3 ประเด็นเกี่ยวกับ “ดิว ไปด้วยกันนะ”

หนึ่ง

2538

พอได้ฟังพวกเพลง “ดีเกินไป” หรือ “…ก่อน” ตลอดจนวัตถุความทรงจำเกี่ยวกับยุค 90 ภายในหนัง ก็จะเกิดความอยากเรื่องหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ ถึงเวลาหรือยังที่เราจะสร้างเรื่องเล่าดีๆ ที่มีวัฒนธรรมในยุค 90 เป็นแก่นกลางของตัวเรื่อง มิใช่บริบทแวดล้อม ฉากหลังรางๆ หรือกิมมิกน่ารักๆ

เพราะผมรู้สึกว่าวัฒนธรรมยุค 90 ยังไม่ได้เป็นแกนกลางในเรื่องเล่าของหนังไทยอย่าง “ดิว ไปด้วยกันนะ” หรือกระทั่ง “2538 อัลเทอร์มาจีบ” เสียทีเดียว

ผมยังอยากอ่านหนังสือหรือดูหนังสารคดี-หนังฟิกชั่น ที่พูดถึงเพลงยุค 90, วัฒนธรรมวิทยุ-โทรทัศน์ยุค 90, วงการหนังไทยยุคโพสต์ต้มยำกุ้ง, พวกอาชีพที่ไม่ค่อยจะเหลือรอดแล้ว เช่น นักวิจารณ์บันเทิงและนักแต่งเพลงในค่ายใหญ่ เรื่อยไปถึงความฝันของสังคมไทยและสภาวะการเมืองไทยตั้งแต่กลาง 2530-กลาง 2540 กันอย่างจริงจังตลอดทั้งเรื่อง/เล่ม

เรื่องเล่าประเภทนี้ (ซึ่งทำให้ “ยุค 90” เป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่งที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอ้างอิงกับปัจจุบันมากนัก) อาจจะทำให้เราพินิจพิจารณาประวัติศาสตร์สังคม-วัฒนธรรมของ “ยุค 90” อย่างแตกต่างออกไป แทนที่จะปฏิบัติต่อมันในฐานะนิทานเปรียบเทียบซึ่งช่วยทำความเข้าใจปัจจุบันหรือความรู้สึกโหยหาอดีตที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน เพียงเท่านั้น

(หรือเปล่า?)

สอง

ตามความเห็นส่วนตัว ประเด็นน่าสนใจที่แฝงอยู่ภายใต้เรื่องราวเกี่ยวกับการกลับชาติมาเกิด/การระลึกชาติเชิงปาฏิหาริย์ ใน “ดิว ไปด้วยกันนะ” ก็คือ ปัญหาว่าด้วยการสืบทอดภารกิจ การส่งมอบคุณค่าบางประการ และการดำรงอยู่ของความมุ่งมั่นใฝ่ฝัน/อุปสรรคบางอย่าง ท่ามกลางภาวะเปลี่ยนผันของวันเวลา

(นี่ทำให้ผมไม่ค่อยรู้สึกมีปัญหากับหนังช่วงครึ่งหลัง และออกจะชอบมันอยู่มากพอสมควร)

อารมณ์ความรู้สึก ความรัก ความทรงจำ เกี่ยวกับ “ดิว” ยังคงอยู่ในตัวตนของ “ภพ” คนเดิม

ขณะเดียวกัน อารมณ์ความรู้สึก ความรัก ความทรงจำ เกี่ยวกับ “ดิว” และ “ภพ” ก็ถูกส่งมอบสืบต่อมาถึง “หลิว”

วัตถุพยานความรักและความใฝ่ฝันส่วนบุคคลของเด็กหนุ่มสองคนเมื่อกว่าสองทศวรรษก่อน ที่ปรากฏผ่านเพลง “…ก่อน” และ กิจกรรม “บันจี้จัมพ์” ยังคงไหลเลื่อนแทรกซึมเข้าสู่สายสัมพันธ์แหวกจารีตระหว่างครูกับศิษย์ ณ ต้นทศวรรษ 2560

บรรทัดฐานทางสังคมต่างชุด ที่คอยจัดการกับกรณี “รักร่วมเพศ” ระหว่างเพื่อน และกรณี “การล่วงละเมิดทางเพศ” ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก คืออุปสรรคกีดกั้นที่คอยขัดขวางความรักบริสุทธิ์ของปัจเจกบุคคลสองรายในทุกยุคสมัย

