เมื่อถึงวาระสิ้นสุดปีเก่า-ขึ้นปีใหม่ จึงขออนุญาตสรุปสิ่งที่ชอบเกี่ยวกับ “สังข์ทอง 2561” มาประมาณห้าข้อ แม้ละครจะยังไม่อวสานใน พ.ศ.2561 ก็ตาม
หนึ่ง เจ้าเงาะ
ตอนแรกที่ทราบว่า “ปอนด์ โอภาภูมิ ชิตาพัณณ์” จะมาสวมบท “เจ้าเงาะ” ก็อดกังขาและกังวลแทนไม่ได้ว่าเขาจะรับบท “ตัวตลก” ได้ดีแค่ไหน?
แต่เรตติ้งสูงลิ่วของละคร “สังข์ทอง 2561” ในช่วงที่ “เจ้าเงาะ” (ยึดจอ) ปะทะท้าวสามนต์-หกเขย-หกพระพี่นาง คงเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าปอนด์ โอภาภูมิ สามารถสวมบทเงาะป่าบ้าใบ้ได้ยอดเยี่ยมเพียงใด
ในแง่วิธีการแสดงบทตลก ปอนด์อาจไม่เหมือนกับรุ่นพี่อย่าง “ผู้กำกับหนำเลี้ยบ” หรือบรรดาดาวตลกที่มีพื้นฐานมาจากนาฏศิลป์พื้นบ้านอื่นๆ เสียทีเดียว ขณะเดียวกัน เขาก็มีเรือนร่างที่กำยำผิดจากนักแสดงตลกรุ่นพี่
อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์ของ “เจ้าเงาะ” ฉบับปอนด์ โอภาภูมิ ยังคงสื่อถึงภาวะพลิกหัวกลับหางของอำนาจ หรือการยั่วล้อต่ออำนาจ ได้อย่างแหลมคม เฉกเช่นผลงานของนักแสดงตลกในละครจักรๆ วงศ์ๆ ผู้มาก่อนหน้า
สอง ท้าวสามนต์
ถ้าตรวจสอบปฏิกิริยาจากยูทูบ ดูเหมือนผู้ชมจำนวนไม่น้อยจะรำคาญ “ท้าวสามนต์” กันมากพอสมควร
ถ้ารำคาญเรื่องการแสดง นั่นก็หมายความว่า “เพชรดี (รัฐธรรมนูญ) ศรีฤกษ์” สอบไม่ผ่าน และยังเทียบ “ไพโรจน์ สังวริบุตร” ผู้รับบท “ท้าวสามนต์” รุ่นก่อนหน้าไม่ได้
แต่ถ้าผู้คนรำคาญบุคลิกลักษณะของตัวละคร “ท้าวสามนต์” ที่หูเบา ลำเอียง หลงตัวเอง ใช้อำนาจในทางที่ผิดเป็นส่วนใหญ่ จนก่อให้เกิดเรื่องราววุ่นวายสุดคณานับ
นั่นก็แสดงว่าเพชรดี/รัฐธรรมนูญ รับบทบาทได้ดี จนสามารถทำให้ผู้ชมพร้อมใจกันแสดงปฏิกิริยาต่อต้านท้าทายอำนาจของ “ท้าวสามนต์” สำเร็จตามเป้าประสงค์ของเรื่องราวมุขปาฐะดั้งเดิม
ดูเหมือนอาการรำคาญ “ท้าวสามนต์” ส่วนใหญ่ จะเป็นท่าทีรำคาญประเภทหลัง และมีบางคอมเมนต์ในยูทูบที่เปรียบเทียบ “ท้าวสามนต์ 2561” กับ “ลุงตู่” ด้วยซ้ำ 555
สาม เจ้าชายไชยันต์
นี่คือนวัตกรรมข้อแรกของ “สังข์ทอง 2561”
เพราะ “หกเขย 2561” มิได้หลากหลายเพียงในด้านชาติพันธุ์ แต่ยังมีความหลากหลายทางเพศสภาพ
เมื่อตัวละคร “เจ้าชายไชยันต์” แสดงตนอย่างชัดเจนว่าชอบผู้ชาย ชอบเจ้าเงาะ ชอบพระสังข์ ฯลฯ ทว่าต้องท่องคาถา “พระสติ พระเจ้าข้า พระสติ” มาแต่งงานกับธิดานครท้าวสามนต์ เพราะถูกจารีต ระบบ ระเบียบบางอย่าง กดบีบเอาไว้
