นี่คือซีรี่ส์เน็ตฟลิกซ์ว่าด้วยต้นกำเนิดของ “กีฬาฟุตบอลสมัยใหม่” ในสหราชอาณาจักร ที่เปลี่ยนผ่านจากการเป็น “เกมของลูกหลานผู้ดีในโรงเรียนประจำ” มาสู่การเป็น “กีฬา/ความบันเทิงของมหาชน-ชนชั้นแรงงาน”
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถูกบอกเล่าผ่านปฏิสัมพันธ์ฉันมิตรกึ่งศัตรู ระหว่าง “เฟอร์กัส ซูเทอร์” พ่อค้าแข้งชาวสกอตแลนด์ที่ย้ายมาเล่นฟุตบอลที่อังกฤษ ในฐานะ “นักเตะอาชีพ” รุ่นแรกๆ เพื่อเลี้ยงดูแม่และน้องๆ ซึ่งใช้ชีวิตยากลำบากที่กลาสโกว์ กับ “อาร์เธอร์ คินแนด” ทายาทตระกูลขุนนางเจ้าของธุรกิจธนาคาร ผู้เป็น “ดาวเตะ” ซึ่งแทบจะผูกขาดถ้วยเอฟเอคัพ ในยุคสมัยที่การเล่นฟุตบอลยังเป็นเพียงกีฬาสมัครเล่นของบรรดาผู้ดี
แม้ “ชนชั้น” จะเป็นประเด็นหลักของซีรี่ส์เรื่องนี้ แต่โลกทัศน์ที่ “The English Game” พยายามนำเสนอ กลับเป็นแนวทางการประสานประโยชน์ระหว่างชนชั้น มากกว่าจะเป็นความขัดแย้งทางชนชั้น
ซีรี่ส์ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของกีฬาฟุตบอลเรื่องล่าสุดกล่าวถึงความขัดแย้งมากมายหลายระดับและเต็มเปี่ยมพลวัต
เริ่มจากความขัดแย้งระหว่างชนชั้นสูงกับชนชั้นแรงงาน (และนายทุนกระฎุมพี) เรื่อยไปถึงความขัดแย้งภายในชนชั้นสูงด้วยกันเอง ความขัดแย้งในหมู่นายทุนกระฎุมพี ความขัดแย้งภายในชนชั้นแรงงาน และความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับผู้ใช้แรงงาน
ความขัดแย้งทั้งมวลได้สูญสลายลงจนหมดสิ้นหรือถูกลืมเลือนไปเสียดื้อๆ ด้วย “กีฬาฟุตบอล” (ในฐานะพล็อตหลัก) และ “การมีมนุษยธรรม” ของปัจเจกบุคคลบางราย ซึ่งสามารถตัดข้ามผ่านกำแพงทางชนชั้น (ในฐานะพล็อตรอง)
ปัญหาระหว่างนายทุนโรงงานปั่นฝ้ายทางตอนเหนือของอังกฤษ, ปัญหาการตัดลดค่าจ้างของผู้ใช้แรงงานในโรงงานปั่นฝ้าย ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งระหว่างสโมสรฟุตบอลต่างเมือง (ต้นธารของศึกดาร์บี้แมตช์) ที่ถูกกล่าวถึงตรงช่วงครึ่งทางแรก จึงถูกเพิกเฉยและทำให้เงียบหายไปในช่วงครึ่งหลังจวบจนถึงบทสรุป ซึ่งให้ความสำคัญกับชัยชนะ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และมิตรภาพ เหนือสิ่งอื่นใด
อย่างไรก็ดี “The English Game” นั้นช่วยฉายภาพให้เห็นบริบทหัวเลี้ยวหัวต่อของกีฬาฟุตบอลไว้อย่างน่าประทับใจ
เมื่อแนวคิดที่มองว่า “ฟุตบอล” เป็นการเล่นกีฬาเพื่อออกกำลัง (สิ่งที่มีคุณค่าอยู่ในตัวเอง) เป็นเกมนันทนาการในยามว่างของสุภาพบุรุษชนชั้นสูงผู้ (ควรจะ) มี “น้ำใจนักกีฬา” ที่มุ่งเน้นการใช้ความแข็งแกร่ง-แรงปะทะทางร่างกาย ได้หมดอิทธิพลลง แล้วค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยความเข้าใจซึ่งตระหนักว่า “ฟุตบอล” เป็น “อาชีพ” หรือ “ผลประโยชน์” (ค่าแรง) ของเด็กหนุ่มชนชั้นแรงงานที่ขาดแคลนทรัพยากรและโอกาสทางสังคม เป็นความบันเทิงในวันหยุดของคนยากไร้ตามหัวเมืองบ้านนอกที่ต้องตรากตรำทำงานหนักในโรงงานอุตสาหกรรมมาตลอดสัปดาห์ และเป็นการแข่งขันที่ขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์อันพลิกแพลง
ทั้งนี้ ฉันทมติแห่งการปฏิรูปวงการลูกหนังก็เกิดขึ้นได้ด้วยเงื่อนไขที่ว่าคนคุมสมาคมฟุตบอล (นายกสมาคม) คือชนชั้นสูงผู้พ่ายแพ้บนสนามหญ้า ส่วนคนเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขันในภาพรวมและยึดครองถ้วยรางวัลชนะเลิศนับจากนั้นคือชนชั้นแรงงาน (ผู้เล่นอาชีพ) และนายทุนท้องถิ่น (เจ้าของทีม)
ถึงที่สุดแล้ว บทสรุปใน “The English Game” จึงมีความสอดคล้องลงรอยกับความเห็นที่หลายคนเคยเสนอเอาไว้ทำนองว่า “ถ้าไม่มีกีฬาฟุตบอล อังกฤษก็คงจะมีการปฏิวัติไปนานแล้ว”