ไม่มีสมุยสำหรับเธอ
หนึ่ง
นี่เป็นหนังของพี่ต้อม เป็นเอก ที่ผมชอบ แต่ไม่ได้ชอบในระดับ “มากที่สุด” นอกจากนี้ ถ้าให้เปรียบเทียบกับงานอื่นๆ ของแก ผมเห็นว่า “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” มีลักษณะร่วมกับ “ฝนตกขึ้นฟ้า” ชัดเจน อย่างน้อย ก็ในแง่ “ประเด็นหลัก” ของเรื่อง (ตามการตีความของผม)
สอง
ถ้าให้สรุปประเด็นอย่างรวบรัดและไม่เฉลยเนื้อเรื่องเกินไป ผมตีความว่า “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” กำลังพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “ความหลากหลาย/การพลิกผันของเรื่องเล่า” และ “โครงสร้างอันแข็งตัวของอำนาจ”
หนังพยายามหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่า ถ้าเราลองพลิกมุม เปลี่ยนโทน สลับสับเปลี่ยนตัวละคร หรือเคลื่อนย้ายฉากหลังของเรื่องราว จนเกิดเป็นเรื่องเล่าลื่นไหลหลากชนิดว่าด้วยผู้อยู่ใต้อำนาจและผู้มีอำนาจ โครงสร้างอำนาจที่แลดูแข็งแกร่งตายตัวจะสั่นคลอนหรืออ่อนแอลงบ้างหรือไม่?
(จริงๆ นอกจาก “เรื่องเล่า” ที่มีหลายระนาบแล้ว อีกจุดที่น่าสนใจ คือ หนังยังพาคนดูไปสัมผัสกับมุมมอง/การมองโลกหลายๆ แบบ ผ่านงานเทคนิคด้านภาพ ทั้งการมองโลกสีขาวดำแบบสุนัข การมองโลกสีปกติแบบคนธรรมดาทั่วไป การมองโลกแบบพร่าเลือนผ่านสายตาของคนชราป่วยหนัก)
สาม
หนังมีบางจุดที่ชี้ชวนให้ระลึกถึงงานชิ้นก่อนๆ ของผู้กำกับ ผ่านทั้ง “กิมมิก” เล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงลักษณะการนำพาเรื่องราวให้เลยเถิดเตลิดเปิดเปิงไปเรื่อยๆ ผ่านความบังเอิญ ความสะเพร่า ความน่าชวนหวัว ตลอดจนความไม่น่าเชื่อถือ (แต่สนุกสนานเพลิดเพลินตามสมควร)
คนที่ชอบหนังอย่าง “ฝัน บ้า คาราโอเกะ” และ “เรื่องตลก 69” ก็น่าจะจูนติดกับ “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ”
สี่
ตัวละครในเรื่องที่มีเสน่ห์ ก็เช่น แม่ของกาย (เดวิด อัศวนนท์) ซึ่งโปรดิวเซอร์บอกว่า “ปรากฏการณ์มหัศจรรย์” ภายในหนัง ที่เกิดกับตัวละครหญิงชรา น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของแม่พี่ต้อม เป็นเอก
สำหรับตัวละครของกาย แม้จะเต็มไปด้วยองค์ประกอบแปลกๆ ไม่น่าเชื่อถือ แต่พอนำตัวละครรายนี้ไปประกบทาบกับสามีฝรั่งของวิ (พลอย เฌอมาลย์) มันกลับทำให้เราได้เห็นภาพที่หลากหลายของ “ฝรั่ง” ในเมืองไทย
ขณะที่ตัวละคร “เจ้าคณะ” หรือ “เดอะ โฮลี่ วัน” เท่าที่จับจากบทสนทนาช่วงต้นๆ ผมเข้าใจว่าเผลอๆ ทีแรก พี่ต้อมคงอยากให้เป็นพระสงฆ์จริงๆ เลยด้วยซ้ำ (มั้ง?) แต่เมื่อต้องปรับโจทย์มาเป็นเจ้าลัทธิที่ไม่ได้ออกบวชเต็มตัว มันก็พอกล้อมแกล้มไปได้ และมีรายละเอียดบางอย่างมารองรับในท้ายที่สุด
ห้า
อีกจุดเด่นหนึ่งที่มักปรากฏในภาพยนตร์ของเป็นเอกเสมอมา คือ การเลือกใช้นักแสดงหญิงได้อย่างเก่งกาจ
“ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” มิได้มีแค่ดาวร้ายละครทีวีที่รับบทโดย “พลอย เฌอมาลย์” เป็นตัวละครหญิงผู้โดดเด่นรายเดียว เพราะยังมีตัวละคร/นักแสดงหญิงลึกลับอีกหนึ่งราย ซึ่งจะปรากฏกายขึ้นมาพร้อมบทบาทสำคัญมากในช่วงท้าย
