Burning: ว่าด้วยการ “มี/ไม่มี” และ “จินตนาการ/ปฏิบัติการ”

(เปิดเผยเนื้อหา เหมาะสำหรับผู้ชมภาพยนตร์แล้ว)

มี/ไม่มี: จินตนาการ/ปฏิบัติการ

burning

แน่นอน ใครที่ดูหนังมาเรียบร้อยแล้ว คงตระหนักได้ว่าประเด็นหลักอันเป็นจุดใหญ่ใจความของ “Burning” คือ ข้อถกเถียงเรื่อง “การมีอยู่” หรือ “การไม่มีอยู่” ของสิ่งของ/ผู้คนต่างๆ

ขณะเดียวกัน “การมีอยู่” และ “การไม่มีอยู่” ก็มิได้ดำรงอยู่โดยแยกขาดจากกัน หากมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างซับซ้อน

สิ่งที่ “ไม่มี” อยู่จริง อาจปรากฏว่า “มีขึ้น” ในจินตนาการความคิดฝันได้ หากเรา “ลืม” ว่ามัน “ไม่มีอยู่”

นี่คือฐานของการมองโลกแบบ “แฮมี-จงซู” ผู้เป็นคนระดับล่างๆ และไร้ตัวตน-ตำแหน่งแห่งที่ในสังคม

เช่นเดียวกัน สิ่งที่เคย “มี” อยู่จริง ก็อาจสาบสูญกลายเป็น “ไม่มี” ได้ ด้วยปฏิบัติการ/การกระทำบางอย่างในโลกความจริง (หรือจินตนาการฟุ้งลอยในหัวของใครบางคน ที่ได้รับการปลอมแปลงจนมีความคล้ายคลึงกับปฏิบัติการจริงๆ ดังกล่าว)

พร้อมๆ กันนั้น การ “หายไป” หรือ “ไม่มี” ของบางสิ่ง/บางคน ก็นำไปสู่ปฏิบัติการหลายหลากตามมา

(นิทานเรื่อง) การเผาเรือนเพาะชำ ก็ถือเป็นปฏิบัติการชนิดหนึ่ง หรืออย่างน้อยที่สุด ก็เป็นจินตนาการที่แฝงเร้นอยู่ในรูปปฏิบัติการ

การออกวิ่งสำรวจหาเรือนเพาะชำที่อาจถูกเผา ย่อมถือเป็นปฏิบัติการแน่ๆ

การออกตามหาคนที่หายตัวไปชนิดไร้ร่องรอย และการสะกดรอยผู้ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก็ถือเป็นปฏิบัติการชนิดหนึ่ง

กระทั่งการลงมือทำลายล้างคนผู้หนึ่งให้มอดไหม้ดับสูญไป ก็ถือเป็นปฏิบัติการ (หรือขั้นต่ำสุด ก็เป็นจินตนาการที่ใฝ่ฝันถึงปฏิบัติการอันถอนรากถอนโคนอย่างยิ่ง)

ขณะเดียวกัน รอยแยกระหว่าง “จินตนาการ” กับ “ปฏิบัติการ” ก็ค่อยๆ พร่าเลือนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อหนังเรื่องนี้ดำเนินไป

เราเริ่มรู้จัก “แฮมี” จากการทำงานเป็นพริตตี้แนวเต้นกินรำกิน เธอบอกกับจงซูตั้งแต่ต้นเรื่องว่า เธอชอบงาน “ใช้แรงกาย” ทำนองนี้

ทว่าอีกด้านหนึ่ง แฮมีก็หมกมุ่นกับแง่มุมทางจินตนาการหรือจิตวิญญาณมิใช่น้อย

เธอไปเรียนละครใบ้ จนสามารถอธิบายโลก (ผลส้มในจินตนาการ) ผ่านวิธีคิด “ลืมว่ามันไม่มี” ได้อย่างแนบเนียนชวนหลงใหล

เธอพยายามเสาะแสวงหาความหมายของชีวิตอย่างหิวโหย จนต้องดั้นด้นออกเดินทางไปตามหา “the great hunger” ที่ทวีปแอฟริกา

ไม่ต่างอะไรกับเพื่อนเก่าแก่ของแฮมีอย่าง “จงซู”

