ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ 18-24 เมษายน 2557

หมายเหตุ
ในบทความ ผมจะใช้คำว่าสหราชอาณาจักรและอังกฤษสลับกันไปนะครับ โดยที่ “อังกฤษ” ในบทความชิ้นนี้ไม่ได้หมายถึงประเทศหนึ่งในสหราชอาณาจักร แต่หมายถึง “สังคมบริเตน” โดยรวมมากกว่า (ที่ผมเลือกใช้คำว่า “อังกฤษ” อย่างผิดที่ผิดทางเล็กน้อย เพราะเห็นว่า จากการสำรวจงานเขียนทั่วๆ ไป ในไทย ยังไม่ค่อยมีคนใช้พวกคำว่า “บริติช” หรือ “บริเตน” กันแพร่หลายมากนัก)
—–
“NME” นิตยสารดนตรีเล่มสำคัญของสหราชอาณาจักร ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้จัดทำสกู๊ปพิเศษ “500 เพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล”
โดยการประมวลอันดับดังกล่าว จัดทำขึ้นจากการสำรวจความเห็นของคอลัมนิสต์ประจำนิตยสาร NME จำนวนกว่า 80 ชีวิต
เพลงที่อยู่ในอันดับ 1 ของการจัดอันดับครั้งนี้ คือ “Smells Like Teen Spirit” ของวงร็อกอเมริกัน “Nirvana”
อย่างไรก็ดี การจัดอันดับ 500 เพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของ NME ก็มีลักษณะเฉพาะและข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย ทั้งเพราะคอลัมนิสต์ที่ถูกสำรวจความเห็นคือนักฟังเพลงฝั่งอังกฤษ และเพราะนักฟังเหล่านี้มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นมาในทศวรรษ 1980 และ 1990
ส่งผลให้เพลงจากยุคดังกล่าวมีที่ทางในการจัดอันดับคราวนี้มากและโดดเด่นเป็นพิเศษ
แน่นอนว่า ผลผลิตของวัฒนธรรมดนตรี “บริตป๊อป” ช่วงกลางทศวรรษ 1990 ย่อมยึดกุมอันดับสำคัญๆ ในโพลของนิตยสาร NME
แต่น่าสังเกตว่า “สองผู้ยิ่งใหญ่” แห่งแวดวง “บริตป๊อป” ที่เคยก่อ “สงครามชนชั้น” ในวงการเพลงอังกฤษยุค 90 คือ “Oasis” (วงดนตรีที่เกิดจากการรวมตัวของเด็กหนุ่มชนชั้นแรงงานในเมืองแมนเชสเตอร์ ทางตอนเหนือ) และ “Blur” (วงที่เกิดจากการรวมตัวของเด็กหนุ่มชนชั้นกลางทางตอนใต้ ซึ่งมาเจอกันที่โกลด์สมิธส์ คอลเลจ สถาบันอุดมศึกษาของเด็กคูลๆ แนวๆ เอียงซ้ายนิดๆ ณ กรุงลอนดอน)
กลับไม่มีเพลงติดอยู่ในอันดับ “ท็อปเท็น” ของ 500 เพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ซึ่งสำรวจโดย NME
(เพลงของ “Oasis” ที่มีอันดับสูงที่สุดในโพลนี้ คือ “Live Forever” ซึ่งถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 13 ขณะที่เพลงอันโดดเด่นที่สุดของ “Blur” คือ “Girls & Boys” พุ่งขึ้นไปได้แค่ลำดับที่ 20)
