Midsommar: “เทศกาล” ในอุดมคติ? ของนัก (เรียน) มานุษยวิทยา

(เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์)

หนึ่ง

เข้าไปดูหนังเรื่องนี้โดยแทบไม่รู้อะไรมาก่อน ไม่รู้จักผู้กำกับ คือ “อารี แอสเตอร์” และไม่เคยดูหนังเรื่องอื่นๆ ของเขา

ที่พอรู้เลาๆ คือ หนังเรื่องนี้เหมือนจะเป็น “ภาพยนตร์สยองขวัญ”

ครั้นเมื่อเข้าไปดูจริงๆ ในโรงหนัง ผมกลับรู้สึกว่า นี่เป็นภาพยนตร์ที่นักมานุษยวิทยาหรือคนเรียนมานุษยวิทยาน่าจะชอบ อิน หรืออยากอภิปรายถกเถียงกับมันมากๆ

โดยส่วนตัว ผมอยากจะลองนิยาม (มั่วๆ) ให้ “Midsommar” เป็น “anthropological film” ซึ่งมิได้หมายถึงภาพยนตร์สารคดีชาติพันธุ์ (ethnographic film) แต่หมายถึงภาพยนตร์ (จะบันเทิงคดีก็ได้ หรือสารคดีก็ได้) ที่พยายามสำรวจตรวจสอบไตร่ตรองประเด็นทางมานุษยวิทยา หรือวิถีการทำงาน/เรียนรู้ของนักมานุษยวิทยา

สอง

midsommar 2

ขั้วตรงข้ามที่ปรากฏชัดในหนัง ได้แก่ ความแตกต่างระหว่าง “สังคม (ทุนนิยม) สมัยใหม่” ณ สหรัฐอเมริกา กับ “ชุมชน/คอมมูนดั้งเดิม” แห่งหนึ่ง ณ สวีเดน

ในจุดแรกสุด สังคมแบบแรกกำลังเสื่อมทรุดลงท่ามกลางโศกนาฏกรรม ด้วยภาพครอบครัวอันแตกสลาย ปัจเจกบุคคลผู้ป่วยไข้ทางจิตใจ และมีคนต้องสังเวยชีวิตอย่างไม่สมควร

สวนทางกับชุมชนประเภทหลัง ซึ่งเป็นคล้ายครอบครัวขนาดใหญ่ เป็นชุมชนพึ่งพิงตนเองในอุดมคติ (ไม่ใช่แค่ในแง่เศรษฐกิจ แต่กินความถึงการมีระบบความเชื่อหรือภาษาเฉพาะที่แชร์ร่วมกันระหว่างผู้คนในชุมชน)

ผู้คนส่วนมากที่ใช้ชีวิตและเล่าเรียนในสังคมสมัยใหม่แบบแรก คือ ปัจเจกบุคคลผู้มีเป้าหมายจำเพาะเจาะจงของตนเอง

พร้อมๆ กับโจทย์ใหญ่หลวมๆ ที่ทุกฝ่ายแชร์ร่วมกันเรื่องการนั่งเครื่องบินข้ามทวีปไปสแกนดิเนเวีย บางคนอยากไปสวีเดนเพื่อแอ้มหญิง บางรายไปแข่งกันทำงานภาคสนามและเขียนวิทยานิพนธ์ทางมานุษยวิทยา และมีคนหนึ่งเดินทางไปลืมเลือน ไปเยียวยาบาดแผลในจิตใจ

แต่เราไม่อาจแน่ใจว่าผู้คนในชุมชนประเภทหลังนั้นมีเป้าหมายชีวิตในเชิงปัจเจกหรือไม่? มากน้อยแค่ไหน? เราพบเห็นหญิงสาวในชุมชนที่คล้ายๆ จะแอบรักชายหนุ่มคนนอก แต่ท้ายสุด “ความรักความหลง” ของเธอก็ดำเนินไปในฐานะส่วนเสี้ยวหนึ่งของพิธีกรรม/เทศกาล/โครงสร้างตำนานเรื่องเล่าปรัมปราของ “ส่วนรวม”

