“โลกเฉพาะ?” ใน The Favorite

หนึ่ง

ชอบรูปแบบการคลี่คลายตัวของความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างตัวละครสตรีสามรายในหนังเรื่องนี้

เริ่มจาก “เลดี้ซาร่าห์” ที่เหมือนจะมีบทบาทครอบงำ “ควีนแอนน์”

แล้ว “เลดี้อบิเกล” ก็ผงาดขึ้นมากำจัดโค่นล้ม “เลดี้ซาร่าห์”

แต่ท้ายสุด หนังก็ชวนตั้งคำถามว่า “เลดี้อบิเกล” เข้ามาแทนที่ “เลดี้ซาร่าห์” ในฐานะอะไรกันแน่?

คู่รัก/คนโปรด? ผู้มีอิทธิพลทางการเมืองเบื้องหลังราชินี? หรือ “สัตว์เลี้ยงตัวน้อยๆ” ที่เป็นลูกจำลอง/ของเล่น/เบี้ยล่าง ซึ่งอาจมีชะตากรรมแปรผันไปตามอารมณ์อันผันผวนของ “ควีนแอนน์”?

เพราะหลังจากมีบทบาทในเชิง “ตั้งรับ/ถูกชักจูง” เป็นส่วนใหญ่ มาตลอดทั้งเรื่อง ตัวละคร “ควีนแอนน์” กลับแสดงบทบาทในฐานะ “ผู้กระทำการ” หรือ “ผู้ใช้อำนาจ” ออกมาก่อนหนังจบอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อพระองค์ยืนค้ำอยู่เหนือเลดี้ผู้ถูกโปรดปราน/ยอมศิโรราบคนใหม่

นี่จึงเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบงูกินหาง หรือต่างฝ่ายต่างฉวยใช้ซึ่งกันและกัน

สอง

favorite 2

จุดเด่นอีกข้อใน The Favorite ก็คือ “โลกของผู้หญิง” ในหนัง ไม่ได้เป็นเพียงโลกแห่งความบิดเบี้ยวแปลกประหลาด หรือโลกลึกลับส่วนตัว ที่คละคลุ้งด้วยแรงอิจฉาริษยาของสตรี 2-3 คน

แต่เอาเข้าจริง อาณาเขตของผู้หญิงได้แพร่ขยายออกมายัง “โลก/พื้นที่ของผู้ชาย” ด้วย ไม่ว่าจะในกิจกรรมยิงนก ไปจนถึงกิจการในรัฐสภา

ตัวละครผู้หญิง 2-3 รายในหนัง คือผู้ชี้ขาดในทางการเมืองของประเทศชาติ กระทั่งนักการเมืองชายระดับนำก็ต้องเข้ามาพึ่งพา-ล็อบบี้พวกเธอ

เป็นสามีของเลดี้ทั้งหลายเสียอีกที่อยู่เหินห่างจากศูนย์กลางอำนาจทางการเมือง ตั้งแต่ “จอห์น เชอร์ชิล” หรือดยุคออฟมาร์ลบะระ ที่ส่วนใหญ่ไปขลุกอยู่ในสนามรบ หรือ “แซมมวล มาแชม” ซึ่งปรากฏตัวครั้งแรกประหนึ่งเจ้าชายที่ไปพบเจอเจ้าหญิงในเทพนิยาย ณ กลางป่า ก่อนจะค่อยๆ กลายสภาพเป็นสามีผู้อยู่ใต้อิทธิพลของภรรยาไปโดยสมบูรณ์ในภายหลัง

ส่วนชนชั้นนำชายรายอื่นๆ ก็หมดเวลาไปกับกิจกรรมเฮฮาไร้สาระ แม้กระทั่งคนที่มีเล่ห์เหลี่ยมรอบจัดและมีสาระมากที่สุด ก็ยังถูกลดทอนอำนาจบารมีลง ผ่านการแต่งหน้าแต่งตาที่แลดูตลกตุ้งติ้งเกินพอดี

ไม่ต้องพูดถึงพวกมหาดเล็กเด็กชายทั้งหลายที่แทบจะเป็นฝ่าย “ตั้งรับ” ในทุกกรณีและเหตุการณ์

(ผิดกับโลกในหนังของ “ควีน เอลิซาเบธที่ 1” ซึ่งตัวละครผู้ชายยังมีความแอคทีฟทางการเมืองอยู่เต็มเปี่ยม เช่น “เซอร์ฟรานซิส วอลซิงแฮม”)

โลกของหนังเรื่องนี้ จึงเป็นสังคมการเมืองที่ผู้ชายหายไปหรือถูกกดทับอยู่อย่างน่าประหลาดใจและน่าสนใจ