พวกเรารู้จักเขาครั้งแรกผ่านงานที่ต้องลงแรงอย่างการแบกหามสินค้า (หลังปลดประจำการจากภารกิจทหารเกณฑ์) มิหนำซ้ำ ในเวลาต่อมา เขายังต้องกลับไปเลี้ยงวัวหนึ่งตัว แทนพ่อที่กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่รัฐ

แต่อีกมิติหนึ่ง ชายหนุ่มจากครอบครัว “ชนชั้นกลางระดับล่าง” ก็จบการศึกษาด้าน “การเขียนเชิงสร้างสรรค์” เขามีความใฝ่ฝันจะประกอบอาชีพเป็นนักเขียนนิยาย

ในช่วงครึ่งท้ายของหนัง จงซูยิ่งจมดิ่งลงสู่ภาวะคร่ำเคร่งกับการใช้จินตนาการมากขึ้นๆ

ทั้งการคิดถึง คิดแทน ซ่อมแซมตรวจสอบความทรงจำของแฮมี

ทั้งการวิเคราะห์พฤติกรรมและอ่านใจเบน

ไปๆ มาๆ “จินตนาการ” กับ “ปฏิบัติการ” ก็เป็นสองอย่างที่ค่อยๆ ไหลเข้ามาผสมผสานหลอมรวมกัน โดยไม่แปลกแยก

ตามความเห็นส่วนตัว ผมรู้สึกว่าประโยคที่พ่อหนุ่มสำรวยสำอางอย่าง เช่น “เบน” ชอบพูดย้ำเรื่องการใช้ชีวิตให้รื่นรมย์ (ใช้ชีวิตตามหัวใจ) กระทั่งได้ยินเสียงทุ้มจากแรงสั่นสะเทือนของกระดูกบริเวณหน้าอกด้านซ้ายนั้น ฉายภาพให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันของ “จินตนาการ” กับ “ปฏิบัติการ” ได้เป็นอย่างดี (หรือจะนับรวมประเด็น “เล่น” ไป “ทำงาน” ไป ด้วยก็ได้)

ชีวิตอันรื่นรมย์ตาม “ความคิดความฝัน” จะเป็นจริงก็ต่อเมื่อเราได้รับรู้ภาวะรูปธรรมของ “เสียง” อันกำเนิดจาก “แรงสะเทือน” (การลงมือปฏิบัติงาน) ของกระดูก

คนรวยที่คล้ายจะใช้ชีวิตเลื่อนลอยไร้แก่นสารอย่างเบนยังเปรียบเปรยเรื่องการทำอาหารไว้อย่างน่าสนใจ

ด้านหนึ่ง อาหารสำหรับเขา คือ เครื่องเซ่นสังเวยพระเจ้าในเชิงอุปลักษณ์

แต่อีกด้าน อาหารที่เขาทำขึ้นเพราะจุดมุ่งหมายในเชิงนามธรรม ก็ต้องเป็นของอร่อยที่กินได้อิ่มท้องด้วย

นี่เป็นอีกครั้ง ที่ “จินตนาการ” (นามธรรม) และ “ปฏิบัติการ” (รูปธรรม) เชื่อมโยงเข้าหากันอย่างแนบสนิท

สำหรับเบน การบรรลุถึงจุดสมดุลดังกล่าว อาจส่งผลให้เขากลายเป็นเบนที่อยู่ในทุกหนแห่ง เบนที่เป็นสากล หรือกระทั่งเถลิงอำนาจขึ้นเป็นพระเจ้าเสียเอง!

อย่างไรก็ดี แฮมีกับจงซูก็สามารถบรรลุถึงจุดสมดุลระหว่าง “จินตนาการ” กับ “ปฏิบัติการ” ได้เช่นกัน

การปุ๊นจนเมา แล้วออกท่าร่ายรำโหยหาความหมายแห่งชีวิตท่ามกลางแสงสุดท้ายของวัน คือ ภาวะบรรจบกันระหว่างความคิดฝันกับโลกความจริงที่แฮมีเดินทางไปถึงอย่างหมดจดงดงาม

ไม่ต่างอะไรกับการคิดๆ ๆ ๆ ๆ วิ่งๆ ๆ ๆ ๆ ขับรถๆ ๆ ๆ ๆ เขียนๆ ๆ ๆ ๆ ที่ชักนำให้จินตนาการในหัวและปฏิบัติการผ่านสองมือสองเท้าของจงซูค่อยๆ ผนึกกำลังรวมกัน ก่อนจะระเบิดออกเป็นพฤติการณ์ “ฆ่าและเผา” ณ เบื้องท้าย

