เบื้องต้นเลย คือ หนังงดงามและสนุกมากๆ
ทีนี้มาว่ากันถึงประเด็นน่าสนใจในหนังเป็นข้อๆ ไป
หนึ่ง
ไม่แปลกใจถ้าจะมีการนำหนังญี่ปุ่นเรื่องนี้มาวางคู่กับ “เณรกระโดดกำแพง” ในฐานะ “หนังพี่น้อง” ที่บอกกล่าวเล่าระบายถึงภาวะดิ้นรนของคนทำหนังตัวเล็กๆ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักที่หนังทั้งสองเรื่องแชร์ร่วมกัน กลับถูกถ่ายทอดออกมาด้วยมุมมองและกลวิธีที่คล้ายจะแตกต่างกัน
สอง
ขณะที่ “เณรกระโดดกำแพง” พูดถึงชีวิต ความฝัน ความทุกข์ของคนทำหนังอินดี้นอกระบบอุตสาหกรรม “One Cut of the Dead” กลับเล่าถึงความสุข ความปรารถนาของคนทำหนังในระบบอุตสาหกรรม ที่รับงานหลากหลายจิปาถะ และยอมเรียกร้องงบประมาณจากนายทุน/เจ้าของเงินในราคาไม่สูงนัก
หนังญี่ปุ่นเรื่องนี้จึงไม่ได้ถ่ายทอดความสุข-ความปรารถนาของศิลปิน/นักต่อสู้ที่หวังจะสร้างหนังให้กลายเป็นผลงานศิลปะอันสูงส่ง ตลอดจนเครื่องมือวิพากษ์สังคม/การเมืองอันซื่อสัตย์เถรตรง
ตรงกันข้าม ความสุข-ความปรารถนาแบบพอประมาณ พอถูๆ ไถๆ ที่ปรากฏในหนัง นั้นยึดโยงอยู่กับการได้โอกาสทำงานเชิงพาณิชย์ศิลป์ในวงการภาพยนตร์โทรทัศน์ หรือการได้เข้าไปร่วมเป็นฟันเฟืองระดับยิบย่อยในอุตสาหกรรมบันเทิงขนาดมหึมา
สาม
เสน่ห์ประการหนึ่งของ “เณรกระโดดกำแพง” คือ การส่องประกายฉายฉานของซับพล็อตย่อยๆ (โดยเฉพาะเกร็ดชีวิตของสามเณรตัวละครเอก) ที่มีศักยภาพสูงพอจะโน้มน้าวให้คนดูหันไปสนใจใคร่ครวญถึงประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากประเด็นชีวิตและการต่อสู้ของคนทำหนัง
ผิดกับ “One Cut of the Dead” ที่เล่าเรื่องราวว่าด้วยกระบวนการทำหนังเล็กๆ คล้ายคลึงกัน แต่แทบไม่วอกแวกออกไปหาประเด็นอื่นๆ
หนังอาจมีซับพล็อต เช่น ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ (ผู้กำกับ), แม่ (นักแสดงเก่า ผู้มีปัญหาเรื่องการอินบทจนแยกหนังกับความเป็นจริงไม่ออก) และลูกสาว (เด็กกองถ่ายมือใหม่ ที่อยากยืนบนลำแข้งของตนเอง และมีความเป็นเพอร์เฟ็คชั่นนิสต์)
แต่สุดท้าย ปัญหาครอบครัวก็กลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกับชีวิตจิตใจของ “คนทำหนัง”
เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องธุรกิจ-อุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งแยกไม่ออกจากเรื่องกระบวนการถ่ายทำภาพยนตร์อยู่แล้ว
สี่
ผมชอบหน้าตาของตัวละคร “เจ๊/คุณป้า” ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ที่ทำให้นึกถึง “คุณจิ๊ อัจฉราพรรณ” และ “คุณเหี่ยวฟ้า”
อย่างไรก็ดี นอกจากหน้าตาอันเป็นเอกลักษณ์ การดำรงอยู่ของเจ๊คนนี้และพวกทีมงานฝ่ายบริหารในออฟฟิศ กลับกระตุ้นให้ผู้ชมมองเห็น/ตระหนักถึงรอยแตกร้าวระหว่างชนชั้นในอุตสาหกรรมบันเทิง ที่แบ่งแยกนายทุน/ผู้บริหาร/เจ้าของเงิน ออกจากคนลงมือปฏิบัติงาน
แน่นอน “ความสุขความสมหวัง” ของเจ๊ระหว่างนั่งชมหนังซอมบี้ดิบๆ ทางโทรทัศน์ในสำนักงานใหญ่ (มีบางช่วงแกแอบละสายตาไปเล่นมือถือด้วยซ้ำ) และหลังจากปฏิบัติการถ่ายทอดสดหนังสั้นเรื่องดังกล่าวเสร็จสิ้นลง (ดูเหมือนจะ) โดย “สมบูรณ์” กับ “ความสุขความโล่งใจ” ของบรรดาสมาชิกกองถ่าย ภายหลังการถ่ายทำหนังลองเทคออกอากาศสด ที่เต็มไปด้วยปมปัญหาต่างๆ นานาให้ต้องคอยแก้ไขชนิดเลือดตาแทบกระเด็นนั้น มัน “แตกต่างกัน” ลิบลับ
(เอาเข้าจริง จุดหนึ่งที่ผมอยากลอง “หาเรื่อง” ก็คือ แม้กระทั่งฉาก “เครนมนุษย์” อันซาบซึ้งและน่าประทับใจ ก็อาจมิได้นำไปสู่ “ภราดรภาพ” หรือความเท่าเทียมใดๆ ระหว่างคนในกองถ่ายภาพยนตร์ ตรงกันข้าม นั่นคือการเรียงลำดับช่วงชั้นแบบใหม่ ที่โปรดิวเซอร์/ตัวแทนนายทุน และนักแสดงใหญ่ ต้องทอดกายลงเป็นงัวงาน ขณะที่ผู้กำกับ/ทายาทผู้กำกับได้โอกาสสถาปนาอำนาจนำของตนเองสมตามความใฝ่ฝันและอุดมคติ)
สุดท้าย ทั้ง “One Cut of the Dead” และ “เณรกระโดดกำแพง” จึงหวนคืนมาบรรจบพบเจอกันอีกครั้ง
ในสมรภูมิของอุตสาหกรรมบันเทิงที่เต็มไปด้วยความไม่เสมอภาค การเอารัดเอาเปรียบ และการต้องยื้อแย่งสิทธิในการเข้าถึง/บริหารจัดการทรัพยากร
ซึ่งบางครั้งอาจถูกฉาบหน้าด้วยความทุกข์ ความตึงเครียด ทว่าบางคราวอาจถูกเคลือบเลี่ยมด้วยความสุข รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