บันทึกถึง Roma

หนึ่ง

ขอพูดเรื่องเทคนิคแบบคนมีความรู้ชนิดงูๆ ปลาๆ ก่อนเป็นลำดับแรก

กลายเป็นว่าองค์ประกอบหนึ่งที่ผมชอบมากใน Roma คือเรื่องเสียง ซึ่ง “อัลฟองโซ กัวรอง” พยายามเล่นกับคนดู ด้วยการทำให้เราได้ยินเสียงนู่นนี่ ทางโน้นทางนี้ ที่อยู่นอกเหนือไปจากสถานการณ์ที่ถูกโฟกัสในจอภาพยนตร์

ก่อนหน้านี้ ผมได้อ่านหลายความเห็นที่ตั้งข้อสงสัยว่า Roma นั้นเหมาะสมกับการเผยแพร่ผ่านช่องทางเน็ตฟลิกซ์มากน้อยแค่ไหน เพราะงานด้านภาพที่ดีของหนังอาจเหมาะสมสำหรับการนั่งชมผ่านจอใหญ่ๆ ในโรงภาพยนตร์มากกว่า

อย่างไรก็ดี ผมกลับรู้สึกว่า ลูกเล่นด้านเสียงที่กัวรองเลือกใช้ กลับสะท้อนถึงวัฒนธรรมการเสพสื่อบันเทิงในจอคอมพิวเตอร์/แท็บเล็ต/สมาร์ทโฟนได้ดี

เพราะบ่อยครั้ง เวลาเราเปิดดูวิดีโอในคอมพิวเตอร์ เรามักเผลอ/ตั้งใจเปิดคลิปต่างๆ ในหลายๆ หน้าพร้อมกัน และไปๆ มาๆ เราจะเริ่มงุนงงเองว่าทำไมเสียงแปลกปลอมบางอย่าง (จากคลิปหนึ่ง) จึงดังแทรกเข้ามาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยในอีกคลิปหนึ่ง (มันมาจากไหนกันวะ?)

ตามความเห็นส่วนตัวของผม เสียงอันหลากชนิดหลายทิศทางที่ปรากฏใน Roma จึงมีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมการรับฟังเสียงผ่านหน้าจอต่างๆ ในชีวิตประจำวันร่วมสมัยของเรา

ซึ่งแน่นอน ประเด็นเรื่องเสียงนี่ก็ล้อไปกับภาวะคู่ขนาน/ปะทะกันระหว่างเรื่องราวหลักและเรื่องราวในฉากหลัง (ว่าด้วยบริบททางประวัติศาสตร์-การเมือง) ของหนัง

สอง

roma 5

จากประสบการณ์ส่วนตัวจะอินกับสองประเด็นในหนัง

ประเด็นแรก ว่าด้วยรถของครอบครัวเจ้านายนางเอกที่ใหญ่เกินประตู/ทางเข้าบ้าน

ข้อนี้ผมอินมาก จากประสบการณ์การเป็นคนนั่ง/ขับรถยนต์อยู่ในซอยเล็กๆ แถวฝั่งธนมากว่า 30 ปี

หลายคนที่อยู่ย่านนี้ คงจะพอรู้สภาพซอย (ไม่วันเวย์) จำนวนมาก ที่บางช่วงก็กว้างแค่พอให้รถประมาณ 1 ¼ คัน แล่นสวนกันได้

แต่สุดท้าย รถยนต์ 2 หรือ 3 หรือ 4 คัน ก็มักต้องมาต่อแถวเผชิญหน้ากันตรง “ช่องแคบ” นั้นเสมอ (พ่วงด้วยมอเตอร์ไซค์อีกขบวนใหญ่)

นี่เป็นปัญหาในชีวิตประจำวันของคนมีตังค์พอจะขับรถยนต์ในซอยเหล่านี้ ซึ่งถ้าคุณเดินหรือขี่มอเตอร์ไซค์/จักรยาน ก็จะไม่เจอปัญหาดังกล่าว (แต่ความสะดวกย่อมลดลงเมื่อต้องออกถนนใหญ่เพื่อเดินทางไปไหนไกลๆ หรือเมื่อฝนเทลงมา)

ผมตีความเอาเองว่า ฉากรถใหญ่คับทางเข้าบ้านที่ถูกใส่มาซ้ำๆ ก็คงตั้งใจพูดถึงประเด็นคล้ายๆ กันนี้ นั่นคือ ปัญหาหรือทุกข์ของคนมีอันจะกิน (ซึ่งก็เป็นปัญหาอีกชุดหนึ่งที่แตกต่างจากปัญหาชีวิตของคนชั้นล่าง)

สาม

roma โปสเตอร์

เอาเข้าจริง ผมเองนั้นอินกับโครงเรื่องหลักของ Roma อยู่ไม่น้อย อันเนื่องมาจากการใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน/ครอบครัวที่มี “คนรับใช้” มาโดยตลอด

