มีอะไรน่าสนใจในฉาก “ควักลูกตา” ของ “นางสิบสอง 2562”

ผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม สำหรับฉาก “ควักลูกตาในตำนาน” ของละครจักรๆ วงศ์ๆ “นางสิบสอง” เวอร์ชั่นล่าสุด

ในแง่ความบันเทิง ผมรู้สึกว่าฉากดังกล่าว “ไม่ดิบ” และ “ไม่โหด” อย่างที่คิด

อาจเป็นเพราะเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยขึ้น ทำให้ “ความดิบ” ต่างๆ มีน้อยลง ขณะเดียวกัน ระบบตรวจสอบควบคุมความรุนแรงในสื่อ ก็คงส่งผลให้ “ความโหด” ต้องลดดีกรีลงไปมากพอสมควร

ถ้าเป็นอย่างนี้ แล้ว “ฉากควักลูกตา” และเหตุการณ์ต่อเนื่อง เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา มีอะไรน่าสนใจ?

ผมชอบวิธีอธิบายความในละคร ที่บ่งชี้ว่าสถานการณ์/ผลลัพธ์หนึ่งๆ อาจเกิดขึ้นจากปฏิบัติการ/ระบบเหตุผลแบบคู่ขนาน

ควักลูกตา 1

เช่น การอธิบายว่าทำไม “เภา” จึงถูกควักลูกตาเพียงข้างเดียวอยู่แค่คนเดียว?

ซึ่งด้านหนึ่ง ละครได้อธิบายผ่านมิติเรื่อง “กรรม” ว่าเพราะพี่ๆ ทั้ง 11 คนที่เหลือ มีพฤติกรรมชอบทารุณสัตว์ (ควักตาปลา) หรือสนับสนุน/ไม่ทักท้วงพฤติกรรมเช่นนั้น ผิดกับ “เภา” ที่เคยพยายามทักท้วง

“เภา” เลยเป็นคนเดียวที่เหลือตาหนึ่งข้าง

ยายค่อม เจ้าแต้ม

แต่อีกด้าน ละครก็เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพฤติการณ์หาญกล้าเปี่ยมคุณธรรมน้ำมิตรของ “ยายค่อม” กับ “เจ้าแต้ม” ที่แอบบุกเข้าไปขอพระราชโองการอภัยโทษนางทั้งสิบสองจาก “ท้าวรถสิทธิ์” (ผู้ตกอยู่ภายใต้มนตร์สะกด/การควบคุมของ “นางยักษ์สันธมาลา” เกือบตลอดเวลา)

แม้พระราชโองการอภัยโทษจะมาช้า แต่อย่างน้อยก็ช่วยเซฟดวงตาดวงสุดท้ายของ “เภา” เอาไว้ได้

หากใครได้ชมละครมาตลอด จะพบว่า “นางสิบสอง 2562” (ผมไม่ได้ตามดูฉบับก่อนๆ อย่างละเอียด) มักชอบเล่นกระบวนท่าอธิบายความทำนองนี้อยู่บ่อยๆ

ตั้งแต่ประเด็นชะตากรรมทนทุกข์ของ “นางสิบสอง” และ “เศรษฐีนนท์” ผู้เป็นพ่อ ซึ่งด้านหนึ่ง ก็คงเป็นกรรมลิขิต-พรหมลิขิต (อำนาจนามธรรม) แต่อีกด้าน ละครก็ฉายภาพให้เห็นชัดๆ ว่าเทวดาผู้มีตัวตนจริงๆ อย่าง “พาลเทพ” นั้นคอยกลั่นแกล้งซ้ำเติมมนุษย์เหล่านี้อยู่ตลอดเวลา

จนถึงกรณีการล่าล้าง “นางสิบสอง” ของ “พระแม่เจ้าสันธมาลา” ซึ่งด้านหนึ่ง นี่ก็เป็นผลมาจากความรักอันแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธแค้น เพราะอารมณ์ผิดหวังเสียใจ แต่อีกด้าน พฤติกรรมโหดเหี้ยมอำมหิตข้างต้นก็เกิดจากปัจจัยหนุนเสริมอื่นๆ ด้วย เช่น การแทรกแซง-วางแผนไล่มนุษย์ออกนอกนครทานตะวันของ “แม่ย่า”

แม่ย่า นางสิบสอง

ที่สำคัญ จะสังเกตได้ว่าเหตุผลข้างหนึ่งอันมีส่วนนำไปสู่ภาวะพลิกผันสำคัญๆ ใน “นางสิบสอง” มักเกี่ยวพันกับ “เกมอำนาจ/เกมการเมือง” อยู่เสมอ

ทั้งการทัดทานท้าทายอำนาจผู้ปกครองโดยชาวบ้านราษฎร, ความระหองระแหงระหว่างเทพกับมนุษย์ และการคัดง้างของสองขั้วอำนาจในเมืองยักษ์

วิธีอธิบายความเช่นนี้คือจุดเด่นของบทละครโทรทัศน์เรื่อง “นางสิบสอง 2562”

ขอบคุณภาพจาก ยูทูบสามเศียร

1 Comment

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.