เช่นเดียวกับชายหนุ่มจากชุมชนประเภทหลังที่ออกเดินทางไปเรียนต่อในโลกภายนอก ซึ่งหวนกลับมาเพื่อร่วมงานเทศกาล เพื่อสานต่อภารกิจศักดิ์สิทธิ์บางประการ อันเป็นทั้งความภาคภูมิใจส่วนบุคคลและเป็นคุณค่าร่วมกันของ “ส่วนรวม”

สาม

midsommar 3

โลกสองโลก คนสองกลุ่ม เชื่อมต่อกันตอนต้นเรื่อง ผ่านมุมกล้องกลับหัวกลับหาง พลิกฟ้าคว่ำดิน ราวกับเป็นการต้อนรับบรรดาตัวละครหลักและผู้ชมหน้าจอเข้าสู่ปรากฏการณ์ “the world turned upside down”

ภาวะเช่นนั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนผ่านจาก “สังคมสมัยใหม่ภายนอก” สู่ “เทศกาลรื่นเริงเฉลิมฉลอง” ในวาระพิเศษ (กลางฤดูร้อน) ในพื้นที่/ชุมชนพิเศษ

เมื่อตัวละครหลักสองรายในหนังมีสถานะเป็น “นัก (เรียน) มานุษยวิทยา”

จึงน่าสนใจว่า “เทศกาลรื่นเริง” ทำนองนี้ มีความหมายอย่างไรในมุมมองของ “นักมานุษยวิทยา”?

ถ้าให้พูดอย่างคร่าวๆ “เทศกาลรื่นเริงเฉลิมฉลอง” ที่ข้องเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้าน-ตำราปรัมปรา มักถูกแปล/แปร/แปลงเป็นโอกาสความเป็นไปได้หรือทางเลือกอื่นๆ ซึ่งจะมีศักยภาพยั่วล้อท้าทายอำนาจ (เช่น อำนาจของรัฐและระบบเศรษฐกิจทุนนิยม) แม้จะเพียงชั่วครู่ชั่วคราว

หลายๆ ครั้ง “เทศกาล” เหล่านี้ มักถูกพิจารณาเป็นต้นแบบของม็อบหรือการประท้วงทางการเมืองต่างๆ ในโลกสมัยใหม่

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า “ชุมชน/เทศกาล” ในหนังเรื่อง “Midsommar” จะมิได้ตั้งเป้าหรือมีท่าทีต่อต้าน-ท้าทายระบบอำนาจภายนอกชัดเจนนัก

หากมองเผินๆ ณ เบื้องต้น “ชุมชนดั้งเดิม” แห่งนี้ ก็นำเสนอตนเองเป็นประสบการณ์ชีวิตแปลกใหม่ สำหรับ “คนนอก” ที่ชอบความ exotic หรืออยากศึกษาความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยไม่ถึงกับตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อโลกภายนอก-ความทันสมัย-ระบบทุนนิยม

สิ่งที่น่าตั้งคำถามปลายเปิด ก็คือ การฉวยใช้ “คนนอก” มาเป็นองค์ประกอบสำคัญของ “เทศกาล” ในชุมชน ณ เบื้องท้ายนั้น จะถูกแปลความเป็นการต่อต้านท้าทายโลกภายนอก หรือเป็นการแสวงหาความร่วมมือ/การเสียสละ (อย่างวิปริตผิดเพี้ยน) ของคนจากโลกภายนอกกันแน่?

