ข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับ “ศรีอโยธยา”

(หมายเหตุ เป็นการตั้งข้อสังเกตในฐานะคนที่ตามดู “หนัง/ละครอิงประวัติศาสตร์ไทย” มาพอสมควร และสนใจเรื่องการสร้าง “ภาพแทน” ของชนชั้นนำในประวัติศาสตร์ผ่านสื่อบันเทิงไทยอยู่บ้าง แต่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อยุธยาและมิได้เป็นคนที่ตามผลงานของ “หม่อมน้อย” มาอย่างเข้มข้นจริงจัง)

หนึ่ง

ศรีอโยธยา พระเจ้าเอกทัศน์

ไม่รู้เป็นข้อดีหรือข้อเสีย (ณ ตอนนี้ ยังประเมินได้ไม่ชัด) แต่เหมือน “หม่อมน้อย” จะ “ทบทวนวรรณกรรม” มาเยอะมาก

จนเห็นได้ว่าผลงานเรื่องนี้มีจุดอ้างอิงถึงผู้มาก่อนหน้าเต็มไปหมด จนแทบกลายเป็น “ยำใหญ่ใส่สารพัด”

ในแง่นิยาย/ละคร แน่นอน “ศรีอโยธยา” มีองค์ประกอบบางด้านที่เหมือน/คล้าย “เรือนมยุรา” มีตัวละครเดินเรื่องกลุ่มหนึ่งที่ไปพ้องกับ “ฟ้าใหม่” มีตัวละคร “หลวงไกร” ที่อาจได้รับแรงบันดาลใจจาก “สายโลหิต” หน่อยๆ พ่วงด้วยพล็อตกลับชาติมาเกิด ที่โดยส่วนตัวทำให้ผมนึกถึง “เจ้ากรรมนายเวร” (หรืออาจรวมถึงงานบางกลุ่มของ “ทมยันตี”) อยู่นิดๆ

ในแง่หนัง ผมรู้สึกว่า “หม่อมน้อย” อาจจะอยากเดินไปบนเส้นทางสายเดียวกับ “ทวิภพ” ฉบับสุรพงษ์ พินิจค้า ผ่านการรีเสิร์ชงานวิชาการที่หนักพอตัว (แม่นไม่แม่น ถูกไม่ถูกเป็นอีกเรื่อง) อย่างน้อยๆ หม่อมแกก็อ่าน “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” แน่ๆ (ดูจากสารคดีโปรโมท)

ทั้งนี้ การทำงานหนักดังกล่าว ก็มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อที่จะทำให้การนำเสนอแง่มุมเชิงบวกเกี่ยวกับชนชั้นนำในหน้าประวัติศาสตร์สามารถมีมิติ ลุ่มลึก ซับซ้อนได้มากขึ้น (หรือพลิกแง่มุมไปเลย)

คงต้องยอมรับว่า “พระเจ้าเอกทัศน์” ใน “ศรีอโยธยา” ทรงเป็น “พระเจ้าเอกทัศน์” ที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือแตกต่างชัดเจนจากประวัติศาสตร์นิพนธ์และเรื่องเล่าส่วนใหญ่เกี่ยวกับพระองค์

สอง

ศรีอโยธยา รัดเกล้า อดีต

เอาเข้าจริง จุดที่ทำให้ผมซึ่งเริ่มต้นดู “ศรีอโยธยา” แบบผ่านๆ หันมาตามดูงานชิ้นนี้อย่างจริงจัง ก็คือ การเล่นกับประเด็นมิติของอดีต-ปัจจุบันที่ซ้อนทับ, การกลับชาติมาเกิด และการนำเสนอเรื่องราวแบบหนัง (อิงประวัติศาสตร์) ซ้อนหนัง (อิงประวัติศาสตร์)

ผมเข้าใจว่าการเขย่ารวมองค์ประกอบสามก้อนลักษณะนี้ น่าจะไม่เคยมีมาก่อนในหนัง/ละครอิงประวัติศาสตร์ไทย (แต่จะดีแค่ไหน เป็นอีกประเด็น และเท่าที่ดู มันมีบางก้อนที่คล้ายจะเลอะๆ ออกแนวโปกฮาเลยด้วยซ้ำ)

