Democratization of “มนต์นาคราช”

คอลัมน์ ยิ้มเยาะเล่นหวัวเต้นยั่วเหมือนฝัน

มติชนสุดสัปดาห์ 18-24 ก.ค. 2557

มนต์นาคราช

“มนต์นาคราช” ละครจักรๆ วงศ์ๆ ตอนเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งแพร่ภาพทางช่อง 7 สี เพิ่งอวสานลงเมื่อวันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ผมคงไม่อาจเขียนถึงละครเรื่องนี้ได้อย่างละเอียดรอบด้าน เพราะไม่ได้ตามดูโดยต่อเนื่อง ทั้ง 67 ตอน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมานั่งดูช่วงท้ายๆ-ตอนจบของละคร ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เลยพบว่า บทปิดฉากของละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ มีความน่าสนใจชวนขบคิดอยู่ไม่น้อย

จึงขออนุญาตนำมาบันทึกและตีความต่อ ณ พื้นที่นี้

“มนต์นาคราช” เคยถูกผลิตออกฉายมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2530 ตัวเรื่องดั้งเดิมประพันธ์โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ

ผมไม่แน่ใจว่าเนื้อหาของ “มนต์นาคราช” เวอร์ชั่นต้นฉบับนั้น มีความแตกต่างจากละครฉบับล่าสุดที่เพิ่งลาจอไป มากน้อยเพียงไหน

แต่โดยรวมแล้ว ละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ เล่าเรื่องราวของสองเจ้าหญิงฝาแฝด คนหนึ่งผิวขาว อีกคนผิวดำ ผู้มี “ดวงแก้วศักดิ์สิทธิ์” ของพญานาคราช ฝังแฝงอยู่ในร่างกาย

ว่ากันว่า เมื่อลูกแก้วทั้งสองดวงมารวมตัวกันเมื่อไหร่ “มนต์นาคราช” ซึ่งเป็นสิ่งล้ำค่าสูงสุดในจักรวาลของละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ ก็จะปรากฏขึ้น

เนื้อเรื่องของ “มนต์นาคราช” จึงดำเนินไปผ่านการแย่งชิงมนตราวิเศษ โดยตัวละครฝ่ายต่างๆ

ขณะเดียวกัน เจ้าหญิงฝาแฝดก็ถูกพรากกันตั้งแต่เกิด องค์ขาวถูกเลี้ยงดูโดยพระบิดา-พระมารดาบังเกิดเกล้า จนเป็นคนดี มีเมตตา เฉลียวฉลาด ขณะที่องค์ดำโดนลักพาตัวไปอยู่กับราชาต่างเมืองที่โหดเหี้ยม ทะเยอทะยาน นิสัยดังกล่าวจึงถูกถ่ายทอดมายังเจ้าหญิงผู้อาภัพ

ความน่าสนใจประการแรกของ “มนต์นาคราช” เท่าที่ผมมีโอกาสได้ดู ก็คือ ละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ ไม่มี “เทวดา” หรือไม่มีพื้นที่ของ “สรวงสวรรค์” ดำรงอยู่

ในละครอาจมีสถานที่ที่เรียกว่า “แม่น้ำสายสวรรค์” แต่ก็เป็นแม่น้ำที่เหล่าพญานาคมาชุมนุมกัน และมีตัวละคร “พราหมณ์ขาว” ทำหน้าที่เป็นคล้ายๆ ผู้ควบคุมกฎเกณฑ์หรือครรลองอันถูกต้องชอบธรรมของสรรพชีวิต (ขณะเดียวกัน ก็เป็นสถานที่ที่ “ฝ่ายอธรรม” บางส่วน ถูกนำตัวมาเก็บกักขังเอาไว้)

ด้วยเหตุนี้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดในจักรวาลของ “มนต์นาคราช” จึงมิใช่เทพเทวาที่ไหน หากแต่เป็นองค์พญานาคราชและมนตราของพระองค์

