หมายเหตุ
นี่เป็น “บทแนะนำ” มากกว่าจะเป็น “บทวิจารณ์” หรืองานเขียนวิเคราะห์ตีความหนังอย่างจริงจัง เพราะเขียนขึ้นจากโน้ตย่อๆ ที่ผมบันทึกเอาไว้ หลังชม “กระเบนราหู” ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์เมื่อปลายปีก่อน
ระหว่างรื้อฟื้นบันทึกสั้นๆ เพื่อนำมาแปรสภาพเป็นงานเขียน เมื่อเวลาผ่านพ้นไปหลายเดือน ความทรงจำเกี่ยวกับรายละเอียดจำนวนมากในหนังจึงตกหล่นบกพร่องพอสมควร
คิดว่าอาจมีงานเขียนขนาดยาวกว่านี้ หลังผมได้ชม “กระเบนราหู” อีกรอบ ในเมืองไทย
ว่าด้วยการ “แทนที่”
ลักษณะเด่นประการแรกสุด ที่หนังสาธิตให้ผู้ชมเห็น คือ การทดลองนำคนไทยไป “แทนที่” ผู้อพยพชาวโรฮิงญา และทดลองนำผู้อพยพชาวโรฮิงญามา “แทนที่” คนไทย
โดยให้ฝ่ายหนึ่งลองกลายเป็นบุคคลที่มีบาดแผล ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างอยุติธรรม ไร้อัตลักษณ์ตัวตน ไร้บ้าน หรือแทบจะสิ้นไร้ทุกอย่าง
แล้วเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้ลองมีอัตลักษณ์ตัวตน มีบ้าน มีเมีย หรือมีเกือบทุกอย่างที่ตนเองเคยขาด
เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีชุด “ประสบการณ์” ร่วมกัน หรืออาจพูดในแบบไทยๆ ได้ว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”
อย่างไรก็ดี “กระเบนราหู” คล้ายจะย้ำเตือนให้คนดูตระหนักว่า “การแทนที่” ทำนองนี้ ไม่สามารถ “แทน” กันได้ “แนบสนิท”
เพราะด้านหนึ่ง ผู้อพยพชาวโรฮิงญา เช่น “ธงชัย” ก็ไม่อาจเป็น “เจ้าของบ้าน” ซึ่งครอบครองทุกอย่าง-ทุกคนได้โดยแท้จริง
อีกด้านหนึ่ง แม้ชาวประมงคนไทยอาจตกระกำลำบาก ถูกกระทำอย่างโหดร้ายทารุณ แต่เขาก็ยังมิได้สูญสิ้นความเป็นมนุษย์ จนถึงขั้นไร้เสียงพูด (ไร้สิทธิ์) และมีเหลือเพียงเสียงลมหายใจร่ำร้องเพื่อเอาชีวิตรอด ดังเช่นเพื่อนผู้อพยพ
หนัง “มนุษยธรรม-มนุษยนิยม” ที่ไปไกลกว่าการมี “มนุษย์” เป็นศูนย์กลาง
หลายคนอาจประเมินว่า “กระเบนราหู” ให้ความสำคัญแก่เรื่องมนุษยธรรมและหลักการมนุษยนิยม
เนื่องจากหนังไม่เพียงสื่อสารประเด็นเกี่ยวกับ “ชาวโรฮิงญา” หากยังพยายามสำรวจตรวจสอบสภาพ “ความเป็นมนุษย์” ไปจนถึงระดับรากฐานที่สุด นั่นคือ การเป็นมนุษย์ผู้เปลือยเปล่า ไร้ตัวตน ไร้ที่อยู่อาศัย ไร้ภาษา
ทว่าพร้อมๆ กันนั้น หนังก็ฉายภาพให้เห็นว่าสรรพสิ่งและสรรพชีวิตต่างๆ เช่น แสงไฟ LED ที่ทำให้บ้านไม้โทรมๆ กลายสภาพเป็นดิสโก้เธค และทำให้มนุษย์ธรรมดาเป็นมาก/น้อยกว่ามนุษย์ปกติ, หินสีลึกลับทรงคุณค่าในพื้นที่ป่า ตลอดจนกระเบนราหูในท้องทะเล ล้วนโอบล้อมชะตากรรม-โศกนาฏกรรมของมนุษย์เอาไว้
วัตถุสิ่งของ-สิ่งมีชีวิตที่มิใช่มนุษย์เหล่านี้ อาจเป็นภาพแทน-สัญลักษณ์-บริบทของความทุกข์ตรม ความโศกเศร้า ความอยุติธรรม ความโดดเดี่ยว ความหวัง ต่างๆ นานา ที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้า, อยากจะหลีกเลี่ยง หรือใฝ่ฝันถึง
หรืออาจเป็นสภาวะแวดล้อมที่ดำรงอยู่เคียงขนาน แต่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ เลยกับวิถีความเป็นไปของมนุษย์ และข้ามพ้นไปจากความรู้-ความเข้าใจของมนุษย์ส่วนใหญ่
หากมองในแง่นี้ หนังยาวของพุทธิพงษ์จึงทั้งแคร์มนุษย์ และทดลองจะเล่าเรื่องราวซึ่งไปไกลเกินกว่าการมี “มนุษย์เป็นศูนย์กลาง” อันเป็นระลอกความเคลื่อนไหวของแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ร่วมสมัย
สำหรับผู้สนใจประเด็นวิชาการดังกล่าว แนะนำให้ลองดู-ฟังคลิปการบรรยายโดย ดร.ไกรวุฒิ จุลพงศธร
บางรูปธรรมที่ขาดหาย
ถ้าถามว่าโดยส่วนตัวรู้สึก “ติดขัด” อะไรกับ “กระเบนราหู” บ้างหรือไม่?
ผมจะรู้สึกว่าหนังมีลักษณะเป็นนามธรรมค่อนข้างสูงและนำเสนอข้อถกเถียงในเชิงปรัชญาอย่างเข้มข้นจริงจังลึกซึ้ง จนคนดูที่คาดหวังความบันเทิงอาจเข้าถึงได้ไม่ง่ายนัก
ท่วงท่าลีลาการเล่าเรื่องเช่นนั้น ยังส่งผลให้ประเด็นรูปธรรมบางอย่างขาดหายไป
แม้หนังจะกล่าวถึงกระบวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องผู้อพยพ “ชาวโรฮิงญา”
แต่บทบาทของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ซึ่งมีส่วนปราบปราม/กีดกัน/กอบโกยผลประโยชน์จาก “ชาวโรฮิงญา” เช่นกัน กลับมิได้ปรากฏชัดเจนนักในหนังเรื่องนี้
(ผมไม่แน่ใจว่า “ตัวละครปริศนา” ที่ซุ่มซ่อนอยู่ในป่า คือ “เจ้าหน้าที่รัฐ” หรือไม่?)