คล้ายคลึงกับที่ “แม่ดิว” และ “เมียภพ” พยายามทำหน้าที่อย่างเดียวกัน คือ การแสดงออกซึ่งความรักในนามของครอบครัว เพื่อเหนี่ยวรั้ง “ลูกและสามี” ไม่ให้จากไป ทว่าล้มเหลว

ณ ฉากสำคัญช่วงท้ายเรื่อง “ครูรัชนี” ซึ่งเป็นตัวละครคนหนึ่งที่มีบทบาทในทั้งสองช่วงเวลา และรู้จัก “ดิว-ภพ-หลิว” ดี ได้ให้โอวาทแก่ “ครูภพ” หลังกระทำเรื่องพลาดพลั้งซ้ำสองว่า เขาควรจะต้องปล่อยวางอดีตเสียบ้าง อย่าไปยึดติดกับมัน

นี่เป็นคล้าย “สัจธรรม” ที่ฟังดูสมเหตุสมผล และมักเป็นบทสรุปที่หนัง/ละคร/นิยายซึ่งเล่าเรื่องราวผ่านธีมการรำลึกความหลัง มักเลือกจะลงเอย

“สัจธรรม” เช่นนั้นคืออุปสรรคลำดับที่สาม สำหรับ “ภพ” และ “ดิวในร่างหลิว”

อย่างไรก็ดี “ภพ” กับ “หลิว/ดิว” กลับยึดติด ไม่ปล่อยวาง และเลือกจะดิ่งจมลงสู่ห้วงความสัมพันธ์ที่หลายคนพิพากษาว่าเป็นไปไม่ได้ เพื่อสืบสานภารกิจที่พวกตนเคยประสบความล้มเหลว (สำหรับผม การไม่เชื่อฟัง “ครูรัชนี” และการต่อยพ่อของ “ภพ” นั้นแทบจะเป็นการต่อสู้ขัดขืนในลักษณะเดียวกัน)

ด้านหนึ่ง สิ่งที่พวกเขาพยายามสานต่อ อาจเป็น “คุณค่าสากล” (เช่น รักแท้หรือรักบริสุทธิ์) ที่ปักหลักมั่นคงท้าทายกาลเวลา

อีกด้านหนึ่ง นี่อาจเป็นสัญลักษณ์/ภาพแทนของ “จิตวิญญาณ/อารมณ์ความรู้สึกแห่งยุคสมัยหนึ่ง” (จิตวิญญาณ-อารมณ์ความรู้สึกของวัยรุ่นยุค 90) ซึ่งพุ่งทะลุผ่านมิติเวลา โดยมีบางคนเท่านั้นที่พร้อมจะอินและเข้าอกเข้าใจมัน

นี่คือคุณลักษณ์สองด้านที่สอดประสาน-ช่วยผลักดันให้ความใฝ่ฝันและสายสัมพันธ์บางประเภทของผู้คนบางคู่บางกลุ่ม ดำเนินต่อเนื่องไปได้ไม่มีวันสิ้นสุด

สาม

กรณีจับ “เด็กผู้ชายเบี่ยงเบน” ไปฝึกวินัยที่ค่ายทหารในหนังเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงอีกกรณีหนึ่ง สมัยตัวเองขึ้น ม.4

ครั้งนั้น มีเพื่อนร่วมรุ่นของผมจำนวนไม่น้อยที่เกรดเฉลี่ยตอน ม.ต้น ไม่มากพอจะได้เรียนต่อในระดับมัธยมปลาย ทางโรงเรียนจึงจัดโครงการพิเศษ โดยให้เพื่อนๆ กลุ่มดังกล่าว ที่ยังอยากเรียนต่อ ไปบวชเณรที่วัดข้างๆ โรงเรียน และพวกเขาต้องเดินข้ามถนนมาเรียนหนังสือในฐานะสามเณร ตลอดช่วง ม.4 เทอมหนึ่ง

จำได้ว่ามีเพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่งที่มีทั้งรูปลักษณ์หน้าตา ชื่อ และนามสกุล เป็นอาหรับ (แต่ไม่แน่ใจว่าเขานับถือศาสนาอะไร) ซึ่งต้องบวชเณรในโครงการนั้นด้วย

โครงการบวชเณรหนนั้นอาจจัดขึ้นด้วยจุดประสงค์คนละเรื่องกับโครงการจับเด็กไปฝึกทหารใน “ดิวฯ” แต่ทั้งสองโครงการก็สะท้อนให้เห็นวิธีแก้ปัญหาในแบบรัฐไทยที่คล้ายคลึงกัน

1 Comment

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.