ทั้งนี้ เมื่อละครพยายามเชื่อมโยงพญานาคราชเข้ากับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และสอดแทรกคำสอนทางพุทธศาสนาแบบพื้นๆ ลงไปในเนื้อเรื่องมากพอสมควร

จึงดูเหมือนว่าความเชื่อที่ครอบคลุมละครเรื่องนี้อยู่ จะเทน้ำหนักมาทาง “พุทธ” อยู่นิดๆ แม้จะเป็นพุทธกึ่งพราหมณ์/ผี ซึ่งสำแดงผ่านการดำรงอยู่ของสัญลักษณ์อย่างพญานาคก็ตาม

ความน่าสนใจประการต่อมา ก็คือ หากดูเผินๆ โครงเรื่องหลักของ “มนต์นาคราช” จะวางอยู่บนความสัมพันธ์ในลักษณะ “คู่ตรงข้าม” อันผิดแผกจากกันอย่างชัดเจน

เมื่อมีเจ้าหญิงผิวขาวคนดี ก็ต้องมีเจ้าหญิงผิวดำที่เหมือนจะชั่วช้า อิจฉา ริษยา หรือเมื่อมีพราหมณ์ขาว ผู้วิเศษฝ่ายธรรมะ ก็ต้องมีพราหมณ์ดำ ผู้วิเศษฝ่ายอธรรม

แต่สุดท้ายเรื่องราวก็คลี่คลายให้เห็นว่า ความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้ามตายตัวเช่นนั้น มันใช้อธิบายโลกหรือความสัมพันธ์ของมนุษย์จริงๆ ไม่ได้

อาทิ จะทำอย่างไร เมื่อเจ้าหญิงผิวขาวต้องสลับร่างกับเจ้าหญิงผิวดำ จนตัวละครฝ่ายดี/นางเอก มีรูปโฉมอัปลักษณ์ ทว่าตัวละครฝ่ายไม่ดี/นางร้าย มีรูปโฉมงดงาม

หรือจะทำอย่างไร เมื่อในตอนท้ายของละครได้เปิดเผยว่า แท้จริงแล้ว มี “พราหมณ์ขาว” อยู่สองคน คนหนึ่งเป็นผู้ควบคุมครรลองคลองธรรมอันถูกต้องอยู่ ณ แม่น้ำสายสวรรค์ ขณะที่อีกคน มีลักษณะประหนึ่ง “งักปุกคุ้ง” คือ แสร้งทำตัวเป็นวิญญูชนมีคุณธรรม แต่สุดท้ายก็หวังแย่งชิงมนต์นาคราชเหมือนตัวละครอีกหลายราย

แน่นอนว่า ท้ายสุด ผู้เขียนบทละครก็เสนอทางออกขั้วที่ 3 อย่างง่ายๆ ให้แก่สองตัวละครนำ นั่นคือ เจ้าหญิงทั้งคู่ล้วนเป็นคนดี (คนที่ถูกกล่อมเกลาสั่งสอนมาแบบผิดๆ ก็กลับตัวได้ก่อนละครจะอวสาน) และเป็นนางเอกเสมอกัน แม้ผิวพรรณจะแตกต่างกันสักเพียงใด

องค์ประกอบน่าสนใจอีกอย่าง ก็ได้แก่ พญานาคราชนั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของจักรวาลในละครเรื่องนี้ เช่นเดียวกับที่มนตราของพระองค์เป็นสิ่งล้ำค่าสูงสุดที่ตัวละครฝ่ายต่างๆ ล้วนมุ่งมาดปรารถนา

แต่ในทางปฏิบัติ เวลาต่อสู้ (ปล่อยแสง) กันจริงๆ พญานาคราชไม่เคยเอาชนะบรรดาตัวละครฝ่ายร้าย ที่หมายแย่งชิงมนต์นาคราชได้เลย แถมบางครั้ง ยังจวนเจียนจะพ่ายแพ้เสียทีด้วยซ้ำไป