ที่น่าคิดคือ แฮมีและจงซูล้วนบรรลุถึงสถานะสูงสุดเช่นนั้นด้วยลักษณาการแห่ง “ความเปล่าเปลือย”

เพื่อเป้าประสงค์ที่ว่า เขาและเธอจำต้องเปิดเผยภาวะความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐานที่สุดออกมา

แฮมีและจงซูกลายเป็นมนุษย์ของทุกหนแห่ง เป็นสากล ด้วยการพลีสังเวยเรือนกายอันบริสุทธิ์ของพวกตน

สงครามจินตนาการ

เสียงทุ้มในใจ

เวลากล่าวถึงกระบวนการครอบงำทางความคิด เรามักนึกถึงภาพผู้คนจำนวนมากที่ยอมยึดถือ ปฏิบัติตาม โฆษณาชวนเชื่อของระบบการปกครอง/ระบบเศรษฐกิจ/ชนชั้นปกครอง/ความเชื่อทางศาสนา อย่างทื่อๆ เซื่องๆ

แต่เอาเข้าจริง วิธีการครอบงำความคิดผู้คนอาจหลากหลายและซับซ้อนกว่านั้น เช่น กลุ่มคนที่มีอำนาจอาจปล่อยให้บรรดาคนด้อยอำนาจ มีความคิด มีความฝัน มีจินตนาการได้ แต่ทำอย่างไร ความคิดจินตนาการดังกล่าวจึงจะตกอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ทางอำนาจอันไม่เท่าเทียมตลอดไป ทำอย่างไร คนมีอำนาจจึงจะขูดรีดจินตนาการของคนด้อยอำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพและแนบเนียนที่สุด

มีประโยคหนึ่งของเพื่อนเบน ซึ่งปรากฏขึ้นในวงสนทนาตอนท้ายๆ ของหนัง ที่พูดเปรียบเทียบไว้อย่างชวนคิดว่าขณะที่สหรัฐและจีนชอบทำตัวเป็น “ศูนย์กลางของโลก” พวกเกาหลี (ใต้) กลับมีนิสัยชอบคิดถึงคนอื่นๆ ก่อนเสมอ

ถ้าคิดตามนี้ คนที่มีอำนาจเหนือกว่า เข้าถึงทรัพยากรมากกว่า ก็อาจครอบงำจินตนาการคนข้างล่าง ด้วยการวางโครงสร้างทางความคิดให้คนที่ด้อยกว่าเหล่านั้น ต้องคิดนู่นคิดนี่ หรือประสาทแดกแทนพวกตน

กล่าวอีกอย่างคือ การขูดรีดทางจินตนาการและความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมจะยังดำเนินไปไม่สิ้นสุด ตราบใดที่คนด้อยอำนาจต่างรู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อนแทน (หรือเพราะ) ผู้มีอำนาจ แต่ฝ่ายหลังกลับไม่เคยทุกข์ร้อนแทนฝ่ายแรกในระดับเดียวกัน

อาการทำนองนี้ปรากฏชัดกับจงซู ภายหลังการหายตัวอย่างเป็นปริศนาของแฮมี และเมื่อเขาเริ่มสงสัย-เฝ้าติดตามกิจวัตรประจำวันของเบน

จงซูคิดถึงแฮมี เป็นห่วงแฮมี พยายามมอง/ทำความเข้าใจโลกในมุมแฮมี

เขาเริ่มคิดอะไรแทนเบน พยายามคาดการณ์พฤติกรรมที่น่าจะเป็นของเบน

จงซูคิดๆ ๆ ๆ ๆ หมกมุ่นๆ ๆ และทำสิ่งบ้าบอต่างๆ จนเลยเถิด เข้าขั้นคลั่ง

เท่ากับว่าเขาถูกสองคนนั้นครอบงำความคิดและจินตนาการไปโดยปริยาย

แต่เอาเข้าจริง การทำสงครามทางจินตนาการในกรณีนี้ ก็มิได้มีลักษณะ “บนลงล่าง” โดยเบ็ดเสร็จสมบูรณ์