แม้โดยส่วนตัว ผมจะไม่ค่อยได้ใกล้ชิดบรรดา “แม่บ้าน/คนรับใช้” มากนัก หลังจากพ้นวัยเด็กประมาณ 10-11 ปี เพราะไม่อยากพบเจอกับเรื่องปวดหัวหรือความยุ่งยากต่างๆ นานา (แต่ชีวิตประจำวันคงจะสับสนวุ่นวายเกินคณานับ ถ้าไม่มีคนรับใช้อยู่ในบ้านเลย)

อย่างไรก็ตาม ผมพอจะรับรู้ได้ว่าสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวผมและคนรับใช้รุ่นแล้วรุ่นเล่า/คนแล้วคนเล่า ก็ดำเนินไปคล้ายๆ เรื่องราวในหนัง

หลายครั้ง คนรับใช้บางรายก็เข้ามามีส่วนรับรู้/แบกรับ/แชร์ปัญหาของเจ้านาย บางครั้ง คนรับใช้อาจเป็นฝ่ายโดนดุด่าว่ากล่าวอย่างไม่ค่อยมีเหตุผลนัก แต่หลายหน คนรับใช้ก็ทำอะไรบางอย่างที่ผิดพลาด และ/หรือออกไปก่อปัญหาที่เกินเลยเกินการควบคุม/อำนาจ/ความช่วยเหลือของเจ้านาย

และแน่นอน มีอยู่หลายคราว ที่เจ้านายเข้าไปอุปถัมภ์/ช่วยเหลือคนรับใช้อย่างมากมายราวกับเป็นญาติสนิทคนหนึ่งในครอบครัว ท่ามกลางสายสัมพันธ์ส่วนใหญ่ที่มีลำดับชั้นสูง-ต่ำ และการใช้อำนาจแบบบนลงล่าง

ผมยังแอบสงสัยอยู่นิดๆ ถึงฉากจบของ Roma ที่แสดงให้เห็นว่าเหล่าคนรับใช้ยังคงเลือกดำเนินชีวิตแบบเดิมต่อไป ในบ้านหลังเดิม แม้จะเกิดความผันแปรกับครอบครัวเจ้านายและชีวิตส่วนตัวของคนรับใช้เอง

ที่คาใจก็เพราะแม้จะพอรู้ว่ามี “คนรับใช้” ในบางบ้าน ซึ่งทำงานรับใช้เจ้านาย (และเจ้านายก็ดูแลเขา/เธอ) ไปชั่วชีวิต ทว่าครอบครัวผมยังไม่เคยพานพบประสบการณ์แบบนั้น

เนื่องจากพอถึงจุดหนึ่ง วิถีชีวิตของนายจ้างกับเป้าหมายชีวิตของลูกจ้าง ตลอดจนอารมณ์ความรู้สึกของทั้งสองฝ่าย ก็ไม่ได้บรรจบลงรอยบนเส้นทางสายเดียวกันอีกต่อไป และมักลงเอยด้วยการแยกทาง “โดยดี” ในบางครั้ง และ “ย่ำแย่ระหองระแหง” ในบางคราว

เอาเข้าจริง ผมแอบเชียร์ให้หนังปิดฉากลงตรงเหตุการณ์ที่ชายหาด ซึ่งแสดงให้เห็นว่านายจ้างและคนรับใช้ต่างมีแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตหรือการแสดงออกทางพฤติกรรมอันผิดแผกแตกต่างกัน

นายจ้างอาจซาบซึ้งและมองเห็นคนรับใช้เป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัว หลังจากเธอช่วยชีวิตเจ้านายน้อยๆ สองรายจากคลื่นทะเลที่ซัดโหมจู่โจมเข้ามา (ถ้าปล่อยให้เด็กจมน้ำ เธอก็คงโดน -แม่ที่ปล่อยลูกเล็กๆ เล่นน้ำทะเล โดยมีแค่พี่เลี้ยงที่ว่ายน้ำไม่เป็นเฝ้าดูอยู่ห่างๆ- ด่ากราดอีก) แต่สำหรับฝ่ายคนรับใช้ เธออาจต้องการชำระบาปที่ไม่สามารถรักษาชีวิตลูกน้อยของตัวเองเอาไว้ได้ ผ่านการช่วยเหลือชีวิตลูกคนอื่น/เจ้านาย

สาม

roma 6

มีโมทีฟอีกสองอย่างที่ผมชอบใน Roma

เริ่มจากสุนัข ทั้งเจ้าหมามอมๆ กระโดดเหยงๆ ตรงรั้วบ้านกลุ่มตัวละครนำ และหมามอมๆ ชอบมาเลียมือคลุกคลีกับตัวละครคนรับใช้ ตามสถานที่อื่นๆ

ระหว่างดู ผมไม่แน่ใจว่าหมาเหล่านี้มีนัยยะความหมายอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพียงแต่รู้สึกว่าพวกมันเป็นองค์ประกอบที่แปลกตาดี และไม่ค่อยเห็น (หมาจำนวนมากขนาดนี้) บ่อยนัก ในภาพยนตร์ต่างประเทศ (ยกเว้นหนังที่เล่าเรื่องของสุนัขในฐานะตัวละครหลัก)

