“ชุมพล เอกสมญา” และ “Sat & sun”
ข้อนี้เป็นเกร็ดเล็กๆ
ระหว่างดูหนัง ผมจะคิดถึงเพลง “ตัวตลก” ของ “Wildseed” (ชุมพล เอกสมญา) ซึ่งมีอายุครบ 20 ปีพอดี
ครั้น “โจ๊กเกอร์” ไปป่วนรายการโทรทัศน์ชื่อดังจนเกิดเหตุการณ์ใหญ่ หนังก็นำเพลง “Spanish Flea” มาใช้เป็นเสียงดนตรีเปิดก่อนเข้าช่วงข่าวด่วน
เชื่อว่าคนดูหนังหลายรายคงนึกถึงรายการวิทยุ “Sat & Sun” ของน้าณรงค์ น้านัท และน้ามาลี ซึ่งใช้เพลงดังกล่าวเป็นเพลงเปิดรายการเช่นเดียวกัน
ภาวะโรยราของงานรื่นเริง
สำหรับผม ประเด็นน่าสนใจข้อหนึ่งที่อาจแฝงไว้ใน “Joker” ก็คือ การนำเสนอถึงความล้มเหลว/ทางตันของการชุมนุมทางการเมืองในรูปแบบ “เทศกาลรื่นเริง”
การผูกโยงการชุมนุมทางการเมืองบนท้องถนนเข้ากับความเป็น “เฟสติวัล/คาร์นิวัล” ไม่ใช่เรื่องใหม่
เพราะทั้งสองกิจกรรมล้วนมีสถานะเป็นโลก/ชุมชนทางเลือกหรือชั่วขณะพิเศษ ที่เปิดโอกาสให้แก่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ และสภาวะพลิกหัวกลับหางทางอำนาจคล้ายคลึงกัน
ไม่กี่ปีก่อน ดูเหมือนนัยยะความหมายของการชุมนุมทางการเมืองในรูปลักษณ์ “เฟสติวัล/คาร์นิวัล/งานรื่นเริง” จะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาเป็นความหวังใหม่ๆ ท่ามกลางขบวนการ Occupy และคำขวัญ “เราคือคนจำนวน 99 เปอร์เซ็นต์”
อย่างไรก็ตาม ความหวังเช่นนั้นได้โรยราลงไปพอสมควร พร้อมๆ กับการผงาดขึ้นครองอำนาจของฝ่ายขวาจำนวนมากในโลกตะวันตก เช่น “โดนัลด์ ทรัมป์” ในสหรัฐอเมริกา
ก่อนที่ “อาร์เธอร์ เฟล็ก” จะถือกำเนิดใหม่เป็น “โจ๊กเกอร์” นั้น เขาเคยใช้นามแฝง “คาร์นิวัล” ในการเดี่ยวไมโครโฟนอันล้มเหลว ไม่ตลก ไร้ความสุข และปราศจากความรื่นเริง
กระทั่ง “อาร์เธอร์” ทนแรงบีบคั้น กดดัน ที่รุมกระหน่ำซ้ำเติมในชีวิตประจำวันไม่ไหว จนต้องระเบิดพลังบ้าคลั่งขำขื่นของปัจเจกบุคคลออกมา เขาจึงได้ก้าวเท้าเข้าสู่ “คาร์นิวัลทางการเมือง”
“อาร์เธอร์” เปลี่ยนโฉมเป็น “โจ๊กเกอร์” สัญลักษณ์ของการชุมนุมอันคุกรุ่นด้วยความเกลียดชังคั่งแค้น, ตัวแทนของชนชั้นล่างในเมืองก็อตแธม และศูนย์กลางในงานรื่นเริงรวมหมู่ของเหล่าคนทุกข์ยาก
เขาคือแรงผลักดันที่ก่อให้เกิดความชุลมุนวุ่นวายระยะสั้นๆ ภาวะอนาธิปไตยย่อยๆ และโอกาสในการปลิดชีวิต/ล้างแค้นชนชั้นนำ ผู้มักมองเห็นคนธรรมดาจำนวนมากเป็นเพียง “ตัวตลก”
แต่ทุกอย่างก็ดำเนินไปในลักษณะชั่วครู่ชั่วคราว และไม่น่าจะส่งผลสะเทือนใดๆ ต่อโครงสร้างสังคมอันอยุติธรรมของเมืองก็อตแธม ภายหลังเหตุจลาจล
เช่นเดียวกับ “โจ๊กเกอร์” ที่ถูกฉวยใช้เป็นสัญลักษณ์ของฝูงชน โดยต้องแลกกับการเจ็บตัวและการโดนจับกุมควบคุมตัว
ชะตากรรมของเขาจึงอาจส่องสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวอ่อนแรงของการต่อสู้ทางการเมืองแบบ “งานเทศกาลรื่นเริง/คาร์นิวัล” ในภาพรวม
“เทศกาลรื่นเริง/คาร์นิวัล” ที่มิได้วางฐานอยู่บนความสนุกสนานมาตั้งแต่ต้น
สู่วิถีชีวิตประจำวัน
เมื่อ “คาร์นิวัลทางการเมือง” ในก็อตแธมสิ้นสุดลง น่าสนใจมากๆ ว่า “อาร์เธอร์” หรือ “โจ๊กเกอร์” ได้ถูกนำตัวเข้าโรงพยาบาลจิตเวช
ด้านหนึ่ง สถานพยาบาลดังกล่าวก็ทำงานผ่านกลไกอำนาจในการจำกัดพื้นที่และควบคุมชีวิต-ความคิด-อารมณ์ความรู้สึกของปัจเจกบุคคลผู้ถูกระบุว่าป่วยไข้ทางจิตใจ
อีกด้านหนึ่ง “โจ๊กเกอร์” ก็คงต้องพยายามดิ้นรนอยู่รอดภายใน (หรือพยายามหนีรอดออกจาก) โลกของโรงพยาบาล ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ไม่ว่าเขาจะมีความสุขหรือไม่ก็ตาม (รวมถึงการใช้ความรุนแรง?)
การชุมนุมทางการเมืองแบบ “เฟสติวัล/คาร์นิวัล” ในพื้นที่สาธารณะ จึงย่อขนาดลงสู่การครอบงำ-ต่อต้านทางการเมืองในพื้นที่เฉพาะและในระดับวิถีชีวิตประจำวัน
แม้สเกลของการต่อสู้อย่างหลังจะเล็กกว่า แต่ก็มีความต่อเนื่องยาวนานและต้องอาศัยความอดทนมากกว่า
ข้อสงสัย
มีข้อสงสัยเล็กๆ สองประเด็น หลังดูหนังจบ
ข้อแรก ไอ้กลุ่มเด็กเลวข้างถนนที่รุมกระทืบ “อาร์เธอร์” ในช่วงแรกของภาพยนตร์นั้น ได้มาร่วมก่อจลาจลในการชุมนุมที่มี “โจ๊กเกอร์” เป็นสัญลักษณ์ใจกลางด้วยหรือไม่?
ข้อสอง ไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณหมอผู้หญิงผิวดำตอนท้ายเรื่อง? เพราะรอยเท้าของ “โจ๊กเกอร์” ที่เดินไปตามพื้นโรงพยาบาลนั้นเลอะรอยเลือด ถ้าคุณหมอถูกทำร้าย เธอก็จะเป็นคนดำรายแรกที่ถูกกระทำโดย “อาร์เธอร์/โจ๊กเกอร์”
1 Comment