อย่างน้อย เบนก็หันมาอ่านวรรณกรรมของ “วิลเลียม โฟล์คเนอร์” ตามรอยจงซู ไม่นับรวมพฤติกรรมอีก 1-2 อย่าง ที่บ่งชี้ว่าเขาก็พยายามจะอ่านความคิดหรือลองคิดอะไรแทนจงซูอยู่บ้างเหมือนกัน (แม้จะเพื่อความสนุกสนาน รื่นรมย์ แบบชิลๆ ก็เถอะ)

ที่สำคัญที่สุด คือ ครั้นจินตนาการที่ถูกขูดรีดถูกกดทับอยู่ในหัวของจงซูระเบิดตูมออกมา ผลลัพธ์ของมันกลับน่าสนใจและวอดวายเกินคาดคิด

เพราะอย่างน้อยจงซูก็ไม่ได้ร้อนรนอยู่ตัวคนเดียว แถมเขายังมิใช่คนถูกพระเพลิงเผาผลาญด้วยซ้ำ

ถ้าเราเชื่อว่าฉากสุดท้ายของหนังเป็นการกระทำ/ปฏิบัติการอันคลั่งแค้นที่เกิดขึ้นในโลกความจริง นี่ก็คือการล้มกระดานการทำสงครามทางความคิด แล้วหันมาลงมือโค่นเบนอย่างถอนรากถอนโคนด้วยปฏิบัติการอันจับต้องได้

แต่หากเราเชื่อว่าฉากสุดท้ายดังกล่าวเป็นเพียงความคิดฝันหรือการมโนของนักเขียนอย่างจงซู

นี่ก็ถือเป็นจินตนาการที่พวยพุ่งทะลุทะลวงกรอบเพดานชนิดเดิมๆ ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าของหมากบนเกม (ความคิด) กระดานเก่าเสียใหม่

“แฮมี” ในจินตนาการ

the great hunger

เอาเข้าจริง จงซูอาจมีหนทางพลิกเอาชนะเบนได้ทั้งในจินตนาการความนึกคิด และผ่านปฏิบัติการโหดเหี้ยมในโลกความจริง

แต่คนที่ยังสามารถขูดรีดจินตนาการของจงซูต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีทางถูกเขาโค่นล้ม ก็คือ “แฮมี” ผู้เลือกจะ (หรือถูกทำให้) ปลาสนาการไปซะเฉยๆ

การ “ไม่มีอยู่” ยิ่งทำให้ผู้หญิงอย่าง “แฮมี” ทรงอำนาจอย่างไร้จุดสิ้นสุด

สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ เมื่อหัวใจของจงซูถูกครอบงำโดย “แฮมี” แล้วหัวใจของมนุษย์คนอื่นๆ จะถูกครอบงำโดยคนอย่าง “แฮมี” ด้วยหรือไม่?

เราทุกคนล้วนมี “แฮมี” เป็นของตัวเองกันหรือเปล่า?

สำหรับผม “แฮมี” อาจมีฟังก์ชั่นไม่แตกต่างกับ “น้อยหน่า” ใน “แฟนฉัน” (เพียงแต่รายหลังดำรงอยู่ท่ามกลางภาวะซอฟต์ๆ ใสๆ ไร้มลพิษ)

คนอย่าง “แฮมี” คือเพื่อนเก่า/รักเก่า/ความทรงจำเก่า ที่มีชีวิตผุดขึ้นมาในหัวเราอยู่เสมอ และทำให้เราหมกมุ่นเสียเวลากับการคิดถึงเธอ (หรือเขา) ได้บ่อยครั้ง

“แฮมี” คืออดีตที่ติดตรึงฝังแน่นอยู่ในใจกลางความทรงจำ (ซึ่งรายล้อมด้วยองค์ประกอบ รางๆ เลือนๆ ถูกๆ ผิดๆ) เธอคืออดีตที่ครอบงำความคิดในปัจจุบัน และกำหนดควบคุมความใฝ่ฝันถึงอนาคตของเรา ไม่มากก็น้อย

“แฮมี” ไม่ได้ไร้ตัวตนจับต้องมิได้ถึงขนาดเป็น “แฟนในจินตนาการ” (เหมือนกับ “แมว/ส้มในจินตนาการ”) อย่างไรก็ดี พลานุภาพของเธอจะปรากฏชัดในความคิดจินตนาการหรืออาการหมกมุ่นครุ่นคิดของเรา มิใช่ในโลกความจริง