ตัวละครหญิงคนนี้ทำให้ผมคิดถึงบทบาทของ “พรทิพย์ ปาปะนัย” ใน “มนต์รักทรานซิสเตอร์” และ “พลอย” เพราะพวกเธอต่างเป็นตัวละครระดับรองๆ ที่มีโอกาสออกจอในเวลาไม่มากนัก
ทว่า บุคลิกลักษณะและฝีมือการแสดงของตัวละคร/นักแสดงหญิงเหล่านี้กลับน่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง
หก
ที่น่าเสียดาย คือ ผมรู้สึกว่าพวกตัวละครสมทบเล็กๆ น้อยๆ ในหนัง ไม่ได้มีเสน่ห์เฉพาะตนหรือไม่มีอารมณ์ตลกหน้าตายซื่อๆ ใสๆ แบบบรรดานักแสดงสมทบที่น่าจดจำในงานชิ้นแรกๆ ของพี่ต้อม แม้ดูเหมือนว่าแกพยายามจะสร้างตัวละครประเภทนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ใน “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” ก็ตาม
เช่นเดียวกับเรื่องเพลงประกอบ ที่หลายครั้ง พี่ต้อมมักเลือกเพลงของศิลปินที่ไม่ค่อยดัง มาใส่ในหนังของแกได้อย่างแพรวพราวเหมาะเจาะ แต่คุณสมบัติดังกล่าวไม่ได้ปรากฏออกมาอย่างโดดเด่นนักในหนังเรื่องนี้
มะลิลา
หนึ่ง
ระหว่างดูค่อนข้างเซอร์ไพรส์อยู่นิดๆ เพราะทีแรก เข้าใจว่าเส้นเรื่องความรัก-สายสัมพันธ์-ความพลัดพรากระหว่าง “เชน” (เวียร์ ศุกลวัฒน์) กับ “พิช” (โอ อนุชิต) ที่มีสัญลักษณ์สื่อกลาง คือ “การทำบายศรี” จะเป็นเส้นเรื่องหลักเส้นเรื่องเดียวของหนัง
แต่ปรากฏว่า เอาเข้าจริง หนังแยกออกเป็นสองพาร์ท โดยมี “เชน” เป็นแกนกลาง เนื้อหาอีกพาร์ทหนึ่ง จะว่าด้วยการออกธุดงค์ในป่าของพระบวชใหม่ (เชน) และพระผู้มีอาวุโสกว่า ซึ่งเคยเป็นนายทหารมาก่อน เพื่อฝึกปฏิบัติธรรมและปลดปลงความทุกข์ (แต่ผู้ชมยังจะได้พบโอ อนุชิต ในพาร์ทนี้)
“มะลิลา” เลยก่อตัวขึ้นจากองค์ประกอบน่าสนใจ ที่ไม่น่าจะนำมาเขย่ารวมกันได้ ทั้งเรื่องเกย์, บายศรี, พุทธศาสนา, ป่า และกองทัพ ทั้งหมดเพื่อส่องสะท้อนถึงพันธะจากอดีต ปัจจุบันของตัวละคร (และอาจรวมถึงอนาคตของพวกเขา)
สอง
หนังคละเคล้า “ความงดงาม” กับ “ความอัปลักษณ์” ให้ผสมผสานกันได้อย่างลงตัวทีเดียว คนดูจะได้เห็นฉากเลิฟซีนสวยๆ และเข้าถึงอารมณ์ระหว่างเชนกับพิช, เห็นกระบวนการทำบายศรีอันประณีตวิจิตรบรรจง หรือได้สัมผัสกับความเขียวขจีของพื้นที่ป่าในฤดูฝน ขณะเดียวกัน เราก็จะกลายเป็นประจักษ์พยานของความเจ็บป่วย ความสูญเสีย ความเสื่อมโทรม อ้วก เลือด หนอน และซากศพ (มากกว่าหนึ่ง) ของทั้งมนุษย์และสัตว์
สาม
ถ้าพิจารณาว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนัง “พุทธศาสนา” (โดยเฉพาะในพาร์ทหลัง) ผมคิดว่า “มะลิลา” สามารถถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ “ธุดงควัตร” ได้ ทั้งในแง่คุณภาพ, โครงสร้างเรื่องราว (การเรียนรู้ฝึกฝนตนเองของพระบวชใหม่), ความสัมพันธ์ของตัวละคร (พระอาจารย์กับพระใหม่ และมายาที่พวกเขายังติดยึด) และพื้นที่ในหนัง (ป่าเขาลำเนาไพร)
จุดต่างสำคัญข้อหนึ่ง อาจอยู่ที่ “มะลิลา” พยายามจะเปิดเปลือยให้คนดูได้ตระหนักถึงสภาพความเป็นมนุษย์ (ผู้ยังหลุดไม่พ้นบ่วงทุกข์) ของตัวละคร “พระอาจารย์” อย่างชัดเจนกว่า