อีกข้อที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ประเด็นกลับชาติมาเกิด ซึ่งซับซ้อนพอสมควร คือ มีทั้งตัวละครสมมุติในประวัติศาสตร์ที่กลับชาติมาเกิดเป็นตัวละครสมมุติในปัจจุบัน และตัวละครที่มีตัวตนจริงอยู่ในพงศาวดารที่กลับชาติมาเกิดเป็นตัวละครสมมุติในปัจจุบัน (กลุ่มตัวละครที่แสดงโดยรัดเกล้า อามระดิษ, พิมดาว พานิชสมัย และฮัท เดอะสตาร์)

นี่น่าจะเป็นครั้งแรก ที่มีหนัง/ละคร (หรืออาจรวมถึงนิยาย) ไทย ซึ่งนำเสนอเนื้อหาทำนองว่ากรมขุนท่านนั้น เจ้าฟ้าท่านนี้ ที่ถูกระบุชื่อไว้ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ กลับชาติมาเกิดเป็นตัวละครสามัญชนคนนู้นคนนี้ในชาติปัจจุบัน

ศรีอโยธยา รัดเกล้า ปจบ

นอกจากนั้น มันยังเหมือนจะมีการเปลี่ยนขั้ว/จุดยืน/สถานภาพไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนชาติภพ เช่น ตัวละครที่รับบทโดยก้อง ปิยะ และซานิ เอเอฟ ที่คล้ายจะเป็น “ตัวร้าย” สมัยก่อนเสียกรุง แต่กลับมาเป็นพวกผู้ช่วยพระเอกในชาติภพปัจจุบัน (เท่าที่ดูมาห้าตอน)

จากที่ดูละครตอนแรกๆ ผมประเมินว่า “หม่อมน้อย” คงให้ความสำคัญกับ “ปัจจุบัน” และ “อดีต” พอๆ กัน (ทำให้ “ศรีอโยธยา” ไม่ได้มีสถานะเป็นหนัง/ละครอิงประวัติศาสตร์แบบเพียวๆ) และแกน่าจะอยากพูดถึง “อดีต” มากพอๆ กับการอยากพูดถึงเรื่องราวของ “ปัจจุบัน”

สาม

ศรีอโยธยา แพรว

“ศรีอโยธยา” ยังมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจอื่นๆ อีก เช่น นี่น่าจะเป็นหนัง/ละครไทยเรื่องแรกๆ เลยกระมังที่นำเสนอภาพ “พระเจ้าตาก” ในฐานะ “ลูกจีน” แบบชัดๆ ระดับที่บิดาของพระองค์นั้นไว้เปียและพูดภาษาจีนในชีวิตประจำวัน (ไม่แน่ใจว่า การผลิตงานป้อนกลุ่มทรู/ซีพี จะมีผลต่อการกำหนดลักษณะคาแรคเตอร์ดังกล่าวมากน้อยเพียงใด)

อีกส่วนที่ชวนคิดคือ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเพิ่มบทบาทให้ “เจ้าฟ้าสุทัศน์” (พระราชโอรสของพระมหากษัตริย์) และ “พระพันวัสสาน้อย” (พระราชมารดาของพระมหากษัตริย์) นั้นน่าจะผ่านการคิดใคร่ครวญมาเป็นอย่างดีพอสมควร

สำหรับ “หม่อมน้อย” การดำรงอยู่อย่างสำคัญของตัวละครสองพระองค์นี้คงมีเหตุผลและหน้าที่อยู่แน่ๆ เช่นเดียวกับการเลือกตัดตัวละครบางรายออกไป อาทิ “กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท/นายสุดจินดา” ทั้งที่ตัวโครงเรื่องนั้นเอื้อต่อการดำรงอยู่ของพระองค์

สี่

ศรีอโยธยา สามตัวละครนำ

การมีตัวละครนำกลุ่มหนึ่งเป็น “คุณทองด้วง” (รัชกาลที่ 1) “คุณสิน” (พระเจ้าตากสิน) และ “คุณบุนนาค” (ต้นตระกูลบุนนาค) นั้น คงได้รับอิทธิพลมาจาก “ฟ้าใหม่” อย่างไม่อาจโต้เถียง

