(หมายเหตุ 1-2 ปีหลัง ผมจะเขียนบันทึกสั้นๆ ถึงหนังที่ได้ดูไว้ในเฟซบุ๊กส่วนบุคคล แต่ไม่ได้ตั้งค่าเปิดเผยต่อสาธารณะ ปีนี้ เลยอยากทดลองนำบางส่วนของโน้ตเหล่านั้นมาปรับปรุงและเผยแพร่ในวงกว้างผ่านบล็อก อย่างไรก็ตาม สำหรับหนังเรื่องไหนที่ผมชอบมากและสามารถเขียนวิเคราะห์วิจารณ์ยาวๆ ได้ ก็จะนำไปแยกเขียนเป็นชิ้นงานต่างหากเหมือนที่เคยทำครับ)
Spider-Man: Into the Spider-Verse
หนังสนุกและน่าสนใจดี แม้จะยังรู้สึกว่าถ้าประเด็นหลักของหนังคือการชู “พหุนิยม” หนังก็ยังแค่แตะๆ ประเด็นดังกล่าว และคลี่คลายมันอย่างง่ายๆ
แต่อีกด้านหนึ่ง ก็รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เข้าท่าดีเหมือนกัน ที่แสดงให้เห็นว่า “สไปเดอร์แมน” จากจักรวาลที่หลากหลาย อาจไม่ได้มารวมตัวปฏิบัติภารกิจยิ่งใหญ่ร่วมกันเพื่อคุณค่าอย่างอื่น นอกเสียจากการปกป้องผลประโยชน์เฉพาะ/จักรวาลของตนเอง ก่อนที่ทั้งหมดจะแยกย้ายกลับบ้านใครบ้านมัน
มองแง่นี้ “พหุนิยม” ใน Spider-Man: Into the Spider-Verse จึงคล้ายจะเป็น “ความหลากหลาย” ของใครของมัน มากกว่าเป็นความพยายามจะเรียนรู้ในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ “ความหลากหลาย” อย่างจริงจัง
ไปๆ มาๆ ส่วนที่ผมชอบสุดในหนัง ดันกลายเป็นการ์ตูนแถมท้ายหลังเอ็นด์เครดิต ที่อำว่าพอ “สไปเดอร์แมน” จากสองจักรวาลต้องมาอยู่ในโลกเดียวกันและปฏิบัติภารกิจร่วมกันจริงๆ พวกมันก็ทะเลาะกันก่อนจะลงมือทำงาน 555
Glass
ระหว่างดูหนังเรื่องนี้จะนึกถึงหนังสือคลาสสิก Islands of History ของนักมานุษยวิทยาอาวุโส Marshall Sahlins
สาระสำคัญของหนังสือเล่มนั้น คือ ด้านหนึ่ง กระบวนการและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ก็ถูกกำหนดกรอบไว้แล้วโดยโครงสร้างเรื่องเล่าของแต่ละวัฒนธรรม แต่อีกด้าน โครงสร้างทางวัฒนธรรมเหล่านั้นก็มีโอกาสจะเปลี่ยนแปลงในทุกๆ สถานการณ์ ที่โครงสร้างถูกแปรไปเป็นปฏิบัติการในโลกแห่งความจริง โดยตัวแสดง/มนุษย์ผู้กระทำการ ที่ผันแปรเปลี่ยนหน้าไป
ในกรณีของ Glass ด้านหนึ่ง หนังเกือบทั้งเรื่อง (รวมถึงเรื่องอื่นในไตรภาคนี้) ก็ดำเนินไปตามกรอบ/โครงสร้าง/เรื่องเล่าของ “หนังสือการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่” ซึ่งแน่นอน มันต้องปะทะกับโครงสร้าง/เรื่องเล่ากระแสหลัก (ของรัฐหรือชนชั้นนำ) ที่พยายามหักล้างกลบเกลื่อนการอธิบายโลกที่มีความสมเหตุสมผลในเรื่องเล่าแบบการ์ตูน
(ก็คล้ายๆ กับการอธิบายมรณกรรมของ “กัปตันคุ้ก” ที่มองผ่านโครงสร้างตำนานเรื่องเล่าพื้นบ้านของฮาวายก็ได้ หรือจะมองด้วยสายตาเจ้าอาณานิคม/คนท้องถิ่นในยุคหลังอาณานิคมก็ได้)