ความผิดแผกแหวกแนวของ “เจ้าชายไชยันต์” ทำให้เขาประเมินเจ้าเงาะด้วยมุมมอง/สายตาพิเศษที่แตกต่างจากเขยคนอื่นๆ
เจ้าชายไชยันต์ไม่ได้คลั่งไคล้แค่รูปร่างสมชายชาตรีของ “พี่เงาะ” แต่พระองค์ยังยืนยันถึงหลักการที่ว่าเขาเป็น “คนเหมือนกัน” กับเรา และเขาไม่ควรจะได้รับความอยุติธรรมใดๆ จากท้าวสามนต์และห้าเขย
สี่ รจนาสวมรูปเงาะ
นี่คือนวัตกรรมประการที่สองของ “สังข์ทอง 2561”
“รจนาสวมรูปเงาะ” ไม่ใช่แค่แก๊กตลก หรือกลยุทธการยืดเนื้อหาของละครจักรๆ วงศ์ๆ
แต่อีกด้านหนึ่ง การปรากฏกายของ “รจนาสวมรูปเงาะ” ยังเปิดเผยเงื่อนปมทางจิตวิทยาและวิกฤตอัตลักษณ์ของตัวละครนำใน “สังข์ทอง 2561” ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น
“พระสังข์” อาจรู้สึกแปลกแยกจากชาติกำเนิดและสถานภาพทางสังคมของตนเอง จนต้องปลีกตัวเข้าไปหลบอยู่ในหอยสังข์ และซ่อนแฝงตัวตนแท้จริงด้วยรูปเงาะ
ไม่ต่างอะไรกับ “รจนา” ที่ไม่เพียงแค่ทะเลาะเบาะแว้งไม่ลงรอยกับครอบครัว แต่บางที การปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ไปเป็น “เงาะหญิง” ชั่วครั้งชั่วคราว อาจเป็นรูระบายความตึงเครียดในชีวิตของเธอ
น่าสังเกตว่าละครโทรทัศน์ “สังข์ทอง” นั้น มุ่งเน้นนำเสนอภาวะที่ตัวละครต้องปลอมตัว/ปลอมแปลงอัตลักษณ์ของตนเองอยู่บ่อยๆ
นอกจากกรณี “พระสังข์-รจนา” ยังมีปีศาจ “พยนตรา” ที่แปลงร่างเป็นมนุษย์ พระวิษณุกรรมที่แปลงร่างเป็น “พระสังข์/เจ้าเงาะ” (หรือมาตุลีเทพบุตรที่แฝงกายลงมาเป็นทหารคนสนิทของท้าวยศวิมล)
ดังนั้น ละครที่แพร่ภาพในช่วงปลายปี 2561 จึงแทบจะกลายเป็น “สงครามตัวแทน/ตัวปลอม” เมื่อพระวิษณุกรรมในร่าง “พระสังข์/เจ้าเงาะ” ต้องออกจอร่วมกับรจนาใน “รูปเงาะหญิง” เพื่อปะทะกับปีศาจที่แปลงตนเป็น “เจ้าชายพยนตรา”
ทำให้คิดถึงวรรคทองของนิยายกำลังภายในที่ว่า “คนอยู่ในยุทธจักรมิอาจเป็นตัวของตัวเอง”
ห้า ผู้สวมบทหกพระพี่นาง+เงาะหญิง
ไม่มีอะไรมาก แค่รู้สึกว่า “ความงาม” ของนักแสดงหญิงบางรายที่มารับบทพระพี่นางของรจนา โดยเฉพาะ “พรรณผกา” (ปิ่นทิพย์ อรชร) และ “ปัทมา” (ชนารดี อุ่นทะศรี) รวมถึง “รจนาสวมรูปเงาะ” (วรัญภรณ์ พัฒน์ช่วย) นั้น เป็น “ความสวย” ที่ห่างหายหรือจางอิทธิพลลงไปจากวงการบันเทิงไทยกระแสหลัก
นั่นคือ ความงามสไตล์ “นางงาม” (ระดับรองๆ) ซึ่งไม่ได้เป็นที่นิยมในวงกว้างอีกต่อไปแล้ว
แต่ “ความสวยงาม” ทำนองนี้ ยังเวิร์กอยู่ สำหรับผู้ชายรุ่น 30 ปลายๆ เช่นผม