“ชนชั้นปรสิต” และเรื่องอื่นๆ
ระหว่างและหลังดู “Parasite” จะคิดถึงงานเขียนและหนัง-ซีรี่ส์จำนวนหนึ่ง
เริ่มต้นด้วยการนึกถึงเรื่องสั้นแนวสยองขวัญ “เก้าอี้พิศวาส” ของ “เอโดงาวะ รัมโป”
แต่นักเขียนสตรีฐานะดีในเรื่องสั้นดังกล่าวยังตระหนักรู้ถึงการแทรกซึมเข้ามาของ “ชายแปลกหน้า” (หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ได้รับรู้ความคิดจิตใจของเขา)
ผิดกับคนรวย-ชนชั้นสูงในหนังเกาหลีเรื่องนี้ ที่ “ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย”
ขณะเดียวกัน ก็นึกถึงบทกวีชิ้น “ใหญ่” และ “ยาว” ของ “ไม้หนึ่ง ก. กุนที” ผู้ล่วงลับ
เริ่มต้นด้วยเนื้อความที่ไม้หนึ่งเขียนว่า “เสรีชนแพร่ลามเหมือนแบคทีเรีย แทะนรกสวรรค์แบ่งดีชั่ว…”
อย่างไรก็ตาม “ปรสิต” ในหนังเรื่องนี้ ไม่เหมือน “แบคทีเรีย (เสรีชน)” ในบทกวีชิ้นนั้น ตรงที่การดำรงอยู่และไหลเลื่อนเคลื่อนไหวของพวกเขา มิได้นำไปสู่การแบ่งแยก “ดี-ชั่ว” หากแต่ก่อให้เกิดทางหลายแพร่งทางจริยธรรม ท่ามกลางสภาวะเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมมากกว่า
ในบทประพันธ์ชิ้นเดียวกันของไม้หนึ่ง ยังมีบทที่เขียนว่า “เหนื่อยอาภัพหยาบกร้านมานานนัก ข้าวปลาผักคุณปรุงกินกันหอมกรุ่น แหงนมองตาปริบๆ ผู้มีบุญ จากใต้ถุนสังคมเสมอมา”
(ทั้งนี้ เนื้อหาในสองวรรคหลัง นำมาจากการอ่านบทกวีสดๆ ของไม้หนึ่ง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2552 ขณะที่ในฉบับตีพิมพ์ เนื้อความจะเปลี่ยนแปลงเป็น “เหนื่อยอาภัพหยาบกร้านมานานนัก ข้าวปลาผักคุณปรุงกินกันหอมกรุ่น แต่ตอบแทนเขาด้วยเนรคุณ กินไม่อิ่มนอนไม่อุ่นเสมอมา”)
แน่นอน ถ้าจะนำบทกวีของไม้หนึ่งมา “ส่องทาง” ให้แก่ “Parasite” ผมย่อมชอบและสะเทือนใจกับคำว่า “ใต้ถุนสังคม” ในเวอร์ชั่นการอ่านสดมากกว่า
ทว่าคนจาก “ใต้ถุนสังคม” ในภาพยนตร์ของ “บงจุนโฮ” ก็มิได้ “แหงนมองตาปริบๆ ผู้มีบุญ” อย่าง passive แต่พยายามคิดฝันและก่อปฏิบัติการบางอย่างที่ active มากๆ ตามมา
ประมาณหนึ่งปีหลังมานี้ ผมดูซีรี่ส์เกาหลีร่วมสมัยมากขึ้น เช่น Something in the Rain, One Spring Night และ Good Manager
ซีรีส์กลุ่มนั้นมักกล่าวถึงรอยปริแยกในหมู่ชนชั้นกลาง ผ่านปัญหาครอบครัว ปัญหาระหว่างพ่อแม่วัยเกษียณกับลูกๆ วัยขึ้นต้นด้วยเลข 3 ที่ยังลงหลักปักฐานไม่ค่อยได้ ปัญหาความรักที่ยึดโยงกับสถานภาพ-ปทัสถานทางสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นกลาง หรือระหว่างชนชั้นกลางระดับบนกับชนชั้นกลางระดับกลาง-ล่าง
