หนึ่ง
ขอสารภาพว่าเข้าใจมาตลอดว่าหนังชื่อ “หน้าฮ่าน” และเมื่อได้ดูตัวอย่างหนังก่อนหน้านี้ ก็รู้สึกว่ามันออกมาไม่ค่อยลงตัว และไม่น่าดูนัก แม้จะค่อนข้างเชื่อมือผู้กำกับหน้าใหม่อย่าง “ฉันทนา ทิพย์ประชาติ” (เคยชมผลงานของเธอในเทศกาลหนังสั้นเมื่อหลายปีก่อน) และทีมงานหลายๆ คนก็ตาม ว่าคงต้องมีอะไรดีๆ มาโชว์
แล้วพอได้มาดูหนังจริงๆ ก็รู้สึกว่า “หน่าฮ่าน” นั้นดีกว่าที่คิด มีประเด็นน่าสนใจ และเลือกทางเดินที่ “เข้าท่า” ไม่น้อย
สอง
ถ้า “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” คือ ภาพยนตร์ว่าด้วย “ชาวอีสานผู้รู้จักโลกกว้าง” หรือชาวบ้านที่มีปฏิสัมพันธ์และกล้ายั่วล้อกับตัวแทนหรือสถาบันต่างๆ ของรัฐอย่างเข้มข้นถึงรากถึงโคน
“หน่าฮ่าน” ก็เลือกจะเล่าเรื่องราวในสเกลที่เล็กย่อมถ่อมตัวกว่านั้น
หนังพูดถึงเด็กหนุ่ม-สาว-ตุ๊ด วัยมัธยมกลุ่มหนึ่งในภาคอีสาน ที่ใช้ชีวิตสนุกสนาน หมกมุ่นอยู่กับเรื่องเพศ ความรัก และการไปเที่ยวไปดิ้นหน้าเวทีหมอลำ (ทั้งหมดไม่ได้มีปัญหาชีวิตที่ยากแค้นต้องดิ้นรนหนักหนาสาหัสใดๆ)
ตัวละครหลักกลุ่มนี้ไม่ได้มีฝันไกลๆ เหมือนตัวละครบางรายใน “ไทบ้านฯ” คนที่จริงจังกับอนาคตของตนเองมากที่สุด ก็ไปลงเอยที่การเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี หลังจบ ม.ปลาย ส่วนที่เหลือก็ออกมาหากินประกอบอาชีพซึ่งอาจได้เงินดี ทว่าไม่ได้มีสถานะเป็น “ผู้รู้โลก” หรือ “นักฝันผู้ทะเยอทะยาน” แน่ๆ
แต่ใช่ว่า “ภาคอีสาน” ใน “หน่าฮ่าน” จะเป็น “ชุมชนอีสาน” ที่ตัดขาดจากโลกภายนอก/ความทันสมัยโดยสิ้นเชิง
หนุ่มสาวบางส่วนในหนังเรื่องนี้โด่งดังและหารายได้จากการเป็น “เซเล็บออนไลน์” (ในหมู่คนอีสานด้วยกัน)
แหล่งท่องเที่ยวในตัวเมืองอุดรที่เหล่าตัวละครในหนังใฝ่ฝันถึงคือศูนย์การค้า “ยูดี ทาวน์” ส่วนร้านอาหารที่พวกเขาและเธอเลือกไปกินกัน (และมีบางคนเข้าไปทำงานพาร์ทไทม์ในเวลาต่อมา) ก็คือ ร้านพิซซ่า
ตัวละครบางรายเป็นแฟนบอลของสโมสรแมนฯ ยูฯ และลิเวอร์พูล
กระทั่งมีเพื่อนสาวคนหนึ่งของนางเอกที่ตั้งท้องกับผู้ชายต่างชาติ (แต่เธอก็ปักหลักคลอดลูกและใช้ชีวิตที่ “บ้านเกิด” โดยไม่ได้ติดตามพ่อของลูกข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังต่างแดน)
อย่างไรก็ตาม พวกเขาและเธอไม่ได้มุ่งมั่นไขว่คว้าหรือมีศักยภาพเพียงพอ ที่จะก้าวเท้าออกจาก “บ้านเกิด”
พวกเขาและเธอไม่ได้ใฝ่ฝันจะเปลี่ยนแปลง “บ้านเกิด” ด้วยองค์ความรู้สมัยใหม่เหมือน “ป่อง ไทบ้านฯ”
พวกเขาและเธอเพียงอยากจะดำเนินชีวิตอันสามัญปกติต่อไป และมีความสุขสนุกสนานตามอัตภาพใน “บ้านเกิด” แห่งเดิม
แม้แต่ตัวละครหลักอีกหนึ่งราย ซึ่งได้ไปแสวงหาโอกาสของชีวิตที่ “ดีกว่า” ถึงในกรุงเทพฯ ก็ยังเลือกหวนกลับมาตามหาความรัก (เก่า) ที่ “บ้านเกิด” (คล้ายคลึงกับเพื่อนสาวสวยของนางเอก ที่เลือกทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนรถทัวร์ ซึ่งวิ่งไปมาระหว่างอุดรธานีกับกรุงเทพฯ)
เท่ากับว่าตัวละครทั้งหมดใน “หน่าฮ่าน” ล้วนจำกัดกรอบของตัวเอง (หรือถูกจำกัดกรอบชีวิต) เอาไว้ที่ “บ้าน” หรือที่ “ภาคอีสาน”
สาม
พลวัตของ “ภาคอีสาน” ใน “หน่าฮ่าน” จึงไม่ได้อยู่ที่ประเด็นการเคลื่อนย้ายเข้า-ออกของประชากร ไม่ได้อยู่ตรงการคาดหวังว่าชนบทแห่งนี้จะต้องมีวิวัฒนาการหรือก้าวหน้ากว่าเดิม ไม่ได้เกาะเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอันโลดโผนโจนทะยานกับสังคมอื่น
