จาก “พรหมจารี” ถึง “มัลลิกานารี” ชะตากรรมอาภัพ (รัก) ของสตรีเพศในละครจักรๆ วงศ์ๆ

“น้องน้ำผึ้ง” หรือ “ธนภัทร ดิษฐไชยวงศ์” ถือเป็นนักแสดงละครจักรๆ วงศ์ๆ รุ่นปัจจุบัน ที่โดดเด่นคนหนึ่ง

โดยเฉพาะเมื่อเธอมารับบทบาท “มัลลิกานารี” ใน “สี่ยอดกุมาร” ฉบับล่าสุด

%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%b5

ซึ่งในช่วงแรกๆ ของละคร ดูเหมือนจะมีสิ่งใหม่ๆ ที่แหวกจารีตดั้งเดิมเกิดขึ้น เพราะ “มัลลิกานารี” มีบทกุ๊กกิ๊กหวานแหววกับ “เพชรราชกุมาร” ซึ่งเป็นหญิงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม พอละครดำเนินไปเรื่อยๆ เส้นเรื่อง “หญิงรักหญิง” ระหว่างมัลลิกานารีและเพชรราชกุมารก็ค่อยๆ ถูกกร่อนเซาะทำลายลง และแปรเปลี่ยนเป็นซับพล็อตว่าด้วยการที่หญิงสองคนหลงรักผู้ชายรายเดียวกัน

เมื่อตัวละครใหม่อย่าง “เจ้าชายชัยชยนต์” ถูกสร้างและใส่เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อ “กั้นกลาง” ความสัมพันธ์ระหว่างมัลลิกานารีและเพชรราชกุมาร

ไปๆ มาๆ ตัวละคร “มัลลิกานารี” จึงกลายเป็นตัวละครที่น่าสงสารที่สุดคนหนึ่งใน “สี่ยอดกุมาร” และอาจไม่ได้พบรักกับใครเลย

%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%b2-%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%8a%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%8a-2

ชะตากรรมของ “มัลลิกานารี” ทำให้ย้อนนึกถึงอีกหนึ่งตัวละครที่ “น้องน้ำผึ้ง” เคยสวมบทบาทเอาไว้

นั่นคือ “พรหมจารี” ในละครเรื่อง “จันทร์ สุริยคาธ”

%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%b5-2

ในฐานะนักประพันธ์นวนิยาย “นันทนา วีระชน” ผู้เขียนบทละครจักรๆ วงศ์ๆ ยุคหลัง ถือเป็นนักเขียนหญิง ซึ่งเคยสร้างสรรค์ชะตาชีวิตตลอดจนบุคลิกลักษณะของตัวละครสตรีเพศที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสีสันเอาไว้มากมาย

เช่นเดียวกันกับชะตาชีวิตและบุคลิกลักษณะของบรรดาตัวละครหญิงใน “จันทร์ สุริยคาธ”

อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมของตัวละครสตรีเพศที่น่าสนใจในละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนั้น อาจมิได้ฉายแสดงจุดยืนซึ่ง “อยู่ข้างผู้หญิง” เสียทีเดียว

อาทิ ชะตาชีวิตของสองนางเอกอย่าง “สังคเทวี” และ “ลีลาวดี”

ทั้งคู่เป็นเทพธิดาซึ่งต้องโทษและถูกส่งลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ ทั้งที่ไม่ได้ทำผิดอะไร

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีสองเทวดาหนุ่มแอบชอบพวกนาง สองเทวดาจึงพยายามดึงดูดใจสองนางฟ้า ด้วยการไปขโมย “แก้ววิเศษ” ของพระอินทร์มาขว้างเล่น

แต่พอสองเทพบุตรพลั้งพลาดทำของวิเศษพลัดตกจากสวรรค์ สองเทพธิดากลับพลอยโดนหางเลขถูกลงทัณฑ์ตามไปด้วย

