บันทึกถึง “ขุนพันธ์ 2”

ในแง่ความสนุก ความลงตัว ความลื่นไหลของการเล่าเรื่อง ตลอดจนเทคนิคพิเศษต่างๆ หนังภาคนี้ดีกว่าภาคแรกแน่ๆ และมากๆ

ขุนพันธ์ 2 โปสเตอร์แนวตั้ง

จุดน่าสนใจและน่าถกเถียง คือ แก่นกลางหลักของหนัง ที่นำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับคาถาอาคม/ความเชื่อเชิงไสยศาสตร์และชุมโจรภาคกลาง มาอธิบายหรือสร้างความชอบธรรมให้แก่แนวคิดกระแสหลักว่าด้วย “อำนาจ-บารมี” แบบไทยๆ มากกว่าจะตีความองค์ประกอบเหล่านั้นในฐานะเรื่องเล่าของความเชื่อ/กลุ่มคน ซึ่ง “ต่อต้านอำนาจรัฐ”

แรกๆ หนังวางบุคลิกลักษณะของตัวละครหลายรายไว้อย่างมีมิติ เช่น คนดูจะได้สัมผัสกับ “เสรีไทย” ในมุมที่ไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยครั้งนัก คือเป็น “เสรีไทยแบบเทาๆ” ที่ก้ำกึ่งระหว่างความเป็นคนรักชาติ/ต้านญี่ปุ่น กับความเป็นคนนอกกฎหมายหรือคนในระบบกฎหมายที่ใช้อำนาจในทางไม่ถูกต้อง

แต่ท้ายสุด ความกำกวมสีเทาๆ เหล่านั้น ก็ค่อยๆ ถูกลบเลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย จนเราได้เห็นเพียง “เสรีไทยหนุ่ม” ที่เกรี้ยวกราด อยากสร้างชื่อ แต่ขาดประสบการณ์, เราได้เห็นแค่นักการเมืองหรือคนปรารถนาอำนาจทางการเมืองที่สกปรก หักหลังมิตรสหาย, เราได้เห็นการเลือกตั้งอันฉ้อฉล รวมถึงข้าราชการเลวทรามจำนวนมาก

สภาวะอัปลักษณ์ทั้งหลายดังกล่าวจำเป็นจะต้องถูกขจัดทิ้ง ด้วยคุณอำนาจแห่ง “ความดี-ความศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่ตัวละคร “ขุนพันธ์”

ขุนพันธ์

ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่าคนทำหนังเรื่องนี้ ได้สกัดแยกชีวิตด้านต่างๆ ของ “ขุนพันธรักษ์ราชเดช” ตัวจริง ออกเป็นสองส่วน

ส่วนแรกนำไปประกอบสร้างเป็นตัวละคร “ขุนพันธ์” มือปราบตงฉิน-จอมขมังเวทย์-ท่านขุน (ข้าราชการจากระบอบเดิม) คนเดียวของสังคมตำรวจในภาพยนตร์

และส่วนที่สอง ซึ่งถูกเกลี่ยกระจาย/ผลักภาระไปให้ตัวละคร (ผู้ร้าย) รายอื่นๆ อาทิ

“ขุนพันธ์ตัวจริง” ไม่น่าจะแอนตี้นักการเมืองและระบบการเลือกตั้งชนิดหัวเด็ดตีนขาด เหมือนที่ “ตัวละครขุนพันธ์” อยู่ขั้วตรงข้ามกับตัวละครหลวงธำมรงค์และเสือฝ้าย เพราะอย่างน้อย อดีตข้าราชการตำรวจท่านนี้ก็เคยเป็น ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อยู่หนึ่งสมัย

เอาเข้าจริง “ขุนพันธ์” ก็ไม่ต่างจากหลวงธำมรงค์และเสือฝ้ายในหนัง ที่เริ่มต้นจากการเป็นคนท้องถิ่น-ข้าราชการ ซึ่งค่อยๆ สั่งสมบารมีในพื้นที่ แล้วลงเล่นการเมือง

เช่นเดียวกัน แม้หนังจะสร้างภาพ “ตัวละครขุนพันธ์” ให้มีลักษณะไม่เป็นเนื้อเดียวกับ “เสรีไทย” (เสือฝ้าย-ร.ต.อ.อัศวิน) แต่ในชีวิตจริง ชื่อเสียงในฐานะมือปราบของ “ขุนพันธรักษ์ราชเดช” นั้นกลับขจรขจายในยุค “หลวงอดุลเดชจรัส” ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ

ซึ่งหลวงอดุลฯ ก็มีอีกสถานะเป็นรองหัวหน้าขบวนการเสรีไทย และเป็นผู้เชื่อมประสานเสรีไทยเข้ากับกลไกของระบบราชการ

เท่ากับว่าเวลาเรานั่งดูตัวละครเสือฝ้าย หลวงธำมรงค์ หรือกระทั่ง ร.ต.อ.อัศวิน เงาบางด้านของ “ขุนพันธ์ตัวจริง” ก็กำลังปกคลุมทาบทับตัวละครเหล่านั้นอยู่ด้วย

อัศวิน

ขอยอมรับว่าตัวละครที่ผมแอบเห็นใจมากที่สุดใน “ขุนพันธ์ 2” คือ “ร.ต.อ.อัศวิน” ด้วยความรู้สึกว่าคนหนุ่มอย่างเขาไม่ควรจะต้องถูกลงโทษซ้ำแล้วซ้ำเล่า แถมหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ ดังที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์

ตำรวจหนุ่มผู้นี้อาจจะมีลักษณะการทำงาน “เอาหน้า” อยู่บ้าง แต่นี่ก็เป็นพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างอะไรกับรองเผด็จหรือสารวัตรอิศรา โดยที่สองคนหลังมิต้องรับโทษ/กรรมหนักเท่าอัศวิน

และเพียงแค่อัศวินเชื่อมั่นในหลักการวิทยาศาสตร์และไม่เชื่อในไสยศาสตร์ เขาก็ถึงกับต้องเกือบตายและเสียโฉม กลายเป็นชายหน้าตาอัปลักษณ์

ครั้นจะแก้แค้นคู่กรณีด้วยการหัดชกใต้เข็มขัดบ้าง หนังก็วาดภาพว่านั่นคือพฤติกรรมโหดเหี้ยมต่อผู้หญิง ขณะที่ภาพตอนอัศวินโดนตำรวจด้วยกัน (ซึ่งแฝงตัวไปเป็นโจร) เช่นขุนพันธ์ยิงกรอกปากนั้น กลับถูกนำเสนอออกมาอย่างไม่โหดร้ายสักเท่าไหร่

และแน่นอน พอท้ายสุด อัศวินหันไปเชื่อ ศึกษา และยอมรับในไสยศาสตร์ หนังก็ลงทัณฑ์เขาอย่างสาหัสและเจ็บปวดเกินบรรยาย

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.