(เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)
หนึ่ง
เห็นด้วยว่าอย่างน้อยที่สุด หนังแตกต่างจาก “Snap” หรือ “ตั้งวง” แน่ๆ กล่าวคือ “Where We Belong” ไม่ได้มีบริบททางการเมืองเป็นฉากหลังของเรื่องราวอย่างชัดเจน (มีแค่บทสนทนาเรื่องวัยรุ่นอายุ 18 ปี มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งก็ยังไม่มาถึงเสียที ณ ช่วงต้นๆ)
ดังนั้น เราจึงไม่จำเป็นจะต้องอ่านหนังเรื่องล่าสุดของ “คงเดช จาตุรันต์รัศมี” ผ่านกรอบว่าด้วยความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย หรือประทับตราว่าหนังเรื่องนี้ คือ “ภาพยนตร์การเมือง”
(นี่อาจเป็นคนละประเด็นกับเรื่องการนำเสนออารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในบางเจนเนอเรชั่น ซึ่งนำไปสู่ปฏิบัติการทางสังคมหรือผลกระทบทางการเมืองบางอย่าง)
สอง
ระหว่างดูหนังไปราวๆ ครึ่งเรื่อง จะนึกถึงแนวคิดที่ได้มาจากนักวิชาการชาวต่างประเทศคนหนึ่ง (ซึ่งผมสรุปเอาตามความเข้าใจของตัวเองอีกที)
นักวิชาการคนนั้นเสนอว่า ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมจำนวนมากมักถูกค้ำจุนไว้ด้วยโครงสร้างความคิดบางอย่าง ที่คอยกด-กำหนดกรอบความคิดจินตนาการของผู้คนในฝ่ายที่เสียเปรียบ/ด้อยอำนาจเอาไว้
กระทั่งพวกเขามิเพียงยินยอมจะถูกกดขี่ขูดรีด/ใช้สอยอยู่ในวังวนเดิมๆ เรื่อยไป แต่ยังมักวิตกกังวลแทน-ทุกข์ร้อนแทน-ชอบคิดปกป้องผลประโยชน์ให้ฝ่ายที่ได้เปรียบ/มีอำนาจมากกว่า ทั้งๆ ที่คนฝ่ายหลังไม่เคยเป็นเดือดเป็นร้อนแทนพวกเขาเลย
แนวคิดนี้แว้บเข้ามาในหัวผม เมื่อได้ตามติดชีวิตของ “เบล” และย่าของเธอไปเรื่อยๆ
ย่าของเบลไม่เพียงต้องนั่งจมจ่อมอยู่ในบ้าน เพราะปัญหาเรื่องอายุและข้อจำกัดทางด้านกายภาพ หากแกยังผูกมัดตนเองเข้ากับภาพฝันจินตนาการว่าด้วยอารมณ์รักใคร่ครั้งแรกๆ ในชีวิต ซึ่งสาบสูญไปอย่างรวดเร็วในความเป็นจริง แต่ติดแน่นเหลือเกินในความทรงจำ
เบลก็ไม่ต่างจากย่า ตรงที่เธอมักพาตัวเองเข้าไปเป็นฝ่ายเสียเปรียบ/ผู้ต้องอุทิศแรงกายแรงใจ ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ที่คล้ายจะเสมอภาคแต่ไม่เท่าเทียมกัน ในนามของ “มิตรภาพ”
เบลไม่เพียงต้องเสียสละความฝัน-ความสุขส่วนตัวให้แก่ครอบครัว ทว่าเธอยังกลายเป็น “ตัวเสือก” ที่พยายามทุกข์ร้อน วิตกกังวล กระทั่งเจ็บตัวแทน “เพื่อนรัก” โดยไม่หวังอะไรเป็นการตอบแทน (และก็แทบไม่ได้รับอะไรเป็นการตอบแทนจริงๆ)
เด็กสาวอย่างเบลไม่ได้รู้สึกมีปัญหากับโครงสร้างความสัมพันธ์แบบเดิมๆ ที่เธอเป็นฝ่ายถูกขูดรีด/ใช้สอย
อาจเพราะจินตนาการของเบลได้ถูกกล่อมเกลาครอบงำเอาไว้อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว ว่าเธอต้องอยู่ใน “สถานที่” แห่งนี้ และอยู่กับสถานภาพเช่นนี้ตลอดไป
เป็น “ซู” ต่างหากที่หวังจะหลีกหนีออกจากโครงสร้างความสัมพันธ์ข้างต้น เธอไม่ต้องการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น หรือพูดอีกอย่าง คือ การแบกรับกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงของพ่อ