ก่อนที่ซีรี่ส์ 2-3 เรื่องดังกล่าว จะพยายามหาทางสมานรอยแยกทั้งหลายให้สอดประสานแนบเนียนที่สุด เท่าที่จะสามารถกระทำได้
ผิดกันลิบลับกับหนังเกาหลีซึ่งมีที่ทางในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ที่ผมได้ดูในช่วงหลังๆ ไล่ตั้งแต่ “Burning” มาจนถึง “Parasite”
เนื่องจากหนังคู่นี้ได้ฉายภาพการปะทะพุ่งชนกันระหว่าง “ชนชั้นสูง” และ “ชนชั้นล่าง” ที่ลงเอยด้วยความพินาศ ฉิบหาย เลื่อนลอย และว่างเปล่า
โลกของการดิ้นรนที่ผสมผสานระหว่าง “จินตนาการ” กับ “ปฏิบัติการ”
สมัยดู “Burning” ของ “อีชางดง” ผมลองมองหนังเรื่องนั้น ผ่านสายสัมพันธ์และความย้อนแย้งระหว่าง “จินตนาการ” กับ “ปฏิบัติการ” หรือระหว่างสิ่งที่เป็น “รูปธรรม” กับ “นามธรรม”
คลิกอ่าน Burning: ว่าด้วยการ “มี/ไม่มี” และ “จินตนาการ/ปฏิบัติการ”
ผมรู้สึกว่าเราสามารถวิเคราะห์ “Parasite” ด้วยกรอบการมองชนิดเดียวกัน
“หินภูมิทัศน์/หินนำโชค” ซึ่งเป็นวัตถุใจกลางสำคัญของหนังเรื่องนี้ สะท้อนถึงสัมพันธภาพระหว่าง “จินตนาการ/นามธรรม” กับ “ปฏิบัติการ/รูปธรรม” ได้เป็นอย่างดี
ในทางกายภาพ มันคือรูปธรรมอันหนักแน่น ที่ใครก็ไม่อาจปฏิเสธสถานะเช่นนั้นได้ (ยิ่งตอนท้ายเรื่อง สถานะที่ว่ายิ่งปรากฏชัดเจน)
ในทางนามธรรม “หินนำโชค” คือ ความหวัง ความฝัน ถึงชีวิตที่ดีกว่าเดิม ของครอบครัวพ่อ-แม่-ลูกชาย-ลูกสาว ที่เป็นชนชั้นระดับ “ใต้ถุนสังคม”
ผู้ชมหลายคนย่อมตระหนักได้ว่าวิถีทางที่ 4 พ่อ แม่ ลูก ตระกูลคิม ค่อยๆ แทรกซึมเข้าสู่บ้านของครอบครัวพักนั้น คือ การค่อยๆ ร้อยรัดรูปธรรม นามธรรม ปฏิบัติการ จินตนาการ เข้าด้วยกัน
พวกเขาไม่ได้คิดฝัน เพ้อหวัง กันเปล่าๆ แต่ฉวยโอกาสวางแผน-ลงมือทำงาน (ปลอมแปลงตน) กันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในจังหวะเวลา และ/หรือความบังเอิญ อันเหมาะสม
กระทั่งในช่วงครึ่งหลัง ที่พ่อแม่ลูกตระกูลคิมเริ่มเผชิญหน้ากับสภาวะ “ผิดแผน” (แผนที่วางไว้ในหัวกับสถานการณ์ในโลกความเป็นจริง ชักไม่คลิกกัน)
นั่นก็คือความย้อนแย้งไม่ลงรอยระหว่าง “จินตนาการ” กับ “ปฏิบัติการ” ที่สะท้อนผ่านการ “คิดผิดทำผิด” เป็นระลอกๆ
จนต้อง “คิดใหม่ทำใหม่” เพื่อแก้/หนี (รวมทั้งเพิ่ม) ปัญหา
น่าเศร้าใจว่า ในขณะที่บัณฑิตสาขาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ผู้เป็นชนชั้นกลางระดับล่างอย่าง “จงซู” ใน “Burning” ได้ปลดปล่อยจินตนาการของตัวเองแบบสุดขั้ว ด้วยการระเบิดพฤติกรรมบางอย่าง ณ ตอนจบของหนังเรื่องนั้น