ในฐานะมนุษย์โลก ชะตาชีวิตของทั้งคู่ก็ยังน่าสนใจ

สังคเทวีลงมาเกิดเป็นธิดากษัตริย์เมืองอินทปัถบุรี ขณะที่ลีลาวดีเป็นธิดากษัตริย์เมืองกาสิกนคร

กษัตริย์ทั้งสองเมืองไม่มีโอรสสืบทอดราชสมบัติ อย่างไรก็ดี สังคเทวีและลีลาวดี กลับไม่ได้ถูกเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นมาเป็นเจ้าหญิงผู้อ่อนแออ่อนโยน ซึ่งรอคอยโอรสกษัตริย์เมืองอื่นมาสู่ขอ

ตรงกันข้าม ธิดาสองเมืองถูกเลี้ยงดูให้มีความพร้อมที่จะขึ้นครองราชย์ เมื่อออกเดินทางไปเรียนสรรพวิชาจากพระอาจารย์ในป่าเขาไม่ได้ พระบิดาก็เชิญพระฤาษีมาสอนวิชาอาคมให้ถึงในเมือง

ถ้าพิจารณาจากความถี่ในการ “ปล่อยแสง” แล้ว ดูเหมือนว่าสังคเทวีและลีลาวดีจะมีความเชี่ยวชาญในการใช้เวทมนตร์คาถาต่างๆ มากกว่าตัวละครเพศชายรายอื่นๆ รวมถึง “สุริยคาธ-จันทคาธ” เสียด้วยซ้ำไป

มิหนำซ้ำ ในยามที่สังคเทวีและลีลาวดีพบเจอกับสุริยคาธและจันทคาธเมื่อครั้งเป็นเด็กขอทาน กลับเป็นตัวละครฝ่ายหญิงที่แนะนำฝ่ายชายให้หมั่นศึกษาหาวิชาความรู้ติดตัวเอาไว้

ทว่า สุดท้าย สังคเทวี-ลีลาวดี ก็เป็นได้แค่มเหสีของกษัตริย์ แม้ราชาผู้เป็นพระสวามีของพวกนางจะเกิดในตระกูลขอทานยากเข็ญ แต่ปัญหาดังกล่าวก็ไม่กลายเป็นเงื่อนไขติดขัด เพราะแท้จริงแล้วทั้งคู่เป็นเทพบุตรที่จุติลงมายังโลกมนุษย์

สังคเทวี, ลีลาวดี, สุริยคาธ และจันทคาธ จึงใช้ชีวิตอย่างแฮปปี้ เอ็นดิ้ง เนื่องจากอดีตเทพบุตร-เทพธิดา ได้หวนกลับมาพบรักกันอีกครั้ง ตามโครงเรื่องหรือชะตาชีวิตที่ถูกลิขิตมาแต่ชาติปางก่อน

ไปๆ มาๆ ตัวละครหญิงที่ชะตาชีวิตถูกผลักไปสุดทางจริงๆ กลับกลายเป็น “พรหมจารี”

พรหมจารีเป็นธิดากษัตริย์เมืองไชยะบุรี ซึ่งอภิเษกสมรสกับ “สุทัศน์จักร” เจ้าชายแห่งเมืองอนุราชบุรี

เมื่อครั้งที่สังคเทวีต้องพลัดพรากจากสุริยคาธเพราะเหตุการณ์เรือสำเภาล่ม (ตามคำอธิบายของละคร เรือล่มเพราะฤทธิ์ของสองเทวดาคู่หูอย่าง “พระรำพัด-พระรำเพย” ที่สวรรค์ส่งลงมากลั่นแกล้งสุริยคาธและจันทคาธ) นางได้พบกับสุทัศน์จักร ซึ่งเพิ่งพ่ายศึกจากการยกทัพไปตีกาสิกนคร (เมืองของลีลาวดี ชายาจันทคาธ)