เธอไม่พยายามผูกพันกับใครในชุมชนให้แน่นเหนียวเกินไป (หรือพยายามรักษาระยะห่างจากพวกเขา) เพื่อจะไม่ต้องตกเป็น “เบี้ยล่าง” (เฉกเช่นเบล)
รวมทั้งพยายามปลดเปลื้องพันธนาการรายรอบตัวต่างๆ ทั้งที่มาในรูปความทรงจำ ความคาดหวัง และสถานที่/พื้นที่ (ซึ่งสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง)
น่าสนใจว่า ระหว่างทางของการหลบหนีออกจากข้อจำกัดเดิมๆ ซูค่อยๆ ขยับเขยื้อนสถานะของตนเอง ไปสู่จุดที่สามารถขูดรีดกดดันเพื่อนรักและคนรู้จักอีกหลายรายได้มากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์แบบเก่าที่เธอกำลังจะสลัดทิ้งนั่นแหละ
สาม
แม้ชื่อหนัง-ประเด็นหลักของหนัง ดูจะผูกพันอยู่กับ “สถานที่/พื้นที่” แต่พอเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ อีกประเด็นที่ถูกให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ “ตัวตน” ที่ผันแปร/เปลี่ยนแปลง/สลับสับเปลี่ยนไป
ซูกับเบลเคยสนทนากันว่าพวกเธอในวัย 30 หรือ 40 ปี จะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน จากช่วงวัยสิบปลายๆ ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย
“Where We Belong” มิได้ให้คำตอบชัดเจนต่อคำถามข้อนี้ หนังทำได้เพียงแสดงนัยยะว่าซูคงไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ภายหลังการตัดสินใจสำคัญช่วงท้ายเรื่อง
แต่จุดที่น่าสนใจจริงๆ เกี่ยวกับประเด็น “ตัวตน” อันไม่หยุดนิ่ง กลับปรากฏผ่านกรณี “หัวใจ” ของ “แม่ซู” และบทบาทของ “คนทรง/ลุงกู้ภัย”
ซูเคยเชื่อว่า “ตัวตนแก่นแท้” ของแม่ผู้ล่วงลับ นั้นไม่ใช่เรื่องจิตวิญญาณ หากเป็น “อวัยวะหัวใจ”
ความเชื่อเช่นนี้เริ่มถูกสั่นคลอน เมื่อเธอพบว่า “คนทรง” เพศชาย สามารถปฏิบัติตนเป็นสื่อกลางที่ถ่ายทอดจิตวิญญาณของแม่ออกมาได้อย่างเต็มเปี่ยม
ก่อนที่ความเชื่อทั้งหมดทั้งมวลจะพังทลายลง เมื่อซูตระหนักว่ามนุษย์ผู้มี “หัวใจแม่เธอ” อยู่ในร่าง คือ เด็กสาวใจแตกและยังไม่พร้อมจะเป็น “แม่คน”
“คนทรง” ที่ปรากฏกายขึ้นสั้นๆ ไม่เพียงทำให้ซูสงสัยเรื่อง “ตัวตนแก่นแท้” ของแม่ แต่ “แม่ในร่างคนทรง” ยังกระตุกให้เด็กสาวเกิดภาวะลังเลใจว่าเธอควรปักหลักอยู่ที่จันทบุรีบ้านเกิด หรือเดินทางไปเมืองนอกตามความปรารถนา
“สถานที่อื่น” นั้นเหมาะสมกับซู มากกว่า “สถานที่ปัจจุบัน” จริงหรือไม่?
แต่ในอีกสถานภาพหนึ่ง “คนทรง” ก็กลายเป็น “คุณลุงขับรถกู้ภัย” ที่เข้ามาช่วยเหลือซู-เบล จากเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทตบตีกับแก๊งของ “หญิงสาวผู้ครอบครองหัวใจแม่”
“คุณลุงกู้ภัย” คือคนที่กระตุ้นให้ซูยอมรับว่าบ้านนี้เมืองนี้มันก็จะย่ำแย่เหมือนที่มันเคยแย่ และความเชื่อที่ว่าถ้าเราทนใช้ชีวิตต่อไป ทุกอย่างจะลงตัวและดีขึ้นเองนั้นเป็นเพียงคำพูดโกหก
“ตัวตน” ที่ผันแปรเปลี่ยนแปลง จึงมีความเชื่อมโยงกับการตัดสินใจว่าเราจะปักหลักฝังตรึงตนเองลงใน “สถานที่/พื้นที่” ใด “สถานที่/พื้นที่” หนึ่งหรือไม่? และการทะลุกรอบคิดจินตนาการชนิดเดิมๆ ที่เหนี่ยวรั้งชีวิตมนุษย์เอาไว้
สี่
ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับคนที่มองว่า “Where We Belong” ไม่ใช่ “หนังวัยรุ่นจริงๆ” แต่เป็นหนังที่ฉวยใช้ตัวละครวัยรุ่นในการสื่อสารประเด็นอะไรบางอย่าง
