บันทึกถึง “นาคี 2”: “ความเป็นมนุษย์” และ “เทพปกรณัม”

หนึ่ง

ต้องยอมรับว่าส่วนที่ดีและน่าทึ่งมากๆ ของหนัง คือ คุณภาพซีจี

ก่อนหน้านี้ ในฐานะแฟนละครจักรๆ วงศ์ๆ ผมไม่เคยแม้แต่จะแค่แอบหวัง ว่าสตูดิโอภาพยนตร์เมืองไทยนั้นมีศักยภาพสูงพอจะสร้าง “หนังจักรๆ วงศ์ๆ” เนี้ยบๆ ออกมาได้ ในยุคปลาย 2010

แต่พอมาเจอซีจีของ “นาคี 2” ผนวกด้วยคุณภาพซีจีที่ดีขึ้นระดับหนึ่งของละคร “สังข์ทอง 2561”

ผมก็ชักเริ่มลุ้นว่าตัวเองอาจจะมีโอกาสได้ดู “ภาพยนตร์จักรๆ วงศ์ๆ ไทย” (ยุคโพสต์-สมโพธิ แสงเดือนฉาย) ภายในอีกไม่เกิน 5 ปีนับจากนี้

สอง

นาคี นำ

ถ้าจะให้สรุปสั้นๆ ผมคิดว่า “นาคี 2” นำเสนอภาวะปะทะสังสรรค์-คู่ขนานกันระหว่าง “เทพปกรณัม” กับ “ความเป็นมนุษย์”

กล่าวคือ ด้านหนึ่ง หนังได้ยกระดับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในชุมชนชนบทแห่งหนึ่งให้กลายเป็นความขัดแย้งที่สามารถสืบสาวรากเหง้ากลับไปยัง “เทพปกรณัม”

อีกด้านหนึ่ง ตัวละครนำของหนังก็ปฏิบัติกับรูปปั้นเจ้าแม่นาคี ซึ่งเป็นตัวละครในเรื่องเล่า ประหนึ่งมนุษย์ผู้มีชีวิต จิตใจ และความรัก

สาม

นาคี 2

ขอเริ่มจากประเด็นการคืน “ความเป็นมนุษย์” ให้แก่เจ้าแม่นาคีกันก่อน

น่าสังเกตว่าเกือบตลอดทั้งเรื่อง เจ้าแม่นาคีนั้นปรากฏบทบาทในฐานะรูปปั้น ที่ปราศจากความเคลื่อนไหว การกระทำ ชีวิต และจิตใจ

ในแง่หนังละคร เจ้าแม่นาคีมีชีวิตไม่ได้เพราะต้องบำเพ็ญเพียรชำระความผิดบาปที่ตกค้างมาจากละครทีวีภาคแรก

ในตรรกะแบบโลกมนุษย์ เจ้าแม่นาคีมิอาจมีชีวิต เพราะนางเป็นตัวละครในเรื่องเล่าพื้นบ้านกึ่งเทพปกรณัม และเพราะนางเป็นสัญลักษณ์/ภาพแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ซึ่งต้องตั้งมั่นแน่นิ่งเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวความศรัทธาของผู้คน

อย่างไรก็ดี สำหรับ “มนุษย์” บางราย เขา/เธอกลับหมั่นเพียรขอพรให้เจ้าแม่/รูปปั้นสมหวังในความรัก นี่คือความปรารถนาที่จะคืนสถานภาพ “ความเป็นมนุษย์” ให้แก่รูปเคารพ/ตัวละครใน “เทพปกรณัม”

และหนังก็ค่อยๆ สานต่อให้ความปรารถนาดังกล่าวประสบสัมฤทธิผล

ดังจะเห็นได้ว่าเจ้าแม่นาคีเริ่มมีชีวิต มีอารมณ์ความรู้สึก ในช่วงปลายภาพยนตร์

และ (เจ้าแม่น่าจะ) กลายเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญผู้สามารถมีความรักกับมนุษย์อีกคน โดยไม่ข้องแวะเกี่ยวพันกับปัญหาความขัดแย้ง (ของชุมชน) ใดๆ ได้ในท้ายที่สุด

สี่

นาคี 3

แต่องค์ประกอบที่ทั้งแปลก ไม่รู้ว่าแย่หรือดี? ทว่าน่าสนใจมากๆ ของ “นาคี 2” ก็คือ การยกระดับความขัดแย้งภายในหมู่บ้านอีสานแห่งหนึ่ง (เปรียบเสมือนภาพแทนของสังคมไทย?) ให้หลุดพ้นไปจากเรื่องราวรักโลภโกรธหลงของมนุษย์ แต่กลายเป็นปัญหาระดับรากเหง้าพื้นฐาน/ปัญหาสูงส่งเกินความสามารถ-ความเข้าใจของคนปกติ ที่สืบย้อนไปได้ถึง “เทพนิยายปรัมปรา”

