บันทึกถึง “แผลเก่า” ของ “เชิด ทรงศรี” (ฉบับบูรณะใหม่)

หนึ่ง

นันทนา

สิ่งแรกเลยที่ตื่นตะลึง คือ ความงดงามของ “นันทนา เงากระจ่าง” จะนิยามว่านี่คือ “ความสวยแบบไทยๆ” ได้หรือเปล่า? ก็ไม่ค่อยแน่ใจ

แต่อย่างน้อย นี่เป็น “ความสวยงาม” ที่หาได้ยากมากใน “วัฒนธรรมภาพเคลื่อนไหว” นานาชนิดของสังคมไทยยุคปัจจุบัน ซึ่งคอนเซ็ปท์เรื่อง “ความสวย” ของสตรีได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว

พอเห็นหน้าคุณนันทนา ก็นึกถึงประเด็นหนึ่งขึ้นมาได้ คือ ในวัยประมาณ 8-9 ขวบ ผมมีโอกาสไปวิ่งเล่นอยู่ใกล้ๆ กองถ่ายภาพยนตร์ “ทวิภพ” ของคุณเชิด และติดตากับรูปลักษณ์ที่สวยเด่นของ “จันทร์จิรา จูแจ้ง” นางเอกหนังเรื่องนั้นมากๆ

ดูเหมือนทั้งคุณนันทนาและคุณจันทร์จิราจะมีลักษณะ “คมขำ” คล้ายคลึงกันอยู่ไม่น้อย

%e0%b9%80%e0%b8%ad%e0%b8%b4%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%ad%e0%b8%a2-1

ขณะเดียวกัน ถ้าให้เทียบกับ “นางเอกไทยร่วมสมัย” ระหว่างนั่งยลคุณนันทนาใน “แผลเก่า” (2520) ที่สกาล่า ผมจะคิดถึง “ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์” นักแสดงนำจากหนังเรื่อง “โรงแรมต่างดาว” ของ “ปราบดา หยุ่น” และ “นคร-สวรรค์” ของ “พวงสร้อย อักษรสว่าง”

สอง

แผลเก่า 3

ผมชอบการตัดต่อหลายๆ จังหวะใน “แผลเก่า” ฉบับคุณเชิด

โดยเฉพาะพวกซีนที่ตัดสลับระหว่างเส้นเรื่องหลักกับการแสดงนาฏศิลป์แบบไทยๆ (รวมถึงการตัดสลับระหว่างการบรรเลงขลุ่ยไทยกับดนตรีฝรั่ง) ซึ่งมิได้เป็นแค่การเทียบเคียงหรือวางชน ทว่าเป็นการเปรียบเทียบ/ปรับประสานต่อรองระหว่างสองเหตุการณ์ต่างบริบทกัน อันจะนำไปสู่ความคืบหน้า/เปลี่ยนผันของสถานการณ์ในภาพรวม

เท่าที่มีความรู้แบบงูๆ ปลาๆ เราคงพอจะเรียกการตัดต่อหลายจังหวะใน “แผลเก่า” ฉบับนี้ ว่าเป็นการลำดับภาพแบบ Soviet montage ได้กระมัง?

สาม

แผลเก่า 4

วิธีการตัดต่อข้างต้นยังมีความสอดคล้องกับวิธีการนำเสนอ “เนื้อหาสาระสำคัญ” ใน “แผลเก่า 2520” อย่างน่าทึ่ง

ณ ช่วงต้นภาพยนตร์เรื่อง “แผลเก่า” ฉบับนี้ มีการขึ้นข้อความที่เน้นย้ำถึงบทบาทในการอนุรักษ์/สำแดง “ความเป็นไทย” ของตนเอง (ผมไม่เคยเห็นถ้อยแถลง/ปณิธานทำนองนี้แบบชัดๆ ใน “แผลเก่า” ฉบับอื่นๆ)

ขณะเดียวกัน น่าสนใจว่าช่วงเวลาการสร้างหนังเรื่องนี้ก็ใกล้เคียงมากๆ กับการก่อกำเนิดขึ้นของคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ยิ่งกว่านั้น หนังยังได้รับโล่เกียรติยศภาพยนตร์ที่เชิดชูเอกลักษณ์ไทยยอดเยี่ยมจากรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

แต่ที่ตลกร้าย คือ ภายใต้ฉากหน้า “ความเป็นไทย” ที่หนังนำเสนออย่างหลงรักและจริงใจ (ผ่านนาฏศิลป์พื้นบ้าน รวมถึงบรรยากาศ/วิถีชีวิตแบบชนบท) นั้น กลับซ่อนเร้นไว้ซึ่ง “อัปลักษณะ” นานัปการของสังคมไทย

ตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มที่ไม่มีทางคืนดี/สมานฉันท์