สุดท้าย พอเรื่องเล่าสองแบบจากสองโลกมาปะทะกัน อะไรต่อมิอะไรก็เลยดำเนินไปไม่เหมือนในหนังสือการ์ตูน (หรือโครงสร้างเรื่องเล่าแบบใดแบบหนึ่ง) เสียทีเดียว ตัวแสดงในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ซึ่งกรณีของหนังเรื่องนี้ คือ Mr.Glass จึงต้องพลิกแพลงแผนการ/โครงเรื่องเสียใหม่
อย่างไรก็ตาม หนังยังพยายามอธิบายยืนกรานในตอนท้ายสุดว่า กระทั่งการพลิกแพลงนั้น ก็ดำรงอยู่หรือถูกกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว ภายใต้โครงสร้างเรื่องเล่าของการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่
แช่ง
โดยส่วนตัว ชอบสองตอนแรกเหมือนเพื่อนๆ หลายคน อย่างไรก็ดี ผมยังชอบประเด็นหลักของตอนสามด้วย (แต่ไม่ชอบองค์ประกอบอื่นๆ และบริบทรายรอบของมัน)
ตอนแรก (วิปลาส) ผมชอบการปะทะกันระหว่างศาสนาคริสต์ คนจีน ความเป็นไทย (“ไทยแท้” ผ่านคณะนาฏศิลป์ และ “ไทยแบบชาวบ้าน”) ณ พื้นที่ชายขอบ
องค์ประกอบทั้งหลายเหล่านั้นทำให้นึกถึงหนังเรื่อง “สาบเสือที่ลำน้ำกษัตริย์” (ซึ่งสำหรับผม คือ งานชั้นดีลำดับสุดท้ายของอาบัณฑิต ฤทธิ์ถกล)
นอกจากนี้ ลูกเล่นเรื่องแผ่นเสียง/การบันทึกเสียงสมัยใหม่ ที่กลายเป็นสื่อกลางของคำสาปแช่งก็ “เข้าท่า” และน่ากลัวดี
ผมชอบตอนสอง (แทททู) เพราะรู้สึกว่ามันมีบรรยากาศและโครงสร้างเรื่องราวเป็น “มิติมืด” สำหรับทศวรรษ 2560
ตามการตีความของผม หนังตอนนี้ก็ยังนำเสนอภาพการปะทะกันระหว่างโลกสองใบที่แตกต่าง คล้ายคลึงกับหนังตอนแรก
นั่นคือการเผชิญหน้าระหว่างความเชื่อเรื่อง “โจ” เครื่องรางของขลังแถบภาคใต้ กับสังคมเมืองสมัยใหม่ใน กทม. โดยมีมนุษย์ตัวเล็กๆ สองคน และภาวะเสื่อมทรุดทางจิตวิญญาณของพวกเขา ตกร่องอยู่ตรงหว่างกลาง
ตอนสาม (คำแช่ง) จริงๆ ชอบประเด็นหลักว่าด้วยความทรงจำที่สลัดไม่หลุดหรือความทรงจำที่ครอบงำปัจจุบันเอาไว้ (ซึ่งนี่เป็นประเด็นเดียวกันกับแก่นเรื่องของหนังเอเชียร่วมสมัยชั้นดี เช่น Burning หรือ Long Day’s Journey into Night เลยด้วยซ้ำ)
จึงน่าเสียดายที่องค์ประกอบอื่นๆ มันเละเทะย่อยยับไปหมด
ในแง่ภาพรวมของ “แช่ง” ผมเห็นด้วยกับคุณฟิล์มซิก ที่วิเคราะห์ว่าหนังทั้งสามตอน นำเสนอขั้นตอนการถูกกระทำ/ลุกขึ้นสู้ของลูกผู้หญิง จากเหยื่อที่พ่ายแพ้ ไปสู่เหยื่อที่พยายามต่อสู้ต่อรอง และสุดท้าย กลายเป็นฝ่ายใช้อำนาจในทางที่ผิดเสียเอง
นอกจากนี้ ผมยังรู้สึกชอบไอเดียที่หนังพยายามเสนอว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนกับผี/ไสยศาสตร์นั้น ต้องมี “วัตถุสิ่งของ” อะไรบางอย่างเป็นสื่อกลาง ตั้งแต่แผ่นเสียง, เครื่องรางปกป้องข้าวของ จนถึงสมุดบันทึก
1 Comment