แต่พลวัตของ “ภาคอีสาน” ในหนังเรื่องนี้ คือ การสร้างบทสนทนาภายใน ว่าด้วย “วัฒนธรรมอีสานอันหลากหลาย”
“หน่าฮ่าน” หรือความรื่นเริงผสมระห่ำหน้าเวทีหมอลำ คือ “วัฒนธรรมป๊อปแบบบ้านๆ” ของมหาชนชาวอีสาน นี่เป็นวัฒนธรรมบ้านๆ ที่ยังดำรงอยู่อย่างมั่นคง และอาจไม่ต้องการแก่นสารอะไรที่มากไปกว่านั้น (แม้จะมีรูปลักษณ์ภายนอกหรือลูกเล่นทางดนตรีบางอย่างซึ่งแปรผันไปตามยุคสมัย)
หนังเรื่องนี้ยืนกรานสนับสนุน “วัฒนธรรมบ้านๆ” ดังกล่าว โดยมิได้ฉวยใช้มันเป็นเครื่องมือที่มุ่งคัดง้างกับอำนาจรัฐส่วนกลางหรือภาวะทันสมัยอื่นๆ จากโลกภายนอก (ส่วนหนึ่งเพราะปฏิสัมพันธ์เหล่านั้นล้วนไม่มีตัวตนอยู่ในความคิดฝันของตัวละครทั้งหมดในหนัง)
ทว่า “วัฒนธรรมป๊อปของชาวบ้านอีสาน” ในหนัง กำลังงัดข้อกับ “ความเป็นอีสานกระแสหลัก” ที่ปรากฏผ่านการแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านแบบมาตรฐาน ซึ่งถูกโปรโมทโดยสถาบันการศึกษา ตลอดจนคำขวัญประจำจังหวัด
จุดพีกสุดของการปะทะกันระหว่าง “วัฒนธรรมอีสานสองแบบ” ได้อุบัติขึ้น ณ ฉากสอบสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัยอันน่าประทับใจและไปไกลมากๆ ของนางเอก
สี่
ความไม่ทะเยอทะยานและรักสนุกแบบบ้านๆ ของ “ยุพิน” นางเอก และผองเพื่อน ดำเนินคู่ขนานไปกับปัญหา “รักสามเส้า” ที่เธอต้องเผชิญ
ถ้าชายหนุ่มรุ่นพี่ผู้เป็นรักแรกอย่าง “สิงโต” คือ ภาพแทนของ “วัฒนธรรมประชานิยม” ที่มีชีวิตชีวา (ทั้งสุขและเศร้า ทั้งสมหวังและผิดหวัง ทั้งผ่อนคลายและตึงเครียด) และมีพลวัต (มีตัวตนในสื่อออนไลน์)
เพื่อนชายผู้เป็นรักลำดับถัดมาของเธออย่าง “สวรรค์” ก็เป็นตัวละครที่มีความลักลั่นกำกวมอย่างน่าสนใจไม่แพ้กัน
ด้านหนึ่ง เขาเป็นดัง “เด็กดี” ของรัฐ และเป็นตัวแทนของ “วัฒนธรรมอีสานทางการกระแสหลัก” ผ่านการเป็นหมอแคนมือหนึ่งของวงโปงลางประจำโรงเรียน หรือการมุ่งมั่นตั้งใจจะศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย
แต่อีกด้าน “สวรรค์” ก็เป็น “คนใน” ที่แปลกแยก, ได้รับผลกระทบ และกล้าวิพากษ์วิจารณ์ความรุนแรงซึ่งแฝงอยู่ใน “วัฒนธรรมป๊อปแบบบ้านๆ” หน้าเวทีหมอลำ ด้วยเหตุผล-มุมมองที่น่ารับฟังไม่น้อย
ดังนั้น เมื่อความรักสามเส้าระหว่าง “ยุพิน-สวรรค์-สิงโต” ค่อยๆ คลี่คลายลง ณ ตอนท้าย อารมณ์เศร้าสร้อย-เคว้งคว้าง ผสม ลังเล-เสียดาย จึงเกิดปะปนระคนไปกับความสุขสนุกสนานแบบบ้านๆ ในงานรื่นเริงของมหาชนคนตัวเล็กตัวน้อย อย่างน่าประหลาดและมีเสน่ห์
ป.ล.
นอกจากประเด็นหลักของหนังดังได้เขียนไปแล้ว “หน่าฮ่าน” ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น
มุขตลกของหนังสามารถเรียกเสียงหัวเราะได้จริงๆ และมีความเป็นสากลพอสมควร แถมยังถูกปล่อยออกมาด้วยจังหวะที่ค่อนข้างแม่นยำอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ผมก็ชอบบุคลิกลักษณะของ “ตัวละครเพศทางเลือก” ในหนังเรื่องนี้
เพราะไม่เพียง “หน่าฮ่าน” จะขบคิดถึงความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ “วัฒนธรรมอีสาน” อย่างเข้มข้นจริงจัง แต่หนังยังนำเสนอความหลากหลายของ “เกย์” ได้อย่างน่าสนใจ
สุดท้าย ถ้าให้พูดถึงตัวละครหญิงในเรื่อง ผมกลับหลงรัก “น้องแคลเซี่ยม” มากที่สุด 555
1 Comment