เหตุการณ์ฆาตกรรมต่อเนื่องในชุมชนที่ควรเป็นปัญหาซึ่งแก้ไขได้โดยศักยภาพของมนุษย์ จึงมิใช่ “ฆาตกรรมธรรมดา”

เพราะหากมองผ่านสายตาของหนังเรื่อง “นาคี 2” บรรดาชาวบ้านที่งมงายไร้เหตุผล บรรดาชาวบ้านที่เชื่อในกฎหมู่ยิ่งกว่ากฎหมาย บรรดาชาวบ้านที่มีแนวโน้มจะก่อความรุนแรงด้วยการเผาผลาญผู้บริสุทธิ์ นั้นไม่คู่ควรที่จะเข้าไปคลี่คลายคดีฆาตกรรมตามท้องเรื่อง

แต่เราจะสามารถทำความเข้าใจและคลี่คลายความขัดแย้งดังกล่าวได้ ด้วยการอ้างอิงสภาพปัญหาทั้งหมดทั้งมวลเข้ากับมหาสงครามระหว่าง “ครุฑ” กับ “นาค” ใน “เทพปกรณัม”

การสู้รบระหว่าง “นาคดี” (สีเงิน) และ “นาค/วิญญาณร้าย” (สีแดง) ผู้เกรี้ยวกราดเปี่ยมฤทธาจนน่าหวาดหวั่น (เอาเข้าจริง ดูเหมือนหนังจะบอกเป็นนัยว่าพวกชาวบ้านนั้นรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของ “นาค/ผีร้าย” ตนหลัง แต่แสร้งทำเป็นเพิกเฉยเสียด้วยซ้ำ) ทำให้ผู้ชมตระหนักว่าความบาดหมางความรุนแรงทั้งหมดใน “นาคี 2” นั้น มีสเกลยิ่งใหญ่เกินกำลัง-การรับรู้ของมนุษย์ตัวเล็กๆ

ขณะที่การปรากฏตัวของ “ครุฑสีทองอร่าม” ซึ่งเป็นร่างจำแลงของเจ้าหน้าที่ตำรวจหนุ่มจากส่วนกลาง กลับสำแดงให้เห็นว่าปัญหาเดียวกันสามารถถูกแก้ไข/ตัดตอน/หาทางลงได้อย่างง่ายดายเพียงใด ด้วยอำนาจแห่ง “เทพปกรณัม”

ห้า

นาคี 1

ตลกดี ที่ก่อนจะไปดู “นาคี 2” ผมดันนึกถึงละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่อง “มนต์นาคราช” ฉบับปี 2557 เพราะความพ้องกันในเรื่องการดำรงอยู่ของ “นาคาคติ”

อย่างไรก็ดี ผมยังเชื่อมั่นเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า “นาคี 2” ไม่มีทางทำตัวเป็น “เรื่องเล่าจักรๆ วงศ์ๆ” ได้เข้มข้นจริงจังเท่า “มนต์นาคราช” (ทั้งๆ ที่ละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องหลัง มีองค์ประกอบบางอย่างซึ่งหลุดออกจากจารีต “จักรๆ วงศ์ๆ” พอสมควร)

หลังดูหนังจบ ผมพบว่าสมมุติฐานของตนเองนั้นผิดเพี้ยนไปไกลลิบ

เพราะกลายเป็นว่าขณะที่ “มนต์นาคราช 2557” พยายามจะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของมนตราแห่งพญานาคราช สามารถแพร่กระจายไปสู่คนหลายกลุ่มอย่างเป็น “ประชาธิปไตย” และมีความเป็นเหตุเป็นผลที่ทันสมัยขึ้น

พูดอีกอย่างคือบทสรุปจบของ “มนต์นาคราช” นั้น ไม่ค่อยมี “ความเป็นจักรๆ วงศ์ๆ” สักเท่าไหร่

คลิกอ่านรายละเอียด Democratization of “มนต์นาคราช”

ทว่า “นาคี 2” กลับทำตัวเป็น “หนังจักรๆ วงศ์ๆ” เสียยิ่งกว่า “ละครจักรๆ วงศ์ๆ” เผลอๆ นี่อาจเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกสุดในรอบ 2-3 ทศวรรษ ที่ตั้งใจและจงใจจะเลือกเดินบนเส้นทางสายดังกล่าว

นี่ไม่ใช่การเดินย้อนกลับหลังแบบมั่วๆ หรือการมีพฤติกรรมย้อนยุคแบบเชยๆ หากคนทำหนังเรื่องนี้น่าจะเลือกสรรมาเป็นอย่างดีแล้ว ว่า (พวก) เขาต้องการจะมุ่งมั่นเผชิญหน้ากับชุดปัญหา (ทางสังคมการเมือง) ในปัจจุบันด้วยเครื่องมือที่หลายคนมักประเมินว่า “ล้าสมัย”

แต่สำหรับ (พวก) เขาแล้วนี่คือเครื่องมือหรือโลกทัศน์อันทรงพลานุภาพสูงสุด

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.