ท่องเทศกาลหนังสิงคโปร์ 2018

เดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีโอกาสไปท่องเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์เป็นหนที่สอง

เลยถือโอกาสนำบันทึกซึ่งเขียนถึงหนังเรื่องต่างๆ ที่ได้ดู มาเผยแพร่ในบล็อกนี้ครับ (ยกเว้น “กระเบนราหู” ที่จะเขียนแยกเป็นอีกโพสต์หนึ่ง ช่วงหลังปีใหม่ 2562)

Season of the Devil (ลาฟ ดิแอซ)

season of the devil

หนึ่ง งานของลาฟที่ได้ดูก่อนหน้านี้ คือ A Lullaby to the Sorrowful Mystery ซึ่งหนังเรื่องนั้นกับเรื่องนี้ดูจะเชื่อมโยงถึงกันพอสมควร อย่างน้อย ก็ได้แก่เรื่องบทบาทของ “เพลง/กวี” ในการต่อสู้ทางการเมือง และการกล่าวถึงโปรเจ็คท์การต่อสู้ปลดแอกทางการเมืองที่ไม่มีวันสิ้นสุด

สอง ตามข้อมูล นี่คือ “หนังเพลง” ที่ตัวละครหลักๆ ร้องเพลงกันแทบทั้งเรื่องตลอดเวลาสี่ชั่วโมง โดยมีบทสนทนาปกติน้อยมาก แต่เมื่อเพลงในหนังไม่มีเสียง (เครื่อง) ดนตรีประกอบ หากเป็นการเอื้อนเอ่ยคำด้วยน้ำเสียงสูงต่ำราวท่วงทำนองดนตรีจากปากมนุษย์ เพลงต่างๆ ของหนังเรื่องนี้ จึงมีลักษณะโน้มเอียงไปทางบทกวีมากพอสมควร (ขณะเดียวกัน พระเอกของเรื่องก็เป็นกวีด้วย)

สาม ตามการตีความส่วนตัว ลาฟพยายามฉายภาพการต่อสู้ระหว่างอำนาจเผด็จการกับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและเพรียกหาความจริงของพลเมือง ผ่านการปะทะกันระหว่าง “เพลง/กวี” ของทหาร/กองกำลังติดอาวุธของรัฐบาล กับ “เพลง/กวี” ของประชาชนที่ลุกขึ้นสู้ และถึงที่สุด ทั้งสองฝ่ายต่างก็สร้าง myth มาห้ำหั่นกัน

ดังจะเห็นได้ว่า ต่างฝ่ายต่างจะมีตัวละครที่เป็นเหมือน “บุคคลในจินตนาการ” หรือ “บุคลาธิษฐาน” ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมอุดมการณ์หรือถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจของพวกตน

สี่ แต่อีกด้าน พอถึงช่วงหลังๆ ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า การที่หนังเลือกห่อหุ้มตัวเองด้วย “เพลง/กวี” นั้น มันทำให้ความขัดแย้งระหว่างตัวละครสองกลุ่มที่ควรจะแหลมคมรุนแรงกว่านี้ กลับอ่อนโยนและมีลักษณะเหนือจริงเกินไปหรือเปล่า?

ห้า อีกประเด็นที่ระหว่างดูจะรู้สึกอึดอัดหน่อยๆ คือ เหมือนลาฟจะเล่าเรื่องราวแบบย้ำคิดย้ำทำพอสมควร ผ่าน “เพลง/กวี” ชิ้นเดิมที่ถูกผลิตซ้ำเรื่อยๆ และโครงสร้างเรื่องราวที่หมุนวนเป็นวงกลม แต่พอถึงฉากจบ ก็พบว่าสิ่งที่เขาเลือกทำมันส่งผลกระทบหนักหนาสาหัสต่ออารมณ์คนดูไม่น้อย

หก ถ้าใครได้ดูหนัง หลังเดินออกมาจากโรงภาพยนตร์/สถานที่จัดฉาย คงจะต้องมีเสียงร้อง “ลา ลา ล้า ลา หล่า หล่า ลา ลา ล้า ลา ลา” ติดหัวมาบ้างล่ะ

The Ashes and Ghosts of Tayug 1931 (คริสโตเฟอร์ โกซัม)

the ashes of ghosts

หนังเล่าเรื่องราวชีวประวัติของ “เปโดร คาโลซ่า” ซึ่งเป็นคล้ายๆ ผู้นำกบฏชาวนา/ผีบุญของฟิลิปปินส์ ผ่านเหตุการณ์สามช่วงเวลา คือ ปี 1931, 1966 และ 2017