“Oasis” และ “Blur” ถูกเบียดโดยวงดนตรีอังกฤษรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่มีชื่อเสียงในระดับโลกน้อยกว่า อย่าง “Pulp” (วงดนตรีของหนุ่มสาวชนชั้นแรงงานจากเมืองเชฟฟิลด์) ซึ่งมีผลงานเพลงทะยานขึ้นไปคว้าตำแหน่งที่ 6 ของการจัดอันดับครั้งนี้
เพลงดังกล่าวคือ “Common People” ซึ่งมีเนื้อหาแสดงความเกรี้ยวกราดต่อประเด็นความขัดแย้งทางชนชั้นบนเกาะอังกฤษอย่างเข้มข้นจริงจัง
ค.ศ.1995 ถือเป็นปีทองของ “Pulp” เพราะซิงเกิล “Common People” กลายเป็นเพลงฮิตในวงการดนตรีสหราชอาณาจักร เช่นเดียวกับผลงานชุด “Different Class” ของพวกเขา ที่ติดอันดับหนึ่งในอัลบั้มขายดี
กระทั่ง “Pulp” ได้รับเชิญให้ขึ้นแสดงบนเวทีใหญ่ของเทศกาลดนตรีกลาสตันบิวรี่ แทนที่วงดังในยุคนั้นอย่าง “Stone Roses” โดยมีสามัญชนคนหนุ่มสาวนับหมื่นรายเบื้องหน้าเวที ร่วมร้องเพลง “Common People” ไปพร้อมๆ กัน
สำหรับสังคมอังกฤษยุคกลางทศวรรษ 90 คำว่า “common” (ธรรมดา, สามัญ, บ้านๆ) นั้นถือเป็นคำหยาบคาย เพราะแสดงนัยยะเหยียดหยามสามัญชนผู้มีสถานะทางสังคม-เศรษฐกิจต้อยต่ำ
แต่ “Pulp” กลับนำคำดังกล่าวมาบิดใช้และใส่ความนัยใหม่ๆ เข้าไป ส่งผลให้ “Common People” มีสถานะเป็น “เพลงชาติ” อันน่าภาคภูมิใจของเหล่าสามัญชนชาวอังกฤษ ในเวลาต่อมา
Kevin EG Perry คอลัมนิสต์ของ NME แสดงทัศนะว่า “Common People” ไม่ได้เป็นเพลงป๊อปที่พาคนฟัง “หลบหลีก” ออกจากปัญหาความขัดแย้งในสังคม
ในทางตรงกันข้าม เพลงเพลงนี้มีเนื้อหาโจมตีความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ที่เดินทางมาพร้อมกับธุรกิจท่องเที่ยวข้ามชาติ ด้วยอารมณ์ความรู้สึกโกรธเกรี้ยว
รวมทั้งยังท้าทายให้เหล่าคนธรรมดาสามัญเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับความเป็นไปในสังคม และกล้าปฏิเสธความคิดความเชื่อหลักๆ ที่ครอบงำพวกเขาเอาไว้
ฟังเผินๆ “Common People” คล้ายจะเดินตามจารีตของเพลงป๊อปที่เล่าเรื่องราวว่าด้วยความรักอันไม่สมหวัง ระหว่างชายหนุ่มนักเรียนศิลปะชาวอังกฤษ กับนักศึกษาสาวฐานะดีที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากประเทศกรีซ
ทว่า วิมานรักในห้วงคำนึงของทั้งคู่ต้องพังทลายลงโดยไม่มีชิ้นดี เมื่อชายหนุ่มนักศึกษาศิลปะชนชั้นล่าง กล่าวเย้ยหยันหญิงสาวไฮโซชาวต่างชาติที่เอ่ยปาก “อยากหลับนอนกับสามัญชนคนอังกฤษ” ว่า คนเช่นเธอไม่มีทางจะเข้าใจและหันมาใช้ชีวิตปากกัดตีนถีบเหมือนกับคนธรรมดาสามัญอย่างเขาได้
