“เจี๊ยบ ประชากุล” ศิลปินชาวไทยสร้างชื่อคว้ารางวัลสูงสุดจากงานประกวดผลงานจิตรกรรมแนวภาพเหมือนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลก ซึ่งจัดโดย “เนชั่นแนล พอร์เทรต แกลเลอรี่” แห่งสหราชอาณาจักร
โดยภาพวาดสีน้ำมันของเจี๊ยบซึ่งมีชื่อว่า “Night Talk” ได้รับการตัดสินจากคณะกรรมการให้คว้ารางวัลชนะเลิศ “บีพี พอร์เทรต อวอร์ด” ประจำปี 2020 ไปครอง
ท่ามกลางผลงานที่ถูกส่งเข้าร่วมประกวดจำนวน 1,981 ชิ้น โดยศิลปินจากชาติต่างๆ รวม 69 ประเทศ
ในผลงานชิ้นนี้ เจี๊ยบได้วาดภาพเหมือนของเพื่อนสนิทสองคน คนหนึ่งเป็นดีไซเนอร์ชาวเกาหลี และอีกคนเป็นนักแต่งเพลงชาวญี่ปุ่น ซึ่งมาพบกัน ณ บาร์ที่เบอร์ลิน ในช่วงเย็นของฤดูใบไม้ร่วง
“Night Talk” ได้ทำการสำรวจตรวจสอบแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคล และพิจารณาถึงวิถีทางที่ความเข้าใจในเรื่องตัวตนสามารถจะเปลี่ยนแปลงไปได้เมื่อวันเวลาผันแปร
เจี๊ยบมีความเห็นว่าแม้อัตลักษณ์จะเป็นสิ่งที่กำหนดควบคุมตัวตนของคนเราเมื่อยามแรกเกิด แต่เมื่อทุกคนโตขึ้น อัตลักษณ์กลับหมายถึงสิ่งที่เราเลือกจะเป็นอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกัน กลุ่มเพื่อนที่เราเลือกคบหาก็จะมีส่วนในการประกอบสร้างตัวตนของเราขึ้นมาอีกด้วย
ศิลปินชาวไทยระบุว่าทั้งเธอและเพื่อนชาวเกาหลี-ญี่ปุ่นสองคนนี้ ต่างมีสถานะเป็นคนนอก คือเป็นศิลปินเอเชียที่อาศัยอยู่ในต่างแดน และมิตรภาพอันลึกซึ้งที่ทั้งคู่มอบให้เธอ ก็กลายเป็นฐานที่มั่นซึ่งช่วยให้เธอสามารถหยัดยืนและโอบกอดอัตลักษณ์ของตนเองเอาไว้ได้
ขณะที่คณะกรรมการตัดสินรางวัลได้บรรยายถึงคุณลักษณะของผลงานชิ้นดังกล่าวเอาไว้ว่า นี่เป็นภาพเหมือนที่ชวนให้นึกถึงความทรงจำอันสุขสันต์ของห้วงเวลาชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งช่วยให้ผู้ชมได้มองเห็นชีวิตของมนุษย์คนอื่นๆ ที่ทั้งงดงาม ลึกลับ และเปี่ยมชีวิตชีวา
“เจี๊ยบ (กุลธิดา) ประชากุล” ซึ่งเพิ่งมีชื่อเข้าชิงรางวัล “บีพี พอร์เทรต อวอร์ด” เป็นครั้งแรก และจะได้รับรางวัลเป็นเงินสดมูลค่า 3.5 หมื่นปอนด์ (ราว 1.4 ล้านบาท) ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางศิลปะโดยตรง แต่เริ่มสนใจทำงานจิตรกรรม หลังจากมีโอกาสเข้าชมนิทรรศการจัดแสดงผลงานของ “เดวิด ฮ็อคนีย์” ที่เนชั่นแนล พอร์เทรต แกลเลอรี่
เจี๊ยบมีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดนครพนม ก่อนจะเข้ามาศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ฯ เธอเคยทำงานด้านแคสติ้งอยู่ 3 ปี

เจี๊ยบย้ายมาอาศัยที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร ในปี 2007 และเริ่มต้นวาดภาพผ่านกระบวนการศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง ต่อมา เธอย้ายไปใช้ชีวิตที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และได้ริเริ่มแบรนด์สินค้าแฟชั่นยี่ห้อ “JIAB”
กระทั่งในปี 2018 เจี๊ยบจึงได้ย้ายมาทำงานเป็นศิลปินเต็มเวลาที่ลียง ประเทศฝรั่งเศส โดยมุ่งความสนใจไปยังบรรดาผู้คนซึ่งมีภาวะสลับซับซ้อนในทางอัตลักษณ์
ล่าสุด เจี๊ยบเพิ่งเปิดเผยผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัวเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าเธอกำลังลงมือวาดภาพเหมือนของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวไทย
ในขณะที่มีข่าวดีเกี่ยวกับศิลปินคนไทย งานประกวด “บีพี พอร์เทรต อวอร์ด” ประจำปีนี้ ก็ดำเนินไปท่ามกลางความขัดแย้ง เมื่อเกิดกระแสกดดันเรียกร้องจากผู้คนในแวดวงศิลปะ ให้องค์กรด้านศิลปวัฒนธรรมอย่าง “เนชั่นแนล พอร์เทรต แกลเลอรี่” ยุติการรับเงินสนับสนุนจาก “บีพี” บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหราชอาณาจักร ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสำคัญในการทำลายสิ่งแวดล้อมและก่อปัญหาโลกร้อน
ก่อนที่ทาง “บีพี” จะตัดสินใจไม่ส่งตัวแทนบริษัทเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกสุดในรอบ 23 ปีที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น
อย่างไรก็ตาม “บีพี” ยังคงสถานะเป็นสปอนเซอร์ของงานประกวด และจะมีชื่อบริษัทปรากฏอยู่ในชื่อรางวัลต่อไป
ข้อมูลจาก
https://jiabprachakul.com/about.html
https://www.npg.org.uk/whatson/bp-portrait-award-2020/prize-winners/
ภาพนำจาก เพจเฟซบุ๊ก Jiab