ด้วยเหตุนี้ “แฮมี” จึงต้องหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยดังเช่นหมู่ควัน

ถ้าเธอมีบทบาทโลดแล่นอยู่ในหนังไปเรื่อยๆ “แฮมี” อาจสร้างความหงุดหงิดให้แก่จงซูได้ไม่รู้จบ นอกจากก่นด่าเธอว่าเต้นระบำโป๊เปลือยเหมือนอีตัวแล้ว ชายหนุ่มอาจต้องอารมณ์เสียและตั้งคำถามว่าทำไมหญิงสาวเพื่อนเก่าถึงก่อหนี้สินมากมายและใช้จ่ายสิ้นเปลือง ทำไมเธอต้องไปศัลยกรรม หรือทำไมเธอถึงโกหกเก่ง (กว่าเขาซึ่งเป็นนัก –อยาก- เขียนนิยาย)

ถ้า “แฮมี” ยังปรากฏตัว เธออาจมีบทลงเอยเหมือนกับเบนก็ได้ ใครจะรู้

แต่พอ “แฮมี” ไม่มีอยู่ ในทางจินตนาการ จงซูจึงได้แต่เฝ้าคิดถึงโหยหาเธอ ส่วนในทางปฏิบัติการ เขาก็ทำได้มากที่สุดเพียงแค่การสำเร็จความใคร่ให้ตัวเอง (และคิดฝันว่า “แฮมี” กำลังยื่นมือมาสำเร็จความใคร่ให้ ขณะนอนเคียงข้างกันบนเตียงนอน)

ความสัมพันธ์ลักษณะนี้ ส่งผลให้ “แฮมี” สามารถครอบงำจงซูได้อย่างสัมบูรณ์ หรือในทางกลับกัน จงซูก็สามารถนำ “แฮมี” มาล้อมกรอบเป็นกรงกักขังตนเองได้อย่างอยู่หมัด

แม้ “แฮมี” อาจเป็นเพียงสตรีคนหนึ่งที่ผ่านเข้ามาแล้วก็ล่วงเลยไปในชีวิตเพลย์บอยของเบน

แต่คำถามน่าคิด คือ เบนจะมีคนอย่าง “แฮมี” ดำรงอยู่ในความคิดจิตใจของตนเองบ้างหรือไม่?

ดีไม่ดี หัวใจของเบนอาจถูกครอบงำเอาไว้ในอาการเดียวกับที่จงซูตกเป็นเบี้ยล่างของ “แฮมีในจินตนาการ”

พฤติกรรมเปลี่ยนผู้หญิงไปเรื่อยๆ ของเขา อาจเกิดขึ้นเพราะเบนสลัดไม่หลุดจากคนในอดีตบางราย คนที่ยึดกุมความทรงจำ-ความคิดของเขาได้อย่างเบ็ดเสร็จ

คนคนนั้นอาจเกาะกุมเหนี่ยวรั้งจินตนาการความใฝ่ฝันของเบนไว้อย่างแน่นหนา จนเขาไม่อาจปลงใจไปคบหาผู้หญิงอื่นๆ ได้อย่างจริงจัง

หากมองในแง่นี้ พวกเราหลายๆ คนก็อาจมี “แฮมี” อยู่ในห้วงคำนึงส่วนบุคคล

แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าเราต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของเธอ หากปล่อยให้เธอย่างกรายเข้ามาสู่พื้นที่ทางจินตนาการในหัวเรา แต่อีกมุมหนึ่ง เราก็อาจมีความสุขกับ (หรือหล่อเลี้ยงชีวิตได้ด้วย) สายสัมพันธ์รวดร้าวประเภทนั้น

โดยมิได้ต้องการจะมีปฏิสัมพันธ์กับเธอในโลกความเป็นจริงสักเท่าไหร่

คิดเล่นๆ เรื่อง “มี/ไม่มี” (ในเชิงรูปธรรม)

แมวบอยล์

นอกจากข้อถกเถียงหรือภาวะกำกวมเรื่อง “การมี/ไม่มีอยู่” จะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์-ความคิดเชิงนามธรรมดังได้กล่าวไปแล้ว

พอมานั่งคิดดูดีๆ เราจะพบว่าหนังยังเล่นกับประเด็นนี้ผ่านข้อเท็จจริงที่มีลักษณะรูปธรรมด้วย