“Jarvis Cocker” นักร้องนำและนักแต่งเพลงของ “Pulp” เปิดเผยว่า ในระหว่างเดินทางลงใต้มาเรียนทำหนังที่เซนต์มาร์ตินส์ คอลเลจ วิทยาลัยศิลปะชื่อดังแห่งกรุงลอนดอน เขาเคยถูกทักทายโดยหญิงสาวชาวกรีกคนหนึ่งว่า เธออยากหลับนอนกับสามัญชนอย่างเขา
แม้ในชีวิตจริง Jarvis กับหญิงสาวคนนั้นจะไม่ได้เสียกัน แต่นักร้องนำของ “Pulp” ก็แปรประสบการณ์ดังกล่าวมาเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองที่ทรงพลังมากที่สุด (และมีลักษณะเป็นเทศนาสั่งสอนเชิงศีลธรรมน้อยที่สุด) ในรอบ 2 ทศวรรษของอังกฤษ ตามความเห็นของนักวิจารณ์เพลงอย่าง Perry
ในมุมมองของนักวิจารณ์ผู้นี้ “Common People” ถือเป็นถ้อยแถลงของขบถทางวัฒนธรรม ที่แปลงร่างมาอยู่ในรูปลักษณ์ของเพลงป๊อปอันเต็มไปด้วยพลวัต และถูกเรียบเรียงขึ้นอย่างแหวกจารีตมากพอสมควร
กล่าวคือ แทนที่เพลงเพลงนี้จะถูกเรียบเรียงด้วยโครงสร้างเนื้อร้องในลักษณะ “verse-chorus-verse” (เกริ่นนำ-ฮุก-เกริ่นตาม) แบบเดิมๆ มันกลับดำเนินไปด้วยเสียงบ่นพึมพำ และดนตรีที่เล่นแค่ 2 คอร์ดสลับไปมา แต่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างทรงพลังยากหยุดยั้ง
ในแง่การเรียบเรียงดนตรี “Common People” อาจมีเสียงซินธิไซเซอร์และไวโอลินเข้ามาร่วมสร้างสีสัน แต่จุดเด่นจริงๆ กลับอยู่ที่เสียงบ่นร้องพึมพำโทนต่ำๆ ของ Jarvis ที่ค่อยๆ ส่งอารมณ์ความรู้สึกเข้มข้นรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อชายหนุ่มในเนื้อเพลงเริ่มจะแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดกับทัศนคติของหญิงสาวชาวกรีก ที่อยากจะอุปถัมภ์และสงเคราะห์สามัญชนคนอังกฤษผู้น่า “ตื่นตาตื่นใจ” ในสายตาของเธอ
หากย้อนไปเมื่อ 19 ปีที่แล้ว “Pulp” คงไม่คิดว่าผลงานชิ้นนี้ของพวกเขาจะกลายเป็นเพลงฮิตยอดนิยมข้ามกาลเวลา
ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับลักษณะอันเป็น “อกาลิโก” ซิงเกิลของเพลง “Common People” ถูกปล่อยออกมาในบริบทเฉพาะ เมื่อ Jarvis ต้องการจะตีโต้สิ่งที่เขามองว่าเป็น “ความเสื่อมทรามทางวัฒนธรรม” อันครอบงำวัฒนธรรมสมัยนิยมของสหราชอาณาจักรอยู่ในขณะนั้น
ตามความเห็นของแกนนำวง “Pulp” ความเสื่อมทรามดังกล่าวหมายถึง การถ้ำมองหรือสำเร็จความใคร่ทางสังคม ผ่านสายตาของผู้ที่คิดว่าตนเองกำลังสงเคราะห์อุปถัมภ์ (หรือพยายามพูดจาเป็นตัวแทนและเป็นปากเสียงให้กับ) กลุ่มคนซึ่งอ่อนด้อยกว่า