แต่ในบทปิดฉากของ “Parasite” “คิมกีอู” หนุ่มอันเดอร์ด็อกผู้ไม่มีโอกาสแม้แต่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย กลับต้องหวนคืนสู่ “ใต้ถุนสังคม” แห่งเดิม แล้วทำได้เพียงคิด-ฝันลมๆ แล้งๆ แต่ยังไม่รู้ว่าจะลงมือสานฝันให้สำเร็จได้อย่างไร
จากหินนำโชค สู่รหัสมอร์สและกลิ่นสาบคนจน
นอกจาก “หินนำโชค” ที่เป็นวัตถุเชื่อมโยง “จินตนาการ/นามธรรม” กับ “ปฏิบัติการ/รูปธรรม” อย่างสำคัญแล้ว
ยังมีอะไรอีกสองอย่างในหนังเรื่องนี้ที่ทำหน้าที่คล้ายๆ กัน แม้อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ผิดแผกกันบ้าง
สิ่งแรก คือ “กลิ่น” (เหม็นสาบคนจน) ซึ่งคุณพักและลูกชายคนเล็กสัมผัสได้ถึงภาวะแปลกแยกดังกล่าว แม้จะ “จับต้อง” มันไม่ได้
การตระหนักรู้ในสภาวะที่จับต้องไม่ได้อย่าง “กลิ่น” คือ ความรู้จริงๆ ประการเดียว ที่บางคนในบ้านพักมีเกี่ยวกับครอบครัวตระกูลคิม
และ “การได้กลิ่น” ของคุณพัก ก็นำไปสู่การระเบิดพฤติกรรมรุนแรงของ “คิมกีแท็ก” ผู้พ่อ ซึ่งก่อให้เกิดหายนะ-โศกนาฏกรรมอัน “จับต้อง” ได้
(น่าสังเกตว่า คิมผู้พ่อนั้นอ่อนไหวกับอาการไวต่อ “กลิ่น” ของคุณพัก ขณะที่คุณพักก็แสดงอาการหวั่นไหวหรือรู้สึกว่าตนถูกคุกคาม/ลามปามเช่นกัน เมื่อคนขับรถคิมพูดถึง “ความรัก” ระหว่างเจ้านายและภรรยา -ซึ่งเป็นภาวะนามธรรมจับต้องไม่ได้เหมือนๆ กัน- เพียงแต่คุณพักเลือกจะเก็บกดอารมณ์ไม่พอใจเอาไว้ ไม่ระเบิดมันออกมาเป็นพฤติกรรมรุนแรงแข็งกร้าว -หลายคนอาจนิยามว่านี่คือ “นิสัยดีของคนรวย”-)
อีกองค์ประกอบที่น่าสนใจ คือ การส่ง-ถอด “รหัสมอร์ส” (ทำไม ตอนผมเรียนลูกเสือสำรอง ลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญลูกใหญ่ แถมเคยอบรมนายหมู่ด้วย ในแบบไทยๆ มันถึงมีแต่การผูกเงื่อน เดินทางไกล แบกอาวุธ เรียบอาวุธ วะ? 555)
การรับส่ง “รหัสมอร์ส” คือ การครุ่นคิด-ตีความ-ลงมือทำ นี่เป็นการหลอมรวมระหว่าง “จินตนาการ-ปฏิบัติการ” ที่มีสัมฤทธิผล คือ ส่งสาร-รับสารได้
แต่น่าตลกร้าย ที่สัมฤทธิผลเหล่านั้นไม่เคยนำไปสู่ปฏิบัติการอันประสบความสำเร็จสมบูรณ์ ณ เบื้องท้าย
รวยแบบ passive จนแบบ active
ชีวิตคนจน-คนชั้นล่างใน “Parasite” นั้นช่างกระตือรือร้นขันแข็ง (active) ทั้งในเชิงความคิดและการกระทำ
พ่อแม่ลูกตระกูลคิมคิดเยอะ-ทำแยะ ในภารกิจต้มตุ๋นคนรวยตระกูลพัก (ส่วนเรื่องถูก-ผิด และผลที่ตามมา เป็นอีกประเด็นหนึ่ง)
พวกเขายังต้องปากกัดตีนถีบเมื่อประสบปัญหาน้ำเอ่อท่วม “บ้านชั้นใต้ถุนของสังคม”