ปี 1931 เปโดรถูกเนรเทศออกมาจากฮาวาย โทษฐานไปก่อตั้งสหภาพแรงงานที่นั่น พอกลับมาบ้านเกิด เขาก็ไปนำขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านอเมริกา โดยอิงกับความเชื่อทางคริสตศาสนาแบบท้องถิ่น จนก่อให้เกิดการลุกฮือครั้งสำคัญ ซึ่งเป็นเหมือน “ชัยชนะของคนแพ้” คือ บรรดาแกนนำถูกจับ ชาวบ้าน/ชาวนาที่ร่วมเป็นกบฏถูกฆ่าตายหลายราย (ชาวเมืองไม่ร่วมมือกับกบฏ) แต่ก็สร้างแรงบันดาลใจแก่นักต่อสู้รุ่นต่อมา

ปี 1966 (ยุคมาร์กอสเพิ่งขึ้นมามีอำนาจ) มีนักวิชาการสองคนเดินทางขึ้นเขาไปสัมภาษณ์เปรโด ถึงการลุกฮือเมื่อกว่าสามทศวรรษก่อน ก่อนที่ในอีกหนึ่งปีต่อมา เขาจะถูกสังหารอย่างทารุณโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ปี 2017 ผู้กำกับภาพยนตร์หญิงคนหนึ่ง (เป็นตัวละครสมมุติ) พยายามสร้างหนังเกี่ยวกับเปโดร โดยเธอได้ตระหนักว่าเรื่องราวของเขาคือความทรงจำที่เลือนหายไปจากการรับรู้ของผู้คนรุ่นหลัง เขาคือวีรบุรุษผู้ถูกหลงลืม

ระหว่างดูจะรู้สึกว่าช่วงเวลาของหนังนั้นคาบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองหน้าสำคัญๆ ของบ้านเราพอดี

ปี 1931 ก็ใกล้เคียงกับเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ส่วนปี 1966 ก็คือยุคสงครามเย็นหรือสงครามปราบคอมมิวนิสต์ (ในหนังระบุว่าพรรคคอมมิวนิสต์มาชักชวนเปโดรเข้าร่วมต่อสู้ แต่เขาไม่ได้ตอบตกลง)

โดยส่วนตัวจะรู้สึกว่าพาร์ทเรื่องราวภาคปัจจุบันของหนังนั้น แสดงอาการผิดหวังฟูมฟายกับการหลงลืมประวัติศาสตร์ของคนยุคปัจจุบันมากเกินไปหน่อย

อย่างไรก็ดี จุดเด่นสุดๆ ของหนังเรื่องนี้อาจมิใช่เนื้อหา แต่อยู่ตรงรูปแบบการนำเสนอ หนังตัดสลับเหตุการณ์สามช่วงเวลาไปมา โดยเหตุการณ์ปี 1931 ถูกนำเสนอในลักษณะ “ภาพยนตร์เงียบ” เหตุการณ์ปี 1966 จะเลียนพวก “หนังสารคดีชาติพันธุ์นิพนธ์” ส่วนเหตุการณ์ปี 2017 จะเป็นการนำภาพนิ่งมาร้อยเรียงกันโดยมีเสียงวอยซ์โอเวอร์ของตัวละครผู้กำกับหญิงคอยบรรยายประกอบ

ผู้กำกับอธิบายว่ารูปแบบการนำเสนอสามประเภทจะล้อไปกับลักษณะเด่นของภาพยนตร์ (หรืออาจจะเรียกได้ว่า visual culture) ในยุคนั้นๆ

กรณีเหตุการณ์ช่วงปัจจุบัน เขาก็อ้างอิงไปถึงวัฒนธรรมการถ่ายรูปในยุคดิจิทัล (ถ้าให้ผมอธิบายเพิ่มเติม คือ มันมีการนำเสนอในลักษณะเซลฟี่นิดๆ เพราะแม้จะออกเดินทางตามหาความทรงจำว่าด้วยวีรบุรุษผู้ถูกลืม แต่คนที่มีรูปเยอะสุดในพาร์ทนี้ ดันเป็นตัวละครผู้กำกับหญิง 555)

