ตัวละคร “ไก่ชนเทวดา (พาลเทพ)” ที่ถูกสาปโดยพระอินทร์ ใน “นางสิบสอง 2562” นั้นถือเป็นนวัตกรรมโดดเด่นข้อหนึ่งใน ละครจักรๆ วงศ์ๆ “นางสิบสองฉบับล่าสุด”
อย่างไรก็ดี “ไก่ชน” กับนิทาน “นางสิบสอง” และ/หรือ “พระรถเมรี” นั้นมีความข้องเกี่ยวกันมาเนิ่นนานแล้ว
จึงอยากเชิญชวนทุกท่านไปพินิจพิจารณาความเป็นมาของ “ไก่ชน” ในดินแดนอุษาคเนย์ และบทบาททางวัฒนธรรมของสัตว์ชนิดนี้
ก่อนจะมีพัฒนาการกลายเป็น “ไก่เทวดา” ในปี 2562
เนื้อหาทั้งหมดสรุปความจากบทความ “อนุภาคการชนไก่ในนิทานเรื่องพระรถเมรี: ร่องรอยสู่ความเป็น ‘เมือง’ ในสุวรรณภูมิ” โดย สุกัญญา สุจฉายา ในหนังสือ “นางสิบสอง-พระรถเมรีศึกษา”
หนึ่ง จากหลักฐานทางชีววิทยา “ไก่บ้าน” นั้นมีวิวัฒนาการมาจาก “ไก่ป่าขนแดง” ซึ่งถือกำเนิดในป่าดงดิบแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โดยเฉพาะไทย ลาว เวียดนาม) เมื่อ 8,000 ปีก่อน
สอง สำหรับผู้คนในดินแดนแถบนี้ ไก่จึงเป็น “สัตว์เชิงวัฒนธรรม” ที่ดำรงอยู่ในตำนาน ความเชื่อ พิธีกรรม ศิลปะแขนงต่างๆ
ไก่ตัวแรกในเรื่องเล่าของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ลาหู่ ไทใหญ่ ไทอาหม เป็นไก่ตัวผู้สีแดงทรงพลัง เป็นไก่จากสวรรค์ ที่เทพเจ้ามอบให้แก่มนุษย์ (จะนับเป็นบรรพบุรุษของ “ไก่ชนเทวดา” ใน “นางสิบสอง 2562” ก็ได้)
สาม นอกจากตำนาน “ไก่ป่า” จากสวรรค์ ที่กลายสภาพมาเป็น “ไก่บ้าน” ของมนุษย์ ยังพบเรื่องราวเกี่ยวกับ “ไก่ชน” ในข้อมูลชุดนิยายประจำถิ่น (legend) และข้อมูลประเภทพิธีกรรมเข้าทรงผีบรรพบุรุษ (ritual)
เรื่องราวเหล่านี้ปรากฏในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอารยธรรม มีความเจริญระดับเมือง เนื่องจาก “ไก่ชน” เป็นภูมิปัญญาของมนุษย์ที่ต้องใช้ความรู้ ทักษะ ในการแสวงหา-คัดสรรสายพันธุ์-ฝึกฝนไก่ จนเกิดเป็นไก่บ้านสายพันธุ์ที่แข็งแกร่งขึ้น
จากการเป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน ก็เปลี่ยนแปลงเป็นการแข่งขันเพื่อเอาชนะ และเป็นการพนันเอาเดิมพันในท้ายที่สุด
ความซับซ้อน-พัฒนาการตรงจุดดังกล่าว ถูกบันทึกบอกเล่าผ่านวรรณคดีสำคัญๆ เช่น “พระรถเมรี” และ “อิเหนา”
สี่ โดยปกติ นิทานชาดกมักไม่มีเรื่องไก่ชน เพราะเป็นการพนันอันเป็นพฤติกรรมต้องห้ามสำหรับชาวพุทธ แต่ในปัญญาสชาดกฉบับหอสมุดแห่งชาติของไทยนั้นปรากฏเรื่อง “รถเสนชาดก” ซึ่งตัวละครเอกมีความสามารถในการชนไก่และเล่นสกา เพราะมีพระอินทร์เป็นครูผู้สอนอุบายการพนัน
อย่างไรก็ตาม จากการค้นคว้าโดยนิยะดา เหล่าสุนทร ชาดกเรื่องนี้ปรากฏในฉบับสยามเท่านั้น แต่ไม่พบในปัญญาสชาดกฉบับอื่นๆ เช่น พม่า เขมร เชียงตุง ล้านนา ลาว
ยกตัวอย่างเช่น “รถเสนชาดก” สำนวนรัฐชาน นั้นไม่มีเรื่องการชนไก่ แต่ตัวละครจะแข่งเล่นลูกข่างและพนันเล่นสะบ้าแทน เพราะกิจกรรมดังกล่าวเป็นการแข่งขันยอดนิยมของกลุ่มคนภูเขาหรือกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ส่วนการชนไก่เป็นกีฬาของสังคมชาวนาบนพื้นราบ
ห้า สมาคมอนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมืองไทยได้จัดจำแนกสายพันธุ์ไก่ชนไทยออกเป็น 10 สายพันธุ์ หนึ่งในนั้น คือ พันธุ์เขียวหางดำ/เขียวพาลี หรือ เขียวพระยาพิชัยดาบหัก (ตามการเรียกขานในจังหวัดอุตรดิตถ์) หรือ “ไก่พระรถ” (ตามการเรียกขานในภาคตะวันออก เช่น ชลบุรี)
ขอบคุณภาพประกอบจาก ยูทูบสามเศียร
1 Comment