ความศักดิ์สิทธิ์ของพญานาคราชจึงไม่ได้อยู่ที่ฤทธิ์เดชของพระองค์โดยตรง ทว่าอยู่ที่ปริศนาแห่ง “มนต์นาคราช” ซึ่งรอคอยวันปรากฏตัว เมื่อลูกแก้ววิเศษสองดวงในร่างของเจ้าหญิงฝาแฝดมาผสานผนึกกัน

ปัญหามีอยู่ว่า “มนต์นาคราช” คืออะไรกันแน่?

วิธีการเฉลยคำถามหลักในละครเรื่องนี้ก็ดำเนินไปคล้ายๆ กับละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่อง “น้ำใจแม่” เมื่อปี พ.ศ.2540

กล่าวคือ ในละครเรื่องนั้น เหล่าตัวละครต่างพากันแสวงหา “น้ำใจแม่” ราวกับสิ่งดังกล่าวเป็นอำนาจเชิง “รูปธรรม” อันสูงค่า ตัวละครบางรายถึงกับพยายามฆ่าแม่ของตนเองแล้วควักหัวใจออกมา เพื่อหวังจะได้ครอบครอง “น้ำใจแม่”

อย่างไรก็ดี “น้ำใจแม่” กลับเป็นสิ่งทรงคุณค่าในเชิง “นามธรรม” ซึ่งสื่อถึงความรักที่แม่มีต่อลูกมากกว่า

ในตอนท้ายๆ ของ “มนต์นาคราช” อยู่ดีๆ ตัวละครระดับนำทุกคนทุกฝ่ายก็ได้รับแผ่นหนังบันทึกอักษรโบราณที่หล่นลงมาจากฟากฟ้าเหมือนๆ กัน

ที่น่าสนใจ คือ แต่ละฝ่ายต่างก็เชื่อว่าที่ตนได้รับนั้นเป็น “มนต์นาคราชของแท้”

ไปๆ มาๆ “มนต์นาคราช” จึงเหมือนไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว แต่คล้ายกับว่า ใครๆ (หรืออย่างน้อย ก็ชนชั้นนำที่มีฤทธิ์เดชทุกกลุ่ม) ต่างก็สามารถเข้าถึงมนตราอันศักดิ์สิทธิ์ได้

เมื่อ “มนต์นาคราช” มิใช่ของหายาก หรือของแท้ที่มีเพียงหนึ่งเดียว ทว่า คือสิ่งที่หลายๆ คน เข้าถึงได้ แล้วมันจะคงความศักดิ์สิทธิ์อยู่ได้อย่างไร?

สุดท้าย ละครก็เฉลยว่าแก้วสองดวงจากเจ้าหญิงสององค์ที่มารวมตัวกันนั้น มิใช่มนตราที่นำไปสู่ฤทธิ์เดชทำลายล้างอะไรมากมาย อีกทั้ง แสงจากดวงแก้วยังมิได้บ่งชี้ไปสู่สถานที่เก็บซ่อน “มนต์นาคราช” อันเป็นอำนาจเชิงรูปธรรม หากแสงดังกล่าวกลับส่องกระจายไปทั่วทุกทิศทางแห่งหน

แสงจากดวงแก้วจึงชี้ให้เห็นถึง “ปัญญา” ที่ส่องสว่างอยู่ในมนุษย์ทุกคน

บทพูดของตัวละครสองเจ้าหญิงยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญญาของมนุษย์นั้นเชื่อมโยงกับเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา (ประเด็นนี้ ผมฟังไม่ค่อยรู้เรื่องมากนัก) และการครุ่นคิดพิจารณาถึงกาลเวลา อันได้แก่ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ของตนเอง (อดีตทำอะไรไว้ ปัจจุบันก็ได้รับผลเช่นนั้น ปัจจุบันทำอะไรไว้ อนาคตก็ได้รับผลเช่นนั้น)