Long Day’s Journey into Night (ไป๋กัน)

long day

ไม่ได้ดูรู้เรื่องทั้งหมด และระหว่างดูก็ต้องปะติดปะต่อเรื่องราวในหัวตัวเองอยู่เป็นระยะๆ

ประเด็นหลักๆ มันน่าจะเป็นการเดินทางย้อนกลับไปทบทวนความทรงจำ/อดีตของชายวัยกลางคนรายหนึ่ง ที่มีต่อรักเก่า/เพื่อนเก่า ท่ามกลางภาวะปัจจุบันที่เปลี่ยวเหงาว่างเปล่า

ซึ่งถ้าประเด็นหลักเป็นอย่างนี้จริงๆ ผมก็จะ “อิน” กับมันในระดับสูงเลย (ด้วยเหตุผลส่วนตัวบางอย่าง)

ครึ่งแรก หนังทำตัวเป็นโร้ดมูฟวี่, ภาพยนตร์สืบสวนสอบสวน ที่พระเอก ซึ่งเป็นนักเลงใหญ่คุมกาสิโน หวนกลับมาบ้านเกิด หลังพ่อของเขาเสียชีวิต ที่นั่นเขาได้พบรูปถ่าย ซึ่งนำไปสู่การพยายามแกะรอยสืบหาผู้หญิงคนหนึ่ง ว่าปัจจุบัน เธอไปอยู่ไหน ทำอะไร มีชีวิตอย่างไร

แต่หนังก็พาคนดูเดินทางไปพบกับความคลุมเครือ ภาวะสับสนระหว่างความจริงกับความไม่จริง ความทรงจำที่ดำรงอยู่เป็นห้วงๆ และดำเนินไปอย่างกระท่อนกระแท่น

หนังไม่ฟันธงชี้ชัดว่า “หญิงสาว” ที่พระเอกได้พบเจออีกครั้ง คือ บุคคลที่เขาตามหาจริงๆ หรือเปล่า หรือสุดท้าย เขาทำได้เพียงแค่จวนจะเจอเธอ แต่เธอที่เจอก็ไม่ใช่ตัวจริง กระทั่งต้องปล่อย “เธอ” หลุดหายเข้าไปในปล่องโพรงลึกลับซับซ้อนของความทรงจำครั้งแล้วครั้งเล่า

จุดหักเหหรือจุดไคลแม็กซ์ซึ่งพาหนังไปสู่ครึ่งหลังอันน่าตื่นตา ก็คือการหลุดเข้าไปสู่โลกภาพยนตร์สามมิติ

น่าสนใจว่า ก่อนหน้านั้น ตัวละครได้พูดเปรียบเทียบ “หนัง” กับ “ความทรงจำ” ไว้ว่าในขณะที่ “ความทรงจำ” มีทั้งเรื่องจริงและไม่จริงปนเปกันไป แต่ทุกอย่างในหนังคือสิ่งไม่จริง

นอกจากนั้น เรื่องราวของหนังในภาคสามมิติ ก็เป็นเหมือนภวังค์ฝัน ซึ่งขับเคลื่อนผ่านระลอกของเหตุการณ์เหนือจริงห้วงแล้วห้วงเล่า

อย่างไรก็ดี น่าตลกร้ายว่า “ความไม่จริง” และ “ความฝัน” ดังกล่าว กลับถูกนำเสนอด้วยภาพสามมิติ ซึ่งแลดู “สมจริง” กว่า (หนังสองมิติ) เดิม

โดยส่วนตัว จุดน่าสนใจซึ่งเข้าท่าดีของพาร์ทสามมิติในหนัง คือ มันแสดงให้เห็นถึงวิธีการฉายภาพหรือเล่าเรื่องราวว่าด้วย “ความทรงจำ-ความฝัน” ที่เปลี่ยนแปลงไป

ก่อนหน้านี้ เราอาจมีกลวิธีบางอย่างในการเล่าถึงองค์ประกอบดังกล่าวผ่านสื่อเดิมๆ เช่น หนังสือนิยายหรือภาพเคลื่อนไหวสองมิติ

แต่เราไม่มีทางที่จะพูดถึงความลี้ลับพิศวงของ “ความทรงจำ-ความฝัน” ผ่านเทคโนโลยี 3D แน่ๆ

อีกรายละเอียดหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ ความเปรียบตอนท้ายๆ เรื่อง เมื่อพระเอกมอบ “นาฬิกา” ให้สตรีปริศนา ส่วนเธอมอบ “ไฟเย็น” ให้เขาเป็นการแลกเปลี่ยน