หรือเมื่อแผนที่วางเอาไว้ประสบความผิดพลาด พวกเขาก็ต้องลงแรงบู๊ล้างผลาญกับคนยากไร้ คนที่ต้องดิ้นรนสู้ชีวิต เหมือนๆ กัน
ตรงกันข้าม คนรวยบ้านพัก กลับคิดและทำอะไรน้อยมากๆ จนเข้าขั้น passive
พวกเขาประสาทแ-ก อ่อนไหว เก็บกด ถูกหลอกง่ายดายเหลือเกิน ไม่รู้จักบ้านที่ตนเองอยู่อาศัย และไม่ว่องไวต่อสิ่งแปลกปลอม
คุณพักแลดูร่ำรวยจากธุรกิจที่น่าจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่เราก็ไม่เห็นแกทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากนั่งรถไปมา
แค่เจอฝนกระหน่ำแคมป์พักแรม ครอบครัวพักก็เผ่นกลับบ้านที่ “(คล้ายจะ) ปลอดภัย” ผิดกับครอบครัวคิมที่ต้องรีบวิ่งกลับลงไปเผชิญอุทกภัยบริเวณ “ใต้ถุนสังคม”
พ่อแม่บ้านพักพยายามจัดปาร์ตี้ฉลองวันเกิดให้บุตรชาย แต่มันก็กลับกลายเป็น “งานรื่นเริงอันล้มเหลว”
คนในครอบครัวพัก โดยเฉพาะคุณและคุณนายพักนั้น passive ไม่รู้เรื่องราว เสียจนคนอื่นพูดถึงพวกเขาได้ในเพียงแง่มุม “นิสัยดี” กับ “ฐานะร่ำรวย”
ผู้ชมไม่มีโอกาสกระทั่งจะเห็นพวกเขาทำ “เรื่องเลวๆ” ด้วยซ้ำ (หนังไม่ยอมฉายภาพ-เปิดเสียง ให้เห็น-ฟังว่าพวกเขาไล่ “แม่บ้าน-คนขับรถเก่า” ออกจากงานอย่างไม่เป็นธรรมอย่างไร ด้วยคำพูดแบบไหน)
สมาชิกรายเดียวในบ้านพัคที่เหมือนจะ active และรู้เดียงสากว่าคนอื่นๆ กลับกลายเป็นเจ้าหนูน้อย “ทาซง”
อย่างไรก็ดี “ทาเฮ” พี่สาวของ “ทาซง” นั้นเคยนินทา-วิจารณ์น้องชายเอาไว้อย่างตรงจุด ว่าหมอนี่น่ะเสแสร้งทำเป็นลึกซึ้ง ทำเป็นมีอะไร แต่จริงๆ ไม่ค่อยมีอะไรหรอก
การแต่งกายเป็นอินเดียนแดง บ้ายิงธนู กางเตนท์กลางสายฝนบนสนามหญ้าเขียวขจี จึงเป็นการละเล่นแบบเด็กๆ (หรือเป็นนาฏกรรมว่างเปล่าบนจอกระจกใสกว้างขวาง) ที่ไม่ส่งผลอะไร
“ทาซง” อุตส่าห์ถอด “รหัสมอร์ส” ของสามี “แม่บ้านมุนกวัง” ได้สำเร็จ แต่เด็กเช่นเขาก็ไม่ได้คิดหรือลงมือทำอะไรต่อ
“ทาซง” ยังเป็นเด็กน้อยที่ “เปราะบาง” แค่เจอ “ผี” หรือ “คนแปลกหน้า” ผู้ไม่คุ้นเคย เขาก็หงายท้องสิ้นสติเสียแล้ว
ถ้าจะทดลองตีความให้ใหญ่โตกว่าภาพที่มองเห็น ลูกชายคนเล็กของบ้านพักอาจเป็นภาพแทน (หรือกรณีตัวอย่างแบบผลักไปให้สุดทาง) ของสมาชิกที่เหลือในครอบครัว ตลอดจนเพื่อนร่วมชนชั้นของพวกเขา
ผมจึงค่อนข้างเห็นพ้องกับหลายๆ คน ที่เสนอว่า “ปรสิต” แท้จริงในภาพยนตร์เกาหลีเรื่องนี้ อาจเป็น “คนข้างบน” เช่น พ่อแม่ลูกตระกูลพัก ที่ไม่ทำอะไร ไม่ประสีประสา ไม่ทุกข์ร้อน แต่ยังอยู่สบาย บนความกระเสือกกระสนแร้นแค้นของ “คนข้างล่าง” เช่น ครอบครัวคิม