จากประสบการณ์ส่วนตัว โลกสมัยวัยรุ่นของผมไม่ได้หม่นเศร้า เคว้งคว้าง เลื่อนลอย หนืดเนือย เหมือนโลกของซู-เบล
แม้กระทั่งโลกของวัยรุ่นยุคปัจจุบัน (ที่ชื่นชอบ BNK48) ก็อาจไม่ได้หม่นหมอง หรือเต็มไปด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิดขนาดนั้น
หนังไม่ได้บรรจุไว้ซึ่งอารมณ์เร่าร้อน ความหุนหันพลันแล่น ความสนุกสนาน หรือวิถีชีวิตแบบวัยรุ่น (หนึ่งตัวอย่างในเชิงรูปธรรม คือ หนังให้เวลากับพฤติกรรมการใช้/เล่นโซเชียลมีเดียของเด็กยุคใหม่น้อยมากๆ)
ผมออกจะรู้สึกว่าภาวะจะไปหรือไม่ไปจากบ้านเกิดดี รวมถึงภาวะต้องปักหลักอยู่กับพื้นที่/วิถีชีวิตเดิมตลอดไป เพื่อจะรับผิดชอบชีวิตผู้อื่นนั้น มีแนวโน้มจะเป็นปัญหาของมนุษย์วัยกลางคน มากกว่าเด็กสาววัยรุ่น (ส่วนใหญ่)
เวลาซู-เบล ถกเถียง ตั้งคำถาม สนทนากัน ผมจึงมักนึกถึงสเตตัสเฟซบุ๊กของเพื่อนบางคน (วัย 30 กลางๆ) ที่มุ่งหมายจะไปทำงานและใช้ชีวิตครอบครัวในเมืองนอก เพราะทนไม่ไหวกับความผิดปกติต่างๆ ในสังคมไทย ทว่าอีกด้านหนึ่ง เขา/เธอก็ยังครุ่นคิด/หัวเสียถึงบ้านเกิดอยู่เสมอๆ
อาการละล้าละลังของสองเด็กสาวในหนังคงเดช ทำให้ผมนึกถึงบทสนทนาระหว่างตนเองกับเพื่อนเก่าสมัยมัธยม ในงานเลี้ยงรุ่นเมื่อไม่กี่เดือนก่อน
เราสองคนคุยกันเรื่องธุรกิจของครอบครัวที่กำลังประสบปัญหาเพราะเทคโนโลยีดิจิทัล และต่างก็ไม่รู้ชัดจะไปยังไงกันต่อ หรือสิ่งที่พยายามแก้ไขปัญหากันอยู่ มันถูกต้องจริงหรือไม่
เพื่อนคนนั้นเพิ่งมีลูกสาวอายุ 1 ขวบ แต่ก็เริ่มมองหาลู่ทางในอนาคตให้ลูกไว้แล้ว แน่นอน เขาคงส่งเด็กน้อยเข้าโรงเรียนอินเตอร์ หลังจากนั้น เธอคงมีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีและภาษาต่างประเทศสูงกว่าคนรุ่นพ่อแม่
อย่างไรก็ตาม พอเพื่อนผมถามตัวเองว่าลูกสาวควรเรียนอะไรดีในระดับมหาวิทยาลัย เขากลับยังคาดการณ์อนาคตไม่ออก เพราะคนรุ่นพวกเราไม่อาจหยั่งรู้ว่าโลกในวันข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปไกลขนาดไหน
ขณะเดียวกัน แค่การสืบสานธุรกิจที่บ้านในปัจจุบัน และการต้องทุ่มเทเวลา-รับผิดชอบค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อดูแลเลี้ยงลูกคนเดียว นั่นก็คือภาระหนักหนาสาหัสมากๆ แล้ว
ด้วยเหตุนี้ แม้ “Where We Belong” จะมิใช่ “นิทานเปรียบเทียบ” ว่าด้วยความขัดแย้งทางการเมืองยุคปัจจุบัน
ทว่าผมอยากเสนอว่านี่เป็น “นิทานเปรียบเทียบ” ว่าด้วยการครุ่นคิด-อาการวิตกกังวล-ความไม่แน่ใจต่อชีวิตและสภาพสังคมรอบข้าง ในอดีต/ปัจจุบัน/อนาคต ของมนุษย์วัยกลางคน (ประมาณ 35-54 ปี ถ้าพูดในภาษาการตลาดออนไลน์ 555) ผู้กลับไม่ได้ไปไม่ถึงและมีเรื่องให้ห่วงหน้าพะวงหลังเยอะแยะวุ่นวาย
โดยทั้งหมดถูกบอกเล่าผ่านตัวละครเด็กสาวอายุต่ำกว่า 20 ปี
นี่อาจเป็นได้ทั้ง “จุดเด่น” และ “จุดด้อย” ของภาพยนตร์เรื่อง “Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า”
(หนังสั้นพรีเควลของ “Where We Belong” เพิ่งได้รับการเผยแพร่ออกมา ผมเองก็ยังไม่ได้ดูเหมือนกัน 555)
1 Comment