“นาฬิกา” หมายถึงภาวะอันเป็นนิรันดร์ (น่าเสียดายที่มันพัง) ส่วน “ไฟเย็น” คือ ภาวะที่เกิดขึ้นชั่วครั้งคราวเพียงประเดี๋ยวประด๋าว

เมื่อนำนัยยะความหมายของทั้งสองสิ่งมารวมกัน มันก็คงคล้ายคลึงกับพันธกิจของพระเอกในหนังเรื่องนี้ นั่นคือ การเดินทางไปทบทวนความทรงจำแหว่งวิ่นที่ติดตรึงอยู่ในใจจนยากลบเลือน ทว่าบ่อเกิดแห่งความทรงจำนั้น กลับเป็นเพียงสายสัมพันธ์สว่างไสวระยะสั้นๆ ซึ่งวูบดับลับหายไปจนหมดสิ้นแล้ว

The Chambermaid (ลิล่า อาวิเลซ)

chambermaid

อาจไม่ใช่หนังดีมากๆ หรือเจ๋ง/แปลกใหม่แบบสุดๆ

แต่เผลอๆ นี่อาจเป็นหนังที่ผมชอบมากที่สุดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ปีนี้ และอาจเป็นหนึ่งในหนังที่ชอบมากๆ ในรอบปี 2561 ด้วย

หนังเล่าเรื่องของแม่บ้านทำความสะอาดห้องพักในโรงแรมหรู วัย 24 ปี ซึ่งมีลูกชายวัย 4 ขวบ แต่เธอว่าจ้างให้คนอื่นมาช่วยเลี้ยง เพราะไม่มีเวลามากพอ (ส่วนพ่อเด็กนั้น หนังไม่กล่าวถึง)

หนังพาเราไปพบกับบรรดาแขกบนชั้น 21 (ซึ่งตัวละครนำดูแลอยู่) ที่มีบุคลิกหลากหลาย และมีความแปลกประหลาดผิดเพี้ยนกันไปคนละอย่างสองอย่าง (ออกแนว “หลายชีวิตในโรงแรมใหญ่”) หรือแขกบางคนก็ไม่ปรากฏกายออกมาเลย แต่มีความสำคัญต่อจิตใจคุณแม่บ้านมิใช่น้อย

พร้อมๆ กันนั้น หนังก็ค่อยๆ คลี่คลายให้เราเห็นมิติซับซ้อนของชีวิตตัวละครนำ ผ่านสถานการณ์เล็กๆ น้อยๆ นานาประการ

ตั้งแต่ฉากที่เธอโทรศัพท์ไปคุยกับลูกและคนเลี้ยงลูก (หรือฉากที่เธอไปรับจ๊อบเลี้ยงเด็กเล็ก ซึ่งเป็นลูกของแขกโรงแรมคนหนึ่ง ระหว่างที่แม่ของเด็กอาบน้ำ)

ฉากที่เธอเล่นบทพ่อแง่แม่งอนกับเพื่อนร่วมงานเพศชาย (พนักงานทำความสะอาดกระจก) ซึ่งเข้ามาจีบเธอ อันนำไปสู่โมเมนต์สำคัญของหนัง ที่ทำให้ฉากระหว่างอนันดา-พรทิพย์ใน “พลอย” ของเป็นเอก แลดูจิ๊บๆ ไปเลย

ฉากที่เธอไปเรียนหนังสือภาคค่ำ และได้ทำความรู้จักกับเพื่อนพนักงานใหม่ๆ

ตลอดจนการพยายามไต่เต้าและความมุ่งมาดปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมของเธอ ผ่านการเฝ้าทวงถามเรื่องการได้สิทธิถือครองชุดราตรีที่มีลูกค้าลืมไว้ หรือความต้องการจะเลื่อนขั้นเลื่อนระดับในการทำงาน

หนังเล่าเรื่องราวเหล่านี้ไปอย่างเรียบเรื่อยทว่าเพลิดเพลิน และบทจะต้องเร้าอารมณ์ มันก็เร้าขึ้น

โดยรวมๆ โลกของตัวละครนำเหมือนจะรื่นรมย์อยู่บ้าง แต่สุดท้ายก็หนักไปทางอมทุกข์มากกว่า