ทว่า งานของหม่อมน้อยก็แชร์ข้อจำกัดบางประการร่วมกับกับละคร “ฟ้าใหม่” ของค่ายดีด้า ช่อง 7 สีด้วยเช่นกัน

กล่าวคือ หนัง/ละครคู่นี้จะต้องนำเสนอชีวิตของตัวละครเหล่านั้น นับตั้งแต่เมื่อครั้งพวกท่านยังเป็น “เด็กหนุ่ม” ไปจนถึงการได้ “ครองแผ่นดิน” และขึ้นเป็น “ขุนนางผู้ใหญ่”

แต่ขณะเดียวกันทั้งสองเรื่องก็ตัดสินใจเลือกใช้นักแสดงชุดเดียว/ช่วงอายุเดียว มารับภาระหนักอึ้ง ในการถ่ายทอดช่วงชีวิตอันยาวนานและเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงของท่านเหล่านั้น

(อย่างไรก็ดี ผมเข้าใจว่าดีด้า เรื่อยมาถึงหม่อมน้อย คงมีเหตุผลสำคัญเบื้องหลังการตัดสินใจดังกล่าว เช่น ในตัวละครหลักกลุ่มนี้ มีถึงสองพระองค์ที่ต่อมาได้ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์-มหาราช ดังนั้น ภาพแทนของพระองค์จึงควรมีสถานะเป็นต้นแบบ, รูปเคารพ, รูปปฏิมา อันคงทนสถาวร และควรถูกแตะต้องหรือทำให้แปรผันน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้)

ส่งผลให้ตัวละครคุณทองด้วง คุณสิน และคุณบุนนาค วัยหนุ่ม ไม่ได้แลดูอ่อนวัยกว่าบรรดาตัวละครที่ควรจะมีอาวุโสสูงกว่าพวกท่าน

ในกรณี “ฟ้าใหม่” คุณคนใหญ่/รัชกาลที่ 1 (ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล) คุณคนกลาง/พระเจ้าตาก (ชินมิษ บุนนาค) คุณคนเล็ก/กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (คงกะพัน แสงสุริยะ)  จึงแลดูมีวัยไม่ต่างกับเจ้าฟ้ากุ้ง (อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร) และขุนหลวงหาวัด (ดนุพร ปุณณกันต์) แต่อาจจะแลดูอ่อนวัยกว่าพระเจ้าเอกทัศน์ (ศตวรรษ ดุลยวิจิตร)

ขณะที่ “แสน” (ณัฐวุฒิ สกิดใจ) ตัวละครสมมุติที่ชวนให้นึกถึงต้นตระกูลบุนนาค คือ ตัวละครหลักเพียงรายเดียวที่มีสองช่วงวัย (วัยเด็กและผู้ใหญ่)

เช่นเดียวกับใน “ศรีอโยธยา” ที่คุณทองด้วง (ธีรภัทร์ สัจจกุล) คุณสิน (ศรราม เทพพิทักษ์) และคุณบุนนาค (ชินมิษ บุนนาค) แลดูมีวัยพอๆ กับพระเจ้าเอกทัศน์ (นพชัย ชัยนาม) และขุนหลวงหาวัด (เพ็ญเพ็ชร เพ็ญกุล) อย่างไม่น่าเป็นไปได้

ศรีอโยธยา กรมหมื่นจิตสุนทร

ยิ่งกว่านั้น กองถ่ายยังต้องแต่งหน้าให้ตี๋ เอเอฟ ซึ่งรับบทเป็นกรมหมื่นจิตรสุนทร หนึ่งในเจ้าสามกรม กลายเป็นคนแก่ผมขาวแบบไม่น่าเชื่อถือไปเลย เพราะในความเป็นจริง ตี๋นั้นอายุน้อยกว่าธีรภัทร์, ศรราม, ชินมิษ, นพชัย, เพ็ญเพ็ชร อยู่สิบกว่าปี แต่ต้องรับบทเป็นตัวละครที่อายุมากกว่านักแสดงรุ่นพี่เหล่านั้นทั้งหมด (จริงๆ กรมหมื่นจิตรสุนทรอาจมีวัยใกล้เคียงกับพระเจ้าเอกทัศน์และขุนหลวงหาวัด แต่หม่อมน้อยตีความต่างออกไป ด้วยการกำหนดให้กรมหมื่นท่านนี้เป็นเหมือนพระราชโอรสองค์โตของพระเจ้าบรมโกศ)