สี่

midsommar 4

โดยปกติ การเมืองของ “เทศกาลรื่นเริงเฉลิมฉลอง” มักแสดงนัยยะแห่งการต่อต้าน ผ่านตัวตลก เสียงหัวเราะ การหยอกล้อเสียดสี ความวิปริตผิดเพี้ยน การเผยตัวของความเป็นอื่น ความต่อเนื่องเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ (ภาพหญ้างอกจากเท้านางเอก) ภาวะที่โลกกลับหัวพลิกหาง (กลางคืนกลายเป็นกลางวัน) อะไรที่อยู่ข้างในก็จะทะลักล้นสู่ข้างนอก อะไรที่อยู่ข้างนอกจะหลุบหายเข้าสู่ภายใน (ดูได้จากร่างของหนุ่มคนนอกชาวอังกฤษหรือร่างของพระเอก ตอนท้ายเรื่อง)

ที่สำคัญ สารหลักของ “เทศกาล” เหล่านี้ คือ การแสดงให้เห็นถึงสัจจะแห่งสังสารวัฏ เมื่อมีคนเก่าๆ ดับสูญแหลกสลาย ก็ย่อมมีคนใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้นทดแทน

จุดน่าสนใจประการหนึ่งที่ “Midsommar” เล่นการเมือง กับนัยยะทางการเมืองของ “เทศกาลรื่นเริงเฉลิมฉลอง” ข้างต้น ก็คือ เพียงแค่ย่างก้าวเข้าสู่ “เทศกาล” ได้ไม่นาน เราก็จะได้ยินเสียงเพลงที่ขับร้องไล่วิญญาณกลับลงสู่นรก (ผมจำถ้อยคำแม่นๆ ไม่ได้) รวมถึงบรรยายการถลกหนังหัวตัวตลก

“เทศกาลวันกลางฤดูร้อน” ในหนัง จึงไม่ตลก และมีเป้าหมายเพื่อเซ่นสังเวยความเป็นอื่น

หนังอาจตั้งคำถามกลับไปยังแนวคิดเรื่อง “เทศกาลรื่นเริงเฉลิมฉลอง” ทางมานุษยวิทยา (และมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์แขนงอื่นๆ) โดยไม่ได้ตั้งใจว่า ความตลกใน “เทศกาล” นั้นมีขีดจำกัดหรือไม่? เราจะหัวเราะหยอกล้อใน “เทศกาล” กันได้มากน้อยแค่ไหน?

ที่ใฝ่ฝันกันถึงภาวะ “หัวร่อต่ออำนาจ” ถ้า “อำนาจ” (ทั้งในและนอกเทศกาล/ชุมชน) ไม่หัวร่อด้วย ผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร?

ต้นทางของแนวคิด “หัวร่อต่ออำนาจ” ที่ดำรงอยู่ใน “เทศกาล/คาร์นิวัล” นั้นคืองานของ “มิคาอิล บัคติน” ที่วิเคราะห์ตีความวรรณกรรมแนวชวนหัวในยุคเรอซองส์ของ “ฟรองซัวส์ ราเบลส์”

แต่ก็เคยมีผู้รู้บ่งชี้เช่นกันว่า นักเขียนแนวเดียวยุคเดียวกันกับราเบลส์บางรายนั้นถูกจับได้ว่าวรรณกรรมขำขันของเขามีสารทางการเมือง กระทั่งต้องโดนลงทัณฑ์ด้วยการนำร่างไปเผา

ห้า

midsommar 5

ด้านหนึ่ง หลายๆ ชีวิตในหนังเรื่องนี้ อาจถูกผลักไสไปตามกฎเกณฑ์-ไวยากรณ์บางอย่างของ “เทศกาลรื่นเริงเฉลิมฉลอง”

อีกด้านหนึ่ง เรื่องราวของเขาและเธอ (ไม่ว่าจะในฐานะแพะ/หมีบูชายัญ หรือราชินีพฤษภา) ก็อาจสอดคล้องลงรอยพอดิบพอดีกับเรื่องเล่าที่บันทึก-ถ่ายทอดตามนิทานพื้นบ้าน-ตำนานปรัมปราดั้งเดิม

น่าตั้งคำถามว่าความไหลเลื่อนเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์ล้วนถูกกำหนด บงการ ครอบงำ โดยโครงสร้างของ “เทศกาล-ตำนาน”?

หรือยังสามารถถูกตีความ-ปรับแก้โดยกลุ่มคนที่เปลี่ยนหน้าตาเปลี่ยนวิธีคิด ในแต่ละบริบท?