อย่างไรก็ตาม หนังไม่ได้ทำแค่แสดงความเห็นใจหรือเอาใจช่วยเธอ แต่หนังยังขับเน้นให้เห็นถึงความตึงเครียด, การหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง, การไม่มีเพื่อน และความทะเยอทะยานที่เกินขีดไปบ้างจนน่าหวั่นกลัวของตัวละครรายนี้

(พูดง่ายๆ ลักษณะนิสัยเฉพาะของเธอได้ผลักไสให้ชีวิตที่ต้องดิ้นรนหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว มีความทุกข์ยากขึ้นไปอีก)

บทสรุปของหนัง “เจ๋ง” และ “เหวอ” พอสมควร กล่าวคือ เมื่อคุณแม่บ้านตัวละครนำแกเลื่อนไปเป็นพนักงานระดับดีเลิศประจำ “ชั้นหรู” ไม่ได้เสียที (แถมยังคล้ายจะโดนหักหลังนิดๆ โดยเพื่อนใหม่ด้วยซ้ำ) สิ่งที่เธอทำ จึงได้แก่การทดลองสลับสับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเองจากแม่บ้านทำความสะอาดไป (เลียนแบบ/สวมรอย) เป็น “แขกโรงแรม” ดูบ้างซะเลย

ป.ล.

ขณะเดียวกัน ผมก็ชอบรายละเอียดเล็กๆ จำนวนหนึ่งในหนัง เช่น การฉายภาพให้เห็นว่าเวลาแขกมันทำห้องพักในโรงแรมเละนั้น มันเละเทะได้ถึงขั้นไหน

หรือหนังจะเน้นให้เห็นว่าตัวละครนำเธอเป็นคน “มือหนัก” ระดับที่ขัดส้วมได้สะอาดเอี่ยม แต่ไอ้อาการมือหนักนั้น ก็ลามไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย ตั้งแต่เวลาเธออาบน้ำ หรือเวลาเธอแอบหยิบจับข้าวของของแขกขึ้นมาดู

ตัวละครสมทบอีกรายที่น่าประทับใจ ได้แก่ คุณป้าที่คอยทำหน้าที่กดลิฟท์โดยสารให้บรรดาพนักงาน แกเล่าว่าตัวเองก็เคยเป็นแม่บ้านทำความสะอาดห้องพักมาก่อน แต่เพราะมีปัญหาด้านร่างกายจากการปฏิบัติงาน จึงต้องมารับหน้าที่นี้ อีกรายละเอียดที่น่าสนใจดี คือ ระหว่างต้องยืนขึ้นๆ ลงๆ พร้อมลิฟท์ คุณป้าจะชอบอ่านหนังสือฆ่าเวลาไปด้วย

Our Time (คาร์ลอส เรย์กาดาส)

our time

อาจไม่ได้ชอบมันมาก ไม่ได้เข้าใจมันมาก (มีวูบหลับไปเล็กน้อย ตื่นมาต้องปะติดปะต่อเรื่องราวอยู่พักใหญ่)

แต่ถึงที่สุด รู้สึกว่าหนังมันทะเยอทะยานดี

ในแง่เรื่องราว หนังเล่าถึงชีวิตคู่/ครอบครัวที่มีปัญหาระหองระแหงทางความสัมพันธ์ (การนอกใจ) หรืออาจกล่าวได้ว่า นี่คือหนังว่าด้วยปัญหาความรัก-ปัญหาชีวิตของกวี (ระหว่างดูจะนึกถึงหนังหลายๆ เรื่องของวูดดี้ อัลเลน)

นี่จึงเป็นเรื่องราวว่าด้วย “โลกส่วนตัว” ของปัญญาชนที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร

แต่ “โลกส่วนตัว” หรือเรื่องราวส่วนบุคคลเล็กๆ กลับถูกนำเสนอผ่านหนังที่ยาวกว่า 3 ชั่วโมง เต็มไปด้วยรายละเอียดยุบยิบ เล่นใหญ่ มากมาย

หลายๆ ซีนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเส้นเรื่องหลักมากนัก ถูกนำเสนออย่างวิจิตรบรรจง ละเอียดลออ เช่น ฉากการแสดงดนตรีคลาสสิก ฉากขับรถยนต์ของนางเอก ที่ค่อยๆ เจาะลึกไปถึงระบบเครื่องยนต์กลไกของรถ ฉากเปิดเรื่องว่าด้วยความสุขสดใสอันงดงามของวัยเยาว์ หรือฉากปิดเรื่องว่าด้วยการเอาตัวรอดหรือความโหดร้ายในระบบแพ้คัดออกของธรรมชาติ

ด้านหนึ่ง เราอาจตั้งคำถามได้ว่า ทำไมหนังเรื่องนี้ต้องถูกนำเสนอออกมาอย่างอลังการเป็นมหากาพย์ขนาดนั้น?