เท่าที่ผมนึกออก สื่อบันเทิงชุดเดียวที่พยายามแสดงให้เห็นถึงภาวะการเจริญเติบโตหรือเปลี่ยนผ่านช่วงวัยของพระมหากษัตริย์ในอดีต ก็คือ “สุริโยไท-ตำนานสมเด็จพระนเรศวร” ของ “ท่านมุ้ย” (กระทั่งสมัยที่ช่อง 3 ทำละครชุดเดียวกันเมื่อทศวรรษ 2530 ผมก็จำได้ว่าละครสองเรื่องนั้น มิได้นำเสนอภาพในวัยเยาว์ของพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยา)

สุริโยไท ใบปิด

การตัดสินใจของท่านมุ้ยส่งผลให้สายสัมพันธ์ของตัวละครบางส่วนมีความสลับซับซ้อนหรือมีพลวัตน่าสนใจยิ่งขึ้น เช่น สายสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับสมเด็จพระมหาธรรมราชา

หรือหากเปรียบเทียบกับสื่อบันเทิงที่นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในยุคใกล้เคียงกับ “ฟ้าใหม่” และ “ศรีอโยธยา” ผมเห็นว่า “สงครามเก้าทัพ” ละครโทรทัศน์เมื่อปี 2531 โดย “วรยุทธ พิชัยศรทัต” ก็เลือกหนทางที่ต่างออกไป แต่ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจไม่น้อย

กล่าวคือ ผู้สร้างละครเรื่องนั้นคงตระหนักเช่นกันว่ามีภาพแทนของเจ้านายบางพระองค์ ที่ควรถูกแตะต้องในฐานะตัวละครให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

สิ่งที่คุณวรยุทธทำก็คือ การนำลำดับศักดิ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ยุคต้นรัตนโกสินทร์มาเทียบเคียงซ้อนทับกับสถานภาพของตัวละครนำในละครที่ถูกสร้างขึ้น

ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ในหลวงรัชกาลที่ 1 (สมบัติ เมทะนี) จะทรงมีบุคลิกประหนึ่งรูปปฏิมาอันน่าเคารพเลื่อมใส

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) จะทรงมีบุคลิกเป็นนักรบผู้ดุดัน จริงจัง เข้มแข็ง

ก่อนที่คุณวรยุทธจะค่อยๆ แต่งเติมสีสันให้เจ้านายระดับรองลงไปพระองค์อื่นๆ เช่น กรมพระราชวังหลัง (เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์) และเจ้านายทรงกรมหลายพระองค์ มีอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับผู้ชมที่เป็นสามัญชนทั่วไป คือ มีภาวะหวาดหวั่น วิตกกังวลก่อนเริ่มสงคราม บางพระองค์ได้รับบาดเจ็บจากการออกศึก หรือบางพระองค์ก็ถูกกล่าวอ้างถึงว่าทรงเคยเป็นขุนนางมาก่อนเมื่อสมัยแผ่นดินที่แล้ว

แน่นอน โจทย์และโครงสร้างเรื่องเล่าของ “ฟ้าใหม่-ศรีอโยธยา” และ “สงครามเก้าทัพ” นั้นแตกต่างกันพอสมควร จึงย่อมส่งผลต่อทางเลือกในการเล่าเรื่องที่แตกต่างกันตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม วิธีการเขียนบทให้เจ้านายก่อนเสียกรุงบางพระองค์กลับชาติมาเกิดเป็นสามัญชนยุคปัจจุบันของหม่อมน้อย นั้นดูจะมี “จุดร่วม” กับวิธีการของคุณวรยุทธอยู่รางๆ

คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ผลลัพธ์สุดท้ายของแนวทางที่หม่อมน้อยเลือก จะออกมาน่าพอใจมากน้อยแค่ไหน?

(ที่มาภาพนิ่ง “ศรีอโยธยา”SriAyodhaya Official)

 

 

 

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.