สุทัศน์จักรพาตัวสังคเทวีกลับไปอนุราชบุรี และหวังจะอภิเษกสมรสกับนาง พร้อมกันนั้น ก็ตัดสินใจลงโทษพรหมจารี ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการอภิเษกสมรสดังกล่าว โดยสั่งลอยแพชายาคนแรกของตนเองออกจากเมือง

พรหมจารีต้องลอยเคว้งคว้างกลางมหาสมุทรอยู่หลายวันหลายคืน จนได้รับการช่วยเหลือจากสุริยคาธ จากนั้น นางก็เริ่มรู้สึกหลงรักชายผู้ช่วยชีวิต

ต่อมา พรหมจารีถูกแยกออกจากสุริยคาธโดยผู้ทรงศีลสตรีรายหนึ่ง นางได้เรียนวิชากับผู้ทรงศีลรายนั้น กระทั่งมีฤทธิ์เดชแกร่งกล้า (ทัดเทียมสังคเทวี-ลีลาวดี) แต่ขณะเดียวกัน ความแค้นที่คุกรุ่นในจิตใจอันเกิดจากการเป็นฝ่ายถูกกระทำกลับยังไม่มีวี่แววจะลดน้อยถอยลง

เมื่อพรหมจารีเดินทางกลับเมืองไชยะบุรี นางจึงยุพระบิดาให้ยกทัพไปเผาเมืองอนุราชบุรี พร้อมกับฆ่าพ่ออดีตสามีทิ้ง

%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%b5-1

แล้วในที่สุด พรหมจารีก็ได้สมรสกับสุริยคาธ ผู้มาช่วยชีวิตนางเป็นหนที่สอง ระหว่างการต่อสู้ของพรหมจารีกับสุทัศน์จักร อดีตพระสวามี

การอภิเษกสมรสครั้งนี้นำไปสู่ศึกระหว่างไชยะบุรีกับอินทปัถบุรี เมื่อพรหมจารีต้องการแย่งชิงสามีจากสังคเทวี

รวมทั้งต้องการแก้แค้นฝ่ายหลัง ผู้เคยเป็นต้นเหตุให้ตนเองต้องตกระกำลำบากจากการถูกลอยแพ

ศึกระหว่างสองเมือง ส่งผลให้มีคนล้มตายมหาศาล รวมถึงท้าวพรหมจักร (พ่อของสังคเทวี) แต่ทั้งหมดก็ได้รับการชุบชีวิตด้วย “ต้นยาวิเศษ” ของสุริยคาธ-จันทคาธ

หลังเสร็จสงคราม พรหมจารีดูคล้ายจะมีความรู้สึกผิดบาป และมีท่าทีที่จะพยายามคืนดีกับสังคเทวี

แต่เมื่ออดีตพญายักษ์ผู้เฝ้าประตูสวรรค์อย่าง “วิโยคพสุธา” บุกมาชิงตัวสังคเทวีและลีลาวดี พรหมจารีกลับพลอยโดนลูกหลงถูกจับตัวไปด้วย ทั้งที่นางไม่ได้เป็นอดีตสองเทพธิดาที่ทวารบาลสวรรค์เคยแอบหมายปอง

ตัวละคร “พรหมจารี” ไม่มีปัญหาในเชิงสถานะหรือตำแหน่งแห่งที่ใน “ชาดก-นิทานวัดเกาะ” ซึ่งเรื่องราวว่าด้วยเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์มิได้เป็นเส้นเรื่องสำคัญของเรื่องเล่าฉบับดังกล่าว

พรหมจารีในเรื่องเล่าสองแบบแรก มีศักยภาพถึงขนาดที่จะบรรลุอรหันต์ เมื่อไปเกิดเป็น “พระเขมาเถรี” ในอนาคตชาติ