อีกข้อที่ผมสังเกตเห็น คือ พวกกลุ่มตัวละครเจ้านายจะไม่ได้พิศวาส “สุนัขใน-นอกบ้าน” ทั้งหลายมากมายนัก แค่ลูบหัวเล่น ทักทายนิดหน่อย แต่เป็นพวกคนใช้ต่างหากที่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพวกมัน

ผมยังไม่ได้คิดตีความใดๆ ต่อ กระทั่งเห็นเพื่อนในเฟซบุ๊กท่านหนึ่ง ลองแปลความถึงกรณีนี้เอาไว้ทำนองว่าชีวิตของคนรับใช้ก็คงไม่ต่างอะไรจากชีวิตของสุนัขในหนัง ซึ่งผมเห็นว่านี่เป็นการใส่รหัสความหมายที่เข้าท่าดีเหมือนกัน

อีกโมทีฟหนึ่งที่หลายคนคงสังเกตเห็นคือเครื่องบินบนฟากฟ้าซึ่งบินผ่านไปมาหลายหน

เครื่องบินอาจหมายถึงการมุ่งหวังใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าของตัวละครคนรับใช้ แต่ขณะเดียวกัน มันก็อาจเป็น “เส้นขอบฟ้า” หรือ “เพดานขีดจำกัด (อันคล้ายจะไกลโพ้น)” ในโลกใบเล็กๆ ที่มีทางเลือกไม่มากนักของนางเอกและผองเพื่อนร่วมชนชั้น/อาชีพ

ซึ่งเอาเข้าจริง ชีวิตของเธอก็ยังไต่เต้าไปไม่ถึง “เส้นขอบฟ้า” ดังกล่าวด้วยซ้ำ หากวนเวียนอยู่กับการชะล้างทำความสะอาดภาคพื้นเบื้องล่าง และขึ้นไปได้สูงสุดแค่ดาดฟ้าของบ้านเจ้านายเพื่อตากผ้า

สี่

the chambermaid

หนังอีกเรื่องที่น่าฉายคู่กับ Roma คือ The Chambermaid ของ “ลิลา อาวิเลส” ซึ่งในแง่เทคนิคฝีมือคงยังแพรวพราวลุ่มลึกสู้กัวรองไม่ได้

แต่โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่าหนังเม็กซิกันทั้งสองเรื่องเป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อกันได้ลงตัว หรือเป็นบทสนทนาในประเด็นต่อเนื่องกันพอดี

ในขณะที่ Roma พูดถึงคนรับใช้หรือชนชั้นล่างที่ได้รับการโอบอุ้มประคับประคองจากระบบอุปถัมภ์ใต้อำนาจของชนชั้นที่สูงกว่า แม้ทั้งสองฝ่ายจะแชร์ปัญหาส่วนบุคคล/ครอบครัว/เพศสภาพคล้ายๆ กัน และดำรงตนอยู่ท่ามกลางสภาวะการเมืองภายในประเทศที่ผกผันไปพร้อมๆ กัน

The Chambermaid กลับพูดถึงคนชั้นล่างในฐานะแรงงานภาคบริการประจำโรงแรมหรู ซึ่งเป็นปัจเจกชนตัวเดี่ยวโดด (จริงๆ คือ มีลูกเล็กๆ –ซึ่งไม่ปรากฏในจอภาพยนตร์- แต่ไร้พ่อของลูก คล้ายคลึงกับตัวละครสตรีใน Roma) ผู้แทบจะปราศจากเครือข่ายความสัมพันธ์หรืออุปถัมภ์ใดๆ

เธอใฝ่ฝันทะเยอทะยานอยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไปไม่ถึงไหนสักที เพราะอำนาจ/การตัดสินใจ (ที่อธิบายไม่ได้) ของนายจ้าง การต้องแข่งขันกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ซึ่งมีความฝันแบบเดียวกัน ตลอดจนสหภาพแรงงานที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก ท่ามกลางบริบทของธุรกิจโรงแรม/อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในยุคโลกาภิวัตน์

ป.ล.

roma family

สถานการณ์เล็กๆ ในหนัง ที่ผมว่าน่าสนใจ คือ ฉากที่ลูกชายสองคนแรกของเจ้านายนางเอกทะเลาะกัน แล้วน้องคนที่สองปา “ของแข็ง” บางอย่างใส่พี่คนโตแบบชนิดเอาตาย จนทำให้กระจกหน้าบ้านแตกเป็นรูโหว่

หลังจากเหตุการณ์นั้น เจ้าพี่ชายก็แสดงสีหน้าประหลาดใจประมาณว่า “ใจคอมึง (น้องชาย) กะจะฆ่ากูเลยเหรอ?” และจนกระทั่งหนังจบ (ผมเข้าใจไปเองว่า) สายสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องคู่นี้ก็ไม่ได้กลับมาแน่นแฟ้นดังเดิม

ดังนั้น อีกประเด็นหนึ่งที่เหมือนกัวรองจะพยายามพูดผ่าน Roma ก็คือ บางที สายสัมพันธ์นอกสถาบันครอบครัว เช่น นายจ้าง-คนรับใช้ นั้นอาจแน่นแฟ้นกว่าความสัมพันธ์ระหว่างพี่-น้อง หรือสามี-ภรรยา

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.