คำอธิบายตรงนี้นี่เองที่ทำให้ตัวละครซึ่งร่วมวงแย่งชิง “มนต์นาคราช” หลายๆ รายถึงกับรับไม่ได้

เช่น ตัวละครชื่อ “หิรัญไกรสีห์” ที่ร่างกายแข็งแกร่งปาน “เหล็ก” (อันมีลักษณะเป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง) และฆ่าไม่ตาย ก็ถึงกับฟูมฟาย ที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสัญลักษณ์แห่งอำนาจซึ่งตนเองค้นหามาทั้งชีวิต กลับกลายเป็นหลักการนามธรรมอันเลื่อนลอยจับต้องไม่ได้ กระทั่งต้องตรอมใจอกแตกตายไปเอง

หรือตัวละคร “พราหมณ์ดำ” ที่งุนงงสงสัยอย่างหนัก เมื่อ “ปัญญา” จาก “มนต์นาคราช” มิสามารถทำให้ผู้เข้าถึงได้ครอบครองสามโลก (เชิง “เทศะ”) ในแนวดิ่ง คือ “สวรรค์-ดินแดนมนุษย์-นรก” แต่กลับชี้ชวนให้ผู้คนพิจารณาถึงสามโลก (เชิง “กาละ”) ในแนวระนาบ คือ “อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต” มากกว่า

ณ จุดนี้ “มนต์นาคราช” จึงสามารถดำรงความศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ได้ เมื่อมันคือหลักการนามธรรมที่มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงและครอบครองโดยเท่าเทียมกัน (ไม่ใช่ของแท้เพียงหนึ่งเดียว หรือมิใช่คัมภีร์โบราณที่แพร่หลายแบบจำกัดวงในหมู่ชนชั้นนำหลายๆ กลุ่ม)

อาจกล่าวได้อีกอย่างว่า ความขลังของ “มนต์นาคราช” จะคงอยู่ ก็ต่อเมื่อมันถูกแพร่กระจาย/แบ่งสันปันส่วนไปสู่ทุกผู้คนผ่านกระบวนการอันเป็นประชาธิปไตย

ในช่วงท้ายสุด ละครเรื่องนี้ยังฉายภาพน่าสนใจอีกบรรยากาศหนึ่ง คือ ให้ตัวละครที่ผิดหวังกับภาวะอันเป็นนามธรรมของ “มนต์นาคราช” ออกมาเดินเสียสติและพร่ำเพ้อว่าตนเองได้ครอบครองมนตราหรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์ในเชิงรูปธรรม

กระทั่งตัวละครที่เคยยิ่งใหญ่หรือทรงอำนาจเหล่านั้น ถูกหัวเราะเยาะเย้ยจากชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป ที่ต่างรู้กันหมดแล้วว่า “มนต์นาคราช” คืออะไร

มีอดีตผู้ทรงอำนาจที่พลาดหวังบางคนถึงกับโดนชาวบ้านรุมกระทืบคาตลาด

ฉากดังกล่าวอาจสื่อแสดงถึงแง่มุมด้านลบที่ซ่อนแฝงอยู่ หรือภาวะโกลาหลวุ่นวายอันเกิดจากกระบวนการเผยแพร่ “มนต์นาคราช” อย่างเป็นประชาธิปไตย ได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ดี ตามความเห็นส่วนตัว ผมยังรู้สึกว่าบทสรุปจบของละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ ดูจะเป็นคุณต่อความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย มากกว่าจะเป็นโทษ

และจะว่าไป เนื้อร้องท่อนแรกสุดของเพลงประกอบละครเรื่องนี้ก็มีนัยยะน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

“ขอเอ่ยอ้างบางตำราพญานาค กำเนิดจากแดนดินถิ่นอีสาน…”

2 Comments

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.