วาไรตี้ รายงานว่า “Hope Frozen” ภาพยนตร์สารคดีว่าด้วยความโศกเศร้าเสียใจที่ครอบครัวคนไทยครอบครัวหนึ่งต้องเผชิญหลังการสูญเสียลูกสาว และการตัดสินใจของพวกเขาที่จะแช่แข็งร่างไร้วิญญาณของเด็กน้อยเอาไว้ เพื่อรอคอยความหวังบางอย่าง ได้รับรางวัลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังสารคดี Hot Docs ที่โตรอนโต ประเทศแคนาดา
ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ของหนังสารคดีเรื่องนี้คือ “ไพลิน วีเด็ล”
การได้รับรางวัลดังกล่าวจาก Hot Docs ส่งผลให้ “Hope Frozen” มีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวยอดเยี่ยมในออสการ์ครั้งหน้า โดยไม่ต้องเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกา
เว็บไซต์ทางการของ “Hope Frozen” ระบุถึงเรื่องย่อของหนังเอาไว้ว่า “น้องไอนส์” เด็กหญิงวัยสองขวบจากกรุงเทพฯ กลายเป็นมนุษย์ที่อายุน้อยที่สุดในโลก ซึ่งถูกนำร่างเข้าเก็บรักษาในกระบวนการแช่แข็ง
ภายหลังจากที่เด็กน้อยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสมอง ครอบครัวของเธอก็ส่งร่างน้องไอนส์ไปยังแล็บในสหรัฐ ปัจจุบัน ศีรษะและสมองของเธอถูกเก็บรักษาเอาไว้ในห้องแล็บที่แอริโซนา
“Hope Frozen” จะติดตามสมาชิกครอบครัวของน้องไอนส์ โดยเฉพาะคุณพ่อ นักวิทยาศาสตร์เลเซอร์ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอก และนับถือพุทธศาสนา ที่ให้ความเชื่อมั่นแก่ครอบครัวว่าทุกคนควรทุ่มเทความหวังในการฟื้นคืนชีวิตลูกสาวไว้กับเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งยังเผชิญหน้ากับข้อโต้แย้งถกเถียงมากมาย
คุณพ่อมีความหวังว่า สักวัน น้องไอนส์จะมีโอกาสฟื้นคืนชีพในร่างใหม่ แม้ตัวเขาเองอาจมีชีวิตอยู่ไม่ถึงวันนั้น
ขณะเดียวกัน “แมทริกซ์” พี่ชายคนโตวัย 15 ปี ผู้เฉลียวฉลาดของน้องไอนส์ ก็ได้เข้ามาเติมเต็มความฝันของครอบครัว
หนุ่มน้อยผู้นี้เดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อหารือกับคณะนักวิทยาศาสตร์ที่มีแนวโน้มจะค้นพบวิทยาการใหม่เกี่ยวกับการเก็บรักษาความทรงจำของมนุษย์
ความศรัทธาที่มีต่อวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้นของครอบครัวน้องไอนส์กำลังจะถูกทดสอบใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยสิ่งที่แมทริกซ์เพิ่งค้นพบ
หนังสารคดีเรื่องนี้จะถักทอฟุตเทจที่ทางพ่อแม่เคยบันทึกภาพวิถีชีวิตของน้องไอนส์ เข้ากับการเฝ้าติดตามสังเกตวิถีชีวิตของสมาชิกครอบครัวรายอื่นๆ ภายหลังการถึงแก่กรรมของน้อง
นี่คือภาพยนตร์สารคดีที่พยายามจะสำรวจตรวจสอบเทคโนโลยีซึ่งให้ความหวังว่าสมอง/ความทรงจำของมนุษย์อาจถูกเก็บรักษาเอาไว้ได้ และการต่อสู้ทางอารมณ์ความรู้สึกของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งพร้อมจะอุทิศทุกอย่าง เพื่อชุบชีวิตเด็กน้อยวัย 2 ปี ขึ้นมาใหม่
สำหรับ “ไพลิน วีเด็ล” นั้นเคยเป็นช่างภาพนิ่งให้แก่หนังสือพิมพ์ในสหรัฐ ก่อนจะตกหลุมรักการเล่าเรื่องราวต่างๆ ด้วยวิดีโอ และตัดสินใจเรียนรู้ศาสตร์แขนงนี้ด้วยตนเอง
เธอเคยทำงานผลิตสื่อภาพเคลื่อนไหวให้สำนักข่าวต่างชาติหลายแห่ง เช่น อัลจาซีรา, เอบีซี ออสเตรเลีย, นิวยอร์กไทมส์, เนชั่นแนล จีโอกราฟิก, โมโนเคิล, เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล และเอพี
ภาพยนตร์สารคดีของไพลินมักมุ่งความสนใจไปยังประเด็นว่าด้วยความศรัทธา, บาดแผลในจิตใจ และการปรับตัวเข้ากับภาวะสมัยใหม่ของมนุษย์
หนังสารคดีเรื่องนี้ยังจะมีทีมงานหลักเป็นชาวไทยอีกสองราย คือ “อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร” นักออกแบบเสียง ซึ่งเคยทำงานร่วมกับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ “ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล” นักทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ ซึ่งเคยมีผลงานน่าจดจำใน “อนธการ” และ “มะลิลา”
ที่มาเนื้อหา ภาพประกอบ และตัวอย่างภาพยนตร์