“Midsommar” เล่าว่าคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนเป็นงานเขียนที่ไม่มีวันจบสิ้น หากถูกเขียน ถูกตีความต่อไปเรื่อยๆ

ในยุคปัจจุบัน ผู้เขียนคัมภีร์ คือ สมาชิกชุมชนผู้มีเรือนร่างพิกลพิการจากสภาวะ “เลือดชิด” ซึ่งจะคอยวาดรูปบันทึก/ทำนายเหตุการณ์ต่างๆ โดยมีเหล่าผู้อาวุโสทำหน้าที่ตีความภาพวาดอีกที

น่าถามต่อว่า มีอะไรภายใน “เทศกาล” ที่เกิดจากการตีความใหม่บ้าง?

ตกลงแล้ว การแสวงหา “เลือดใหม่” มาประกอบพิธีเซ่นสังเวย คือ ของเดิมที่เคยมีในเทศกาลครั้งก่อนๆ และคัมภีร์เล่มเก่าๆ เฉกเช่นการพลีชีพของสมาชิกชราในชุมชน การถือกำเนิดของสมาชิกใหม่ และการดำรงอยู่ของเทพธิดาแห่งความอุดมสมบูรณ์ หรือเกิดจากการตีความใหม่ของคัมภีร์ยุคปัจจุบัน?

ขณะเดียวกัน ก็น่าคลางแคลงใจว่า นางเอกในฐานะราชินีพฤษภานั้นกำหนดชะตาชีวิตของแฟนหนุ่ม จากมุมมองใด?

มุมมองของเทพธิดาผู้ทำเพื่ออุดมสมบูรณ์ของ “ชุมชน/เทศกาล” หรือมุมมองของหญิงสาวผู้รวดร้าวสับสน ที่กำลังเสียใจผิดหวังในตัวชายคนรัก

การตัดสินใจของเธอในตอนจบดำเนินไปตามเป้าประสงค์ของส่วนรวมหรือส่วนตัว? ดำเนินไปในนามตัวแทนของโครงสร้างหรือผู้กระทำการที่เป็นปัจเจก?

หก

MIDSOMMAR

นัก (เรียน) มานุษยวิทยา มักโรแมนติกกับสนาม ชุมชน เทศกาล ว่านั่นหมายถึง “โอกาสความเป็นไปได้ใหม่ๆ” ในการทำความเข้าใจโลกและชีวิต

แต่ “Midsommar” ก็ฉายภาพไม่โรแมนติกว่า ชุมชนบางแห่งได้กลายสภาพเป็นสนามที่นักมานุษยวิทยาสองรายชิงดีชิงเด่นกัน

โลกใหม่ใน “เทศกาลรื่นเริงเฉลิมฉลอง” ของหนังเรื่องนี้ ไม่ได้ต้อนรับ “คนนอก” ด้วยความ exotic สนุกสนาน แต่ด้วยความสยดสยอง ซึ่งเกินขีดของแนวคิดการเคารพ “ความแตกต่างทางวัฒนธรรม”

“คนใน” ของชุมชน เปิดรับ “คนนอก” หรือความแตกต่างจากภายนอก (มี “คนดำ” และ “คนเชื้อสายแขก” รวมอยู่ด้วย) เพื่อนำไปบูชายัญ-เซ่นสังเวยในภายหลัง

“ความแตกต่างทางวัฒนธรรม” กลายเป็นคำพูดเพ้อๆ ลอยๆ ไร้น้ำยา ในหนัง

นอกจากนี้ “โลกชุมชน/เทศกาล” กับ “โลกทุนนิยม/สมัยใหม่” ใน “Midsommar” ยังมีจุดร่วมกันมากมายเกินกว่าที่หลายคนคาดคิด

ตั้งแต่ความตาย (ทั้งการถูกจับบูชายัญและอัตวินิบาตกรรม), การมีคนป่วยไข้ทางร่างกายและจิตใจ ตลอดจนภาวะที่ความปรารถนา-การตีความส่วนบุคคล ได้แทรกซึมหลอมรวมปะปนอยู่ในจิตวิญญาณร่วมของ “ส่วนรวม”

1 Comment

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.