บ้านของสถาปนิก
“บ้านหรูหรา” ในหนัง คือผลงานการออกแบบของสถาปนิกระดับอาจารย์ที่ขายต่อให้ตระกูลพัก
การกล่าวถึงสถาปนิกใน “Parasite” ทำให้ผมนึกถึงซีรี่ส์เกาหลีเรื่อง “Good Manager” ซึ่งมีตัวละครรายหนึ่งถูกนิยามให้เป็น “สถาปนิกทางการเมือง” โดยที่งานจริงๆ ของเขา คือ การเป็นล็อบบี้ยิสต์ คอยทำงานต่อรองลับๆ หรือเก็บกวาดปัญหาต่างๆ ลงใต้ดิน ให้แก่นักการเมือง-นักธุรกิจระดับชนชั้นนำ
เราอาจเคยได้ยินคำว่า “สถาปนิก (ทาง) การเมือง” ในสังคมไทยอยู่บ้าง แต่มันก็ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายนัก อย่างน้อยที่สุด คือ ไม่พบเจอการใช้คำนี้ในสื่อบันเทิงแน่ๆ
ขณะที่สื่อบันเทิงเกาหลี คล้ายจะถนัดคุ้นชินกับการจับคู่ “สถาปัตยกรรม-การเมือง” อยู่พอสมควร
“บ้าน” ของตระกูลพัก ที่ออกแบบมาเป็นอย่างดีและสลับซับซ้อนโดย “อาจารย์สถาปนิก” ก็สะท้อนถึงการทำงานร่วมระหว่าง “จินตนาการ/นามธรรม” กับ “ปฏิบัติการ/รูปธรรม” เช่นกัน
“บ้านหลังนี้” ได้รับการออกแบบ โดยเอื้อให้คนชั้นสูงใช้ชีวิตหรูหรา จมอยู่กับภาพฝัน-โรงละครกระจกใสอันว่างเปล่าเบื้องหน้า โดยไม่รู้เรื่องราว ไม่ทุกข์ร้อนอะไรบ้างเลย
แล้วสถาปนิกคนเดียวกันก็ออกแบบซอกหลืบใต้ดินที่ซุกซ่อนอยู่ตรงโลกด้านล่าง
“หน้าที่” เบื้องต้น (ในจินตนาการ) ของมันอาจเป็น “หลุมหลบภัยจากอาวุธสงครามของเกาหลีเหนือ” แต่ท้ายสุด คนยากจน คนตกอับ คนเล็กคนน้อย ก็ลงมือฉวยใช้พื้นที่ดังกล่าว เป็นที่ซ่อนตัว เป็นที่ซุกหัวนอน เป็นแหล่งยังชีพอย่างกระเบียดกระเสียร และเป็นสนามเพลาะแห่งการกดขี่ขูดรีดกันเอง ไปวันๆ
“บ้านหลังนี้” เป็นอุปมาของ “เมืองใหญ่” ที่ย่านคนรวย ซึ่งครอบครัวพักอาศัยอยู่ นั้นคือยอดพีระมิด ก่อนจะลดหลั่นลงไปเรื่อยๆ จนถึง “ก้นบึ้งใต้ถุนสังคม” ของครอบครัวคิม
“บ้านหลังนี้” คืออุปลักษณ์ของสังคมเกาหลี และอีกหลายๆ สังคมทั่วโลก
การออกแบบบ้าน-เมือง-สังคม จึงเป็นการออกแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กำหนดให้ผู้คนต้องใช้ชีวิต-คิดอ่าน-ต่อสู้ต่อรอง ตามแบบแปลนที่จัดทำไว้แล้ว
แม้เมื่อคนชั้นล่างบางรายใช้ชีวิตผิดแผน จนต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของตนเอง “บ้าน” ที่ออกแบบมาอย่างซับซ้อน ก็ได้จัดวาง “พื้นที่หลบภัย/สถานที่กักกันตนใต้ดิน” เอาไว้ให้พวกเขาเรียบร้อย (และพร้อมเปิดรับเจ้าของบ้านผู้ร่ำรวยรายใหม่ ณ โลกเบื้องบน)
“บ้าน” และการตรึงสถานภาพของผู้คนในสังคม จึงกลายเป็นสิ่งที่ “ออกแบบได้” ไม่ต่างกัน
1 Comment