ทว่า การไม่ได้เป็นอดีตเทพธิดาที่จุติลงมาบนโลกมนุษย์ กลับกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ค่อยๆ ผลักไสตัวละครสตรีรายนี้ออกจากโครงสร้างของเรื่องเล่าในฉบับ “ละครจักรๆ วงศ์ๆ”

ในละคร “จันทร์ สุริยคาธ” การดำรงอยู่ของพรหมจารี ดูจะมีสถานะเป็น “ตัวขัดขวาง” มิให้อดีตเทพบุตร-เทพธิดาอย่างสุริยคาธและสังคเทวีได้ครองรักครองเมืองกันโดยสมบูรณ์แบบ ตามแรงลิขิตของอดีตชาติ (ตลอดจนแนวคิดสมัยใหม่เรื่อง “ผัวเดียวเมียเดียว”)

ทางออกจึงกลายเป็นว่า ในตอนท้ายของละคร พรหมจารีที่คล้ายจะยอมคืนดีกับสังคเทวีแล้ว กลับถูกกำหนดบทบาทให้เป็นตัวละครที่ยังไม่สามารถสลัดความรู้สึกแค้นเคืองออกจากจิตใจได้อย่างหมดสิ้น

พรหมจารีกลายเป็นมนุษย์เปี่ยมกิเลสตัณหา ผู้เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ทะเยอทะยาน หวังจะยื้อแย่งแก้วทิพยเนตรมาครอบครอง

สำหรับพรหมจารี แก้ววิเศษจากสวรรค์คือสัญลักษณ์ของการถือครองอำนาจ (ทางการเมือง)

เมื่อพระสวามีคนปัจจุบันรักหญิงอื่นมากกว่านาง นางจึงหันไปแสวงหาอำนาจ (ทางการเมือง) แทนที่คนรัก/ความรัก

แต่แก้ววิเศษจากเบื้องบนก็แผลงฤทธิ์ ด้วยการเปล่งแสงพิฆาตพรหมจารีจนถึงแก่ชีวิต ชนิดที่ร่างต้องแหลกระเบิดจนไร้ซาก

ส่วนสุริยคาธผู้เป็นสวามี กลับไม่ได้แสดงบทบาทอาลัยรักหนึ่งในภรรยาของตนเองมากนัก เพราะหลังจากพรหมจารีถูกปลิดชีวิตลงอย่างช็อกอารมณ์คนดู สุริยคาธก็แสดงสีหน้าตกใจอยู่ประมาณ 2 วินาที ก่อนละครจะตัดเข้าสู่ช่วงโฆษณา

เมื่อโฆษณาเบรกนั้นจบลง สุริยคาธ, จันทคาธ, สังคเทวี และลีลาวดี พร้อมมิตรสหาย ก็ปรากฏกายบนจอโทรทัศน์ ท่ามกลางบรรยากาศอันชื่นมื่นบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งพวกเขาและเธอกำลังนำแก้วทิพยเนตรไปถวายคืนองค์อินทร์

พรหมจารีจึงมีสถานะเป็นเพียงหนึ่งในตัวละครมนุษย์ผู้ปรารถนาอำนาจอันน่ารังเกียจและสกปรกโสโครก ที่ต้องถูกขจัดชำระล้างลงให้หมดจดสิ้นซาก

เพื่อทุกอย่างจะได้กลับคืนสู่ระบอบระเบียบดั้งเดิม ตามครรลองที่ถูกกำหนดมาแล้ว

ก็ได้แต่หวังว่าชะตาชีวิตเศร้าๆ ที่ “พรหมจารี” ต้องเผชิญ จะไม่เกิดซ้ำกับ “มัลลิกานารี” อีกหน

%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%b2-%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%8a%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%8a

1 Comment

  1. เป็นบทความที่ดีมากๆ และ เราคนหนื่งยังคงหวังว่าตัวละคร มัลลิกานารีจะไม่ช้ำรอยเดีมกับ พรหมจารี

    Like

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.