หลายคนอาจติดใจกับวรรคทอง “เมื่อไม่มีน้ำตา ก็ไม่มีหลักฐานว่ามันคือความเศร้า”

แต่เอาเข้าจริง มีปรากฏการณ์จำนวนไม่น้อยใน Burning ซึ่งไม่ได้ดำรงอยู่ในลักษณะ “ไม่มี” ซ้อน “ไม่มี”

แต่มันดำรงอยู่อย่างลักลั่นกำกวมบนทางแยกระหว่าง “การมี” และ “การไม่มี” นี่แหละ

แรกๆ ตัวละครอย่างเบน เหมือนจะเป็น “the great Gatsby” ผู้หรูหราฟู่ฟ่าโดย “ไม่มี” ที่มามูลเหตุ แต่ท้ายสุด เราก็พบว่าเขา “มี” ครอบครัวชนชั้นกลางระดับสูงของตนเองเป็นแบ็คกราวด์สำคัญในการดำเนินชีวิต

จงซูใช้ชีวิตประหนึ่ง “ไม่มี” แม่ (ผู้ถูกเขาและพ่อร่วม “เผาผลาญ” เมื่อครั้งกระโน้น) แต่สุดท้าย เราก็พบว่าเขา “มี” แม่ (แถม “แม่” ยังอาจเป็นภาพสะท้อนของ “แฮมี” ได้ด้วยซ้ำ)

ผ่านคำบอกเล่าของผู้คน “บ่อน้ำที่แฮมีเคยพลัดตกลงไป” ก็ตกอยู่ในสภาวะก้ำกึ่งระหว่างการ “เคยมีอยู่” และการ “ไม่เคยมีอยู่”

โดยประสบการณ์ส่วนตัวของจงซู มันก็น่าฉงนสงสัยและติดใจมากๆ ว่า จริงๆ แล้ว “เจ้าแมวบอยล์” นั้น “มีตัวตน” หรือ “ไม่มีตัวตน” กันแน่

ในภาพกว้าง เบนอาจ “ไม่เคย” ตระหนักถึงปัญหาทางการเมืองระหว่าง “เกาหลีเหนือ-ใต้” แต่พอขับรถไปเยี่ยมบ้านจงซู เขาก็ได้รับฟังเสียงตามสาย ที่บ่งชี้ถึงการ “มีอยู่” ของปัญหาดังกล่าว

เช่นเดียวกับที่ครอบครัวอบอุ่นร่ำรวยกินดีอยู่ดีของเบนอาจ “ไม่เคย” หรือ “ไม่ค่อย” พูดคุยกันเรื่องประวัติศาสตร์บาดแผลทางการเมืองภายในประเทศ แต่จริงๆ แล้วภาพแทนของเหตุการณ์เหล่านั้นก็ “มีอยู่” ไม่ไกลจากสถานที่ที่พวกเขากำลังล้อมวงกินอาหารกัน

อย่างไรก็ดี สำหรับผม ยังมีตัวละครอีกหนึ่งรายที่น่าเกรงขาม/น่าค้นหากว่าแฮมีเสียอีก

ตัวละครรายนั้นคือ พี่สาวของจงซู ซึ่งเราพอจะรับรู้ว่าเธอ “มี” ตัวตนอยู่ผ่านคำบอกเล่าหรือบทสนทนาแวดล้อมประปราย แต่เธอกลับ “ไม่เคย” ปรากฏตนหรือแสดงบทบาทใดๆ ออกมาโดยเด่นชัด

เธอผู้นี้คงมีบาดแผลในใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจงซู สองพี่น้องคงเคยร่วมเป็นประจักษ์พยานของความปวดร้าวโหดร้ายต่างๆ มาด้วยกัน

คนชิดใกล้ที่แทบจะ “ไม่มีอยู่” เช่นเธอ อาจเป็นตัวละครรายหนึ่งที่เฉียดกรายเข้าใกล้ภาวะ “เมื่อไม่มีน้ำตา ก็ไม่มีหลักฐานว่ามันคือความเศร้า” มากที่สุด

ภาพประกอบ-คลิปจาก เพจเฟซบุ๊ก Documentary Club

ภาพนำจาก http://blog.asianwiki.com/korean-movies/international-posters-for-lee-chang-dong-directed-film-burning