สาม

favorite

การถ่ายภาพ การออกแบบงานสร้าง ตลอดจนรายละเอียดในชีวิตประจำวันของตัวละครนำ คล้ายกำลังจะบอกว่าโลกของ “ควีนแอนน์” และเลดี้ที่ทรงโปรดปรานทั้งสอง เป็นโลกแห่งความบิดเบี้ยว กลับหัวกลับหาง ผิดที่ผิดทาง ไปจากบรรดามาตรฐานที่ถูกเชื่อว่าเป็น “ปกติ”

ตั้งแต่รสนิยมทางเพศ ไปจนถึงการได้มองเห็นความเลอะเทอะ อาการล้มลุกคลุกคลาน ภาวะทรุดโทรมเสื่อมถอยทางกายภาพของบุคคลผู้มีสถานะสูงส่ง

ภาวะ “อปกติ” ดังกล่าว ดำรงคงอยู่ตลอดเวลาในภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ก็อาจจะไม่ “ชั่วนิรันดร์” บนเส้นทางของประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่านั้น

อย่างน้อยผู้ชนะในโลกอันแสนแปรปรวนของหนัง The Favorite อย่าง “เลดี้อบิเกล” ก็หมดบทบาททางการเมืองไปอย่างฉับพลันหลังสิ้นรัชสมัย “ควีนแอนน์” เช่นเดียวกับนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่อย่าง “โรเบิร์ต ฮาร์ลีย์” ที่ต้องโทษจำคุกหลังหมดรัชสมัย แล้วก็ไม่ได้หวนคืนสู่จุดสุงสุดทางการเมืองอีกเลย

กลับเป็นผู้แพ้ในหนังอย่าง “เลดี้ซาร่าห์” เสียอีก ที่สามีของเธอสามารถหวนคืนสู่วงจรอำนาจในยุคต่อมา (นอกหนัง) ส่วนเธอเองก็ถือเป็นมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยและประสบความสำเร็จด้านการลงทุน แถมยังมีช่วงอายุที่ยืนยาวกว่าทั้ง “ควีนแอนน์” และ “เลดี้อบิเกล”

โลกแห่งความบิดเบี้ยว กลับหัวกลับหาง ใน The Favorite อาจเป็นสภาวะยกเว้นที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งคราว

หรืออาจเป็นแค่วาระ/ฤดูกาลหนึ่ง ซึ่งต้องหมุนเวียนเปลี่ยนไปสู่วาระ/ฤดูกาลอื่น มิได้คงอยู่อย่างหยุดนิ่งตายตัวตราบนิจนิรันดร

สี่

the-madness-of-king-george-movie-poster-1994-1020210074_1024x1024

จริงๆ หนังที่น่าจะนำมาจับคู่กับ The Favorite คือ The Madness of King George

ทั้งเพราะสาเหตุที่ท้องเรื่องของหนังทั้งคู่อยู่ในยุคสมัยใกล้เคียงกัน

ขณะเดียวกัน หนังทั้งสองเรื่องยังพูดถึงชีวิต “สองมิติ” ของผู้เป็นประมุขแห่งรัฐ ในประเทศเดียวกัน ด้วยแง่มุมที่คล้ายคลึงกัน

ด้านหนึ่ง ในแง่มุมชีวิตส่วนตัว ประมุขแห่งรัฐในหนังคู่นี้ต่างเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ประสบปัญหาทางด้านสุขพลานามัยบางประการ

อีกด้าน ตัวละครนำทั้งสองรายก็ดำรงตนอยู่ท่ามกลางบริบทแห่งความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ

กรณีของ “ควีนแอนน์” รัชสมัยของพระองค์คือยุคที่มีการรวมอังกฤษและสก็อตแลนด์เป็นบริเตนใหญ่ และเป็นยุคที่ระบบการเมืองสองพรรคในสภาอังกฤษมีพัฒนาการชัดเจนมากขึ้น

ส่วนรัชสมัยของ “คิงจอร์จที่สาม” ก็เป็นยุคที่ระบบการเมืองสองพรรคมีพัฒนาการเด่นชัดขึ้นอีก และทั้งสองขั้วการเมืองต่างพยายามเข้ามามีส่วนกำหนดความเป็นไปของราชบัลลังก์ นอกจากนี้ ยุคนั้นยังเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาเพิ่งแยกตัวออกจากอังกฤษหมาดๆ

ถ้าพิจารณาในแง่ความแหวกแนวทางด้านโปรดักชั่นและประเด็นเรื่องเพศสภาพ The Favorite ย่อมถือเป็นรสชาติแปลกใหม่ของภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษ

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาประเด็นด้านเนื้อหาและนัยยะทางสังคมการเมือง หนังเรื่องนี้ก็อาจเดินซ้ำรอยทางบางย่างก้าวของ The Madness of King George

 

 

1 Comment

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.