ใน “ธุดงควัตร” คนดูจะได้ยินเพียงเสียงร้องไห้ ที่สามารถอนุมานว่าน่าจะเป็นเสียงของพระอาจารย์ แต่ใน “มะลิลา” คนดูจะได้เห็นรายละเอียดของประเด็นปัญหาคล้ายๆ กัน ทว่า คมและลึกกว่า
สี่
อีกจุดที่ส่งผลให้พาร์ท “พุทธศาสนา” ของ “มะลิลา” ดูมีอะไรมากขึ้น ก็คือ การใส่รายละเอียดเกี่ยวกับ “ทหาร” ลงไป
ทั้งตัวละครพระอาจารย์ที่มีภูมิหลังเป็นทหาร จนถูกคนเรียกขานว่า “หลวงพี่นายพัน” (หนังแสดงให้เห็นด้วยว่าหลวงพี่ท่านนี้ยังมีความรู้สึกผิดบาปบางประการหลงเหลืออยู่ในจิตใจ แต่มิได้ระบุชัดถึงรายละเอียดของเรื่องราวดังกล่าว)
และการที่พระสองรูปออกธุดงค์ในผืนป่า ซึ่งถูกอธิบายว่าอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่สู้รบ มีรถทหารวิ่งผ่าน มีซากศพคนตายถูกนำมาทิ้งขว้างตลอดเวลา
ส่วนตัว ผมไม่ได้มองว่า “พื้นที่สู้รบ/พื้นที่ทหาร” ในหนัง คือ ภาพสะท้อนที่เป็นจริงของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งบนแผนที่ประเทศไทย เช่น เป็นภาพสะท้อนของเขตอีสานใต้บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา หรือเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่ผมมองว่าหนังอาจพยายามสร้างฉากหลังตรงส่วนนี้ ให้เป็นเหมือนนิทานเปรียบเทียบของสังคมไทยทั้งสังคม สังคมที่ทหารหรือกองทัพยังมีอำนาจอิทธิพลยิ่งใหญ่อยู่ในทุกแห่งหน และสังคมที่ความรุนแรงสูญเสียมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ
ห้า
อีกจุดเล็กๆ ที่ผมชอบ คือ ในหนังเรื่องนี้มี “งูเหลือม” เป็นตัวละครสำคัญด้วย แม้จะออกมาไม่มากและไม่เห็นทั้งตัวแบบจะๆ ก็ตาม
บทบาทของเจ้างูเหลือมใน “มะลิลา” เป็นภาพที่มักปรากฏในจินตนาการของผู้คน แต่ไม่ค่อยปรากฏในหนังเรื่องอื่นๆ มากนัก (แม้กระทั่งในคลิปหรือข่าวแปลกๆ ทั้งหลาย)
ผมเลยรู้สึกว่ามัน “แปลกดี” ที่หนังเลือกนำเสนอภาพและบทบาทของงูเหลือมในมุมนั้น
ขณะเดียวกัน “งูเหลือม” ยังทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของ “บาดแผลจากอดีต” ซึ่งฝังตรึงอยู่ในใจเชน (และข้ามผ่านไปได้ไม่ง่ายนัก)
(พร้อมๆ กับเรื่องงูเหลือม ยังปรากฏเรื่องเล่าว่าด้วยการปรักปรำคนเป็น “ผีปอบ” ซึ่งนับเป็นอีกจุดเล็กๆ ที่มีความสำคัญไม่น้อย ณ ช่วงต้นของหนัง)
หก
โดยส่วนตัว แม้ยังรู้สึกเสียดายนิดๆ ที่ “มะลิลา” ดูจะมุ่งให้ความสำคัญกับการคลี่คลายความทุกข์/ความผิดบาป/บาดแผลส่วนบุคคลของปัจเจก มากกว่าจะทดลองขยับ-เขย่าประเด็นเชิงโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้น (ซึ่งมีปรากฏให้เห็นรางๆ เป็นฉากหลังในหนัง) แต่นี่ก็ถือเป็นภาพยนตร์ไทยที่น่าพอใจมากๆ ในรอบปี
“ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” กับ “มะลิลา”
ถ้าให้เปรียบเทียบระหว่างหนังไทยสองเรื่องนี้
ผมคิดว่า “ไม่มีสมุยสำหรับเธอ” ไปไกลกว่า ในแง่การพยายามแตะประเด็นเรื่องโครงสร้างทางอำนาจ
ส่วน “มะลิลา” มีความละเอียดลออ เบามือ และเป็นผู้ใหญ่ (สุขุมลุ่มลึก) มากกว่า ในกระบวนการเล่าเรื่องซึ่งเพ่งพินิจพิจารณาถึงชีวิตของปัจเจกบุคคล
1 Comment