การกดขี่ผู้หญิงในโลกของผู้ชาย (กระทั่ง “ขวัญ” เอง บุคคลคนเดียวที่เขารักก่อนตาย ก็คือ “พ่อ” ไม่ใช่ “เรียม” ที่ผันแปรน่าผิดหวัง)

การปะทะกันระหว่างยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง, ความผิดแผกแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท และความขัดแย้งทางชนชั้น

สังคมที่แก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยความรุนแรงตลอดทั้งเรื่อง (หลังดูหนังเสร็จ ผมเจอเพื่อนที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีฝีมือเยี่ยม เขาตั้งข้อสังเกตว่า “ขวัญ” เป็นพระเอกที่ฆ่าคนตายเยอะมากๆ) และไม่เปิดโอกาสให้ตัวละครเอกได้ “ห่มผ้าเหลือง” หรือ “กลับตัวกลับใจ”

รวมถึง “เจ้าพ่อต้นไทร” ที่เป็นสักขีพยานความรัก ความหวัง ความผิดหวัง และโศกนาฏกรรม ทว่าเยียวยาหรือช่วยแก้ไขปัญหาใดๆ ไม่ได้เลย จนมีสถานะประหนึ่ง “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งไร้พลวัต”

คำถามต่อเนื่อง คือ ถ้าเช่นนั้น ความย้อนแย้ง/การปะทะกันระหว่างคำประกาศก่อนเริ่มเรื่อง กับเนื้อหาจริงๆ ใน “แผลเก่า” ฉบับคุณเชิด กำลังนำ/คลี่คลายไปสู่ผลลัพธ์อะไร?

ศิโรตม์ วิเคราะห์แผลเก่า

ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับการตีความโดย “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” ซึ่งชี้ว่า “แผลเก่า 2520” นั้นอาจซ่อนนัยยะของการวิพากษ์ “ความรุนแรง” กรณี 6 ตุลาคม และประดิษฐกรรม “ความเป็นไทย” ยุคหลังจากนั้น

คลิกอ่าน

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : แผลเก่า, เชิด ทรงศรี และการวิพากษ์ความเป็นไทยหลัง 6 ตุลา

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : แผลเก่ากับความเป็นไทยแบบใหม่ หลังการฆ่าหมู่ 6 ตุลาฯ

สี่

ข้างหลังภาพ เชิด

อย่างไรก็ดี ผมไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถจับคุณเชิดใส่ลงไปในบล็อกของอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งได้อย่างตายตัว

ในบทความของคุณศิโรตม์ได้อ้างอิงคำสัมภาษณ์จากหนังสือ “12 ผู้กำกับหนังไทยร่วมสมัย” ซึ่งคุณเชิดเปิดใจว่าหนังที่แกอยากทำมากที่สุด คือ ภาพยนตร์ชีวประวัติ “จิตร ภูมิศักดิ์”

ผมจำได้ว่าเคยอ่านจากที่ไหนสักแห่ง ว่าคุณเชิดอยากทำหนังซึ่งดัดแปลงจากนิยายเรื่อง “ดิน น้ำ และดอกไม้” ของ “เสนีย์ เสาวพงศ์”

แน่นอน หลายคนทราบดีว่าคุณเชิดเคยทำหนัง “ข้างหลังภาพ” จากบทประพันธ์ของ “ศรีบูรพา”

แต่ก็มีข้อเท็จจริงที่มิอาจปฏิเสธอีกด้านว่าคุณเชิดเคยทำภาพยนตร์ “ทวิภพ” จากงานเขียนของ “ทมยันตี” รวมถึง “เรือนมยุรา” จากนิยายของ “แก้วเก้า/ว.วินิจฉัยกุล”

เชิด ทวิภพ เรือนมยุรา

ผมเชื่อว่าคุณเชิดนั้นตระหนักดีว่าตนเองต้องเผชิญหน้าอยู่กับทางแพร่งแห่งความขัดแย้งทางอุดมการณ์ในสังคมไทย ทว่าแก (และคนรุ่นแก) อาจมีวิธีการรับมือกับความขัดแย้งดังกล่าว อย่างแตกต่างไปจากบรรดาผู้มีความกระตือรือร้นทางการเมืองยุคปัจจุบัน

หมายเหตุ

“แผลเก่า” (2520) ฉบับบูรณะใหม่ จะเข้าฉายเชิงพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคมเป็นต้นไป ในโรงภาพยนตร์สองแห่ง คือ

วันที่ 18 -24 ตุลาคม รอบเวลา 12.00 น. ณ โรงภาพยนตร์สกาลา สามารถซื้อบัตรล่วงหน้าได้ที่จุดจำหน่ายบัตร

วันที่ 18-21 ตุลาคม รอบเวลา 19.00 น. ณ SF World Cinema เซ็นทรัลเวิลด์ สามารถซื้อบัตรล่วงหน้าได้ที่จุดจำหน่ายบัตรหรือ www.sfcinemacity.com

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.