Jarvis ยกตัวอย่างว่า วิธีคิดเช่นนั้นปรากฏอยู่ในอัลบั้มชุด “Parklife” ของ “Blur” และหนังเรื่อง “Natural Born Killers” ของ “Oliver Stone”
นักร้อง-นักแต่งเพลงฝีมือดีจากเชฟฟิลด์ระบุว่า ผลงานเพลงของ “Blur” และหนังของ Stone สร้างขึ้นมาจากวิธีคิดของเหล่าปัญญาชนคนชั้นสูงที่แสร้งทำตัวเสื่อมทรามดิบเถื่อนเหมือนคนชั้นล่าง
ซึ่งเขาแย้งว่า ถ้าเราลองเดินไปรอบๆ แฟลตการเคหะที่ชนชั้นแรงงานชาวอังกฤษจำนวนมากอาศัยอยู่ สิ่งที่เราพบเห็นจะมีแต่ความดิบเถื่อนหยาบคายล้วนๆ โดยไม่ค่อยมีพฤติกรรม-ความคิดอันสูงส่งลึกซึ้งแบบปัญญาชนแฝงเร้นอยู่สักเท่าใดนัก
เกือบ 2 ทศวรรษผ่านไป “Common People” เดินทางมาไกลจากบริบทเฉพาะเมื่อ ค.ศ.1995 และกลายเป็นเพลงฮิตอย่างไม่มีใครคาดคิด
อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่า “Common People” ในเวอร์ชั่นซึ่งถูกเผยแพร่ตามสถานีวิทยุ ได้ถูกตัดเนื้อร้องท่อนที่ดิบเถื่อนที่สุดออกไป
นั่นคือ เนื้อร้องที่ระบุว่า “เหมือนสุนัขที่นอนหมอบอยู่ตรงมุมถนน / พวกมันจะพุ่งเข้างับคุณโดยไม่เห่าเตือนล่วงหน้า / ระวังไว้เถอะ พวกมันจะฉีกขย้ำร่างของคุณ จนอวัยะภายในไหลกระฉอกออกมาข้างนอก”
จากเนื้อร้องดังกล่าว “สุนัข” นั้นย่อมหมายถึง ชนชั้นแรงงานชาวอังกฤษ ผู้พร้อมจะพุ่งกระโจนเข้างับ “คุณ” ซึ่งหมายถึง นักศึกษา-นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ผู้มีฐานะร่ำรวย และมองเห็นวิถีชีวิตอันยากลำบากของคนท้องถิ่น เป็นเพียงเรื่องน่าสนุกชวนขบขัน
นักวิจารณ์เพลงอย่าง Perry แสดงความเห็นว่า ตราบใดที่สหราชอาณาจักรยังถูกปกครองโดยเหล่าลูกหลานของอภิสิทธิ์ชน และ “ความมีระเบียบวินัย” ภายใต้กรอบกฎเกณฑ์หรือมารยาทอันดีงาม ยังถูกนำมาดัดแปลงเป็นเครื่องมือ เพื่อใช้โจมตีหยามหมิ่นคนจน คนเล็กคนน้อยในสังคม
เพลงอย่าง “Common People” ก็ยังจะเป็นหนึ่งในเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของเกาะอังกฤษตลอดไป (แต่ขณะเดียวกัน เพลงเพลงนี้ก็ดูคล้ายจะถูกประเมินค่ำให้ต่ำต้อยกว่าความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงของมัน จากมุมมองของอุตสาหกรรมดนตรีและคนฟังเพลงนอกเกาะอังกฤษ)
ในทัศนะของคอลัมนิสต์นิตยสาร NME คุณค่าของ “Common People” ได้ขยายตัวไปไกลเกินกว่าความยาวแค่ 5.51 นาที ของตัวเพลง
เพราะเพลงฮิตของ “Pulp” ได้ก้าวข้ามยุคสมัยซึ่งก่อกำเนิดมันขึ้นมา และกลายสถานะเป็นภาพบันทึกอันแหลมคม ที่ฉายให้สาธารณชนได้มองเห็นถึงอารมณ์โกรธแค้น-จิกกัด อันคุกรุ่นอยู่ภายในสังคมอังกฤษ ยุคศตวรรษที่ 21