แต่อีกด้าน ก็อาจถามกลับได้เช่นกันว่า ทำไมเราถึงจะเล่าเรื่องราวความรัก ชีวิตครอบครัว ผุๆ พังๆ ของคนธรรมดา ให้เป็นมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ ไม่ได้ล่ะ?

Graves Without a Name (ฤทธี ปานห์)

graves without a name

หนังใหม่ของฤทธี ปานห์

สิ่งที่ชอบ คือ เหมือนหนังจะนำเสนอว่ามันมีวิธีวิทยาและญาณวิทยาที่หลากหลาย ในการเข้าถึงความจริงและความทรงจำบาดแผลยุคเขมรแดง

แน่นอน วิธีการหนึ่งที่จำเป็นต้องมี คือ การสัมภาษณ์แบบ talking head บรรดาผู้ที่เคยอยู่ร่วมเหตุการณ์ในครั้งนั้น

ซึ่งชาวบ้านตัวเล็กๆ ที่ถูกสัมภาษณ์ ก็มีบทบาททั้งในฐานะ “ผู้กระทำการ” คือ เคยเข้าร่วมกับเขมรแดงอย่างกระตือรือร้น และ “ถูกกระทำ” กล่าวคือ แม้ชาวชนบทเช่นพวกเขาจะไม่ถูกทำร้ายทรมาน แต่หลายคนก็ตระหนักว่า ภายหลังความตายของผู้คนชาวเมืองที่ร่ำรวยจำนวนมากมาย ก็ไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้น ความเท่าเทียมที่เคยหวังไม่ปรากฏ หรือสุดท้ายแล้ว พวกเขาโดนหลอกนั่นเอง

(ชาวบ้านคนหนึ่งพูดปลงๆ ทำนองว่า ถ้าพื้นโลกมันไม่ “ราบเป็นหน้ากลอง” ความเท่าเทียมก็ไม่มีอยู่จริงหรอก)

การสัมภาษณ์ “ผู้กระทำการ/ผู้ถูกกระทำ” ในหนังเรื่องนี้ให้ผลลัพธ์ที่ตื้นตันชวนฉุกคิดดีอยู่เหมือนกัน แม้จะไม่ได้บีบคั้น กดดัน ทารุณ เท่ากับงานของ “โจชัว ออพเพนไฮเมอร์” ในกรณีฝ่ายขวาอินโดนีเซีย

แต่สิ่งที่ผมตื่นตาตื่นใจจริงๆ กลับเป็นเนื้อหาในส่วนของการติดต่อวิญญาณคนตาย/เหยื่อผู้เสียชีวิต และการเสาะแสวงหาร่องรอยของพวกเขา (ซึ่งไม่ใช่กระดูกหรือร่างแท้จริงด้วยซ้ำ) ผ่าน “ไสยศาสตร์”

ซึ่ง “ไสยศาสตร์” ในหนังก็มีหลากหลายมาก ตั้งแต่พิธีกรรม “การเกิดใหม่” แบบพุทธ-ผี, การเข้าทรง, การนั่งทางใน หรือการตั้งไข่ เพื่อสื่อสารกับวิญญาณ

ปานห์จึงกำลังบอกคนดูว่า การเข้าถึง “ความจริง” และ/หรือ “ความทรงจำ” นั้นมีหลายแบบ และบางที “ความจริง” ที่เยียวยาเราอาจจะ “ไม่จริง” ก็ได้

ดุจเดียวกับ “ก้อนหิน” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เขาใช้สื่อแทน “กระดูกผู้วายชนม์”

ดังนั้น จุดเด่นของหนังสารคดีเรื่องนี้ จึงได้แก่ สารที่บอกว่าการเดินทางเสาะแสวงหาสัจจะทางการเมืองนั้น มีมิติเรื่อง “จิตวิญญาณ” ดำเนินคู่ขนานกันไป

บ่อยครั้ง มิติอย่างหลังกลายเป็นสิ่งที่ช่วยปลดปล่อย หรืออย่างน้อยก็ผ่อนคลายเรา จากพันธะหนักอึ้งของอดีตและความทรงจำ

1 Comment

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.