวรรค์” นั้นมีเสน่ห์เฉพาะในแบบฉบับของตัวเอง

หนังเล่าเรื่องราวคู่ขนาน ระหว่างเนื้อหาส่วนสารคดีที่ “โรส” (พวงสร้อย) บันทึกปฏิสัมพันธ์ของตัวเธอเองกับพ่อและแม่ (ซึ่งกำลังป่วยหนัก) กับเนื้อหาส่วนเรื่องแต่ง ว่าด้วยการเดินทางไปลอยอังคารแม่ที่จังหวัดนครสวรรค์ของตัวละครหญิงอีกรายชื่อ “เอย”

“นคร-สวรรค์” อาจมีความใกล้เคียงกับ “Mother” ของวรกร แต่ขณะที่ผลงานชิ้นหลังมีรอยแบ่งแยกชัดเจนระหว่าง “สารคดี” กับ “เรื่องแต่ง” ผ่านกลวิธีการนำเสนอ องค์ประกอบทั้งสองขั้วในผลงานของพวงสร้อยกลับดำรงอยู่อย่างคลุมเครือ-พร่าเลือน และต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

แม้องค์ประกอบที่เป็น “สารคดี” (จริงๆ สามารถเรียกว่า “หนังบ้าน” หรือ “home movie” ได้ด้วยซ้ำ) กับ “เรื่องแต่ง” ใน “นคร-สวรรค์” จะไม่ได้ประกบเข้าหากันชนิดลงล็อกเป๊ะๆ หรือนวลเนียนไร้ตะเข็บรอยต่อเสียทีเดียว

ขณะเดียวกัน ภาวะที่ทั้งยั่วล้อ, แปลกแยก และผสมกลมกลืนกันระหว่างสององค์ประกอบดังกล่าวก็มิได้แปรสภาพกลายเป็นอาการชวนเหวอ-ดูไม่รู้เรื่อง ที่อาจทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าคนทำหนังมีความ “หนักมือ” จนเกินไป

สอง

นคร สวรรค์ 1

“นคร-สวรรค์” ให้ความสำคัญแก่ “บันทึกความทรงจำ” หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ภาพเคลื่อนไหว (หนังและวิดีโอ), การจดบันทึกข้อความลงสมุด, ภาพนิ่ง (ฟิล์มและดิจิตอล) ตลอดจนไฟล์เสียงสนทนาระหว่างบุคคล

แต่ “บันทึกความทรงจำ” ที่ถูกนำมาเรียงร้อยกันเหล่านั้น ก็เต็มไปด้วย “รอยแหว่งวิ่น” และ “ช่องว่าง” (หรือ “-” ) นานัปการ

นี่เป็น “รอยแหว่งวิ่น-ช่องว่าง” ที่จำเป็นต้องมีอยู่ เมื่อผู้กำกับฯ เลือกนำเรื่องราวชีวิต (หรือบาดแผล) ส่วนตัว/ครอบครัว มาถ่ายทอดให้สาธารณชนได้รับชม

ไม่รวมถึงข้อจำกัดอื่นๆ เช่น การต้องเดินทางไปมา/ความห่างไกลระหว่างประเทศไทยกับเยอรมนีในช่วงถ่ายทำสารคดี

ด้านหนึ่ง “รูโหว่” ที่ปรากฏตามรายทาง ก็สร้างความคาใจให้แก่คนดู ซึ่งไม่อาจรับรู้ได้หรอกว่าบรรดาอารมณ์อ้างว้างเคว้งคว้างที่ล่องลอยภายในหนังเรื่องนี้ จะกลายเป็น “ความเศร้า” ชั่วครั้งคราว หรือ “ความเสียใจ” ที่ดำรงอยู่ไปตลอดกาล

อีกด้านหนึ่ง นั่นก็ถือเป็น “ภาวะเปิดกว้าง” ต่อการตีความ ที่คนทำหนังคล้ายจะจงใจละเอาไว้ให้ผู้ชมได้ลองค้นคว้าคิดหาคำตอบอันหลากหลาย และพยายามแทนที่ชีวิตจริง/ชีวิตสมมุติของบุคคลต่างๆ ในภาพยนตร์ ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวของตนเอง

โดยส่วนตัว ระหว่างดูหนังเรื่องนี้ ผมแอบตั้งคำถามว่าสายสัมพันธ์ลึกๆ ระหว่าง “พ่อ” กับ “แม่” ไม่ว่าจะในเนื้อหาส่วนสารคดีหรือเรื่องแต่งนั้น เป็นอย่างไรกันแน่? (แตกร้าว?, ลงรอย? หรือให้อภัยกัน?)

ผมชอบอารมณ์ครึ่งกลางค้างคาที่ปกคลุมตัวละครอย่าง “เอย” กับเพื่อนชายของเธอ ในฉากห้องพักโรงแรม ซึ่งค่อยๆ ระเหยหายคลี่คลายไปโดยปราศจากคำเฉลยชัดเจนใดๆ

เช่นเดียวกับรายละเอียดเล็กๆ บางประการที่ไม่สำคัญนัก แต่มีอารมณ์ขันดี อาทิ เมื่อ “ป้าของเอย” ระบายความโศกเศร้าในใจให้หมอนวดชายคนสนิทรับฟัง พร้อมทั้งฝากปลาเผาจากสิงห์บุรีไปให้ลูกชายของเขา ฉากต่อมา หนังก็พาคนดูไปติดตามชมพฤติกรรมของชายคนหนึ่ง ซึ่งเรามิอาจรู้ชัดว่าเขาคือใคร? (และไม่แน่ใจว่าตำแหน่งแห่งที่ของเขาอยู่ในสารคดีหรือเรื่องแต่ง?)

ชายคนนั้นขี่มอเตอร์ไซค์ไปตกปลาริมคลอง ก่อนจะหมดบทบาทลงอย่างสงบเงียบ

สาม

นคร สวรรค์ 2

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “เอิงเอย ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์” ผู้รับบท “เอย” นั้นฝากฝีมือที่น่าประทับใจเป็นพิเศษไว้ใน “นคร-สวรรค์”

จากที่มีแววดีเมื่อครั้งแสดงหนังยาวเรื่องแรก คือ “โรงแรมต่างดาว” ของ “ปราบดา หยุ่น” มาถึง “นคร-สวรรค์” เอิงเอยมีซีนน่าจดจำจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะซีนบีบคั้น-ปลดปล่อยอารมณ์ในห้องพักโรงแรม

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมปัจจัยอื่นๆ เช่น “รอยสักอันเรียบง่ายแต่โดดเด่นบนแผ่นหลัง” ซึ่งขับเน้นให้เรือนร่างของเอิงเอยมีเสน่ห์/เอกลักษณ์ที่แตกต่างไปจากนางเอกไทยส่วนใหญ่ และอาจบอกเป็นนัยว่าตัวละคร “เอย” นั้นมีริ้วรอย/รอยแยกบางประการในชีวิต

ด้วยทักษะการแสดงและออร่าส่วนบุคคล คงไม่ใช่เรื่องยากที่ “ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์” จะค่อยๆ ขยับขับเคลื่อนตนเอง จากสถานะ “นางเอกของวงการหนังอินดี้ไทยยุคใหม่” ไปสู่การเป็น “ดาราคนสำคัญ” ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในทศวรรษ 2560

1 Comment

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.